หากคุยเรื่องการวิ่งกับ รัฐ จิโรจน์วณิชชากร Race Director ผู้จัดงานวิ่งระดับประเทศอย่าง BANGSAEN42 นั้น เขาจะเล่าให้คุณฟังทันทีว่า แม้วันนี้จะได้กลายเป็นผู้จัดงานวิ่งที่เต็มไปด้วยแพชชั่นอันแรงกล้า แต่ครั้งหนึ่ง การวิ่งเคยอยู่ในลำดับท้ายๆ ของสิ่งที่ต้องทำในชีวิต
แต่จนวันหนึ่งที่ รัฐ เริ่มหันมาวิ่ง เพราะอยากมีสุขภาพที่ดีอยู่กับลูกไปนานๆ คำสัญญาใจเรื่องการดูแลสุขภาพของเขา ผลักดันไปสู่การวิ่งจบระยะมาราธอนเป็นครั้งแรก และกลายมาเป็นนักวิ่งที่เสพติดและหลงใหลการวิ่งเป็นชีวิต จิตใจ ไล่ล่าเหรียญรางวัลจากงานต่างๆ ในประเทศไทยมานักต่อนัก
แต่ไม่ว่าจะงานไหน ก็จะมีปัญหาเล็กน้อยกวนใจเขาอยู่เสมอ บ้างก็มาในรูปแบบของระยะวิ่งขาดๆ เกินๆ บ้างก็ไม่มีป้ายบอกระยะทาง บ้างก็น้ำก็ไม่เย็น หรือในบางงานที่วิ่งเข้าเส้นชัยแล้วกลับไม่มีอาหารที่โปรโมตว่าอร่อย พร้อมมอบให้นักวิ่งทุกคนหลังเส้นชัย ซึ่งถึงแม้เขาจะบอกว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยที่พอจะมองข้ามได้ แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็คิดอยู่เสมอว่าจะมีงานวิ่งที่มันสมบูรณ์แบบ แก้ไขทุกปัญหาที่เคยเจอมาได้ไหม
และเมื่อไม่มีใครคิดจะทำ รัฐจึงเริ่มทำด้วยตัวเอง กลายเป็นงาน BANGSAEN21 ในปี 2558 ที่เริ่มจากศูนย์ทั้งประสบการณ์และความรู้ แต่ด้วยแพชชั่น และโมเดลธุรกิจที่ออกแบบอย่างรอบคอบ ทำให้งานวิ่งในปีแรกของเขามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,500 คน และได้รับฟีดแบ็กที่ดีเกิดคาด ทำให้ชื่อของ งานวิ่ง BANGSAEN21 นั้นดังกระฉ่อน อีกทั้งยังได้รับมาตรฐาน Platinum Label จาก International Association of Athletics Federations (IAAF) ในเวลาต่อมา ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าเป็น งานวิ่งที่มีคุณภาพ ได้เป็นอย่างดี
The Momentum ได้พูดคุยกับผู้จัดงานวิ่งคนสำคัญของเมืองบางแสน จังหวัดชลบุรี ว่าทำอย่างไรให้ BANGSAEN42 กลายเป็นโมเดลงานวิ่งที่ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว วิธีคิดแบบไหนที่ทำให้นักวิ่งทั่วประเทศไว้ใจ และมาวิ่งในงานของเขาอย่างไม่ขาดสายในตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
เมื่อครั้งหนึ่ง การวิ่งคือการลงโทษ
ย้อนกลับไปก่อนหน้าจะเป็นผู้จัดงานวิ่ง ตัวคุณในฐานะนักวิ่งเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ผมเป็นคนไม่ชอบวิ่งเลยนะ เพราะเคยถูกบังคับให้วิ่งด้วยหลายๆ สถานการณ์ เช่นถ้าไปโรงเรียนสายก็จะถูกบังคับให้วิ่งเพื่อเป็นการลงโทษ หรือในช่วงที่ผมเป็นนักกีฬา ก็จะถูกโค้ชบังคับให้ไปวิ่ง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งตอนนั้นตัวเองก็ไม่เข้าใจหรอกว่ามันดีอย่างไร รู้แต่ว่าน่าเบื่อสุดๆ ทำไมถึงไม่ได้เล่นกีฬาที่ชอบสักที
มันเลยเป็นภาพจำไปว่าการวิ่งคือเรื่องน่าเบื่อ คือการลงโทษ
กลายเป็นว่าความทรงจำแรกเกี่ยวกับการวิ่ง คือการถูกบังคับให้วิ่ง
ใช่ แล้วผมก็ไม่เห็นความสุขของสิ่งนี้เลย จนวัยทำงานแล้ว เวลาเห็นคนวิ่งในสวนสาธารณะก็ยังสงสัย มันทำอะไร ไปวิ่งอยู่ในสวน ท่าเดิมๆ เป็นชั่วโมง
คือด้วยความที่เป็นนักกีฬา เล่นกีฬาที่มันเคลื่อนไหวอิสระ สนุก มีจุดไฮไลต์เป็นพักๆ เช่นตอนชู้ตบาสเก็ตบอลลงห่วง หรือยิงลูกฟุตบอลเข้าประตู แต่ว่าวิ่งไฮไลต์คืออะไร ทำท่าซ้ำๆ เป็นช่วงๆ ตอนนั้นคือมองภาพตัวเองเป็นนักวิ่งไม่เห็นเลย ถึงกับเคยคุยกับตัวเองเลยนะว่า ถ้าต้องให้เลือกเล่นกีฬา การวิ่งจะเป็นกีฬาชนิดสุดท้ายที่ผมจะทำ
จากนั้นก็ใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ เป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงาน เที่ยวสังสรรค์ การออกกำลังกายก็กลายเป็นสิ่งที่ต้องทำอันดับท้ายๆ เริ่มมีข้ออ้างมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่จุดเปลี่ยนคือตอนที่ผมมีลูกเป็นฝาแฝดชายหญิง เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแล้ว ว่าทำอย่างไรจะได้อยู่กับเขาไปนานๆ อยากอยู่จนรู้ว่าเขาเติบโตแบบไหน เข้ามหาวิทยาลัยอะไร หรือเผื่อเขาอกหักครั้งแรก อยากคุย อยากระบายกับพ่อ แล้วถ้าเราร่างกายไม่แข็งแรง นอนพะงาบอยู่บนเตียง จนเขาต้องมาดูแล ไม่มีเวลาออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง มันก็คงเสียใจไม่น้อย ซึ่งผมก็ไม่อยากเป็นแบบนั้น ก็เลยเริ่มกลับมาดูแลสุขภาพอีกครั้ง
เพราะอยากอยู่กับลูกไปนานๆ เลยตัดสินใจเริ่มวิ่ง
ตอนนั้นก็ถามน้องในออฟฟิศว่าจะทำอย่างไรดี เขาก็บอกว่าสมัครงานวิ่งมาราธอนเอาไว้ มาวิ่งด้วยกันไหม
พูดกันตามตรงตอนนั้น ถ้าใครมาบอกว่าไปวิ่งระยะ 42 กิโลเมตร มันเหมือนการชวนผมไปปีนยอดเขาเอเวอเรสต์เลยนะ คือมันไกลตัวมาก เป็นไปไม่ได้แน่ๆ แต่อีกมุมหนึ่งก็คิดว่า น้องเขาก็ไม่ใช่คนออกกำลังกายอะไรขนาดนั้น เขายังวิ่งได้ เราเองเป็นนักกีฬามาก่อนก็น่าจะพอไหวเหมือนกัน เลยตอบตกลง สมัครในวันนั้นเลย
จากคนที่มองว่าการวิ่งเป็นเรื่องน่าเบื่อ สู่วันที่ตัดสินใจลงสมัครวิ่งมาราธอน คุณคุยเรื่องนี้กับตัวเองอย่างไร
แค่ต้องการออกกำลังกายเพื่อที่จะทำให้อายุยืนกว่าตัวเดิม คิดแค่นั้นจริงๆ
ส่วนเรื่องที่มองว่าการวิ่งเป็นเรื่องน่าเบื่อ ก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่นะ แต่ผมก็จะคุยกับตัวเองเสมอว่า ถ้ารักลูกจริงก็ต้องวิ่งให้ได้ คือพอมันมีเงื่อนไขตรงนี้เกิดขึ้นมา มันไม่มีคำถามกับการวิ่งอีกต่อไปเลย จากนั้นก็เสิร์ชตารางซ้อมวิ่งมาราธอนในกูเกิ้ล แล้วเอามาซ้อมเลย เขาก็บอกว่าวันแรกวิ่ง 5 กิโลเมตร วันต่อมาวิ่ง 7 กิโลเมตร ก็ลุยเลย
แน่นอนว่าวันแรกมันวิ่งได้ไม่ไกลหรอก กว่าจะได้ 1 กิโลเมตรเลยคือแทบตาย แล้วก็คิดต่อทันทีเลยนะว่า ให้ทำแบบนี้ 42 รอบ มองไม่เห็นภาพตัวเองเลยวันนั้น แต่ก็ไม่ท้อนะ พยายามซ้อมต่อไป ก็ค่อยๆ เพิ่มระยะการวิ่ง
สุดท้ายมองผลลัพธ์ในการซ้อมสำหรับการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของคุณอย่างไรบ้าง
เรื่องความเข้มข้นของการซ้อม สุดท้ายก็ไม่ได้ทำตามตาราง 100% แต่เรื่องที่รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปคือ mindset
จากเมื่อก่อนจะรู้สึกว่าการวิ่งมีมารผจญ มีข้ออ้างเต็มไปหมด แต่กลายเป็นว่าช่วงซ้อมเนี่ย มันเปลี่ยนตัวเองชัดเจนเลยนะ ฝนตก แดดออก ก็ยังวิ่ง บางทีทำงานเลิกตีหนึ่ง ตีสอง ก็ยังออกไปวิ่ง วิ่งแถวบ้านเนี่ยแหละ บางวันก็วิ่งสวนก็คนที่เพิ่งกลับมาจากกินเหล้า แบบนั้นก็มี
ทำไมถึงได้มีแรงจูงใจในการวิ่งถึงขนาดนี้ สำหรับคนที่มองว่าการวิ่งเป็นเรื่องน่าเบื่ออย่างคุณ
ผมเชื่อว่าคำพูดเป็นนายตัวเองนะ เราลั่นวาจาแล้วว่าจะไปวิ่งมาราธอน ก็ต้องทำให้เต็มที่ ผมคิดแบบนั้น
ระหว่างการซ้อมมีการตั้งคำถามบ้างไหม ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมถึงต้องมาเหนื่อยขนาดนี้
ไม่ตั้งคำถามเลย บางวันหนักสุดๆ กลับบ้านตี 3 เหนื่อยมากๆ คือถ้าออกไปวิ่งคงสิ้นใจกลางถนนได้ แต่ก็คุยกับตัวเองว่า นอนพักเสียหน่อย แล้วค่อยตื่นมาวิ่งสัก 8 โมงเช้าก็ได้ มันก็เปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นแบบนี้ไป ช่วงนั้นคือถ้าไปสวนลุมพินี รถของผมจะไปจอดเป็นคันแรกๆ ของสวนเสมอ
คุณคือนักวิ่งมือใหม่ที่ฮาร์ดคอร์สุดๆ คนหนึ่งที่รู้จักมาเลย
ใช่ เพราะเรารู้ว่าตัวเองมือใหม่มาก ไม่ได้ออกกำลังกายมาเป็น 10 ปี แล้วยังจะอยากวิ่งมาราธอนให้จบอีก ในวันนี้ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็คงบอกตัวเองเหมือนกันว่า มึงโหดไปนิดหนึ่งนะ แต่ในอีกมุมหนึ่งผมก็มองว่าถ้าไม่ทำแบบนี้ ตัวเองก็คงวิ่งมาราธอนไม่จบ คงจะมีอีกร้อยเหตุผลมาอ้าง แล้วก็ล้มเลิกการวิ่งตรงนี้ไป
ซ้อมขนาดนี้ ผลลัพธ์ในวันแข่งขันจริง เป็นอย่างไรบ้าง
สุดท้ายวันแข่งจริง ผมเจ็บ เจ็บตรง IT Band วิ่งไปได้สักครึ่งทางก็เจ็บแล้ว ได้ก็ยังสู้อยู่นะ เพราะซ้อมมาขนาดนั้น คุยกับตัวเองเลย ไม่เข้าเส้นชัยคือต้องตายเท่านั้น แต่อาการเจ็บมันทรมานจริงๆ เพราะไปได้สัก 30 กิโลเมตรเริ่มไม่ไหวแล้ว เริ่มต้องเดิน เดินไปแบบนั้นจนกิโลเมตรที่ 40
ยิ่ง 2 กิโลเมตรสุดท้ายคือ โคตรมหากาพย์แห่งความทรมาน ลงน้ำหนักบนเท้าแทบไม่ได้ สุดท้ายวิ่งไปทั้งหมด 6 ชั่วโมง 57 นาที เดินเข้าเส้นชัย แล้วก็มีอีกคนอยู่ข้างหลักที่มากับทีม Sweeper ของผู้จัดงาน
คือเข้าเส้นชัยเป็นอันดับรองสุดท้ายเลย
แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้สึกว่าแปลกอะไร เตรียมใจไว้อยู่แล้ว ตอนเข้าเส้นชัยก็รู้สึกว่าขาชาๆ อ่อ มาราธอนมันเป็นแบบนี้นี่เอง แล้วอีกสักพักก็รู้ตัวแล้วว่าบาดเจ็บหนักมากๆ เดินขึ้นแท็กซี่กลับบ้านแทบไม่ได้ ต้องปฐมพยาบาลกันยกใหญ่ จนพอผ่านไปสักวันสองวัน อาการก็ดีขึ้น หายเป็นปกติ วันนั้นก็บอกกับตัวเองว่าพอแล้ว ถือว่าจบกันไป เหมือนสำเร็จการศึกษา รับใบปริญญาเป็นที่เรียบร้อย
แต่จนวันนี้คุณก็ยังเป็นนักวิ่งอยู่ เรื่องราวเป็นอย่างไรต่อ
ปรากฏว่ามันเสพติด ผมกลายเป็นคนติดการวิ่ง ด้วยสิ่งที่ทำมา มันสนุกในแบบของมัน จนกลายเป็นคนติดวิ่ง
แล้วคราวนี้ก็เริ่มมีสังคมวิ่ง มีเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กที่เคยไปสอบถามเรื่องวิ่งต่างๆ ก็ชวนกันไปวิ่งต่างจังหวัดประจำ ขับรถออกไปต่างจังหวัดเช้ามืด วิ่งเสร็จก็สายๆ ก็แวะเที่ยวต่อสักหน่อย กลับมาบ้านก็ช่วงเย็นของวัน เป็นความสุขเล็กๆ ในช่วงนั้น
ในตอนนี้การวิ่งแข่งขัน มันแตกต่างจากการวิ่งซ้อมที่สวนแบบที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
คือการซ้อม เราต้องอยู่กับตัวเอง อยู่กับความว่างเปล่า เพื่อนมีแค่ความคิดในหัวเพียงเท่านั้น
แต่การไปวิ่งแข่งขันมันเหมือนได้ไปคอนเสิร์ต ได้เจอคนประเภท คอเดียวกัน ชอบอะไรเหมือนๆ กัน แล้วผมจะรู้สึกว่า ในบรรยากาศแบบนั้น มันจะมีมวลพลังงานบวกอบอวลอยู่เสมอ จะเหนื่อยแค่ไหนก็มีความสุข จะตอนเริ่มวิ่ง ระหว่างวิ่ง หรือถึงเส้นชัยแล้วมันสนุกอยู่ตลอด
ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างไร แต่มันเป็นความรู้สึกว่า คนจำนวนมหาศาลกำลังร่วมมือ ร่วมใจพิชิตเป้าหมายเดียวกัน คือการวิ่งเข้าเส้นชัย แล้วระหว่างทางนะ มีความสุขสุดๆ ยิ่งไปวิ่งในต่างจังหวัด ได้เห็นธรรมชาติ ได้เห็นบ้านเมือง ที่ไม่คุ้นตา มันอัศจรรย์ แล้วผมบอกเลยว่าต่อให้ขับรถยนต์ผ่านคุณก็จะไม่รู้สึกแบบเดียวกับวิ่งผ่าน การวิ่งมันมีเวลาให้พิจารณามากกว่านั้น บางทีแค่ต้นไม้ใหญ่ๆ สักต้นหนึ่ง เราวิ่งผ่านได้จ้องมันนานๆ ก็ให้ความรู้สึกอีกแบบกับตอนขับรถผ่าน
มันเป็นความสุขแบบค่อยๆ ช้าๆ สวนทางกับชีวิตที่เร่งรีบมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา
ผู้จัดงานวิ่งที่รู้ทุกปัญหา สร้างกิมมิค ในฐานะงานวิ่งคุณภาพระดับประเทศ
แล้วจากนักวิ่ง จนถึงเมื่อไรที่คุณกลายเป็นผู้จัดงานวิ่งเอง
ในช่วงที่เป็นนักวิ่ง ผมก็ไปเจองานวิ่งหลากหลายแบบ ซึ่งมันก็มีปัญหาเล็กน้อยๆ ที่ขัดข้องใจอยู่บ้าง บางงานเจอแก้วน้ำหมด น้ำหมด น้ำไม่เย็น ไม่มีป้ายบอกระยะทางบ้าง คือผมก็ไม่ใช่คนเรื่องมากอะไรขนาดนั้น แต่พอเจอแบบนี้ก็น่าสงสัย สรุปจะเอาอย่างไรกันแน่ บางงานจุดแรกเป็นน้ำไม่เย็น จุดต่อมาเป็นน้ำเย็น อะไรแบบนี้
มีมาราธอนงานหนึ่ง ผมไปวิ่งไปสักพักเจอป้ายบอกระยะทาง 10 กิโลเมตร สักพัก 12 กิโลเมตร แล้วอีกสักพักใหญ่ๆ เลยคือ 23 กิโลเมตร อะไรแบบนี้มันก็ทำให้นักวิ่งอย่างเรารู้สึกสับสนได้นะ
หรือเรื่องเสิร์ฟน้ำ บางงานเสิร์ฟที่กิโลเมตรแรก บางงานเสิร์ฟ์ที่กิโลเมตรที่ 2 ความแน่นอนมันอยู่ตรงไหน รวมไปถึงเรื่องอาหารหลังเส้นชัยที่มีเหลือบ้าง ไม่เหลือบ้าง มีงานวิ่งหนึ่งที่เขาโปรโมตเรื่องอาหารที่อร่อยมากๆ อย่าง ข้าวมันไก่ กับบะหมี่หมูแดง ปรากฏว่าพอเราวิ่งเข้าเส้นชัย ข้าวมันไก่ ไก่หมด ส่วนบะหมี่หมูแดง บะหมี่หมด กลายเป็นว่าวันนั้นผมต้องกิน ข้าวมันหมูแดง
คือผมในฐานะนักวิ่งก็ไม่ได้โกรธอะไรนะ แต่พอวิ่งไปสักพักหนึ่ง ด้วยความที่ผมทำบริษัท Event Organizer จัดพวกงานประชุม งานของฝั่ง Corporate เชิญบริษัทต่างๆ มาเป็นผู้ฟังการประชุม ก็เริ่มมีความคิดว่าอยากลองจัดงานวิ่งดูบ้าง
งานวิ่งครั้งแรกของคุณต้องมีอะไรบ้าง
ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรหรอก คิดเพียงแต่ว่า Pain Point จากการวิ่งมีอะไรบ้าง ก็ลองลิสต์มาให้หมด
จากนั้นก็เริ่มมองหาสถานที่จัดงาน ก็เลือกหาสถานที่ไม่ไกลเกิน 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ เพราะผมคิดจากตัวเองเป็นที่ตั้งว่า จะเดินทางไปวิ่ง ไกลมากไม่ได้ เพราะต้องกลับมาทำงานในกรุงเทพฯ ต่อ จะจัดงานในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ เพราะเขามีงานวิ่งของตัวเองอยู่แล้ว คือถ้าคิดในมุมนักการตลาด ถ้าเราไปเป็นงานวิ่งที่ 2 มันจะถูกเปรียบเทียบ ถูกตั้งคำถามพอดี ก็เลยพยายามหาสถานที่อื่นๆ
จนไปเจอ บางแสน จังหวัดชลบุรี
ในวันนั้นบางแสนเป็นเมืองที่เกือบจะตายไปแล้ว เป็นเมืองเก่าแก่ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคือ เป็นเมืองที่สะอาดใช้ได้เลยนะ ก็เลยลองมาศึกษาเมืองบางแสนดู ปรากฏว่าเพื่อนที่รู้จักเขาเพิ่งสร้างพื้นที่สำหรับประชุมในโรงแรมใหม่ ใหญ่โตมากๆ ซึ่งได้ยินแบบนี้ก็สนใจทันที เพราะพื้นเพ เราเป็นคนทำงาน Event คุ้นเคยกับห้องประชุมอยู่แล้ว ก็เลยเริ่มจริงจังกับเมืองบางแสน เริ่มลงพื้นที่บ่อยมากขึ้น
จนไปพบอีกว่า บางแสนคือสถานที่ที่มีถนนติดหาดกว้างที่สุดในประเทศไทย คือกว้างถึง 6 เลน ขณะที่พัทยามีแค่ 3 เลนเอง แล้วถนนก็ยาวตั้ง 2 กิโลเมตรเต็มๆ ก็เลยเริ่มเข้าไปติดต่อ ได้คุยกับ นายกฯ ตุ้ย (ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข) ก็ไปคุยกับเขาตรงๆ ว่าผมไม่เคยจัดงานวิ่ง แต่ผมอยากลองจัดดูสักครั้ง และจะจัดให้มันดี ให้มันเป็นงานวิ่งในฝันเลย
คือสมัยก่อนเวลาจะจัดงานวิ่ง โมเดลธุรกิจคือ ภาครัฐต้องเป็นคนจัดซื้อจัดจ้าง แต่งานนี้ผมบอกนายกฯ ตุ้ยว่า ผมไม่ได้มาเอาเงินคุณหรอกนะ ผมแค่ขอให้มาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ส่วนเงินผมออกเอง วันนั้นผมไปขายเขาแบบนี้ ไปขายว่าเราอยากจัดงานวิ่งที่ดีให้กับคนไทยจริงๆ
หากไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ แล้วงานวิ่งของคุณจะเอาเงินมาจากไหน
เราน่าจะเป็นงานวิ่งแรกๆ ที่ใช้โมเดลเก็บค่าสมัครแล้วก็ไปหาสปอนเซอร์มาสนับสนุน แต่เอาเข้าจริงในวันแรกๆ ยังไม่รู้หรอกว่าจะออกมาเป็นอย่างไร คิดแต่ว่าจะเอาสถานที่ตรงนี้ให้ได้ก่อน เพราะถ้ามันไม่มีที่วิ่ง งานมันจะไม่เดินต่อ ซึ่งโชคดีทีนายกตุ้ยแกเอาด้วย แกบอกว่าอยากเปลี่ยนบางแสนให้เป็นเมืองสุขภาพ
มันต้องมีวาทศิลป์อย่างไร ที่ทำให้องค์กรรัฐยอมร่วมมือกับคนที่เพิ่งจัดงานวิ่งครั้งแรกได้
ก็เล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่างานวิ่งที่จะเกิดขึ้นมันจะมีอะไรบ้าง มันต้องมี ลูกเล่นต่างๆ ต้องเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างจากที่งานวิ่งเคยมีมา อย่างชื่องานวิ่งในปีนั้นคือ BANGSAEN21 เราก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่เอาตัวเลขมาเป็นชื่อภายในงานทำให้มันกลายเป็นภาพจำ ให้มันดูทันสมัยมากขึ้น
ส่วนคอนเซปต์ของงานวิ่งคือ The Finest Running Event Ever ที่แปลเป็นภาษาไทยคือ งานวิ่งที่แสนสุขที่สุด เพราะเมืองบางแสนมันคือชื่อย่อมาจากคำว่า บางแสนสุข เราก็เลยตั้งสโลแกนตรงนี้ขึ้นมาด้วยความเชื่อว่า นักวิ่งภายในงานต้องเข้าเส้นชัยอย่างมีความสุข
จากนั้นสิ่งอื่นๆ ก็จะตามมา การแก้ปัญหา Pain Point ต่างๆ
อันดับแรกคือเรื่องเสื้อวิ่ง สมัยก่อนไม่ว่าจะวิ่งระยะไหน ก็จะได้เสื้อเหมือนกันหมดนะ ผมวิ่งมาราธอน ก็จะได้ใส่เสื้อกับคนที่วิ่ง 5 กิโลเมตร คือมันแทบไม่ต่างกันเลย เหรียญก็ยังเหมือนกันอีก ดังนั้นระยะ 21 กิโลเมตร 10 กิโลเมตร 5 กิโลเตร เสื้อต้องแตกต่างกัน ให้เขารู้สึกว่ากว่าจะได้เสื้อตัวนี้มา มันต้องเหนื่อยขนาดไหน เป็นสร้างความภูมิใจเล็กๆ ให้กับตัวนักวิ่ง
อย่างที่สองคือ เราทำแผนที่วิ่ง งานวิ่งอื่นเขาจะใช้แผนที่จริงๆ มันขีดเส้นให้ดูว่าจะวิ่งไปตรงจุดไหนบ้าง แต่ปัญหาคือบางทีมันดูยาก บางคนเขาดูไม่เข้าใจ เราก็เลยทำเป็นกราฟิกใหม่ขึ้นมาเลย อาจไม่ตรงกับแผนที่จากดาวเทียม แต่มันดูง่าย สบายตา จำแค่ว่าคุณจะต้องเลี้ยว ตรงหัวมุมไหน ต้องผ่านสัญลักษณ์สำคัญอะไรบ้าง ให้มันดูง่าย ดูสวย มีลูกเล่น แต่สื่อสารได้
หรืออย่างเรื่องการรับเสื้อ จากเมื่อก่อนต้องใช้ระแบบต่อคิวหน้างานเพื่อรับเสื้อ ซึ่งมันเสียเวลามาก บางทีเกือบครึ่งชั่วโมง เราเปลี่ยนใหม่ ใช้ระบบ SMS เลย คือเราส่งรหัสรับเสื้อนักวิ่งไปให้คุณก่อน พอถึงวันงานคุณมาแจ้งกับเรา แล้วเราที่มีข้อมูลอยู่แล้วก็เตรียมไว้ล่วงหน้า มาถึงแจ้งเลข รับเสื้อ จบ มันรวดเร็วกว่า
ในช่วงปล่อยตัว งานผมเคร่งเรื่องเวลามาก ผมบอกทุกคนเลยนะว่า พอถึงเวลาปล่อยตัว ถ้าไม่มีใครเอาปืนจ่อหัวอยู่ ต้องปล่อยตัวตามกำหนดการณ์
ส่วนเรื่องจุดรับน้ำ ผมใช้วิธีค่อยๆ เสิร์ฟน้ำไป ตอนปล่อยตัวก็ให้จุดรับน้ำแรกเสิร์ฟน้ำไปก่อน จุดที่ 20 ตรงกิโลเมตรท้ายๆ ก็ยังไม่ต้องเสิร์ฟน้ำ เพราะเดียวมันจะหายเย็นไปเสียก่อน ซึ่งเราก็คำนวณหมดว่าแต่ละจุดควรเริ่มเทน้ำตั้งแต่นาทีที่เท่าไรเป็นต้นไป
ส่วนเรื่องป้ายเราก็ชัดเจนเลยว่า จะมีทุก 2 กิโลเมตร ก็ต้องเซอร์เวย์เส้นทางก็ต้องใส่นาฬิกาทุกรุ่นเท่าที่จะหาได้ เพื่อให้ได้จุดที่นาฬิกามันวัดระยะได้ใกล้เคียงกันที่สุด ป้ายก็ต้องบอกด้วยนะว่าจะได้กินน้ำทุกจุด
ที่สำคัญเลยคือเราจะมีป้ายอีกแบบเพิ่มมาคือ ป้ายที่บอกว่า อีก 200 เมตร จะถึงจุดรับน้ำ ซึ่งมันสำคัญมากนะ เพราะการทำป้ายแบบนี้ มันสร้างกำลังใจให้กับนักวิ่งที่เหนื่อยมากๆ จนตอนแรกเขาจะหยุดวิ่งแรก แต่เขาอาจจะกลั้นใจอีกหน่อย ไปหยุดตอนถึงจุดรับน้ำ ได้กินน้ำสักแก้ว ก็มีแรงวิ่งต่อได้ หรือกระทั่งคนที่เขาวิ่งเพื่อแข่งขันก็จะได้ตัดสินใจว่า จะโฉบไปรับน้ำ หรือข้ามจุดนี้ไป
แม้แต่การจัดเรียงน้ำกับน้ำเกลือแร่เหมือนกัน นักวิ่งมันมี 2 ประเภทนะ บางคนเขากินน้ำก่อนเกลือแร่ บางคนเขาก็กินเกลือแร่ก่อนกินน้ำ ดังนั้นถ้าเราจัดแบบใดแบบหนึ่งก่อน นักวิ่งอีกประเภทก็คงจะเซ็งไม่น้อยที่จุดรับน้ำมันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเขา เราเลยใช้วิธีการ วางน้ำเปล่า น้ำเกลือแร่ แล้วก็น้ำเปล่าอีกที ซึ่งทำแบบนี้นักวิ่งจะสามารถเข้ารับน้ำได้ทั้ง 2 แบบ
เรื่องถังขยะก็สำคัญ คือเราทำถังขยะใหม่ขึ้นมา 300 ใบ ใช้เงินเกือบครึ่งล้านเลยนะ รวมกับของเทศบาลแล้ว งานวิ่งเรามีถังขยะ เกือบ 500 ใบ แล้วทุกจุดรับน้ำ เราจะตั้งถังขยะเรียงเป็นแนวยาวตลอดทั้งเส้นเลย คือทำจนนักวิ่งรู้สึกว่า เรามีให้ขนาดนี้ ก็ต้องทิ้งขยะให้ลงถังนะ จะมาอ้างไม่ได้แล้ว เป็นหน้าที่คุณแล้ว
รวมไปถึงเรื่องแก้วน้ำ จากเมื่อก่อนเขาใช้แก้วพลาสติก ก็มาใช้แก้วกระดาษ คือแวดวงการทำงานของผม เขาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เลยจริงจังกับเรื่องนี้ แล้วพอทำแก้วกระดาษเองขึ้นมา ก็เลยถือโอกาสสกรีนกราฟิกของงานวิ่งลงไป ข้อดีคือถ้าเราเห็นแก้วกระดาษจากที่อื่นตกบนถนนบางแสน ก็จะมาบอกของเราไม่ได้ อีกทั้งพอมีกราฟิกแบบนี้ นักวิ่งเขาก็อยากเก็บ อยากสะสม เป็นหลักฐานว่าเขาได้มางานวิ่งในปีนี้จริงๆ
เรื่องรางวัล เราก็เป็นงานแรกที่มีรางวัล นักวิ่ง Top100 ทั้งประเภทชายและหญิง คือบางทีนักวิ่งเขาซ้อมมาแทบตาย แล้วทำผลงานได้ดีด้วยนะ แต่ได้อันดับ 6 อันดับ 7 แบบนี้ มันน่าเสียดาย มันไม่มีโพเดียม ไม่มีถ้วยให้เขา อย่างน้อยเรามีรางวัลเป็นตุ๊กตาให้ มันก็เป็นความภูมิใจเล็กๆ น้อยๆ ตอบแทนความพยายามของเขาที่ซ้อมมาอย่างหนักหน่วง ซึ่งตุ๊กตาเราก็ทำเป็นตัวลิง ซึ่งมันสื่อถึงเหล่าลิงบริเวณเขาสามมุก มีชื่อด้วยคือ แซมมี่ กับ มุกกี้
เรื่องอาหาร ไม่ต้องกลัวของหมด อาหารไม่พอ เราแจกเป็นคูปองเลย 4 ใบ คุณกินอาหารในงานได้เลย 4 จาน ไม่รวมน้ำดื่ม ไม่รวมขนมหวาน กินไม่หมดก็หิ้วกลับบ้านไปเลย คือพอใช้วิธีนี้ เราก็จะคำนวณได้ว่า นักวิ่งเท่านี้ กินอาหารได้ 4 จานต้องเตรียมของเท่าไร
รวมไปถึงการค้นหารูปตอนวิ่ง จากที่เมื่อก่อนช่างภาพจะโพสต์ภาพเป็นอัลบั้ม แล้วนักวิ่งก็ต้องไปไล่หารูปกันเอง ต้องจำว่าตอนนั้นเราวิ่งข้างๆ ใคร ก็ไปหารูปแถวๆ นั้นเอา มันเสียเวลามาก บางทีกว่าจะเจอรูปตัวเอง หมดไปเป็นวัน เราก็เลยใช้วิธีค้นหาผ่านตัวเลข Bib ให้โปรแกรมมันช่วยคำนวณว่า รูปไหนที่มีตัวเลขตาม Bib เราก็ดึงภาพมาแสดงเลย ซึ่งเพื่อนผมที่พัฒนาระบบนี้อีก 2 ปีให้หลังก็ไปตั้งบริษัทที่ชื่อ Thai Run ต่อ
ทำไมถึงต้องลงรายละเอียดต่างๆ กับงานวิ่งมากขนาดนี้
เพื่อให้เห็นว่าเราใส่ใจ
เชื่อไหม เปิดรับสมัครประมาณ 3 เดือน มีนักวิ่ง 800 คนสมัครเข้ามาแล้ว ทั้งที่ไม่มีใครรู้จักเราเลย ทั้งที่เราหน้าใหม่ในวงการวิ่งมากๆ โอเคส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราทำการตลาดจริงจังด้วย ทำโฆษณา ไปออกรายการของคุณ วู้ดดี้ (วุฒิธร มิลินทจินดา) ทำคลิปโปรโมตลงเฟซบุ๊ก ทำหนังสือพิมพ์แจกฟรี เราทำหมด เพื่อโปรโมต
ทีนี้กลายเป็นว่า 2 อาทิตย์ต่อมา คนสมัคร 3,500 คน เยอะกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 อีก คือตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก เพราะเทียบกับงานระดับมาราธอนของประเทศ ที่มีระยะ 42.195 กิโลเมตรด้วย เขามีนักวิ่ง 4,000 คน ส่วนของเรางานใหม่ จัดครั้งแรกก็เกือบเท่าเขาแล้ว
เรื่องค่าสมัครที่ค่อนข้างสูงของงาน BANGSAEN21 ได้รับฟีดแบ็กกลับมาอย่างไรบ้าง
นักวิ่งบ่นกันหนักมาก ตอนนั้นเราไม่รู้จริงๆ ว่าจะคิดราคาเท่าไรนะ ก็ไปดูงานวิ่งใหญ่ๆ ของประเทศ กรุงเทพมาราธอน (Bangkok Marathon) ภูเก็ตมาราธอน (Laguna Phuket Marathon) ว่าเขาคิดเท่าไร ซึ่งมันคือ 800 บาท ก็เอาราคานั้นมาเป็นราคาฮาล์ฟมาราธอน แต่นั่นคือราคาที่คนยอมจ่ายสำหรับการวิ่ง 1 ครั้งที่ระยะ 42 กิโลเมตร มันเลยค่อนข้างแพง ส่วนระยะ 5 กิโลเมตร กับ 10 กิโลเมตร เราใช้ราคาคร่าวๆ คือ 600 บาท
คือเราไม่ได้คิดว่าราคาเท่านี้จะทำกำไรให้ขนาดไหน เพราะเราคิดอยู่แล้วว่าจะไปหาเงินจากทางสปอนเซอร์เสียมากกว่า เราคิดเพียงแต่ว่าจะทำราคาแบบไหนที่มันเหมะสมกับนักวิ่งมากที่สุดเท่านั้นเองในตอนนั้น
เตรียมความพร้อมละเอียดขนาดนี้ มีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นในงานบ้างไหม
ถ้าถามถึงความวุ่นวาย ของผมคือการมอบรางวัลไม่ค่อยคล่อง เพราะที่ผ่านมา ผมไม่เคยเห็นเขามอบรางวัลกันเลย งานก่อนหน้านี้คือกว่าผมจะเข้าเส้นชัย เขาก็มอบรางวัลกันเสร็จแล้ว (หัวเราะ)
เลยไม่รู้ว่าเขาจัดคิวอย่างไร เชิญประธานขึ้นมามอบตอนไหน จะให้รางวัลจากที่ 5 มาที่ 1 หรือที่ 1 มาที่ 5 ตอนนั้นไม่รู้เลย อีกอย่างคือเรื่องป้ายผู้ได้รางวัลหลังเข้าเส้นชัยที่ค่อนข้างสับสน ซึ่งภายหลังก็เลยใช้วิธีจัดอันดับผ่านชิปที่ติดอยู่ใน Bib เลย
ตัวคุณประเมินการจัดงานวิ่งครั้งแรกของตัวเองอย่างไรบ้าง
คือเท่าที่ผมนับ มันมีเรื่องใหม่ในวงการวิ่งเกิดขึ้นผ่าน Bangsaen 21 ปีนั้นเกือบ 30 เรื่อง มันก็เป็นความภูมิใจที่เกิดขึ้นส่วนตัว ที่งานมันแก้ทุกปัญหาที่คาใจเรามาตลอดได้
แต่ถามว่าเหนื่อยไหม โคตรเหนื่อยเลย คือพอจัดงานวันอาทิตย์ตอนเช้าเสร็จ ก็สลบเหมือดกันหมด ฟื้นอีกทีก็ตอนเย็นเลย ตื่นมาดูว่าฟีดแบ็กของนักวิ่งเป็นอย่างไรบ้าง
ความเห็นจากนักวิ่งในตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
“พลาดแล้ว ใครไม่มาพลาดแล้ว”
“อาหารเหลือเพียบ กินไม่หมด”
คือผมดีใจตรงที่ทุกกิมมิคที่เราใส่ลงไป คนเห็นทั้งหมด “งานวิ่งนี้เหรียญสวยมาก มีตุ๊กตาด้วย” เขาพิมพ์บอกแบบนั้น บางคนก็ชมเรื่องแก้วกระดาษ เรื่องถังขยะ บางคนชมเรื่องการปิดจราจร 100% บางคนชมภาครัฐที่เขาให้ความร่วมมือกับเรา คือได้รีวิวเชิงบวกแทบจะ 100% เลย ผมว่ามันเป็นผลลัพธ์ที่เกิดคุ้ม เกิดจากที่คาดในตอนแรกไปอย่างมาก
ใช้คำว่าประสบความสำเร็จได้เลยไหม
มีบางคนบอกว่า งานของเราเหมือนกับงานดีๆ ที่จัดในต่างประเทศ บ้างก็บอกว่าเหมือนงานวิ่งในประเทศญี่ปุ่น ในประเทศสิงคโปร์ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยวิ่งในต่างประเทศเลยตอนนั้น
แต่ด้วยความอยากรู้ว่างานวิ่งในต่างประเทศมันดีอย่างไร ก็เลยลองไปเสิร์ชดู จนได้รู้ว่า มันมีมาตรฐานหนึ่งที่ชื่อ International Association of Athletics Federations (IAAF) ที่ยิ่งใหญ่มากในวงการกีฬา เป็นสมาคมที่สั่งแบนรัสเซียไม่ให้เข้าแข่งขันกีฬาต่างๆ ช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย
ส่วนในวงการวิ่งเขาก็เป็นสมาคมที่กำหนดมาตรฐานมาโดยตลอด ซึ่งจะมีมาตรฐานอยู่ 3 ระดับ คือ Bronze label, Sliver Label และ Gold Lable โดยแต่ละระดับก็จะมีเกณฑ์และเงื่อนไขที่ต่างกัน และในวันนั้นในอาเซียนมีงานวิ่งในประเทศเดียวที่อยู่ในมาตรฐานของ IAAF คือสิงคโปร์
ผมก็มานั่งดูว่าจะทำอย่างไรงานวิ่งถึงจะได้มาตรฐานบ้าง ซึ่งอย่างแรกเลยคือระยะต้องตรงตามมาตรฐาน คือไม่ใช่ว่าจะวัดเองได้นะ ต้องให้เขาส่งคนที่วัดระยะทางสำหรับวิ่งที่มีใบรับรองเรื่องนี้โดยเฉพาะ มาวัดและรับรองให้ นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องที่้ทำแล้ว เช่นปิดถนน 100% มีป้ายบอกระยะทุก 2 กิโลเมตร
แต่มีเรื่องหนึ่งที่เรายังไม่มีคือระบบการแพทย์ ที่ต้องทำเป็นแบบแผนจริงจัง เราเลยติดต่อ ดร.นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ มาเป็น Medical Director ให้ในงาน ซึ่งตอนนั้นงานวิ่งในประเทศไทย จะมีคนทำตำแหน่งนี้ในงานน้อยมากๆ ผมคิดอย่างนั้นนะ
Medical Director มันคืออะไร แล้วต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง
เขามีข้อกำหนดชัดเจนเลย เป็นคู่มือเล่มหนาๆ เล่มหนึ่ง ผมอ่านเองจะเข้าใจประมาณ 20% เพราะมันเป็นภาษาทางการแพทย์ แต่หลักๆ คือ เขาให้เราวางแผนทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ให้ครอบคลุมตลอดการแข่งขัน คือจะมีอัตราส่วนเลยงานวิ่งที่มีคนเท่านี้ ต้องมีอุปกรณ์และบุคลากรจำนวนเท่าใด ต้องดูแลเคสแบบไหนบ้าง ต้องใช้เครื่องมืออย่างไร ต้องมีแผนชัดเจนว่าถ้ามีคนล้มลง รถพยาบาลต้องเข้าถึงภายในกี่นาที แล้ว Workflow เป็นอย่างไรต่อ จะส่งเขาไปที่โรงพยาบาลไหน ทุกอย่างมันต้องมีแผนทั้งหมด
ซึ่งทั้งหมดนี้ ประเมินเป็นค่าใช้จ่ายคือ เกือบ 6 แสนบาท ซึ่งมันเป็นการลงทุนที่คาดการณ์ล่วงหน้าด้วยนะ คือถ้าสมมติสุดท้ายในวันนั้นแฮปปี้เอ็นดิ้ง ไม่มีใครบาดเจ็บหรือหมดสติ เงินตรงนี้ก็จะทิ้งเปล่าไปเลย
แต่หากเงินหลักแสนมันสามารถช่วยชีวิตใครสักคนได้ มันก็คุ้มค่ามากๆ แล้ว
ใช่ ผมถึงมองว่าอย่างไรก็จำเป็นต้องมี
เพราะสุดท้าย ทุกปีที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์หัวใจวายทุกปี คือมันไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลยในหมู่นักวิ่ง ดังนั้นพอมีแผนตรงนี้ขึ้นมา นักวิ่งที่เขามาวิ่งกับเรา ก็จะมีโอกาสรอดสูง โชคดีที่ประเทศไทยเรามีแพทย์ที่เก่ง ดังนั้นคนเป็นผู้จัดงานวิ่ง ก็ต้องไปหาแพทย์ที่จะเป็น Medical Director คู่หูที่เหมาะสมให้ได้
ในวันนี้ที่สนาม BANGSAEN21 ได้มาตรฐาน Platinum Level มันเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องอธิบายก่อนว่าหากมันมีมาตรฐาน Bronze label, Silver Label และ Gold Label แล้ว Platinum Label คืออะไร
คือช่วงปี 2020 IAAF ได้เปลี่ยนชื่อเป็น World Athletics (WA) เปลี่ยนหมดทุกอย่างเลย อีกทั้งพอเจอสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนั้น มันทำให้งานวิ่งจัดได้ยากขึ้น มาตรฐานอะไรต่างๆ มันเลยต้องปรับเปลี่ยนไป
ดังนั้นเพื่อไม่ให้มาตรฐานเดิมที่เคยทำมา มันตกหล่นลง เขาเลยสร้างมาตรฐานใหม่ เป็นสีเขียว (Road Race Lable) กับสีม่วง (Platinum Lable)
คือทั้งสองมาตรฐานมันยังมีข้อกำหนดที่สูงอยู่นะ เรื่องระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการจัดงานวิ่งที่ดี เพียงแต่ Platinum Level จะมีข้อแตกต่างคือ งานสิ่งนั้นต้องมีนักวิ่งระดับอีลีธของโลกมาร่วมแข่งขันด้วย ซึ่งทางผู้จัดต้องเป็นคนเชิญมาวิ่ง โดยจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ถ้ามีค่าตัว ค่าเดินทาง ค่าที่พัก คือเอาแค่ส่วนนี้ใช้เงิน 2-3 ล้านแล้ว
ทำไมงานวิ่งที่ได้มาตรฐานสูงๆ จึงต้องชวนนักวิ่งระดับอีลีธมาร่วมแข่งขัน
เพราะเขาต้องการสร้างระบบอาชีพให้กับนักวิ่ง เขาต้องการสร้างให้เกิดนักวิ่งอาชีพขึ้นมา ให้มีงานทำ อารมณ์ประมาณว่าถ้าคุณเป็นนักวิ่งที่เก่ง คุณก็จะมีค่าตัวที่สูง
จากวิ่งเพื่อไขว่คว้า สู่การวิ่งเพื่อมอบ ‘ความสุข’
หากมองถึงงานวิ่งอื่นๆ คุณมีงานวิ่งที่รู้สึกประทับใจบ้างไหม
เอาเข้าจริง ผมก็ยังวิ่งในต่างประเทศไม่เยอะมาก แต่ที่ชอบจริงๆ คงจะเป็น กิฟุ ฮาล์ฟมาราธอน (Gifu Seiryu Half Marathon) ที่ญี่ปุ่น เป็นสนาม Gold Label ของเอเชียด้วยนะ โอซากามาราธอน (Osaka Marathon) ก็ชอบ
สิ่งที่ประทับใจมากๆ คือกองเชียร์ ผมมว่ามากันมีหลักแสนคน ออกมาดูกันเหมือนเป็นมหกรรมของเมือง มาดู มาเชียร์ คือสมมติมีพนักงานในบริษัทสักคนหนึ่งมาวิ่ง คือทั้งบริษัทเขาแห่มาเชียร์กันเอาเป็นเอาตายเลย สปิริตมันแบบนั้นจริงๆ
แล้วข้างทางก็จะมีของให้ทานระหว่างวิ่งไปหมด มีขนม มีผลไม้ กินไม่หมดก็เก็บใส่กระเป๋าก่อนได้ คือบางทีผมไม่ได้อยากกินหรอกนะ แต่ก็หยิบมา ถือว่าเป็นการขอบคุณน้ำใจ ที่เขาอุตส่าห์เตรียมของมาให้เรา ก็ได้เห็นรอยยิ้ม ได้เห็นแววตาของคนในเมืองนั้นๆ มันก็ได้พลังงานกลับมาด้วย
เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างงานวิ่งในประเทศไทยที่คนไทยมีส่วนร่วมเช่นเดียวกับงานวิ่งในประเทศญี่ปุ่น
ถ้าในประเทศไทย ผมว่างานที่ทำได้ดีและใกล้เคียงกับต่างประเทศมากๆ คือ จอมบึง มาราธอน (Chombueng Marathon) อาจเพราะเขาเป็นงานวิ่งประวัติศาสตร์ของประเทศ อยู่มาหลายสิบปี มันเลยกลายเป็นวัฒนธรรมแล้ว เด็กในเมืองเขาโตมากับประเพณีวิ่งแบบนี้ ก็จะออกมาดู เอาของมาให้ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับชุมชน
ในอนาคตที่อื่นก็อาจจะเป็นแบบ จอมบึงมาราธอน ได้นะ ถ้าเศรษฐกิจดี ปากท้องของคนมันอิ่ม ประเพณีและวัฒนธรรมมันก็จะเกิดขึ้นมาเอง
หากจะพัฒนางานวิ่งในประเทศไทยให้ดีขึ้น ต้องแก้ไขเรื่องใดเป็นอันดับแรก
ผมว่าเราต้องผลักดันให้กีฬาวิ่งเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของคนในประเทศ โอเค ว่าวันนี้มันอาจอยู่ใน Top5 แต่ผมว่ามันยังไม่พอ แต่ถ้าทำให้เห็นได้ว่าการวิ่งมันทำให้คุณภาพชีวิตของคนจะดี แล้วคนจะรู้สึกว่าการเป็นนักวิ่งมันเป็นสิ่งที่จำเป็นกับพวกเขา
คืออย่างตัวเองผมเองทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเยอะนะ เหมือนกลายเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าแต่ก่อน นอนเร็ว ตื่นเช้าขึ้น ร่างกายก็ดี พวกระบบความคิดก็ดีขึ้น ได้ฝึกความอดทน ฝึกอยู่กับตัวเอง ได้รู้จักการให้กำลังใจกัน ได้สังคมที่ดีๆ กลับมา ผมว่าถ้าเรานำเสนอสิ่งนี้ให้คนทั้งประเทศเห็นได้ นักวิ่งกับงานวิ่งในประเทศมันจะเพิ่มและมีคุณภาพมากขึ้นตามมา
ในวันนี้ อะไรที่ยังทำให้คุณอยากจัดงานวิ่งในปีต่อไปอยู่ตลอด
จำได้ว่าหลังจากงาน BANGSAEN21 ปีแรกเสร็จ ก็คิดกันว่าโอเค มันสนุกดีนะ คนก็ชอบเยอะ เพราะงั้นจัดเป็นงานอดิเรกก็แล้วกัน ปีหนึ่งจัดครึ่งหนึ่ง แล้วก็กลับไปทำงานอีเวนต์เหมือนเดิมต่อ เพราะตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่าการจัดแข่งงานวิ่งจะหาเงินได้ การวิ่งยังไม่ได้เป็นกระแสขนาดนั้นในประเทศไทย
แต่พอสถานการณ์ทุกอย่างมันเริ่มไปในเชิงบวก คนก็เริ่มให้ความสนใจเรามากขึ้น รวมถึงตัวผมเองได้เห็นเรื่องราวต่างๆ ในงานวิ่งมากขึ้น ได้เห็นความสุขของนักวิ่ง ได้เห็นบางคนที่วิ่งมาหาผมทั้งน้ำตาเลยนะ แล้วบอกว่าขอบคุณที่ทำให้เขารู้สึกได้พิชิตความสำเร็จสักอย่างได้ในชีวิต บ้างก็เข้ามากอด มาบอกว่าเมื่อก่อนน้ำหนักเป็นร้อยกิโลกรัมเลย พอมันมีงานวิ่ง มีกีฬาวิ่ง ก็ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ หรือคนใกล้ตัวผมเอง ทุกวันนี้ พี่และน้องของผมทุกคนวิ่งระยะฮาล์ฟมาราธอนจบกันหมดแล้ว คนรอบตัวกลายมาเป็นนักวิ่ง
มีพนักงานผมคนหนึ่งบอกว่า พี่ไม่ต้องมาชวน ผมเกลียดวิ่งที่สุด ไม่มีทาง ไม่เคยเห็นตัวเองเป็นนักวิ่ง แต่ผมก็ชวนตลอด ปีแรก ปีที่สอง ปีที่สาม ก็ไม่สน จนเลิกหวังไปแล้ว สุดท้ายเป็นปีที่แปด ปีที่เก้า ปีที่สิบ ที่เขาเปลี่ยนใจ หันมาเริ่มวิ่ง ทุกวันนี้กลายเป็นนักวิ่งไปแล้ว คือมันพิสูจน์ให้เห็นเลยว่า สิบปี ยี่สิบปีมันก็เป็นไปได้ กับการหันมาวิ่งและรักสุขภาพของตัวเอง
ทั้งหมดนี้มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่า เหมือนตัวเองกำลังทำอะไรบางอย่างให้สังคม ซึ่งพอถึงจุดนั้นการจัดงานวิ่งมันเลยพ้นจากคำว่า ธุรกิจและรายได้ ไปแล้ว มันกลายเป็นแพชชั่น เป็นตัวตนของเราทุกวันนี้
Tags: งานวิ่ง, มาราธอน, The Chair, How Far We Run, BangsaenMarathon, บางแสนมาราธอน, รัฐ จิโรจน์วณิชชากร, Bangsaen Marathon, BANGSAEN42