เรื่องเล่าคือจิตสำนึกส่วนที่เป็นศิลปะของภาษา, มันป่วนความเป็นระเบียบและเหยียดกฎบังคับ, ล้อเลียนความพยายามจะสร้างสัจธรรมในการพูดและเขียน. เรื่องเล่าจึงเป็นปรปักษ์ต่อภาษาและสนุกสนานกับการเปิดโปงความอ่อนแอ, ฉีกหน้ากากความลวงในภาษาอยู่บ่อยครั้ง, ไม่ว่าผู้เล่าเรื่องจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม. (หน้า 99)
ถ้าไม่นับหนังสือแนวนำเที่ยว ประเทศไทยแทบไม่เคยปรากฏอยู่ในแผนที่ของโลกวรรณกรรมสากล ด้วยความที่ทำงานเกี่ยวกับวรรณกรรมต่างชาติเป็นหลัก ฉันมีคำถามกับตัวเองมาตลอดว่าจะเชื่อมโยงคนไทยและวรรณกรรมไทยเข้ากับโลกภายนอกได้อย่างไรบ้าง น่าแปลกที่ไม่เคยฉุกคิดว่า จุดร่วมที่ฉันเรียกหา แท้จริงแล้วลอยอยู่ตรงหน้า แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน จนเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ชาติไปแล้ว สิ่งนั้นคือระบอบเผด็จการ
แม้อาจพูดได้ว่า เรื่องราวในเบสเมนต์ มูน นวนิยายเล่มล่าสุดของปราบดา หยุ่น เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศไทย แต่เนื่องจากมันใช้เทคโนโลยีในโลกอนาคต (อันใกล้) อย่าง “จิตสำนึกประดิษฐ์” เป็นตัวเดินเรื่องหลัก เหตุการณ์สำคัญจำนวนมากจึงเกิดขึ้นในต่างประเทศและเชื่อมโยงอยู่กับคนหลายเชื้อชาติ-ภาษา ประเทศไทยในบริบทโลกดังกล่าว ถูกลดสถานะไปเป็นเพียงประเทศเผด็จการเล็กๆ อันไกลโพ้น ที่ “นำเข้า” เทคโนโลยีล้ำสมัยไปใช้ผดุงความล้าหลังเท่านั้น
โดยปกตินวนิยายในโลกภาษาอังกฤษที่เล่าถึงเทคโนโลยีของการกดขี่ (ที่หลายคนคุ้นเคยก็น่าจะเป็น 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) กับ Brave New World ของอัลดัส ฮักซลีย์ (Aldous Huxley)) มักจินตนาการประเทศฉากหลังของเรื่องให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนมีศักยภาพเพียงพอจะพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในการควบคุมคนของตนเอง ตำแหน่งแห่งที่ของรัฐเผด็จการไทยในเบสเมนต์ มูน จึงเป็นจินตนาการที่สะท้อนความจริงอย่างยิ่งของผู้นำประเทศชายขอบที่มั่งคั่งพอจะเอาเงินภาษีของประชาชนมาใช้จ่ายเพื่อบดขยี้ประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้หรือเข้าใจทั้งกลไกทางเทคโนโลยีจากภายนอก และความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่สร้างความ “ไม่สงบ” ภายใน
เบสเมนต์ มูน เปิดเรื่องด้วยมุมมองของปราบดา นักเขียนที่จู่ๆ ได้รับมอบหมายภารกิจแปลกประหลาดจากโทรศัพท์มือถือของเขาเอง แรกทีเดียวเขาดูเหมือนเป็นผลผลิตของความหลงตัวเองของ “ผู้เขียน” ตัวจริงผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องทั้งหมด ที่ยังสนุกอยู่กับการ “ทดลอง” ของเล่นที่ไม่ค่อยใหม่แล้วอย่าง metafiction (เรื่องเล่าที่บอกว่าตัวเองเป็นเรื่องเล่า) แต่เมื่ออ่านไปจนจบเล่ม เราจะพบว่าเขา (ผู้เขียน-นักเขียน-ตัวละคร) ไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง “ผู้สร้างสรรค์” ผลงานศิลปะ แต่เป็นเพียง “นักคัดลอก” (scriptor) ในความหมายของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศส ผู้เพียงแต่คัดลอกสิ่งที่มีอยู่แล้วในงานเขียนก่อนหน้า ตามเจตจำนงของ “ภาษา” ซึ่ง “พูด” ได้ด้วยตัวเองจ้อยๆ เท่านั้น (และในเมื่อนี่คือนิยายไซ-ไฟ ฉันเลยอยากจะย้ำว่านี่ไม่ใช่การพูดเชิงเปรียบเทียบ)
เขา (ผู้เขียน-นักเขียน-ตัวละคร) ไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง “ผู้สร้างสรรค์” ผลงานศิลปะ แต่เป็นเพียง “นักคัดลอก” (scriptor) ผู้เพียงแต่คัดลอกสิ่งที่มีอยู่แล้วในงานเขียนก่อนหน้า ตามเจตจำนงของ “ภาษา” ซึ่ง “พูด” ได้ด้วยตัวเองจ้อยๆ เท่านั้น
เรื่องที่ปราบดาคัดลอกมาให้เราอ่าน เป็น “ความทรงจำ” จากอนาคตที่ล้วนแล้วแต่อ้างอิงเรื่องราวในอดีต ตามขนบนิยายที่ว่าด้วยการเดินทางข้ามเวลา (time travel) การเดินทางของใครสักคนมักเป็นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรบางอย่าง เรื่องราวในเบสเมนต์ มูน ก็ขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างพล็อตแบบเดียวกัน แต่คลี่คลายออกมาแตกต่างออกไป เนื่องด้วยเงื่อนไขหลักๆ สองประการในเรื่อง หนึ่งคือเทคโนโลยีของจิตสำนึกประดิษฐ์ ที่ทำให้การข้ามเวลาไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “กายหยาบ” อีกต่อไป และสองคือความจำเป็นของการต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่สามารถทำได้โดยคนๆ เดียว หรือการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียว
เช่นเดียวกัน ตามแบบฉบับของนิยายที่ว่าด้วยโลกที่ไม่มีอยู่จริงหรือยังมาไม่ถึง เบสเมนต์ มูน แนะนำให้เรารู้จักศัพท์ใหม่ๆ อย่าง สำเนาสำนึก (ส.ส.) = ผลรวมของจิตสำนึกมนุษย์และจิตสำนึกประดิษฐ์, คนหลุม = กลุ่มคนที่ตัดขาดจากโลกไอทีทำให้รอดพ้นการควบคุมของรัฐ, สุญชนหรือแบล็งเกอร์ = กลุ่มคนที่รับจ้างทำตัวเองให้ว่างเปล่าเพื่อให้ ส.ส. เข้ามาสวมใส่ ทั้งหมดนี้เพื่อพาคนอ่านเข้าสู่ “สงครามผี” ––ระหว่างกลุ่มประเทศเผด็จการและกลุ่มประเทศประชาธิปไตย––ซึ่งมีภาษาและเทคโนโลยีเป็นอาวุธ
ด้วยความที่การต่อสู้ในสงครามดังกล่าว เป็นไปแบบ “ล่องหน” คืออยู่ในระดับ “จิตสำนึก” เสียเป็นส่วนใหญ่ ใครที่หวังจะเห็นฉากตื่นเต้นลุ้นระทึกหรือแม้แต่การปะทะกันแบบถึงเลือดถึงเนื้อของทั้งสองฝ่าย ก็คงจะพบกับความผิดหวัง ฉากแอ็กชั่นที่หายไป ถูกแทนที่ด้วยประสบการณ์ที่ผู้อ่านจะได้รับโดยตรงในฐานะตัวละครที่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ แม้กระทั่งการนั่งอ่าน “ข้อมูล” ที่ “เสียงเล่า” ในเรื่อง (ซึ่งแห้งแล้งจืดชืดจนน่าเชื่อได้ว่าเป็นผลงานของเครื่องจักรบางชนิด ไม่ใช่นักเขียนไทยชื่อปราบดา) ป้อนให้ ก็นับเป็นการร่วมแสดงบทบาทในสงครามโดยที่ผู้อ่านอาจไม่ทันรู้ตัวจนกระทั่งจบเรื่อง
ประเทศไทยในปี 2069 ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากในปี 2018 อย่างมีนัยสำคัญ ดินแดนที่ทางการแต่งเพลงให้ประชาชนมากที่สุดในโลกจนต่างชาติพากันเรียกว่า musical country นี้ ยังตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการ ซึ่งถึงแม้เราจะพอเดาได้ว่าไม่น่าจะบริหารจัดการโดยคนกลุ่มเดิม แต่มันก็ยังหนีไม่พ้นรูปแบบ (pattern) เดิมๆ ราวกับว่า “จิตสำนึก” ของเผด็จการนั้นคงทนถาวรข้ามกาลเวลา และผลิตซ้ำตัวเองได้เก่งกาจมากกว่านักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บระดับอินเตอร์ที่ไหนๆ
ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอยหรอก, ญาณิณ. แต่การกระทำและจิตสำนึกอำนาจนิยมซ้ำรอย, เพราะนั่นคือรูปแบบของมัน. มันซ้ำและซ้ำและซ้ำ, แม้จะไม่อาจรักษาต้นแบบไว้ได้อย่างสมบูรณ์มันก็ไม่ยี่หระที่จะซ้ำ, แม้ไม่อาจเรียกคืนความตื่นเต้นเร้าใจของครั้งแรกคืนมามันก็จะจวกแทงและชำเราบาดแผลเดิม, เพราะมันดำรงอยู่ได้ด้วยการซ้ำความทรงจำ, ซ้ำสารกระตุ้น, ซ้ำกรอบอ้างอิงทางเวลาที่ตั้งชื่อว่าปัจจุบัน. (หน้า 137)
ความซ้ำซากควรจะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย แต่สำหรับคนที่ติดอยู่ในรูปแบบของความเคยชิน เขาอาจรู้สึกว่ามันเป็นสัจจะของโลกใบนี้ รูปแบบของเผด็จการเป็นหนึ่งในสัจจะที่ถูก “ประดิษฐ์” ขึ้น แต่ก็ไม่ใช่รูปแบบเดียวที่ครอบงำมนุษย์
แรงต้านของจิตสำนึกเสรีนิยมพ่ายแพ้เพราะความอ่อนแรงและตกหล่มรูปแบบของตัวเอง, รูปแบบของกรอบอ้างอิงทางเวลาและคลังศัพท์เก่าๆ ที่แน่นิ่งอยุ่ในแนวทางที่ไม่วิวัฒน์อย่างสอดคล้องกับการก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มีปัญหาเรื่องการทำซ้ำไม่ต่างจากฝั่งอำนาจนิยม, เพียงแต่ฝั่งอำนาจได้ประโยชน์จากการทำซ้ำในขณะที่สำหรับฝั่งเสรีมันคือการกัดกินตัวเองจนแทบหมดสภาพ. (หน้า 140)
ความท้าทายของการต่อสู้กับเผด็จการ (และดูเหมือนจะเป็นความทะเยอทะยานหลักของนวนิยายเล่มนี้ด้วย) ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเปิดโปงและทำลายสิ่งประดิษฐ์เก่าคร่ำคร่านี้ โดยไม่เผลอสร้างรูปแบบชนิดใหม่มากักขังตัวเองไปด้วย
คำตอบสำหรับเบสเมนต์ มูน อยู่ใน “ความเมามายด์” โรคระบาดที่ถูกเพาะเชื้อขึ้นในประเทศไทย ผ่านการลักลอบสะสมและแพร่กระจายสารพัด “เรื่องเล่า” จากต่างชาติ ที่มีลักษณะท้าทายและตั้งคำถามต่อมายาคติของรูปแบบ การเคลื่อนไหวใต้ดินดังกล่าวทำให้ผู้นำเผด็จการไทย––ถึงตรงนี้ฉันเกือบจะเชื่อว่านี่คือนิยาย “ยูโทเปีย”––กังวลจะเสียอำนาจในการเล่าเรื่องตามแบบฉบับ “ละครเพลง” ของตัวเอง จนถึงขั้นต้องอิมพอร์ตจิตสำนึกประดิษฐ์มาเป็นสปาย
ความท้าทายของการต่อสู้กับเผด็จการก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเปิดโปงและทำลายสิ่งประดิษฐ์เก่าคร่ำคร่านี้ โดยไม่เผลอสร้างรูปแบบชนิดใหม่มากักขังตัวเองไปด้วย
ขณะที่เหตุการณ์ในโลกอนาคตดำเนินไป ผู้อ่านในปัจจุบันก็ได้ถูก “อัปโหลด” ความ “เมามายด์” ให้โดยเจ้า ส.ส. ตัวหนึ่ง ที่ควบรวมเอา “ความทรงจำ” ทั้งหมดในโลกของเรื่องเล่าเอาไว้ แม้ดูจะเป็นจิตสำนึกที่มีตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) ไปสักหน่อย แต่มันก็พาเราไปขุดค้นแง่มุมโกลาหลที่ซ่อนอยู่ในวรรณกรรมได้อย่างน่าตื่นเต้น นักอ่านที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับงานคลาสสิกที่ถูกเล่าซ้ำมาแล้วนับไม่ครั้งไม่ถ้วนอย่าง The Tempest ของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) หรือ Frankenstein ของแมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) (แน่นอน ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ควรค่าจะอ่านอีกต่อไป) น่าจะสนุกกับเรื่องเล่าของแมวสัญชาติเยอรมันใน ชีวิตและทัศนะของแมวตัวผู้ชื่อเมอร์ผสมกับเสี้ยวส่วนชีวประวัติของคาเพลไมสเตอร์ โยฮานเนส ไครสเลอร์ บนเศษกระดาษกระจัดกระจาย (สาบานว่านี่ชื่อ!) ความลับของบุรุษลึกลับ “ซันเดย์” ใน เดอะ แมน ฮู วอส เธอร์สเดย์ หรือสกิลถอดจิตระลึกชาติของนักโทษในคุกขังเดี่ยวใน เดอะ สตาร์ โรเวอร์
เรื่องราวเหล่านี้ ไหลเวียนอยู่ในจักรภพของภาษามานับร้อยปี และได้สร้างเครือข่ายข้อมูลที่เชื่อมโยงอยู่กับเรื่องเล่าอีกจำนวนมากที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลง แม้อาจไม่เคยถูกนำมาใช้ เทคโนโลยีล้ำยุคของมนุษย์อย่างจิตสำนึกประดิษฐ์จัดพวกมันให้อยู่ในคลื่นความถี่เดียวกับผลงานของนักเขียนไทยอย่าง ก.ศ.ร. กุหลาบ, เทียนวรรณ, และนรินทร์ ภาษิต นำข้อมูลมาถ่ายทอดให้กับนักเขียนไทยคนหนึ่ง เพื่อให้เขาสร้าง “กายหยาบ” ให้กับมัน และผลลัพธ์ก็คือหนังสือเล่มที่ผู้อ่าน(น่า)จะได้อ่านก่อนการเกิดขึ้นของโศกนาฏกรรมต่างๆ ในเรื่อง
แม้เรื่องราวของจิตสำนึกแห่งความโกลาหลที่ซ่อนอยู่ในภาษา ฆ่ายังไงก็ไม่ตาย แถมยังรอท่าจะผุดโผล่ขึ้นมาสร้างความปั่นป่วนให้ระบอบที่ “สงบเรียบร้อย” อยู่ตลอดเวลา จะยั่วยวนให้นึกถึงการทำงานของจิตใต้สำนึกตามนิยามของชาวจิตวิเคราะห์หลังสมัยใหม่ แต่ฉันอยากจะมองบทบาทของเรื่องเล่าเหล่านี้ ในบริบทของ “สงครามวัฒนธรรม” (culture war) ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมที่แบ่งผู้คนในประเทศออกเป็นฝักฝ่าย ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาช่วงทศวรรษ 1990s ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งการอพยพย้ายถิ่น ทำให้ระบบคุณค่าแบบเก่า (ในกรณีของอเมริกานั้นผูกโยงอย่างเหนียวแน่นกับศาสนา) ถูกสั่นคลอนโดยแนวคิดและความเชื่อใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มจะทำลายระบบระเบียบที่ “พระเจ้า” เป็นผู้สร้างไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำแท้ง, การแยกรัฐออกจากศาสนา, รักร่วมเพศ และสำหรับในวงการวรรณกรรม ก็คือการเกิดขึ้นของหมวดหมู่วรรณกรรมใหม่ๆ ที่ท้าทายงาน “ขึ้นหิ้ง” ปรากฏการณ์ “สงครามผี” ในเบสเมนต์ มูน จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเวอร์ชั่นของรูปแบบอันเป็นสากลและเหนือกาลเวลาของการต่อสู้ระหว่างระบบคุณค่าแห่งการครอบงำและระบบคุณค่าของการปฏิเสธการครอบงำที่น่าจะถูกผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังมีมนุษย์ และเรื่องเล่าที่บั่นทอน-กัดเซาะรูปแบบที่กักขังเสรีภาพทางความคิด ก็เป็นอาวุธชิ้นสำคัญที่มนุษย์ผู้ยังไม่อยากเป็น “สุญชน” ทั่วโลกสามารถแบ่งปันกันได้
โครงเรื่องของนิยายไซ-ไฟข้ามเวลา เปิดโอกาสให้ลักษณะ “ไร้กาลเวลา” (timelessness) ของงานวรรณกรรมเป็นจริงขึ้นได้ในสำนึกของผู้อ่าน แม้แต่เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตที่ยังไม่ทันเกิดขึ้น ก็ยัง “ตามไม่ทัน” เทคโนโลยีโบร่ำโบราณที่ถูกสร้างขึ้นด้วยภาษา เรื่องเล่าจากโลกอนาคตซึ่งอ้างอิงตัวบทจากอดีตและถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปเล่มในกรอบเวลาปัจจุบัน ไม่ได้เสนอตัวเป็นผู้ชี้ทางสว่างให้กับใคร หากแต่มาเปิดความเป็นไปได้ของความมึนเมา ความเป็นได้ของจิตสำนึกรวมหมู่ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปแบบการครอบงำเดิมๆ และความเป็นไปได้ของเสียงกระด้าง (dissonance) ที่ก่อกวนเสียงประสาน (harmony) ซึ่งดังจนแสบแก้วหูอยู่ในประเทศละครเพลงแห่งนี้
เมื่อไม่นานมานี้ ฉันมีโอกาสได้อ่านหนังสือแปลเล่มหนึ่งที่เต็มไปด้วยคำหยาบคายชนิดที่ว่าถ้าหลุดรอดไปโผล่ในโทรทัศน์ก็คงจะมีใครได้โดนพักงานกันบ้าง หลายคนพูดแบบติดตลกว่า ภาษาประเภทนี้แอบเซ็นเซอร์อยู่ได้สบายเพราะว่ารัฐไทยไม่อ่านหนังสือ แม้จะจริงจนน่าเจ็บปวดที่คนไทยซึ่งมีศักยภาพมากมายต้องตกอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มคนที่ไม่แคร์แม้แต่จะให้การศึกษาตนเอง แต่ข้อชวนหวังในสภาวะชวนสิ้นหวังนี้ก็คือ “กลไกที่หลบซ่อนอยู่ในที่แจ้ง” (หน้า 112) อาจกำลังทำงานสร้างความปั่นป่วนอยู่ได้แม้ในขณะนี้ โดยที่ผู้รักษาความสงบเรียบร้อยไม่ระแคะระคาย คำถามที่เหลืออยู่คงมีแค่ว่า เราจะนั่งรอให้จิตสำนึกประดิษฐ์พัฒนาตัวเองจนสามารถกลับมาปลดปล่อยเราแบบในนิยายไซ-ไฟ หรือเราจะพาตัวเองไปค้นหา “ความยุ่งเหยิง” เพื่อจะคงไว้ซึ่งจิตสำนึกของมนุษย์ที่เชื่อและโหยหาเสรีภาพ
โครงเรื่องของนิยายไซ-ไฟข้ามเวลา เปิดโอกาสให้ลักษณะ “ไร้กาลเวลา” (timelessness) ของงานวรรณกรรมเป็นจริงขึ้นได้ในสำนึกของผู้อ่าน แม้แต่เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตที่ยังไม่ทันเกิดขึ้น ก็ยัง “ตามไม่ทัน” เทคโนโลยีโบร่ำโบราณที่ถูกสร้างขึ้นด้วยภาษา
หากจะต้องหาแหล่งกำเนิด (origin) ที่ไม่ใช่ตัวนักเขียนให้กับมัน เบสเมนต์ มูนคือผลผลิตของความศรัทธาในพลังของภาษาอย่างลึกซึ้ง (และโดยอนุมานก็คือพลังของมนุษย์ซึ่งคิดค้นมันขึ้นมา) ไม่ต้องสงสัยว่าภาษาสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือกักขังหน่วงเหนี่ยวเราให้ติดอยู่ในมายาคติได้อย่างมีประสิทธิภาพขนาดไหน สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือศักยภาพไร้ขีดจำกัดของมันในการปลดปล่อยเรา ในแง่นี้ เบสเมนต์ มูนตั้งความหวังกับผู้อ่านไว้สูงลิ่ว เมื่อผู้เขียนยอมรับว่าตนเองเป็นเพียง “เงาที่เดินพึมพำงึมงำบนเวทีแล้วจางหายไป” (หน้า 173) ก็เหลือแต่ผู้อ่านเท่านั้นที่จะ “ใช้ประโยชน์” จากเทคโนโลยีที่เรียกว่าภาษาได้อย่างเต็มที่ วรรณกรรมต่างชาติที่ปรากฏอยู่ในนวนิยายเล่มนี้ ไม่ใช่ทั้งแหล่งอ้างอิงความศิวิไลซ์และปลายทางของพัฒนาการทางวรรณศิลป์ แต่คือประตูสู่ขุมทรัพท์ทางปัญญาซึ่งเก็บซ่อนจิตสำนึกที่ล้ำลึกและโกลาหลเกินกว่าหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มเดียวจะบรรจุไว้ได้
แม้โลกปัจจุบันจะยังไม่มีจิตสำนึกประดิษฐ์มาช่วยรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นต่อความอยู่รอดในฐานะมนุษย์ให้กับเรา แต่เทคโนโลยีที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตก็ได้หยิบยื่นสิ่งที่ใกล้เคียงกับ “ยอดรวมเบ็ดเสร็จของงานเขียน” (total being of writing) อย่างมากที่สุดเท่าที่จะมากได้มาทดแทน “งานเขียนจำนวนมหาศาล จากหลากหลายวัฒนธรรม ที่เข้ามาสนทนา เสียดล้อ คัดง้างกัน” นั่งรอนอนรอให้เราไปค้นพบเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส
น่าจะจริงอย่างที่ตัวละครตัวหนึ่งในเบสเมนต์ มูน อ้างคำพูดของคนอื่นเอาไว้ “คำตอบที่ชัดเจนแจ่มแจ้งแม้จะปรากฏให้เห็นตรงหน้าก็อาจค้นหาได้ยากเย็น” (หน้า 112)
Tags: ปราบดา หยุ่น, sci-fi, นวนิยาย, เผด็จการ, เบสเมนต์ มูน