เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลกทันทีที่แอนิเมชันเรื่อง ‘Spider-Man: Across the Spider-Verse’ หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘สไปเดอร์-แมน: ผงาดข้ามจักรวาลแมงมุม’ เข้าฉายสัปดาห์แรกในโรงภาพยนตร์ กับการสานต่อเรื่องราวจักรวาลมัลติเวิร์สสุดอลหม่านต่อจากภาคแรก Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) โดยมีตัวเอกที่แฟนซูเปอร์ฮีโร่หลงรักอย่าง ไมลส์ มอราเลส (Miles Morales) ดำเนินเรื่องเช่นเคย
ในส่วนของงานแอนิเมชันภาคนี้ก็ได้พัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการสร้างงานสไตล์ ‘2.5D’ ที่คาบเกี่ยวระหว่างงานวาดมือสไตล์ 2D กับงานแอนิเมชัน 3D ที่ช่วยสร้างสีสันใหม่ของวงการแอนิเมชัน จนถูกยกให้เป็นเอกลักษณ์ของแฟรนไชส์นี้ไปโดยปริยาย
ที่สำคัญในภาค Across the Spider-Verse มีการสอดแทรกงานศิลปะไว้ในเรื่องถึง 5 แบบ ผ่านตัวละครสไปเดอร์แมนจากโลกต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่อง ดังนี้
1. ภาคต่อของ ไมลส์ มอราเลส และ Earth-161
เพื่อความต่อเนื่องจาก Spider-Man: Into the Spider-Verse ในภาคนี้โลกของ ไมล์ มอราเลส ยังเลือกใช้งานแอนิเมชันแบบดั้งเดิมในสไตล์ภาพ 3 มิติ แต่หากสังเกตอย่างละเอียดจะพบว่างานภาพมีการสอดแทรกความเป็น 2.5D เพิ่มเข้าไป เช่น หากในซีนนั้นเป็นฉากต่อสู้ การฉายภาพเมือง หรือวิวทิวทัศน์ต่างๆ งานภาพทั้งหมดจะกลายเป็น 3 มิติ แต่หากเป็นฉากที่เจาะมาที่ตัวละคร งานภาพจะเปลี่ยนแปลงเป็นแบบ 2D คล้ายกับงานวาดมือ
2. สัมผัสหลากอารมณ์ในโลกของสไปเดอร์เกวน
ฉากแรกของ Spider-Man: Across the Spider-Verse เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงชีวิตของ เกวน สเตซี หลังจากการได้พบ ไมล์ มอราเลส ในภาคก่อนหน้า ก่อนจะดำเนินผ่านความคิดและเป้าหมายของเธอ ว่าควรเป็นอย่างไรต่อกับบทบาทสไปเดอร์ เกวน ท่ามกลางห้วงแห่งความความโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา สับสน และไร้ที่พึ่งทางใจ
“ทั้งหมดนี้ เราเรียกมันว่า วงแหวนแห่งอารมณ์ของเกวน” ฟิล ลอร์ด (Phill Lord) และคริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ (Christopher Miller) ผู้อำนวยการสร้างนิยามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครเกวน ผ่านทาง Rotten Tomatoes ดังนั้น พวกเขาจึงอยากให้งานแอนิเมชันใน Earth-65 มีความคล้ายคลึงกับงานภาพในหนังสือการ์ตูน Spider-Gwen ที่วาดโดย รอบบี โรดิเกวซ (Robbi Rodriguez)
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ ‘สีน้ำ’ เข้ามาแต่งแต้มอยู่ในจักรวาลของสไปเดอร์เกวน โดยทุกเฟรมระบายให้เป็นสีพาสเทล และมีลูกเล่นด้วยการใช้เฉดสี เพื่อสื่อถึงความรู้สึกและอารมณ์ของตัวละครในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร โดยที่ไม่ต้องมีบทสนทนาหรือคำพูดประกอบฉากเลยแม้แต่น้อย
3. งานแบบ ซี้ด มี้ด และศิลปะแบบ Neo-futurism
Neo-Futurism หรือสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตใหม่ เป็นแนวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในยุคปลายศตวรรษที่ 20 ที่จินตนการถึงโลกที่มีการก่อสร้างโดยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซับซ้อน และล้ำสมัยเหนือจินตนการของมนุษย์ โดยหนึ่งในบุคคลที่เป็นเหมือนต้นแบบของศิลปะยุคนี้ก็คือ ซี้ด มี้ด (Syd Mead) ศิลปินที่เคยออกแบบงานประเภท Neo-futuris ให้กับหนังอย่าง Blade runner (1982), Tron (1982) และ Elysium (2013)
หากจะกล่าวว่าเหล่านี้ คือแรงบันดาลใจในการสร้าง Earth-928 ของตัวละคร มิเกล โอฮารา (Miguel O’Hara) หรือ Spider-Man 2099 ก็ไม่ผิด เพราะฟิลและคริสโตเฟอร์ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ผ่านนิตยสารเอ็มไพร์ (Empire) โดยระบุว่า พวกเราต้องการให้จักรวาลของมิเกลสะท้อนถึงอนาคตและความล้ำสมัย ทำให้เราฉุกคิดที่จะดึงศิลปะสไตล์นี้มาใช้ รวมไปถึงชุดและพลังของตัวละครมิเกล ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเข้าไปให้ดูเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีและความก้าวหน้าไปอีกขั้น
4. Munbattan ของ Spider-Man India
อีกหนึ่งตัวละครที่ถือเป็นสีสันของ Spider-Man: Across the Spider-Verse คงหนีไม่พ้น ปวิตร ประภากร (Pavitr Prabhakar) ผู้กลายเป็น Spider-Man India ใน Earth-50101 ซึ่งจักรวาลดังกล่าวได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากผสมผสานระหว่างเมืองมุมไบ (Mumbai) กับแมนฮัตตัน (Manhattan) เข้าด้วยกัน
ในส่วนนี้ ฟิลและคริสโตเฟอร์ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูนในยุค 70s ของประเทศอินเดีย โดยผลลัพธ์ที่ออกมา คือภาพความโกลาหลของบ้านเมืองและผู้คน แต่ก็เต็มไปด้วยสีสัน เรื่องราว และชีวิตที่น่าสนใจ
5. ดิบ เถื่อน สไตล์ Spider-Punk
โฮบี บราวน์ (Hobie Brown) หรือ Spider-Punk เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ปรากฏใน Spider-Man: Across the Spider-Verse และเป็นที่จดจำของผู้คนผ่านบุคลิกที่โดดเด่น หัวขบถ และต่อต้านทุกกฎระเบียบ รวมไปถึงงานแอนิเมชันที่ถ่ายทอดนิยามความเป็นพังก์ได้จัดจ้านสะท้านใจ
ทั้งนี้ อ้างอิงจากฝ่ายศิลป์ของเรื่องที่ให้สัมภาษณ์กับทาง Discussing Film ระบุว่า Spider-Punk ถูกออกแบบประกอบร่างด้วยวิธีการตัด แปะ ติดกาว องค์ประกอบต่างๆ เข้าด้วยกันจนเป็นตัวละครนี้ขึ้นมา ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับศิลปะแนวคอลลาจ (Collage) ที่มักปรากฏในกลุ่มดนตรีพังก์
และหากพิจาณาอย่างถี่ถ้วนจะสังเกตเห็นว่า งานแอนิเมชันของ Spider-Punk มีการเคลื่อนไหวด้วยอัตราเฟรมต่อวินาทีที่แตกต่างจากตัวละครอื่น จึงทำให้ตัวละครนี้โดดเด่น และหลุดจากกรอบของตัวละครอื่นๆ ในเรื่องค่อนข้างชัดเจน
Tags: Spider-Man, Miles Morales, Entertainment, ศิลปะในสไปเดอร์แมน, Spider Man Across the Spider Verse