ในภาวะที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์จากหลายประเทศยังซบเซาต่อเนื่องจากการต้องระงับรอบฉายเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี 2020 แม้เมื่อไวรัสซาความรุนแรงลงจากการระดมฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย จนโรงหนังกลับมาเปิดฉายภาพยนตร์ได้อีกครั้งในรอบปีที่ผ่านมา แต่รายได้ที่ได้รับจากการฉายโรงก็ยังห่างไกลจากช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาดลิบลับ จนหลายคนหวาดหวั่นว่านี่อาจเป็นฉากจบที่แท้จริงของการดูหนังผ่านโรงภาพยนตร์ก็เป็นได้

  แต่เมื่อ Spider-Man: No Way Home (2021) ออกฉายในช่วงปลายปี วาดลวดลายยิงใยแมงมุมต่อกรกับเหล่าร้ายจากจักรวาลคู่ขนาน กวาดรายรับจากทั่วโลกไปอย่างต่ำก็หนึ่งพันล้านเหรียญฯ จึงนับเป็นสถิติที่น่าตื่นตาตื่นใจในห้วงเวลาเช่นนี้ (แม้หลายคนจะตั้งคำถามว่า หากไม่มีโรคระบาด ก็เป็นไปได้ว่าไอ้แมงมุมของมาร์เวลงวดนี้จะกระโจนไปถึงหลักพันล้านเหรียญฯ ได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้าฉายก็ตามที) 

พร้อมกันนั้น ก็เสมือนเป็นการกระซิบข้างหูคนดูทั้งหลายว่า วัฒนธรรมการดูหนังในโรงยังไม่ตายจากไป มันยังมอบอรรถรสทั้งในเชิงงานภาพและงานเสียง เรื่อยไปจนบรรยากาศของการ ‘ห้ามสปอยล์!’ ซึ่งการดูหนังสตรีมมิงคนเดียวที่บ้านมอบให้ไม่ได้ (หรือถ้าได้ก็ไม่เต็มน้ำเต็มเนื้อนัก) จนหลายคนพุ่งตัวมาดูหนังตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรง และทำให้รายได้หนังกระโดดขึ้นพรวดพราดตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ ที่ออกฉาย

สิ่งที่น่าจับตาคือ ภายใต้บรรยากาศที่สายพันธุ์โอมิครอนดาหน้าถล่มผู้คนอย่างหนักจนต้องเร่งบูสต์เข็มสามกันจ้าละหวั่น แคนาดาจำต้องประกาศล็อกดาวน์รัฐที่ใหญ่ที่สุดสองรัฐ คือรัฐออนแทรีโอกับรัฐเกแบ็ก ที่ประมาณการกันว่ามีประชากรกว่า 60 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ ซึ่งยังส่งผลให้โรงหนังต้องปิดตัวชั่วคราว เท่ากับว่าอย่างน้อยในภูมิภาคทวีปอเมริกาเหนือ หนังหลายๆ เรื่องเพิ่งจะสูญเสียฐานคนดูจำนวนมหาศาลไปอย่างช่วยอะไรไม่ได้ 

ขณะที่ในฝั่งอเมริกาเองก็มีรายงานว่า หลังจากผู้คนเริ่มทยอยกลับมาดูหนังในโรงภาพยนตร์จนแน่นขนัดอีกครั้งในวันชาติอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา แต่ก็ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นไม่นาน ยังไม่นับเมื่อสายพันธุ์โอมิครอนระบาดในช่วงท้ายปีที่ผ่านมา 

ผลสำรวจจากสถาบัน Morning Consult เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2021 พบว่า มีคนที่ระบุว่า “สบายใจที่จะกลับไปดูหนังในโรง” ที่ 47 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากการสำรวจเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมซึ่งอยู่ที่ 51 เปอร์เซ็นต์ โดยในกลุ่มคนที่ตั้งใจจะออกไปดูหนังในโรงนี้ถือเป็นกลุ่มคนที่อายุยังน้อย กล่าวคือแบ่งเป็นกลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ (หรือกลุ่มที่เกิดปลายยุค 80s เรื่อยมาจนปลายยุค 90s) 61 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มเจเนอเรชัน z (หรือกลุ่มที่เกิดปลายยุค 90s เรื่อยมาจนปลายยุค 2010s) อีก 58 เปอร์เซ็นต์

และกลุ่มคนเหล่านี้เองคือฐานแฟนที่ใหญ่ที่สุดของ No Way Home โดยภาคนี้ก็ยังได้ จอน วัตต์ส กลับมานั่งแท่นผู้กำกับ จับจ้องไปยังช่วงชีวิตอันวุ่นวายของ ปีเตอร์ พาร์กเกอร์ (ทอม ฮอลแลนด์) ที่เพิ่งจะถูกเปิดโปงว่าเป็นสไปเดอร์แมน วีรบุรุษที่ถูกป้ายสีให้กลายเป็นวายร้ายในชั่วข้ามคืนจนทำให้คนรอบตัวพลอยเดือดร้อนไปด้วย เพื่อจะแก้ปัญหานี้ เขาจึงขอความช่วยเหลือจาก ด็อกเตอร์สเตรนจ์ (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) จอมเวทย์ที่สามารถดัดแปลงแก้ไขความทรงจำของชาวเมืองได้ หากแต่ด้วยความละล้าละลังของปีเตอร์เองทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการร่ายเวทย์ ซึ่งชักนำเอาตัวละครอื่นๆ ในมิติอื่นเข้ามารวมอยู่ด้วยกัน จนกลายเป็นความวุ่นวายระดับข้ามจักรวาล

The Battle at Lake Changjin (2021)

หนังลงทุนไปทั้งสิ้น 200 ล้านเหรียญฯ (ถือว่ามากที่สุดในบรรดาไตรภาค Spider-Man ของจอน วัตต์ส) และกวาดรายได้กลับคืนมาอย่างน่าชื่นใจ จนจำนวนเงิน 1 พันล้านเหรียญฯ ของมันนั้นทำให้ No Way Home รั้งตำแหน่งหนังที่ทำเงินได้มากที่สุดหลังยุคโควิด-19 ขณะที่หนังฟอร์มใหญ่ที่เข้าฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันยังทำได้ไม่เท่า ไม่ว่าจะเป็น The Matrix Resurrections (2021) ซึ่งถือว่าเป็นหนังที่ขายกลุ่มมิลเลนเนียลส์เช่นกัน แต่ก็ยังทำเงินไปได้ราวๆ 120 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้าง 190 ล้านเหรียญฯ) ส่วนอีกเรื่องที่ชวนชื่นใจขึ้นมาหน่อยคือ Ghostbusters: Afterlife (2021) หนังแฟนตาซี-คอเมดี้ของ เจสัน ไรต์แมน จากทุนสร้าง 75 ล้านเหรียญฯ ก็กวาดรายได้จากการฉายโรงไปที่ 185 ล้านเหรียญฯ

อย่างไรก็ดี ถัดมาจาก No Way Home หนังที่ทำรายได้มหาศาลตามหลังมาคือ The Battle at Lake Changjin (2021) หนังอีพิกสัญชาติจีนความยาวสามชั่วโมง ว่าด้วยกองทัพอาสาประชาชนจีนในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากของสงครามเกาหลี หนังใช้ทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญฯ (นับว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์) และเวลานี้ทำเงินไปได้ทั้งสิ้น 900 ล้านเหรียญฯ ในจำนวนนี้ได้มาจากการเข้าฉายที่บ้านเกิด 899 ล้านเหรียญฯ 

ขณะที่ลำดับสามยังคงเป็นหนังจากประเทศจีน Hi, Mom (2021) หนังคอเมดี้ครอบครัวที่ชวนน้ำตารื้น ว่าด้วยหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องรับมือกับการตายของแม่ตัวเอง จนวันหนึ่งเธอได้ย้อนเวลากลับไปเจอแม่ของเธอในวัยสาว และค่อยๆ สานสัมพันธ์ชวนวายป่วงและสะเทือนใจขึ้นมา! โดยหนังทำเงินไปได้ 822 ล้านเหรียญฯ รายได้ทั้งหมดมาจากการเข้าฉายในประเทศอย่างเดียว

No Time to Die (2021)

ส่วนหนังฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่ยักษ์ที่เข้าฉายก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโอมิครอน ไม่ว่าจะ No Time to Die (2021) ที่ทำเงินทั่วโลกไปได้ 774 ล้านเหรียญฯ, F9: The Fast Saga (2021) กับรายได้ตามหลังมาติดๆ ที่ 726 ล้านเหรียญฯ เราก็อาจพอสรุปได้ว่า ทางรอดของโรงหนังและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคโควิด-19 นั้นยังมีอยู่ แม้จะไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก และหัวเรือใหญ่ในการดึงคนให้กลับมาดูหนังในโรงก็อาจยังต้องเป็นหนังทุนสร้างมหาศาลทั้งหลาย และที่น่าจับตาคือการปรากฏตัวของหนังจากประเทศจีนที่กระโจนขึ้นมาถล่มบ็อกซ์ออฟฟิศแบบไล่หายใจรดต้นคอ แม้จะออกฉายแค่ในประเทศเป็นหลัก ที่ไม่เพียงสะท้อนถึงนโยบายการให้พื้นที่หนังจีนให้ได้ฉายในโรงเป็นหลัก หากแต่ด้านหนึ่งมันยังชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของผู้คนที่เตรียมตัวออกไปใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะแล้ว (แม้หนังจีนส่วนใหญ่จะเข้าฉายก่อนที่โอมิครอนจะแพร่ระบาดก็ตาม)

ทั้งนี้ เราไม่อยากฝากความหวังไว้แต่กับหนังฟอร์มใหญ่อย่างเดียวเท่านั้น ด้วยความเชื่อว่า หนังฟอร์มเล็กเองก็มีศักยภาพในการจะดึงคนดูให้หวนกลับมาดูหนังในโรงอีกหน เพื่อกำซาบภาพและเสียง ตลอดจนบรรยากาศการชมภาพยนตร์ในโรง ซึ่งอาจมีบางอย่างที่การดูหนังในบ้านมอบให้ไม่ได้ และแม้ว่าเวลานี้เราอาจต้องฝ่าด่านไวรัส ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้คนในการจะออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอีกครั้งไปอีกพักใหญ่ก็ตาม แต่เชื่อว่าโรงหนังและอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะยังมีที่ทางที่ดีรออยู่ในอนาคตอย่างแน่นอน

Tags: , , , , , , , ,