วันนี้ (15 สิงหาคม 2565) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เปิดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross domestic product หรือ GDP) ไตรมาสที่ 2/2565 เห็นชัดว่าจีดีพีของไทยขยายตัวอยู่เพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขที่น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าควรจะอยู่ที่ 3.1 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นการขยายตัวของจีดีพีที่น้อยที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศหลักในอาเซียน เช่น มาเลเซียอยู่ที่ 8.9 เปอร์เซ็นต์ และเวียดนามอยู่ที่ 7.7 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ ‘ฐาน’ ของไทย และมูลค่ารวมของจีดีพีไทยไม่ได้มากนัก เมื่อโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังการระบาดของโรคโควิด-19 จีดีพีไทย และเศรษฐกิจไทยก็ควรต้องโตได้มากกว่านี้
คำถามก็คือทำไมมาเลเซียและเวียดนามถึงทำได้ดีกว่าไทย แล้วทำไมตัวเลขของไทยถึงหดตัวจนน่าหดหู่เพียงนี้? The Momentum รวบรวมบทวิเคราะห์ที่จะฉายภาพให้เห็นชัดขึ้น
1
ก่อนหน้านี้ไม่นาน เฟอร์เดาส์ รอสลี (Firdaos Rosli) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ที่ MARC Ratings สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศทางด้านการเงินสัญชาติมาเลเซีย ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เดอะซัน (The Sun) เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียขณะนี้เหมือนลูกบอลที่กำลังเด้งกลับมา
“เวลาเราปาลูกบอลลงพื้นแรงๆ ตอนมันดีดตัวขึ้นมา มันจะดีดตัวสูงที่สุดเสมอ”
รอสลีระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียมีผลมาจากความต้องการซื้อในประเทศที่สูงขึ้น การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และความต้องการซื้อจากต่างประเทศที่ยังคงเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการซื้อในตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Electronic Product) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลสามารถรับมือได้ คือ 2.8-2.5 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลมาจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
หากมองอย่างเฉพาะเจาะจง จากรายงาน ‘Malaysia Economic Monitor 2022’ ของธนาคารโลก ให้ข้อมูลถึงสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียปรับตัวในทางที่ดี ประกอบด้วย
1. ภาคเศรษฐกิจมาเลเซียได้แรงหนุนจากความต้องการซื้อภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถผ่อนปรนมาตรการทางสารธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว
2. การที่นักธุรกิจชาวมาเลเซียสามารถปรับตัวและเอาตัวรอดมาจากเศรษฐกิจที่ถดถอยอันเป็นผลมาจากโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากการสำรวจจากธนาคารโลกพบว่า ยอดขายสินค้าในมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2565 กลับสู่ภาวะก่อนเกิดโรคระบาดได้รวดเร็ว
3. รัฐบาลสามารถจัดการกับอัตราเงินเฟ้อได้อย่างดี แม้ทั้งโลกจะได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ แต่อัตราเงินเฟ้อในมาเลเซียกลับคงที่อยู่ที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์
4. การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของภาคแรงงาน อันเป็นผลมาจากการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 1,200-1,500 ริงกิตมาเลเซียต่อเดือน หรือราว 9,500.72-11,875.90 บาท
5. ความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากต่างชาติที่ยังเหนียวแน่นอย่างที่กล่าวไปข้างต้น
นอกจากนี้ เครื่องยนต์อื่นๆ ของมาเลเซียก็ยังคงทำงานได้ดี อัตราการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง เงินหมุนเวียนจากภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแรงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้มาก และการค้าชายแดน จากการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศเมื่อเดือนเมษายน ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ การใช้จ่ายขายปลีกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 44 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและอุปสงค์ที่ชะลอตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ถูกปลดปล่อย ก็ทำให้มาเลเซียเติบโตอย่างรวดเร็ว
2
หันไปมองเวียดนาม อีกหนึ่งดาวรุ่งของภูมิภาคอาเซียน ดอร์สาติ มาดานิ (Dorsati Madani) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก และหนึ่งในผู้เขียนรายงาน ‘Taking Stock: Education to Grow’ รายงานประจำปีทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเวียดนามพลัส (The VietnamPlus) ว่าในไตรมาสที่ 2/2565 จีดีพีประเทศเวียดนามมีแนวโน้มฟื้นตัว อันเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ประกอบด้วย อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้กลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ การกลับมาจ้างงานในประเทศมากขึ้นถึง 68.5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราการจ้างงานช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 71.3 เปอร์เซ็นต์ และรายได้ภายในครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้นถึง 5.8 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการเบิกจ่ายเพื่อลงทุนในเวียดนามจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
อย่างไรก็ตาม ยังพอมีปัจจัยที่ทำให้การเติบโตของตลาดส่งออกเวียดนามยังชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น การหยุดชะงักอย่างต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการแพร่ระบาดของโควิด-19
จากรายงาน ‘Taking Stock: Education to Grow’ ของธนาคารโลกยังระบุต่อด้วยว่า หากมองในภาพใหญ่ การเปลี่ยนระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเวียดนามจะเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศ และช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของเวียดนาม ภายใต้บริบทที่ประเทศกำลังฟื้นจากการระบาดครั้งใหญ่และเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง
“การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาระดับสูงจะเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงภายใน ค.ศ. 2035 และจะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงอย่างสมบูรณ์ภายใน ค.ศ. 2045 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความต้องการทำให้แรงงานชาวเวียดนามส่วนใหญ่ของประเทศเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด (Skilled Workers) มากกว่าการเป็นคนงานแบบใช้แรง เพื่อดำเนินการตามการคาดการณ์ดังกล่าว นักศึกษาเวียดนาม 3.8 ล้านคนจะต้องลงทะเบียนเรียนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมากกว่าจำนวนที่ลงทะเบียนใน ค.ศ. 2019 เกือบ 2 เท่า” รายงานระบุ
ด้วยเหตุที่เวียดนามยังเป็นประเทศเนื้อหอม ตลาดแรงงานยังมีช่องว่าง และค่าแรงราคาไม่แพงนัก สำทับด้วยระบบการเมืองที่ ‘นิ่ง’ กว่าไทย จึงทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในดาวรุ่ง และหากมองจากอัตราการเติบโตของจีดีพีในเวลานี้ก็นับว่าประมาทไม่ได้
3
หันกลับมามองประเทศไทย การแถลงของสภาพัฒน์ฯ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ให้เหตุผลของการเติบโตจีดีพีที่ยังไม่กระเตื้องมากนักจากปัจจัยสำคัญคือ ‘นักท่องเที่ยว’ ที่ยังเข้าไทยไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยตัวเลขนักท่องเที่ยว 7 เดือนแรกของปี 2565 ยังอยู่ที่ราว 3.3 ล้านคน ซึ่งแม้จะปรับคาดการณ์ตลอดทั้งปีขึ้นไปเป็น 10 ล้านคน แต่ก็ยังน้อยกว่าช่วงเวลาปกติที่มีนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคน ถึง 4 เท่า
แน่นอนว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กระเตื้องมากนัก ส่งผลกระทบกับตัวเลขจีดีพีอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นคิดเป็นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี
กระนั้นเอง ที่น่าตกใจกว่าก็คือถึงการท่องเที่ยวไทยในช่วงเวลาก่อนโควิด-19 จะดีเพียงใด แต่ก็ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่จีดีพีไทยจะโตเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกับประเทศอื่น
จากรายงานของธนาคารโลกประจำประเทศไทย (The World Bank Group) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุปัจจัยเสี่ยงของไทยพบว่า
1. สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้เกิดขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญ คือน้ำมันจากประเทศรัสเซียและข้าวสาลีจากประเทศยูเครน ทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดังกล่าวเป็นวัตถุดิบสูงขึ้น นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นยังทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง อีกทั้งความต้องการซื้อสินค้าส่งออกจากไทยของทั่วโลกก็ปรับตัวลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอีกด้วย
2. รายได้จากภาคการท่องเที่ยวลดลง โดยจากรายงานระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยยังคงมีอัตราที่ต่ำกว่าอัตรานักท่องเที่ยวช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565
3. อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยจากรายงานฉบับดังกล่าวให้ข้อมูลว่าในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี คือ 7.1 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น
4. ปัจจัยเสี่ยงจากหนี้ของภาคธุรกิจและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น อ้างอิงจากรายงานของธนาคารโลกประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือความเสียงจากหนี้ครัวเรือน ในอัตรา 90 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 ใน 4 โดยมีปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและการศึกษา และหนี้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อSMEs ทั้งหมดเพิ่มขึ้นราว 7.5 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งสูงกว่าระดับหนี้เสียต่อสินเชื่อ SMEs ช่วงก่อนการแพร่ระบาดที่อยู่เพียง 4.5-5 เปอร์เซ็นต์
5. ค่าจ้างแรงงานที่ลดลง โดยในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงเหลือเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสที่ 1/2565 จากปีก่อนหน้าที่มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ทว่าค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของครัวเรือนไทยกลับลดลง
ด้านรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากเปิดประเทศแล้ว นักท่องเที่ยวกลับมาเป็น 40 ล้านคนเหมือนเดิม ตัวเลขจีดีพีจะกลับมาสูงขึ้น ผนวกกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern-Economic Corridor: ECC) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานสร้างเสร็จทั้งหมด จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น อุตสาหกรรมไฮเทค อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือการผลิตด้วยหุ่นยนต์ จะเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้ารูปเข้ารอยได้มากขึ้น
แต่ทั้งหมดนี้ ยังคงต้องใช้เวลา และแน่นอนว่ารัฐบาลต้องออกแรงมากกว่านี้มาก…
ที่มา
https://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/37531
https://documents1.worldbank.org/curated/en/099630106272233247/pdf/P177481083ca5701b09bb10d870c3dd3267.pdf
https://www.thesundaily.my/business/malaysia-s-gdp-growth-tipped-to-enter-lower-gear-in-coming-quarters-AK9590471
https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economic-growth-forecast-at-75-in-2022-world-bank/235163.vnp
https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2022/08/08/vietnam-s-economy-forecast-to-grow-7-5-in-2022-new-world-bank-report-says
https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/37834/IDU095369e8107d0204a380a7620a5aa99d93856.pdf
Tags: เวียดนาม, เศรษฐกิจ, GDP, มาเลเซีย, ไทย, จีดีพี