22 พฤษภาคม 2565 นอกจากจะเป็นวันที่คนกรุงเทพฯ จะมีโอกาสตัดสินอนาคตของตัวเอง ด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ยังถือเป็นวันครบรอบ 8 ปี การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จุดเริ่มต้นของวงจรอำนาจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ใช่, ด้วยอำนาจของ คสช. ที่ดำรงอยู่ยาวนานถึง 5 ปี ทำให้การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งควรจะเกิดขึ้นในปี 2560 นั้น ลากยาวต่อเนื่องมาอีกเกินครึ่งศตวรรษ เหตุผลของ คสช. ก็คือ ด้วย ‘ความขัดแย้งทางการเมือง’ ซึ่ง คสช. ยังแก้ไม่จบนั้น ทำให้บรรยากาศ ‘ไม่เหมาะ’ กับการเลือกตั้งในทุกระดับ
วันนี้ ประชาชนรู้ดีว่า คสช.แก้ปัญหา ‘ความขัดแย้งทางการเมือง’ ได้หรือไม่ เรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จบลงแล้วหรือไม่… และผลลัพธ์ของการรัฐประหารนั้นเป็นอย่างไร
ที่น่าสนใจก็คือ ในโอกาสครบ 8 ปี รัฐประหาร เราพบว่าแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ตัวหลัก ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารในวันนั้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในฝ่าย ‘สนับสนุน’ และฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม หลายคนเป็น ‘ผู้เล่น’ ที่มีส่วนทำให้เกิดการรัฐประหาร และแม้จะมีบางคนที่ในเวลานั้น ยังทำธุรกิจอื่น ยังอยู่นอกวง แต่ส่วนใหญ่กลับอยู่ในความขัดแย้งระดับชาติทั้งสิ้น
The Momentum จะพาไปสำรวจว่า แต่ละคนมีภูมิหลังอย่างไร มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับการรัฐประหาร และมีส่วนสำคัญมากเพียงใด ในการพาบ้านเมืองมาถึงจุดนี้
1. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ตำแหน่งเมื่อปี 2557: รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ชัชชาติก้าวเข้าสู่การเมืองครั้งแรกในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยคำเชิญชวนของ ‘เฮียเพ้ง’ – พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล มือขวาของ ทักษิณ ชินวัตร รุ่นพี่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชัชชาติเคยเป็นรองศาสตราจารย์ ในตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม’ ตั้งแต่ยุคพลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ
เขาขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกรดเออย่างคมนาคมในที่สุด ในช่วงต้นปี 2556 ได้รับมอบหมายให้ดูโครงการ ‘2 ล้านล้านฯ’ หรือ พ.ร.บ.สร้างอนาคตไทย 2020 รวมโครงการคมนาคมทั้งหมด ไม่ว่าจะรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ท่าเรือ มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เข้าไว้ด้วยกัน ทว่าโครงการดังกล่าวถูกศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ‘ผิดวินัยการเงินการคลัง’ ไม่ควรให้อำนาจรัฐสภากู้เงินในลักษณะดังกล่าว หากแต่ควรใช้ระบบงบประมาณปกติ สำทับด้วยคำจากศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งว่า ‘ให้ถนนลูกรังหมดก่อน’
หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ‘ยุบสภา’ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ชัชชาติกลายเป็นรักษาการรัฐมนตรีฯ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันที่มีการรัฐประหารโดย คสช. เขาถูกส่งเป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรีในการ ‘เจรจา’ กับแกนนำคนเสื้อแดง แกนนำ กปปส. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และผู้นำเหล่าทัพนั่งหัวโต๊ะ
ในที่สุด พลเอกประยุทธ์ทุบโต๊ะ ทำรัฐประหาร ทำให้ชัชชาติต้องถูกกักตัวไว้ในค่ายทหารที่จังหวัดปราจีนบุรี นานกว่า 8 วัน โดยมีแกนนำพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งในเวลานั้นโพสต์เฟซบุ๊กในเชิง ‘เยาะเย้ย’ ว่าเขา ‘เข่าอ่อน’ ต้องมีทหารมาหิ้วปีก ในวินาทีที่ทหารทำรัฐประหาร แต่ชัชชาติปฏิเสธว่าไม่ได้มีกิริยาเช่นนั้น มีทหารพยายามมาคุมตัวเขาไป แต่เขาบอกว่าเขาเดินเองได้เท่านั้น
หลังการรัฐประหาร ชัชชาติไปเป็นผู้บริหารบริษัทคิวเฮาส์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจลงสมัครเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 และเริ่มกลุ่ม Better Bangkok ลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. แบบ ‘อิสระ’ ในรอบนี้
2. พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง
ตำแหน่งเมื่อปี 2557: รองผู้ว่าฯ กทม. โควตาพรรคประชาธิปัตย์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การชุมนุม กปปส. ที่ต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่เดือพฤศจิกายน 2556 ถึงพฤษภาคม 2557 ผู้สนับสนุนหลักก็คือพรรคฝ่ายค้านอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ โดยแกนนำหลัก ไม่ว่าจะเป็น สุเทพ เทือกสุบรรณ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ หรือสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ล้วนเป็นบุคลากรของพรรค แม้กระทั่ง ชวน หลีกภัย หรืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างก็ร่วมเคลื่อนไหว ‘เป่านกหวีด’ กับ กปปส. ด้วยกันทั้งสิ้น
ในเวลานั้น พลตำรวจเอกอัศวินยังคงทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือเขาแนบแน่นกับพรรคเก่าแก่นี้เป็นอย่างดี โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในสมัยที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯ คุมกรมตำรวจ และหลังจากเกษียณอายุราชการ พลตำรวจเอกอัศวินก็ได้รับแต่งตั้งเป็น รองผู้ว่าฯ กทม. ในสมัยที่ หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ ร่วมกับ ทยา ทีปสุวรรณ ภรรยาของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ แกนนำอีกคนหนึ่งของ กปปส.
เมื่อผู้ว่าฯ กทม. เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ กปปส. จึงได้รับการดูแลอย่างดีจาก กทม. ไม่ว่าจะเป็นรถห้องน้ำ ไฟส่องสว่าง ที่ให้บริการอย่างทั่วถึง ไม่ว่า กปปส. จะมีเวทีการชุมนุมกี่จุดทั่วกรุงเทพฯ ก็ตาม ขณะเดียวกัน ก็ยังปรากฏภาพของพลตำรวจเอกอัศวินที่เวที กปปส. เคียงข้างกับสุเทพอยู่บ่อยครั้ง
ไม่นานมานี้ ถาวร เสนเนียม ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์’ ของ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ว่าพลตำรวจเอกอัศวินมีบทบาทอย่างมากในการคุม ‘การ์ด’ ของ กปปส. จนทำให้ถาวรมีความผูกพันกับพลตำรวจเอกอัศวินเป็นอย่างดี ทว่าในเวลาต่อมา เขากลับปฏิเสธว่าไม่รู้จักว่า กปปส. คืออะไร
ส่วนในการให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ไม่นานมานี้ พลตำรวจเอกอัศวินบอกว่า เขาไม่ได้สนิทสนมกับสุเทพ และเคยมีส่วนสำคัญในการ ‘ห้ามทัพ’ ไม่ให้ผู้ชุมนุม กปปส. ปะทะกับตำรวจ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2556
หลังการรัฐประหาร พลตำรวจเอกอัศวินได้รับเลือกจาก คสช. ให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยเหตุผลที่เขาบอกว่า เพื่อจัดงานพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9
3. สกลธี ภัททิยกุล
ตำแหน่งเมื่อปี 2557: แกนนำ กปปส.
สกลธีเป็นลูกชายของ พลเอก วินัย ภัททิยกุล เลขานุการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้าสู่การเมืองเป็นครั้งแรกในฐานะ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2550 โดยได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขตหลักสี่ พรรคประชาธิปัตย์
เมื่อสุเทพตัดสินใจลงถนน สกลธีก็ตัดสินใจตามไปด้วย เขาเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือ ของ กปปส. ร่วมกับ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และชุมพล จุลใส ซึ่งคนอื่นๆ ล้วนโดนคดีร้ายแรง โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง และต้องสู้คดีอาญา แต่สำหรับสกลธี เขาไม่มีคดีอะไรติดตัว
ทันทีที่เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สกลธีเป็นหนึ่งในแกนนำ ที่ขึ้นประกาศกับผู้ชุมนุมที่เวที กปปส. หน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน ให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รายงานว่า สกลธีก็ถูกควบคุมตัวเช่นเดียวกัน โดยเขาถูกควบคุมตัวร่วมกับ ชุมพล จุลใส พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และจิตภัสร์ กฤดากร ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ บางเขน
หลังพ้นจากการควบคุมตัว เฟซบุ๊กของสกลธี ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอปาร์ตี้วันเกิดณัฏฐพล โดยทุกคนสวมชุดลายพรางทหาร ร่วมกับแกนนำ กปปส. อาทิ สุเทพ, จิตภัสร์, ณัฏฐพล – ทยา ทีปสุวรรณ ร้องเพลง ‘สู้ไม่ถอย’ และเต้นรำที่ร้าน 4 Garcons ย่านทองหล่อ กันอย่างมีความสุข อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวเผยแพร่ไม่นาน ก็ถูกลบออกไป
ในปี 2559 หลังจาก คสช. แต่งตั้งพลตำรวจเอกอัศวินเป็นผู้ว่าฯ สกลธีก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ในสาย กปปส. กระทั่ง สาย กปปส. ถูก ‘สลายขั้ว’ ออกไปหลังจาก พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งเคยเป็น ‘นายทุน’ ให้พรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมือง จากการโดนศาลสั่งจำคุกในคดีอาญา จนเหลือเพียงสกลธีคนเดียวที่ยังโลดแล่นอยู่บนเส้นทางการเมือง และลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในรอบนี้
4. รสนา โตสิตระกูล
ตำแหน่งเมื่อปี 2557: อดีต ส.ว. (พ้นตำแหน่ง เมษายน 2557)
ในปี 2551 รสนา โตสิตระกูล ซึ่งเคยเป็น ‘เอ็นจีโอ’ ด้านสาธารณสุข และด้านพลังงาน ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ของกรุงเทพฯ เป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนเสียงกว่า 7.4 แสนคะแนน หลังจากนั้น รสนาก็เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งมีตัวแทนคนอื่นๆ อาทิ คำนูณ สิทธิสมาน ไพบูลย์ นิติตะวัน สมชาย แสวงการ ซึ่งกลุ่มนี้ ต่างก็ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเข้มข้น
หลังจากยิ่งลักษณ์ยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 รสนาได้โพสต์จดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ไม่ให้มีการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เปิดทางให้ ‘ปฏิรูปประเทศ’ ผ่านการออกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ‘สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย’ ซึ่งแน่นอนว่า รสนาได้เคลื่อนไหวอย่างคึกคักคู่ขนานไปกับผู้ชุมนุม กปปส.
หลังการรัฐประหาร รสนาได้รับเสนอชื่อจาก คสช. ให้เป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทว่า ในรอบหลัง รสนาไม่ได้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และเส้นทางในระยะหลังก็เริ่ม ‘ทิ้งระยะห่าง’ จากทั้งบรรดา 40 ส.ว. ที่หลายคนยังโลดแล่น เป็น ส.ว. อยู่ถึงทุกวันนี้ ในระยะเวลาผ่านมาเกือบทศวรรษ
ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ในวาระ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รสนาบอกว่าสิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับเธอมากที่สุด คือเข้าใจผิดว่าเธอเป็น ‘สลิ่ม’
5. นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี
ตำแหน่งเมื่อปี 2557: ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ชื่อชั้นของนาวาอากาศตรีศิธานั้น คือเป็นหนึ่งคนที่ถูกระบุว่าอยู่ใน ‘ระบอบทักษิณ’ ไปพร้อมๆ กับการเป็นมือขวาของ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ เขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรก และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปพร้อมกับการยุบพรรคไทยรักไทยในฐานะกรรมการบริหารพรรค
ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นาวาอากาศตรีศิธาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งถือเป็นตำแหน่งใหญ่ คุมหน่วยงานที่มีกำไรสุทธิในเวลานั้นร่วมหมื่นล้าน สะท้อนให้เห็นว่าเขาได้รับความไว้วางใจจากพรรคเพื่อไทย และตระกูลชินวัตรเป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอน ผู้ที่กำกับดูแลโดยตรงก็คือ ชัชชาติ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หลังการรัฐประหารเพียงไม่กี่ชั่วโมง นาวาอากาศตรีศิธา ก็ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ภายใต้คำสั่ง คสช. ที่ 3/2557 ก่อนจะถูกควบคุมตัวไปไว้ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง และได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 28 พฤษภาคม 2557
นาวาอากาศตรีศิธากลับมาร่วมงานกับพรรค ‘เพื่อไทย’ ในช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงเวลาที่คุณหญิงสุดารัตน์มีอำนาจเต็มในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แต่เมื่อบรรดา ‘กลุ่ม Care’ กลับมา และกลายเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ที่ต้องเป็นฝ่ายไป… ก็แน่นอนว่าศิธา ต้องออกไปสร้างพรรคใหม่ร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์
แน่นอนว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ ชื่อชั้นของศิธาอาจยังไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่จะเป็นการทำให้พรรคไทยสร้างไทยได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแน่นอน จากบรรดาป้ายหาเสียง ซึ่งมีหน้าคุณหญิงสุดารัตน์ร่วมอยู่ด้วยเต็มกรุงเทพฯ
6. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ตำแหน่งเมื่อปี 2557: นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
ในปี 2557 ชื่อของ ‘พี่เอ้’ กำลังเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในเวลานั้น สุชัชวีร์มีอายุเพียง 42 ปี แต่ก็ได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ พ่วงด้วยนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
สุชัชวีร์ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ตอนหนึ่งว่า เขาใฝ่ฝันจะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มาตั้งแต่อายุเพียง 20 ปีเศษๆ เมื่อนั่งรถเมล์จากลาดกระบังไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และต้องเผชิญกับสภาพการจราจรอันย่ำแย่ของกรุงเทพฯ และเส้นทางชีวิตหลังจากนั้น คือการสั่งสมประสบการณ์ และสร้างโปรไฟล์ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งในงานวิศวกรรม และการบริหาร จนได้รับตำแหน่งอธิการบดี สจล. ในปี 2558
ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่า ‘พี่เอ้’ มีประวัติยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือพรรคการเมืองใด เพียงแต่ประวัติก่อนหน้านี้ที่ค่อนข้างทำให้เขา‘ บอบช้ำ’ ก็คือการเป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งรับผิดชอบระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบ TCAS จนกลายเป็นความปั่นป่วนให้กับนักเรียนชั้น ม.6 ที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนั้น
2 ปีที่ผ่านมา สุชัชวีร์เดินสายบรรยาย ออกรายการโทรทัศน์ ไปพร้อมๆ กับที่มีข่าวว่าเขาเดินสายพูดคุยกับพรรคการเมืองหลายพรรค จนมาลงตัวที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่สนใจส่งให้เขาเป็นตัวแทนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรค ไม่ได้เพียงหวังให้สุชัชวีร์ได้เป็นผู้ว่าฯ เท่านั้น แต่เพื่อพลิกฟื้นสนาม กทม. ให้กลับมาเป็นของพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งด้วย
7. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ตำแหน่งเมื่อปี 2557: ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
เช่นเดียวกับสุชัชวีร์ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว วิโรจน์ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในการให้สัมภาษณ์กับ The Momentum เขาบอกว่า เขาเป็นวิศวกรก็จริง แต่สนใจในงานทรัพยากรบุคคล และก้าวเข้าสู่ตำแหน่งบริหารของกลุ่มบริษัทซีเอ็ด ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่อายุยังน้อย และสไตล์การบริหารงานคือ ‘ถึงลูกถึงคน’ พูดคุยกับทุกคน และปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังสนใจงานด้าน ‘การศึกษา’ โดยได้ทำงานในหลายงานของกลุ่มซีเอ็ด ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเพื่อการศึกษา หรือโครงการส่งเสริมการเรียนรู้
วิโรจน์สมัครเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 34 ซึ่งจากเดิมไม่มีใครคาดคิดว่าพรรคจะได้รับเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ มากถึง 50 คน
หลังจากเข้าสภาฯ ได้เมื่อปี 2562 ชื่อชั้นของวิโรจน์ก็โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ จากการทำงานตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะการเกาะติดในขบวนการ IO ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2563 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่อง ‘วัคซีน’ เมื่อปี 2564 จนทำให้วิโรจน์ เป็นคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ กับอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
แม้ว่าในช่วงแรก จะมีหลายเสียงที่ค่อนขอดว่า การส่งวิโรจน์ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. อาจหมายถึงพรรคก้าวไกลไม่สามารถหาใครลงได้แล้ว แต่หลังจากแคมเปญผ่านไปนานกว่า 4 เดือน ชื่อของวิโรจน์ ในฐานะคู่ต่อสู้ในสนามผู้ว่าฯ กทม. ก็โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ จนอาจติด 1 ใน 3 คนแรก และยังมีสิทธิลุ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปเสียด้วยซ้ำ
Tags: Feature, รัฐประหาร 2557, รัฐประหาร, ผู้ว่าฯ กทม., Bangkok Upside Down