บางคนอาจมองว่า 93 วัน ที่ต้องต่อสู้อย่างต่อเนื่อง ต้องยื้อยุดไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ายึดคืนพื้นที่ตรงจัตุรัสกลางเมืองเป็นเวลาที่แสนยาวนาน พวกเขาต้องแลกมาด้วยการบาดเจ็บล้มตาย ไม่ว่าอย่างไรก็ได้ไม่คุ้มเสีย แต่ในมุมมองของผู้ร่วมชุมนุม เขาอาจคิดว่าคงไม่นานเท่ากับการที่ต้องใช้ชีวิตตลอดไปในรัฐบาลเผด็จการที่ไม่เห็นหัวประชาชน
Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom เป็นสารคดีของ Netflix ที่เล่าเรื่องราวการต่อสู้กว่า 93 วัน ในช่วงปี 2013-2014 ของชาวยูเครน ที่รวบรวมฟุตเทจจำนวนมากทั้งจากการตามเก็บภาพตั้งแต่วันแรกของความขัดแย้ง และการตามถ่ายสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลายอาชีพที่ตบเท้าเข้าร่วมการประท้วง ทั้งผู้นำศาสนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สถาปนิก ทนายความ ทหาร ศิลปิน ศัลยแพทย์ นักแสดง นักร้อง ทหารวัยเกษียณ นักธุรกิจ นักเรียนนักศึกษา ฯลฯ
ในความต่างทางอาชีพและบทบาทหน้าที่ในสังคม พวกเขามีหนึ่งสิ่งตรงกันคือการมองว่ารัฐบาลกำลังปิดกั้นอนาคตของประเทศ เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและผลักภาระทั้งหมดให้กับประชาชน
ประชาชนหันหน้าไปฝั่งตะวันตก แต่ผู้นำกลับหันไปฝั่งตะวันออก
“พวกอุกอาจพวกนี้ไม่ใช่แค่ทำให้สถานการณ์ยากลำบาก แต่พวกเขาขโมยอนาคตของเด็กๆ ไปด้วย”
เดิมทีคำมั่นสัญญาช่วงหาเสียงประธานาธิบดีของ วิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovich) คือการกล่าวกับประชาชนว่าหากชนะเลือกตั้ง เขาจะพายูเครนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่เมื่อได้เป็นผู้นำ วันเวลาผ่านไปข้อตกลงที่ว่ายังไม่มีวี่แววจะเกิดขึ้นจริง
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2013 นายกรัฐมนตรี มิโคลา อาซารอฟ (Mykola Azarov) แถลงข่าวว่า รัฐบาลได้ยุติข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปแล้ว และจะสานสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับรัสเซียแทน เนื่องจากประธานาธิบดียานูโควิชเรียกร้องเงินกู้และเงินอุดหนุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสหภาพยุโรป แต่สหภาพยุโรปให้ได้เพียง 838 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนรัสเซียเต็มใจให้ยูเครนกู้เงิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเสนอราคาซื้อขายก๊าซที่ถูกลง
การตัดสินใจของรัฐบาลทำให้นักการเมืองในที่ประชุมบางคนตะโกนด่า บางคนถือธงชาติยูเครนไปโยนใส่นายกรัฐมนตรี ส่วนประชาชนที่เฝ้ารอดูความเคลื่อนไหวต่างมองว่ารัฐบาลกำลังหักหลังพวกเขา และควรไปให้พ้นจากการทำหน้าที่บริหารประเทศ
การเบือนหน้าของสหภาพยุโรปในครั้งนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือไม่? ชาวยูเครนจำนวนมากเชื่อว่าประธานาธิบดียานูโควิชมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย และการที่ยูเครนเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปย่อมส่งผลเสียกับรัสเซียไม่มากก็น้อย เนื่องจากความกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติ หากประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนเข้าร่วมกับชาติฝั่งตะวันตก รวมถึงสมมติฐานของนักวิชาการอีกจำนวนมาก ต่างก็มองว่า ผู้มีอำนาจในรัสเซียยังคงคิดว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา แม้ยูเครนจะเป็นเอกราชแยกตัวออกมาตั้งแต่ปี 1991 แล้วก็ตาม
เมื่อข้อตกลงกับสหภาพยุโรปถูกรัฐบาลยานูโควิชปัดทิ้ง ผู้คนมองว่าการปฏิเสธครั้งนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่หมายถึงอนาคตระยะยาวนับจากนี้ คล้ายกับว่ารัฐบาลกำลังพาประเทศย้อนกลับไปยังยุคสงครามเย็น ที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ประชาชนจึงเริ่มโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหรือทวีตผ่านทวิตเตอร์ว่า “ไปเจอกันที่ไมดาน” จัตุรัสเอกราช ไมดาน เนซาเลซนอสติ กลางกรุงเคียฟ ที่กว้างพอให้ผู้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันได้ยืนอยู่ร่วมกัน
การต่อสู้เริ่มขึ้น ณ ตรงนั้น
วันแรกของการประท้วงรัฐบาลที่บิดพลิ้วคำมั่นสัญญาเริ่มขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2013 มีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมราว 400 คน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว เป็นนักศึกษาและคนที่ตื่นตัวทางการเมือง ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นซ้ำยังมีฝนตกกระหน่ำ แต่ถัดไปอีกไม่กี่ชั่วโมง จากคนหลักร้อยเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันคน กู่ร้องว่า “ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป” เพื่อหวังว่ารัฐบาลจะได้ยินเสียงของพวกเขา การประท้วงครั้งนี้คือการปักหลักอยู่ยาวจนกว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนใจ บางคนมาวันแรกและกลับบ้านไปนอนเอาแรงในวันถัดไป สลับกับคนที่มาในวันที่สองสาม หมุนเวียนเปลี่ยนกันมาเรื่อยๆ
หลังประชาชนชุมนุมได้แปดวัน บรรยากาศในไมดานค่อนข้างผ่อนคลาย ชาวบ้านและสื่อมวลชนต่างส่งเสียงชื่นชมกลุ่มผู้ประท้วงที่ร้องรำทำเพลง เล่นดนตรี ขึ้นปราศรัย แบ่งปันเสื้อผ้าและอาหาร เป็นม็อบสันติปราศจากความรุนแรง ที่มุ่งหวังเพียงอย่างเดียวคือการทำให้ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ตามที่ประธานาธิบดีของพวกเขาเคยให้สัญญาไว้
การชุมนุมในคืนวันที่เก้า โหมความโกรธของประชาชนให้ปะทุขึ้นอีกครั้ง วันนั้นตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2013 ในพื้นที่ชุมนุมมีการฉายภาพข่าวการเจรจาที่ล้มเหลวของประธานาธิบดียานูโควิช กับ อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและผู้นำสหภาพยุโรป เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับหน้าจอ รู้ตัวอีกทีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สวมเครื่องป้องกันอย่างหนา ก็ถือโล่และกระบองเข้าล้อมผู้ชุมนุมเสียแล้ว
คำขวัญที่ว่า ‘ตำรวจอยู่ข้างประชาชน’ ไม่เป็นความจริง
“คุณให้คำสัตย์สาบานตนรับใช้ประเทศยูเครน ไม่ใช่รับใช้ยานูโควิชกับพรรคพวก”
ในการสลายการชุมนุมวันแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจเผชิญหน้ากับประชาชนมือเปล่าที่คล้องแขนทำแนวกั้นมนุษย์ เกิดการยื้อยุดฉุดกระชากกันไปมา เจ้าหน้าที่เริ่มเอากระบองเหล็กทุบร่างผู้ชุมนุม ใช้เท้าถีบให้กำแพงมนุษย์แตกพ่าย เมื่อมีคนวิ่งหนีและล้มลง เจ้าหน้าที่คนแรกที่เข้าถึงตัวประชาชนที่ล้มอยู่ ใช้กระบองทุบซ้ำๆ ก่อนวิ่งไปจับผู้ชุมนุมคนต่อไป จากนั้นเจ้าหน้าที่คนถัดมาจะเข้ามาตีร่างที่ล้มอยู่ซ้ำแล้ววิ่งต่อไป คนถัดมาเข้ามาตีซ้ำแล้ววิ่งออกไป คนแล้วคนเล่าที่กระหน่ำทุบตีประชาชนที่นอนงอตัวยอมแพ้ตั้งแต่ถูกเจ้าหน้าที่คนแรกทำร้ายแล้ว
เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งมาปราบม็อบโดยเฉพาะเรียกกันว่า ‘กองกำลังตำรวจพิเศษเบอร์คุต’ ผู้ถูกฝึกให้อดทนต่อเสียงก่นด่า ถูกสอนให้จัดการกับอะไรก็ตามที่ขัดขวางความสงบเรียบร้อย เก็บกวาดประชาชนที่ทำให้สังคมไร้ระเบียบอย่างที่ผู้บังคับบัญชาและรัฐบาลพร่ำบอกกรอกหู
หากรัฐรุนแรงเพียงเพราะหวังให้ประชาชนกลัวจนกลับบ้าน การสลายการชุมนุมในคืนวันที่เก้าคงเป็นการเดินเกมพลาดครั้งใหญ่ การทุบตีประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ซ้ำยังเป็นการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ ทำให้ในวันถัดๆ มา มีผู้คนเข้ามาสมทบเพิ่มมากขึ้น บางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด หลายคนเป็นพ่อแม่ของนักศึกษาที่ถูกทำร้ายในคืนก่อน และคราวนี้ผู้ชุมนุมไม่ได้ปักหลักอยู่ที่เดิมอย่างเดียว แต่เริ่มเดินหรือขับรถไปตามท้องถนน โบกธงชาติสีน้ำเงินเหลือง เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีคนนับแสนนับล้านที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล
“คำขวัญที่ว่า ‘ตำรวจอยู่ข้างประชาชน’ ไม่เป็นความจริง พวกเขาอยู่ข้างผู้นำห่วยแตก”
เมื่อประชาชนยืนยันสู้ต่อ และเดินทางไปยังพื้นที่สีแดงซึ่งเป็นที่ทำการรัฐ หรือพื้นที่ที่เข้าใกล้ประธานาธิบดี โลกได้พบเห็นการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่เริ่มใช้ระเบิดแสง แก๊สน้ำตา ก่อนวิ่งเข้าใส่ประชาชน การต่อสู้เริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงเช้าของวันถัดไป ท่ามกลางร่างไร้สตินอนอยู่ตามพื้น กับกองเลือดกระจายเต็มถนน
กว่า 93 วัน เกิดการปะทะกันไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ เริ่มจากการสลายการชุมนุมที่ดำเนินมาอย่างสันติ ใช้อาวุธเบาอย่างกระบองหรือแขนขา ลามไปจนถึงกระสุนยาง ระเบิดแสงที่มีนอตปะปนมาด้วย แก๊สน้ำตา และการใช้ปืนกล AK-47 กับปืนไรเฟิลยิงใส่ผู้ชุมนุม ส่วนทางฝั่งประชาชน มีก้อนอิฐไว้ขว้างปา มีระเบิดขวดทำมือ ประทัด พร้อมกับถือพลั่ว คราด แท่งเหล็ก ไม้หน้าสาม วิ่งดาหน้าใส่เจ้าหน้าที่ที่มีอาวุธครบมือ หากเวลาที่จะหลบหนีจากสายตาของเจ้าหน้าที่ พวกเขาจะนำยางรถยนต์มาสุมรอบจุดปักหลัก เผาให้ควันท่วมบริเวณเพื่อบดบังการมองเห็นของพลซุ่มยิง
สารคดี Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom เก็บภาพความรุนแรงทั้งหมดนี้เอาไว้ได้ บางทีก็เกิดความรู้สึกว่าเก็บมากเกินไปในหลายจังหวะ จนผู้ชมอย่างเราไม่อยากเห็นภาพความรุนแรงเหล่านั้นอีกแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น กองกำลังพิเศษเบอร์คุตก็ยังไม่หยุด พวกเขากระหน่ำทุบตีและไล่จับผู้คนต่อไป จนประชาชนต้องร่นถอยกลับมายังจัตุรัสไมดานอีกครั้ง กลับไปเพื่อพบกับกระสุนจริง กลับไปเพื่อพบกับมือสไนเปอร์ที่ยิงใส่ทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ ยิงแม้กระทั่งแพทย์สนามที่ขนเตียงไปรับศพคนตรงด่านหน้า
ความรุนแรงของรัฐที่ทำกับประชาชน ทำให้ประเด็นประท้วงไปไกลกว่าว่ายูเครนจะเข้าร่วมสหภาพยุโรปหรือไม่ แต่พวกเขาตระหนักได้แล้วว่ารู้สึกเอือมระอากับรัฐบาลตัวเองมากแค่ไหน ประชาชนที่ลงถนนประท้วงต้องการล้มรัฐบาล และย้ำเตือนกันเองว่าจะไม่มีวันลืมเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายร่างกายและสังหารเพื่อนๆ ของพวกเขา
“ยานูโควิชและพรรคพวกลงมือกับเด็กๆ เขาคิดว่าเราจะกลัวและหลบซ่อน แต่พวกเราไม่กลัว”
แม้เจ็บปวดและพลาดพลั้ง แต่การต่อสู้ยังไม่จบลงเท่านี้ ตราบใดที่เผด็จการยังคงอยู่ในอำนาจ ประชาชนก็ยังคงปักหลักสู้กันต่อไป
สิทธิเด็ดขาดในการกำหนดทิศทางของประเทศอยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่นักการเมือง
อีกกี่ชีวิตที่ต้องตายเพื่อแลกกับอิสรภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น?
ผู้ที่เสียเปรียบจากการต่อสู้อันยืดเยื้อส่วนใหญ่มักเป็นฝ่ายประชาชน แม้บางครั้งพวกเขาจะสามารถยึดอาคารสำนักงานของรัฐ ยึดโล่ ยึดกระบอง ยึดรถหุ้มเกราะได้ แต่หลายครั้งก็แลกมาด้วยความเจ็บปวดของผู้ชุมนุม หนักกว่านั้นคือการสูญเสียชีวิตที่ไม่มีวันหวนกลับ
เมื่อย้อนกลับมาหวนคิด ทำไมประชาชนคนธรรมดาที่ควรจะมีชีวิตเป็นปกติ ถึงต้องออกมานอนกลางดิน กินกลางทราย ทนกับอากาศหนาวจัด หรือทนตากฝนที่เทลงมาซ้ำเติม และเสี่ยงจะเจ็บปวดหรือเสี่ยงตายกันถึงขนาดนี้
ใจความสำคัญของสารคดี Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom ที่ตามถ่ายการต่อสู้ของประชาชนตลอด 93 วัน ในช่วงปี 2013-2014 ไม่ใช่ความต้องการนำเสนอ ‘ปลายทาง’ ที่ได้มาซึ่งอิสรภาพ แต่เป็นการฉายภาพ ‘ระหว่างทาง’ ขณะที่ประชาชนก้าวเดินอย่างมุ่งมั่นและเจ็บปวด เพราะในระหว่างที่พวกเขาเดินกันอยู่นั้น แต่ละวันก็มีผู้คนร่วงหล่นจากไปเป็นจำนวนมาก
การต่อสู้ครั้งนี้มีประชาชนเป็นสมการหลัก ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการที่ไม่เห็นหัวประชาชน สารคดีเรื่องนี้ยังนำเสนอภาพของนักการเมืองฝ่ายค้านที่ไม่สามารถทำอะไรได้มาก แต่พยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับการชุมนุม หลายครั้งเราได้เห็นเสียงโห่ไล่ไม่ต้อนรับนักการเมืองเหล่านี้ ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าผู้นำพรรคฝ่ายค้านเลือกทำบางสิ่งได้ แต่เขากลับเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย เวลาเดียวกันก็อยากจะเป็นผู้นำการประท้วง อยากออกคำสั่งในการประท้วง หรือแสดงทัศนคติให้ผู้ชุมนุมเห็น จนทำให้มีชายคนหนึ่งใช้ถังดับเพลิงยิงโฟมใส่ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน จนนักการเมืองหนุ่มรายนั้นถึงขั้นฉุนขาด แทบจะวิ่งเข้าไปชกต่อยกับผู้ชุมนุม
การไม่ทำอะไรเลยที่ว่าอาจหมายถึงการปล่อยให้ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งบังคับใช้ ร่างกฎหมายที่ออกมาควบคุมผู้ชุมนุมโดยเฉพาะ มีทั้งกฎยิบย่อยไร้สาระอย่างการห้ามพกหน้ากากกันแก๊ส ห้ามสวมหมวกนิรภัยแบบทหาร รถหนึ่งคันห้ามมีผู้โดยสารเกิน 5 คน หรือข้อกำหนดที่บอกว่ารัฐบาลสามารถตัดสินใจระงับอินเทอร์เน็ตเมื่อไรก็ได้ตามความเหมาะสม จนทำให้ผู้ประท้วงพกหมวกสกี หม้อ กระทะ มาครอบหัวกันกระแทกแทนการใช้หมวกนิรภัยที่กลายเป็นของต้องห้าม หรือเอาแว่นกับหน้ากากดำน้ำมาใช้แทนหน้ากากกันแก๊ส พร้อมกับตั้งคำถามว่าสภาปล่อยให้ร่างกฎหมายแบบนี้ออกมาได้อย่างไร นักการเมืองฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้หรือไม่ทำอะไรเลยกันแน่
ไม่เพียงเท่านี้ แว่นของผู้กำกับสารคดีนี้ยังนำเสนอภาพอีกว่า หลายครั้งที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพยายามยืนยันว่าเขาก็เป็นพวกเดียวกันกับประชาชน แต่ก็มักจะถูกผู้คนไล่กลับไปเสมอ เพราะในการต่อสู้ครั้งนี้ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจกันเองว่าใครเป็นพวกพ้อง และพวกเขาอยากจะทำอะไรเป็นลำดับต่อไป
กรณีตัวอย่างดังกล่าวมีให้เห็นอยู่ตลอดการดำเนินเรื่อง เช่น ในการประท้วงวันที่ 60 หรือวันที่ 19 มกราคม 2014 ผู้ชุมนุมไม่ฟังคำกล่าวนักการเมืองที่ให้แยกย้ายกลับบ้าน ตรงกันข้ามกลับเคลื่อนตัวไปยังรัฐสภาเพื่อกดดันประธานาธิบดียานูโควิชทันที
เมื่อการประท้วงกลายเป็นสงครามกลางเมือง ผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องเพียงสามอย่างเท่านั้น คือ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทำให้อำนาจระหว่างรัฐสภากับประธานาธิบดีมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น และจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง
ในคืนประท้วงวันที่ 92 ผู้นำพรรคฝ่ายค้านรายเดิมกล่าวว่าเขาสามารถเจรจากับผู้นำยูเครนได้แล้ว รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนธันวาคม ถือเป็นเวลานานพอดูที่ประธานาธิบดียานูโควิชจะได้ยื้อเก้าอี้ตัวเองไว้ ทำให้ผู้ประท้วงพุ่งขึ้นเวทีเพื่อด่านักการเมืองแบบต่อหน้า และประกาศกร้าวว่าจะไม่มีวันรอให้ยานูโควิชมีอำนาจถึงตอนนั้น รวมถึงถ้ายังเล่นเกมการเมืองแบบดึงเชิงกันอยู่แบบนี้ ประชาชนจะโต้กลับด้วยวิธีที่หนักขึ้นกว่าเดิม
“คนที่เราเรียกว่าเป็นหนึ่งในผู้นำการต่อสู้ทำข้อตกลงกับรัฐบาล จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคม แต่เพื่อนร่วมชาติเราถูกยิงตาย และผู้นำของเรากลับไปจับมือกับฆาตกร พรุ่งนี้ก่อนสิบโมงเช้า เขาต้องลาออก และถ้าพรุ่งนี้ไม่มีประกาศเรื่องการลาออกของยานูโควิช สาบานเลยว่าเราจะต่อสู้อีกครั้ง”
ท้ายที่สุด ไม่รู้ว่าเป็นเพราะดีลที่ล้มเหลว เป็นเพราะประชาชนไม่สนใจฟังเสียงนักการเมืองอีกต่อไป เป็นเพราะถูกกดดันจากนานาชาติ เป็นเพราะเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่มีทางยอมง่ายๆ แม้จะถูกปืนจ่อหัว หรือเพราะคำสั่งจากรัสเซีย ในคืนเดียวกัน ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช แอบเดินทางออกจากที่พักเพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีไป เท่ากับว่าการต่อสู้ที่นานกว่า 93 วัน เดินมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2014 รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดียูเครน วิกเตอร์ ยานูโควิช ไม่สามารถทำหน้าที่ประธานาธิบดีได้อีก โดยเขาได้ลาออกจากตำแหน่งอย่างไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และจะรีบดำเนินการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้ง ส่วนทางด้านของยานูโควิช ในคืนที่ประชาชนยื่นคำขาด เขาเดินทางออกไปยังเมืองไครเมีย ก่อนลี้ภัยไปยังรัสเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีในหลายข้อหา
การต่อสู้กว่า 93 วันในครั้งนี้ไม่ได้สูญเปล่า ยูเครนกำลังตั้งหลักใหม่แล้วก้าวต่อไปอีกครั้ง ในตอนนั้นคงไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่า นับจากนี้ยูเครนจะพบเจอกับเรื่องราวการต่อสู้แบบไหนอีกบ้าง
Fact Box
องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า 93 วันที่ไมดาน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 1,890 คน ยังคงสูญหายอีก 65 คน และมีผู้เสียชีวิต 125 ราย หลายเดือนหลังเหตุการณ์ยูโรไมดานสิ้นสุดลง กองกำลังเบอร์คุตถูกปิดตัวลง และรัฐบาลใหม่ของยูเครนเซ็นลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป แต่เหตุการณ์ถัดๆ มาคือการแทรกแซงของรัสเซียในภูมิภาคดอนบาส สนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6 พันคน และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เกิดสงครามใหญ่รัสเซีย-ยูเครน ในปี 2022