พระเมรุมาศเป็นของสงวนสำหรับเจ้านาย ไพร่สมัยก่อนอย่างดีก็เผาในกองฟืน ในป่าเฮ้วป่าช้า แต่จุดหักเหสำคัญที่ทำให้พระเมรุมาศเจ้ากลายมาเป็นเมรุไพร่นั้นถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ทำให้โครงสร้างทางชนชั้นของสังคมที่เคยมีต่ำมีสูงลงมาเสมอกันมากขึ้น

รัชกาลที่ 7 นับเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ได้รับการถวายพระเพลิงพระบรมศพเรียบง่ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ขอเล่าถึงผลกระทบของ พ.ศ. 2475 ต่อพระบรมศพของรัชกาลที่ 7 สักเล็กน้อย กล่าวคือ หลัง พ.ศ. 2475 รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จฯ ไปยังประเทศอังกฤษ และเสด็จสวรรคตที่นั่นใน พ.ศ. 2484 ทำให้ในเวลานั้นซึ่งคณะราษฎรยังมีอำนาจอยู่มาก งานพระบรมศพของรัชกาลที่ 7 จำต้องจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยพระบรมศพตั้งที่พระตำหนักคอมพ์ตันเฮาส์ เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์มาถวายบังคมเท่านั้น จากนั้นก็แค่เคลื่อนย้ายพระบรมศพไปยังสุสานโกลเดอร์ส กรีน (Golders Green Crematorium) และเผาด้วยเตาไฟฟ้า

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี กล่าวว่า รัชกาลที่ 7 นับเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ได้รับการถวายพระเพลิงพระบรมศพเรียบง่ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ท้องสนามหลวงได้ใช้เป็นที่ตั้งของเมรุสำหรับราษฎรครั้งแรกในคราวที่ตั้งเมรุชั่วคราวสำหรับผู้เสียชีวิตจากการปราบกบฏบวรเดช (เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476)

ซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมครั้งนั้นทำเป็นรูปกล่องอย่างง่ายๆ และไม่มีองค์ประกอบอย่างสถาปัตยกรรมไทยประเพณี

ทั้งนี้เพราะสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรคือปฏิกิริยาที่ต้องการปฏิเสธระบอบการเมืองเก่าที่แสดงความหรูหราฟุ่มเฟือย

สภาพปัจจุบันของสุสานโกลเดอร์ส กรีน ณ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 7 Photo: wikiwand.com

 

และแล้วใน พ.ศ. 2491 เมื่อสถานการณ์การเมืองนิ่งมาก ทำให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้เขียนจดหมายถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กลับมาประเทศ พร้อมทั้งอัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้กลับมาเมื่อกลางปี พ.ศ. 2492 นั่นเอง (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. 2555: 279-291)

จุดสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่สถาบันกษัตริย์สามารถอัญเชิญพระบรมอัฐิของ รัชกาลที่ 7 กลับมาได้นั้น ย่อมเป็นสัญญาณของการฟื้นคืนอำนาจของสถาบัน ซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้โบราณราชประเพณีเกี่ยวกับความตายนี้สามารถฟื้นคืนกลับมาได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ให้ข้อมูลว่า ท้องสนามหลวงได้ใช้เป็นที่ตั้งของเมรุสำหรับราษฎรครั้งแรกในคราวที่ตั้งเมรุชั่วคราวสำหรับผู้เสียชีวิตจากการปราบกบฏบวรเดช (เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476) ซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมครั้งนั้นทำเป็นรูปกล่องอย่างง่ายๆ และไม่มีองค์ประกอบอย่างสถาปัตยกรรมไทยประเพณี (ชาตรี ประกิตนนทการ. สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์. ประชาไท, 2007) ทั้งนี้เพราะสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรคือปฏิกิริยาที่ต้องการปฏิเสธระบอบการเมืองเก่าที่แสดงความหรูหราฟุ่มเฟือย

การสร้างเมรุชั่วคราวของคณะราษฎร ณ ท้องสนามหลวงนี้ก็คือความจงใจในการใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ปกติใช้ได้สำหรับเจ้าเท่านั้น ซึ่งการสร้างพระเมรุชั่วคราวในครั้งนั้น รัชกาลที่ 7 ไม่โปรดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการกระทำเช่นนี้ในทัศนะของเจ้าแล้วถือกันว่าเป็น ‘การเทียมเจ้านาย’ (พลชัย เพชรปลอด. 2530) อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นสัญญาณที่ทำให้พระเมรุที่เคยเป็นของหวงห้ามเฉพาะเจ้านั้นกลายเป็นของสาธารณะ

ปรากฏการณ์ที่สถาปัตยกรรมของเจ้าได้เคลื่อนมาให้ไพร่ได้หยิบยืมใช้สอยนั้น เห็นได้ชัดใน พ.ศ. 2490 ที่ได้มีการสร้างเมรุถาวรขึ้นที่วัดไตรมิตรฯ ตรงเยาวราช เป็นแห่งแรก เมรุนี้เป็นอาคารก่ออิฐเสริมปูนทั้งหลัง ด้านหน้าเป็นบุษบกยอดปราสาทเพื่อใช้ตั้งศพ ด้านหลังเป็นศาลาเชื่อมต่อออกมาเพื่อไว้เผาศพ เมรุหลังนี้ออกแบบโดยพระพรหมพิจิตร (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. 2533) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ออกแบบพระเมรุมาศของ รัชกาลที่ 6
ชาตรีได้อธิบายด้วยว่าเมรุวัดไตรมิตรฯ นี้ด้านหนึ่งก็สร้างขึ้นเพื่อให้การเผาศพถูกสุขลักษณะมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อสังเกตที่ตัวสถาปัตยกรรมเป็นหลังคาซ้อน 6 ชั้น ก็เพื่อสะท้อนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งเมรุของวัดไตรมิตรฯ นี้ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบให้กับวัดอีกหลายแห่ง (ชาตรี ประกิตนนทการ. 2007) และกลายเป็นแบบเมรุมาตรฐานของกรมศิลปากรที่เอาไปสร้างตามวัดอื่นๆ เช่น วัดสามปลื้ม ด้วย

จะสังเกตได้ว่ามณฑปที่ใช้ตั้งศพนี้มีรูปทรงที่ได้รับต้นแบบมาจากพระเมรุมาศของเจ้านายที่เริ่มต้นจากพระเมรุมาศของ รัชกาลที่ 5 นั่นเอง ปัจจุบันเมรุหลังนี้ได้ถูกรื้อไปแล้ว และมีการสร้างอาคารหลังใหม่แทนที่

พระเมรุเจ้า หรือเมรุไพร่ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ไม่ว่าจะอยู่ชั้นไหน จะชั้นฟ้า หรือชั้นประหยัด ทั้งสองชนชั้นต่างมีปลายทางเดียวกันคือ ร่างไร้วิญญาณบนเชิงตะกอน

เมรุวัดไตรมิตรฯ หลังแรก Photo: gba.orgfree.com

 

เมรุทรงบุษบกยอดปราสาทวัดไตรมิตรฯ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. 2533)

 

ความจริง เรื่องเมรุตามวัดต่างๆ เป็นอะไรที่น่าค้นคว้าต่อมากนะครับ มีบางข้อมูลบอกว่าแนวคิดการสร้างเมรุถาวรของไพร่นั้นมีมาก่อน พ.ศ. 2475 เสียอีก แต่ไม่ว่าข้อมูลจะเป็นอย่างไร เมรุก็ไม่ได้เป็นแค่ที่เผาศพเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นกลางและล่างต่อความตาย กระทั่งเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของวัด ซึ่งรวยไม่รวยก็อย่างที่ทราบกันว่านับกันที่จำนวนศาลาสวดศพ

อย่างไรก็ดี ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมขนานใหญ่ ทำให้ ‘ไพร่’ หรือที่เปลี่ยนสถานะมาเป็น ‘ประชาชน’ หรือ ‘ราษฎร’ มีสิทธิที่จะสามารถใช้สถาปัตยกรรมพระเมรุเทียมเจ้าได้ เมรุถาวรที่เริ่มต้นในกรุงเทพฯ นี้ต่อมาได้ค่อยๆ แพร่กระจายไปตามต่างจังหวัด อันเป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ทำให้ไพร่มีกำลังทรัพย์สามารถแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษได้เทียมเจ้า

พระเมรุเจ้า หรือเมรุไพร่ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ไม่ว่าจะอยู่ชั้นไหน จะชั้นฟ้า หรือชั้นประหยัด ทั้งสองชนชั้นต่างมีปลายทางเดียวกันคือ ร่างไร้วิญญาณบนเชิงตะกอน

ติดตามเรื่องราวของพระเมรุจากพระเมรุขนาดใหญ่และวิจิตรพิสดารที่ลดทอนทั้งขนาดและความวิจิตรลง เป็น ‘สวรรค์ชั้นประหยัด’ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้กลายมาเป็นต้นแบบให้กับพระเมรุมาศของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงสืบต่อมา ได้ที่ พระเมรุมาศ ‘สวรรค์ชั้นประหยัด’ ในยุคสัจนิยม และเรื่องราวของ ‘เทพ’ ประดับพระเมรุมาศที่มีสัดส่วนถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ ได้ที่ ทำไม ‘เทพ’ ประดับพระเมรุมาศถึงหุ่น ‘ล่ำ’

บทความนี้ขอขอบคุณ: คุณพัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน, คุณคงสัจจา สุวรรณเพ็ชร, อาจารย์คงกฤช ไตรยวงศ์

อ้างอิง:

– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. 2533. ประวัติและผลงานสำคัญของอาจารย์พระพรหมพิจิตร. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

– ชาตรี ประกิตนนทการ. สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์. ประชาไท, 2007. [Accessed on: 19/1/2017] Available at: http://prachatai.com/journal/2007/09/14218

– แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. 2555: 21. สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม. กรุงเทพฯ: ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน).

– พลชัย เพชรปลอด. 2530. เมรุสกุลช่างเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Tags: , , , ,