พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (รัชกาลที่ 9)
ผังพื้นมีขนาดกว้าง 60 เมตร
ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่แล้วเมื่อเทียบกับสนามหลวงที่กว้างราว 200 เมตร
แต่เมื่อเทียบกับพระเมรุมาศสมัย รัชกาลที่ 4 แล้ว
ก็ถือว่ามีขนาดเล็กชิดซ้ายกว่ามาก

เวลาที่คนเราจะเปลี่ยนแปลงความคิดจนฉีกจากจารีตเดิมๆ ได้นั้น ต้องมีอะไรสักอย่างที่มันกระทบต่อระบบคิดของคุณมากๆ จนคุณรู้สึกว่าของเก่ามันไม่ตอบโจทย์ต่อคุณหรือสังคมที่คุณอยู่อีกต่อไป พระเมรุมาศของกษัตริย์ไทยก็เช่นกันครับ

ถ้าย้อนกลับไปดู แต่เดิมจะเห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่มากและวิจิตรพิสดารสุดๆ การจะสร้างแต่ละครั้งต้องกะเกณฑ์ไพร่พลและใช้กำลังทรัพย์มหาศาลเพื่อสร้างขึ้น แต่ปรากฏว่าพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 กลับลดทอนลงทั้งขนาดและความวิจิตร จนเมื่อจะสร้างกันถึงกับต้องมีการถกเถียงกันในที่ประชุมว่า ถ้าจะสร้างก็ต้อง “อย่าให้มีผู้ติได้ว่าทำด้วยความตระหนี่” (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. 2555: 21.) พูดง่ายๆ ว่าอย่าให้ economy มากจนเกินไป (แต่ไม่ใช่ sufficiency economy นะครับ)

อย่างที่ทราบกันว่าพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (รัชกาลที่ 9) ผังพื้นมีขนาดกว้าง 60 เมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่แล้วเมื่อเทียบกับสนามหลวงที่กว้างราว 200 เมตร แต่เมื่อเทียบกับพระเมรุมาศสมัย รัชกาลที่ 4 แล้วก็ถือว่ามีขนาดเล็กชิดซ้ายกว่ามาก เท่าที่มีข้อมูล พระเมรุของรัชกาลที่ 4 นั้นเฉพาะฐานก็กว้างถึง 80 เมตร (2 เส้น) และสูงถึง 85 เมตร ส่วนระเบียงคดที่ล้อมรอบก็กว้างยาวราว 150 เมตรแล้ว

พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ภาพจากแน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. 2555)

 

ในแง่ของรูปแบบพระเมรุเองก็แตกต่างโดยสิ้นเชิง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถือได้ว่าเป็นยุครอยต่อระหว่างรัฐจารีตสู่รัฐสมัยใหม่ ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุยังยึดคติที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาตอนปลายคือ การทำพระเมรุเป็นทรงปรางค์ขนาดใหญ่ คล้ายกับวัดไชยวัฒนารามที่คุ้นเคยกัน ซึ่งความจริงแล้ววัดนี้เป็นสถาปัตยกรรมทรงพระเมรุสมัยอยุธยาที่ยังจับต้องได้

ทำไมต้องเป็นทรงปรางค์ คือ ‘ปรางค์’ นั้นมีรากเดิมมาจากปราสาทของอาณาจักรเขมร ซึ่งถือกันว่าปราสาทคือที่สถิตของพระศิวะบนเขาไกรลาส ณ ศูนย์กลางของจักรวาล เพราะฉะนั้นตามแนวคิดเทวราชา (เชื่อว่ากษัตริย์คือเทพ) เมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ชีพก็เป็นเพียงแค่การละพระวรกายบนโลกมนุษย์เพื่อเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์เท่านั้น นี่เป็นที่มาของการเรียกว่า ‘สวรรคต’ คราวนี้พอเปลี่ยนจากคติพราหมณ์มาเป็นคติพุทธศาสนา จากเขาไกรลาสก็เลยเปลี่ยนนิยามกลายเป็นเขาพระสุเมรุ (Mount Sumeru) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ‘เมรุ’ นั่นเอง

แต่แล้วสถาปัตยกรรมในโลกอุดมคติของชนชั้นนำสยามก็เปลี่ยนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนรัชกาลที่ 5 จะสวรรคต พระองค์ท่านได้มีพระราชดำริว่า “แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกพระเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่เพียงใด เปลืองทั้งแรงคนและเปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ดูไม่สมกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง” (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. 2555: 21.)

พระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 มีรูปทรงที่ดูเรียบง่ายมากขึ้น ประหยัด
แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งคติและพระเกียรติ
เป็น ‘สวรรค์ชั้นประหยัด’ ที่ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบให้กับพระเมรุมาศของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพจากแน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. 2555)

 

ดังนั้นพระองค์จึงรับสั่งอย่างชัดเจนว่า “เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว … ขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอสมควรในท้องสนามหลวง” (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. 2555: 21.) การที่พระองค์รับสั่งเองเช่นนี้จึงเป็นการง่ายครับในการที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบพระเมรุของราชสำนัก เพราะการลดขนาดในความคิดของชนชั้นนำแล้วถือว่าเป็นการลดเกียรติยศ

ด้วยเหตุนี้เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต ทั้งรัชกาลที่ 6 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเหล่าเสนาอำมาตย์จึงเห็นพ้องต้องกันให้พระเมรุมาศมีขนาดเล็กลง ทำให้พระเมรุมาศชั้นนอกที่เป็นทรงปราสาทขนาดใหญ่ถูกยกออกไป คงเหลือไว้เฉพาะ ‘พระเมรุมาศทอง’ องค์ในที่ปกติใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ หากแต่ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และรูปแบบของพระเมรุมาศนี้ก็มีมติให้ใช้ทรงบุษบกยอดปราสาท ซึ่งลักษณะก็คือเป็นยอดทรงแหลมและเป็นหลังคาซ้อนชั้นกันลงมา (คล้ายกับของ รัชกาลที่ 9 ที่ผู้อ่านเห็นตามสื่อกันนั่นแหละครับ)

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ผู้ทำวิจัยเรื่อง สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม อธิบายว่า “พระเมรุมาศทรงบุษบกยอดปราสาท มีรูปแบบที่เรียบง่ายขึ้น และประหยัดกว่าพระเมรุมาศอย่างโบราณ” (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. 2555: 21.) ซึ่งเป็นจริงอย่างยิ่งถ้าเทียบกับพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 4 พระบิดาของพระองค์

แนวคิดตะวันตกถือเป็นแนวคิดสมัยใหม่ (Modernism)
ซึ่งทำให้มองโลกเราอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
เน้นเหตุผล เน้นประโยชน์การใช้สอย ด้วยฐานคิดแบบนี้ทำให้จารีตประเพณีที่หาเหตุผลไม่ได้ หรือ ‘ไม่เข้ากับสมัยเสียแล้ว’ ถูกปลดเปลื้องออกไป

ภาพแบบก่อสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สถาปัตยกรรมทรงบุษบกยอดปราสาท 9 ยอด ออกแบบโดย ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร

 

คราวนี้ก็น่าคิดต่อนะครับว่าทำไมรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชดำรัสเช่นนั้น ท่านคิดอะไรอยู่ เป็นไปได้สูงว่าเกิดขึ้นเพราะการรับอิทธิพลของวิธีคิดจากตะวันตก กล่าวคือ แนวคิดตะวันตกถือเป็นแนวคิดสมัยใหม่ (Modernism) ซึ่งทำให้มองโลกเราอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เน้นเหตุผล เน้นประโยชน์การใช้สอย ด้วยฐานคิดแบบนี้ทำให้จารีตประเพณีที่หาเหตุผลไม่ได้ หรือ ‘ไม่เข้ากับสมัยเสียแล้ว’ ถูกปลดเปลื้องออกไป หรือมีการปรับเปลี่ยน โดยพยายามเน้นหน้าที่การใช้งานเป็นหลักมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทิ้งคติความเชื่อดั้งเดิมออกไปอย่างสิ้นเชิงดังกรณีของพระเมรุมาศ เพราะมันมีความเชื่อทางศาสนากำกับอยู่ ถ้าไม่ทำตามก็ไม่ครบกระบวนการส่งสู่สวรรคาลัย ความคิดเบื้องหลังนี้ เราอาจเรียกรวมๆ ว่า สถาปัตยกรรมภายใต้แนวคิดหน้าที่นิยม (Functionalism) และประโยชน์นิยม (Utilitarianism)

อย่างไรก็ดี แนวคิดที่เน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอยของสถาปัตยกรรมไม่ใช่แนวคิดใหม่ และเพิ่งมาเกิดสมัยรัชกาลที่ 5 ความจริงแล้วร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มมาก่อนหน้านี้อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ในสถาปัตยกรรมที่คนทั่วไปมักเรียกว่าพระราชนิยม โดยพระองค์ได้ให้ตัดช่อฟ้าใบระกาออก แล้วสร้างวัดแบบศาลเจ้า ก็เพราะเห็นว่าสถาปัตยกรรมแบบจารีตมันชำรุดง่าย และมันยังไม่ได้ใช้งานอีกด้วย

ผลก็คือ พระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 มีรูปทรงที่ดูเรียบง่ายมากขึ้น ประหยัด แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งคติและพระเกียรติ เป็น ‘สวรรค์ชั้นประหยัด’ ที่ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบให้กับพระเมรุมาศของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

สรุปสั้นๆ ได้ว่าพระเมรุมาศไม่ได้มีเพียงเรื่องของความสวยงาม หรือเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมเท่านั้น แต่หากยังเผยให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำและการเปลี่ยนแปลงของสังคมอีกด้วย

ติดตามเรื่องราวความเป็นมาของเมรุสำหรับราษฎรครั้งแรกได้ที่ พ.ศ. 2475 จากพระเมรุเจ้าสู่เมรุไพร่ อำนาจ การเปลี่ยนผ่าน และสัญลักษณ์การต่อสู้ทางชนชั้น

บทความนี้ขอขอบคุณ: คุณพัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน, คุณคงสัจจา สุวรรณเพ็ชร, อาจารย์คงกฤช ไตรยวงค์
อ้างอิง:
– แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. 2555: 21. สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม. กรุงเทพฯ: ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน).

Tags: , , , ,