หนังสือที่เราอ่านตอนเป็นเด็กมีอิทธิพลกับชีวิตเราตอนโตสักแค่ไหนกันนะ?
สำหรับตัวเอง นิทานเรื่อง ชาวนากับงูเห่า เป็นเรื่องที่ฝังใจอยู่ลึกมาก ชาวนาเห็นงูนอนหนาวจึงไปช่วย พองูได้รับความอบอุ่นฟื้นมีแรงขึ้นมา กลับมาฉกชาวนาผู้มีบุญคุณ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ‘เราไม่ควรช่วยคนชั่ว?’ – หรือเปล่า?
นิทานเรื่อง ชาวนากับงูเห่า ทำให้เรามีมโนทัศน์สำเร็จรูปฝังในจิตสำนึกว่า งูเห่าก็คืองูเห่า มันไม่มีวันจะรู้จักผิดชอบชั่วดีขึ้นมาได้ คนก็เช่นกัน หากใครสักคนหนึ่งถูกแปะป้ายว่าเป็นคนชั่ว คนอกตัญญู ด้วยนิทานเปรียบเทียบแบบชาวนากับงูเห่า เราจะไม่มีวันเชื่อว่า คนเราเปลี่ยนแปลงได้ คนชั่วก็เป็นคนชั่วอยู่วันยังค่ำ คนดีก็ต้องเป็นคนดีอยู่วันยังค่ำ
คำว่า ‘ให้โอกาสคน’ จะไม่มีวันเกิดขึ้น เพราะการให้โอกาสคนอาจหมายถึงการให้ความอบอุ่นกับงูเห่า ที่ประเดี๋ยวก็มาแว้งกัดเราอีก
ส่วนเทพนิยายทั้งหลายนั้นถูกนักวิจารณ์วรรณกรรมมาร์กซิสต์ทั้งหลายโจมตีมานานว่าเป็นเครื่องมือถ่ายทอดอุดมการณ์ทุนนิยม (อย่าลืมว่าเทพนิยายก่อนถูกดัดแปลงมาให้สวยใสไร้เดียงสาอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ มันเคยเป็นนิทานสุดดาร์กมาก่อน เช่น สโนว์ไวต์ก็โดนคนแคระข่มขืน หรือเจ้าหญิงนิทราเป็นเรื่องการเมกเลิฟกับศพของเจ้าชายโรคจิต เป็นต้น) เช่น นิทานเจ้าหญิงเจ้าชายทั้งหลายล้วนแต่เป็นการสอนให้เด็กๆ ฝันว่า วันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องร่ำรวย มีเงินมีทอง เป็นเจ้าคนนายคน ได้แต่งงานกับเจ้าชายทั้งรวยทั้งหล่อทั้งดี การได้อยู่ปราสาทราชวัง แต่งตัวหรูหราฟู่ฟ่าอยู่ในงานเต้นรำอันโอ่อ่ากลายเป็นหมุดหมาย เป็นความฝันในชีวิตของเด็กๆ ที่อ่านนิทานเหล่านั้นไปโดยไม่รู้ตัว
อืม… ฟังดูก็น่าคิด ยิ่งไปกว่านั้น นักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามว่า เออ… ทำไมไม่มีหนังสือสำหรับเด็กที่เตรียมตัวสร้างเด็กที่มีแนวคิดซ้ายๆ ที่เข้าใจในหลักการของมาร์กซิสต์ของสังคมนิยม รัฐสวัสดิการ หรือแม้กระทั่งคำถามที่ว่า เราควรมีหนังสือสำหรับเด็กเพื่อเตรียมสร้างเด็กให้เป็นอนาคิสต์บ้างไหม?
เมื่อตั้งคำถามได้ คำตอบจึงตามมา นั่นคือ มีคนแต่งหนังสือนิทานสำหรับเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป ชื่อว่า A Rule Is to Break: A Child’s Guide to Anarchy เล่มนี้แปลเป็นไทยคงได้ประมาณว่า ‘กฎมีไว้ให้แหก: คู่มือการเป็นอนาคิสต์สำหรับเด็ก’ ชื่ออาจดูหวือหวา แต่เป็นเรื่องราวว่าด้วยการพูดในสิ่งที่คิดอย่างตรงไปตรงมา เป็นตัวของตัวเอง มีของเท่าไหร่ก็เอาออกมาแจกจ่าย (อืม…นึกว่าพระเวสสันดร แจกกระทั่งลูกเมีย) แล้วก็มีความสุขไปกับการใช้ชีวิต
เอ… เรามีหนังสือสอนให้เด็กลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อความเป็นธรรมบ้างหรือเปล่าน้า?
เล่มนี้เลย ชื่อ Click, Clack, Moo: Cows That Type (สำหรับเด็ก 2 ขวบขึ้นไป)
เรื่องของเรื่องคือ อีตาชาวนาชื่อบราวน์ไม่ยอมเอาผ้าห่มห่มให้วัวอุ่น สัตว์อื่นๆ ในฟาร์มเลยรวมหัวกันสไตร์กเจ้านายเลยจ้า – เรื่องของเรื่องที่ตลกกว่านั้นคือ มีหลายโรงเรียนในสหรัฐฯ พยายามจะแบนหนังสือนิทานเล่มนี้ด้วยเหตุผลว่าไปสนับสนุนการมีสหภาพแรงงานออกนอกหน้าเกินไป
จะเอาที่ซอฟต์ลงมาหน่อย และเกือบจะกลายเป็นกระแสหลักไปแล้วในอเมริกา (เมื่อเทียบกับหนังสือเด็กฝั่งยุโรปก็ถือว่าหน่อมแน้มมาก) คือหนังสือเด็กที่เป็นเรื่องของครอบครัวทางเลือก เช่น ครอบครัวแม่-แม่ ครอบครัวพ่อ-พ่อ เช่น เรื่อง Spacegirl Pukes (สำหรับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป) เป็นเรื่องของเด็กหญิงที่กำลังจะได้ขึ้นไปสำรวจอวกาศ แต่มาป่วยเสียก่อน ทว่าในความป่วยและความผิดหวังเธอได้รับการดูแลและกำลังใจอย่างดีจากแม่สองคนและแมว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงเล็กน้อย สำหรับหนังสือเด็กที่มีกลิ่นอายความ ‘ซ้าย’ – นัยว่า เพื่อสร้างมนุษย์พันธุ์ซ้ายๆ ขึ้นมาในสังคมบ้าง
ออกจากอเมริกาไปฝั่งอังกฤษ มีรางวัลหนังสือสำหรับเด็กชื่อ The Little Rebels Children’s Book Award สำหรับหนังสือสำหรับเด็กที่อายุตั้งแต่ 0 -12 ปี – แค่ชื่อรางวัลก็น่าตีแล้ว ‘รางวัลหนังสือเด็กขบถ’
รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นมาโดยสมาพันธ์ Radical Booksellers กับ Letterbox Library รางวัลนี้ก่อตั้งมา 5 ปีแล้ว คำว่า radical book ในที่นี้หมายถึง หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในสังคม
ตัวอย่างของหนังสือที่เข้ารอบชิงรางวัลหนังสือเด็กขบถในปี 2016 เช่น
The Little Bookshop and the Origami Army! โดย Michael Foreman (Andersen Press) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการรุกรานเศรษฐกิจท้องถิ่นของทุนนิยม หรือ I’m a Girl! โดย Yasmeen Ismail (Bloomsbury Books) เรื่องราวของเด็กหญิงที่เราไม่อาจใช้นิยามของความเป็นเด็กหญิงมาอธิบายตัวเธอได้เลย
หรือ Gorilla Dawn โดย Gill Lewis (Oxford University Press) เป็นเรื่องราวของการทำเหมืองในคองโกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของกอริลลา
ทุกเล่มที่เข้ารอบชิงรางวัล ล้วนแต่กำลังพูดถึงความเป็นธรรม และความยุติธรรมทางสังคมในแง่มุมต่างๆ หรืออาจจะพูดได้ว่า เป็นหนังสือสำหรับเด็กแนว ‘เพื่อชีวิต’ – (ต้องลืมคำว่า เพื่อชีวิตในบริบทแบบไทยๆ ด้วย เพราะเพื่อชีวิตแบบไทยนั้นเรียกร้องความเป็นธรรมไปพร้อมๆ กับการทำลายคุณค่าของหลักการประชาธิปไตย)
ถ้าเราคิดว่านี่คือความก้าวหน้าแล้วในวงการหนังสือเด็ก เมื่อเทียบกับสมัยที่เด็กอ่านแต่เทพนิยายและนิทานอีสป หรือดูการ์ตูนดิสนีย์ แต่เปล่าเลย หนังสือเด็กที่บอกว่าตัวเองเป็นซ้าย เป็นขบถทั้งหลายที่กล่าวมา กลายเป็นเทพนิยายสวยๆ ใสๆ ไปในบัดดล เมื่อเทียบกับ ‘วรรณกรรมเด็ก’ ในสแกนดิเนเวีย เพราะในโลกวรรณกรรมของสแกนดิเนเวียนั้นว่ากันว่า ‘ไม่มีสิ่งที่เป็นของต้องห้าม หรือ taboo’
Tjuven (The Thief) โดย รูน เบลสวิก (Rune Belsvik) หนังสือสำหรับเด็ก 8 ขวบเล่มนี้เป็นเรื่องราวการเรียนรู้เรื่องการช่วยตัวเองของเด็กชายที่เพื่อนบอกให้เขารู้จักจินตนาการจากการดูรูปโป๊ของผู้หญิง และเรียนรู้ที่จะสัมผัสตัวเองให้ถึงจุดสุดยอด
นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนคนสำคัญชาวสวีเดนอย่าง แอสทริด ลินด์เกรน (Astrid Lindgren) ได้ชื่อว่าผลิตงานเขียนสำหรับเด็กที่ ‘ดาร์ก’ ‘จริงจัง’ ไม่ประนีประนอมว่าเด็กไม่ควรรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนสแกนดิเนเวียส่วนใหญ่ ‘เคารพ’ นักอ่านเยาวชนของพวกเขาว่า เด็กเหล่านั้นสามารถ ‘คิด’ เองได้
วรรณกรรมเยาวชนบางเรื่องจากสแกนดิเนเวียถูกแบนในฝรั่งเศส รัสเซีย เช่น เรื่อง I Need You More Than I Love You and I Love You to Bits ของ กุนนาร์ อาร์เดลีอุส (Gunnar Ardelius) ทั้งนี้เนื่องจากนักเขียนสแกนดิเนเวียนมักจะชื่อตรงในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก เซ็กซ์ ความสัมพันธ์ และไม่พยายามใช้ภาษาให้เป็นสี ‘พาสเทล’ เพียงเพราะว่ามันเป็นหนังสือเด็ก
หนังสือเด็กของสแกนดิเนเวียสามารถมีคำว่า ‘cunt’ ได้อย่างสง่าผ่าเผย ไม่มีเหตุให้ต้องเซ็นเซอร์ หรือมีผู้ใหญ่ไปคิดแทนเด็กว่า เด็กไม่ควรรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนต้องไม่กลัวที่จะเขียนเรื่องเศร้า เรื่องราวที่โหดร้าย ด้านมืดของชีวิต เรื่องที่เกี่ยวกับความเจ็บปวด ความผิดหวัง เรื่องสุ่มเสี่ยง เรื่องน่าอาย หรือพูดอีกอย่างได้ว่า งานวรรณกรรมเยาวชนควรจะมีทุกมิติของชีวิตมนุษย์ มีเรื่องราวที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ไม่จำเป็นว่า ถ้าเขียนงานเยาวชนแล้วต้องกลั่นกรองบางสิ่งบางอย่างออก เพราะเราไปคิดแทนเด็ก พวกเขายังไม่พร้อมที่จะรับรู้เรื่องเหล่านี้ หรือในสำนวนไทยๆ มักจะกลัวว่า ถ้าเขียนเรื่อง ‘สุ่มเสี่ยง’ เช่น เรื่องเพศ เรื่องยาเสพติด แบบสมจริง จะเท่ากับเป็นการชี้โพรงให้กระรอก
ในโลกวรรณกรรมของสแกนดิเนเวียน พวกเขาเชื่อกันว่า ในโลกของวรรณกรรมต้องปราศจากสิ่ง ‘ต้องห้าม’ พวกเขาเชื่อในเสรีภาพที่จะเขียน ไม่ว่าจะเขียนให้เด็กหรือผู้ใหญ่อ่าน
วรรณกรรมเยาวชนจึงบอกวุฒิภาวะของแต่ละสังคมได้ค่อนข้างชัดเจน
โลกอเมริกาและยุโรป พยายามผลักวรรณกรรมเยาวชนให้ก้าวหน้าด้วยการใส่ความเป็น ‘ซ้าย’ เข้าไปในวรรณกรรมเยาวชน เช่น เพิ่มเรื่องภัยคุกคามของทุนนิยม เพิ่มเรื่องความหลากหลายทางเพศ สิทธิของ LGBT สอนเรื่องการขูดรีด พยายามก้าวข้ามแนวคิดเรื่องเพศตามแบบฉบับ ฯลฯ แต่ทุกอย่างยังอยู่ในรูปแบบของหนังสือเด็กที่เต็มไปด้วยความมุ้งมิ้ง ฟรุ้งฟริ้ง พาสเทลน่ารักน่าเอ็นดู จนเกือบจะเป็นเทพนิยายตามแบบประเพณีนิยมนั่นแหละ เพียงแต่เปลี่ยนจากเจ้าหญิงแต่งงานกับเจ้าชาย ก็ให้เจ้าชายแต่งงานกับเจ้าชาย หรือให้เจ้าหญิงแต่งงานกับเจ้าหญิง หรือเปลี่ยนตัวเองจากนางเอกผิวขาวผมทองเป็นนางเอกผมดำตาตี่ หรือมีพระเอกผิวสี ฯลฯ เป็นการเพิ่ม ‘ความหลากหลาย’ เข้าไปในโครงสร้างวรรณกรรมเยาวชนแบบเดิมมากกว่าจะปฏิวัติความหมายของวงการวรรณกรรมเยาวชน
ตรงกันข้าม วรรณกรรมเยาวชนสายสแกนดิเนเวียน ที่เริ่มต้นด้วยการ ‘เคารพ’ นักอ่านของพวกเขา และด้วยความเคารพนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องไป ‘ฆ่าเชื้อ’ หรือ พาสเจอร์ไรซ์งานวรรณกรรมเยาวชน ไม่ต้องไปเปลี่ยนความดาร์กให้กลายเป็นสีพาสเทล เขียนมันออกมาจากหัวใจ เขียนมันออกมาอย่างซื่อสัตย์ เขียนด้วยความเชื่อมั่นในคนอ่านของตนเอง ที่สำคัญที่สุดความเชื่อมั่นนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในพลังของ ‘วรรณกรรม’ ด้วยตัวของมันเอง – เราต้องเริ่มต้นเขียนวรรณกรรมเยาวชนด้วยความตั้งใจที่จะเขียนงานวรรณกรรมที่มีพลัง ไม่ใช่เริ่มต้นว่า “เอาล่ะ ฉันกำลังเขียนหนังสือให้เด็กอ่าน”
หันกลับมามองโลกวรรณกรรมเยาวชนของไทย เกือบร้อยละร้อย เราแปลมา แล้วก็เลือกแปลเล่มที่ ‘เป็นภัยต่อเยาวชนน้อยที่สุด’
โลกการอ่านของเด็กไทยเป็นโลกว่าด้วยการคิดแทนเด็กโดยผู้ใหญ่ และเต็มไปด้วยความพยายามที่จะควบคุม กำราบไปพลางสร้างโลก ‘ปลอดเชื้อ’ สำหรับเด็ก เราคิดกันไปเองว่าเด็กไม่ควรรู้เรื่องนั้น ไม่ควรเห็นเรื่องนี้ หนังโป๊ และยาเสพติด เด็กคือผ้าขาว เด็กต้องได้รับการปกป้องถนอมกล่อมเกลี้ยง แล้วผู้ใหญ่จะกำหนดให้เองว่ากี่ขวบควรเห็นอะไร ไม่ควรเห็นอะไร จะเห็นได้ทุกอย่างเมื่อครบกี่ขวบ
ทุกอย่างมันจึงลงเอยด้วยการที่เด็กไทยไม่เคยเห็นอะไรพ้นกะลาของตนเองเลยจนตาย – ตายลงไปด้วยวุฒิภาวะแบบเด็กที่ถูกสกัดดาวรุ่งไม่ให้มีความจำเริญทางปัญญาและวุฒิภาวะ คนไทยต่อให้อายุแปดสิบจะเข้าโลงจำนวนไม่น้อยก็ยังอยู่กับความคับแคบตื้นเขิน เห็นโลกเป็นภาพจำลองของนิทานชาดกหรือนิทานอีสป ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว โลกนี้มีสองสีคือ ขาวกับดำ
คงไม่เป็นการเกินเลยหากจะบอกว่า พิจารณาจากโลกแห่งการอ่านของเยาวชน – สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่มีความเชื่อเรื่องพลังของงานวรรณกรรม
ภาพประกอบ: Thomthongc
อ้างอิง:
– https://www.theguardian.com/childrens-books-site/2015/aug/25/scandinavian-childrens-books-norway-ingelin-rossland-sex-swearing
– https://littlerebels.org/2016/12/29/looking-forward-to-the-2017-prize
– http://www.goodreads.com/book/show/4620044-tales-for-little-rebels
FACT BOX:
หนังสือสอนเพศศึกษาสำหรับเด็กที่ ‘ว้าว’ ที่สุดตลอดกาลของโลกเป็นงานของนักเขียนเดนมาร์ก เพอร์ โฮล์ม คนุดเซน (Per Holm Knudsen) ชื่อ How a Baby Is Made (เด็กเกิดมาจากอะไร?) เขียนมาตั้งแต่ปี 1973
ว้าวแค่ไหน ลองไปดูตัวอย่างกันว่า ทั้งภาพ ทั้งภาษานั้น บรรยายอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมลดเลี้ยว จู๋เป็นจู๋ กระโปกเป็นกระโปก เมกเลิฟเป็นเมกเลิฟ เด็ดสุด ตรงภาพเด็กออกมาจากตรงไหนของแม่ ก็วาดกันโต้งๆ ละเอียดถึงเส้น ‘ขน’ แถมยังน่ารักมากๆ อีกด้วย