สุขสันต์วันฮาโลวีน

แม้ว่าเทศกาลนี้จะไม่ใช่เทศกาลที่บ้านเราเฉลิมฉลองกัน แต่ก็เป็นเทศกาลโด่งดังที่เราเห็นได้ในสื่อกระแสหลักอยู่เรื่อยๆ อย่างน้อยที่สุดก็พอรู้ว่าในวันฮาโลวีน ผู้คนมักเฉลิมฉลองด้วยการแต่งตัวแฟนซี เป็นผี หรือสัตว์ประหลาดต่างๆ ตกแต่งบ้านเรือนร้านค้าด้วยรูปใยแมงมุมและค้างคาว รวมทั้งพาเด็กน้อยไปเคาะประตูขอลูกกวาดตามบ้าน

เนื่องในโอกาสวันฮาโลวีน Word Odyssey สัปดาห์นี้ขอนำเสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับคำว่า ghost ไล่ตั้งแต่ที่มาที่ไปของตัว h ที่ไม่ออกเสียงในคำนี้ ไปจนถึงความหมายใหม่ของคำในศตวรรษที่ 21

ทำไมมี h ที่ไม่ออกเสียงในคำว่า ghost

แม้ว่าทุกวันนี้เราจะสะกดคำว่า ghost แบบมีตัว h ที่ไม่ออกเสียง (silent h) แต่หากย้อนกลับไปในสมัยภาษาอังกฤษเก่าเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว เราจะพบว่าคำนี้สะกดว่า gast และไม่มีตัว h อย่างในปัจจุบัน

คำถามก็คือแล้วเจ้าตัว h นี้โผล่มาจากไหนและเริ่มโผล่มาเมื่อไหร่

คำตอบของทั้งสองคำถามนี้ย้อนกลับไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 สมัยที่ วิลเลียม แค็กซ์ตัน (William Caxton) นำแท่นพิมพ์เข้ามายังประเทศอังกฤษใหม่ๆ ขณะนั้นยังไม่มีช่างเรียงพิมพ์ที่เชี่ยวชาญในอังกฤษ จึงจำเป็นต้องจ้างลูกน้องชาวเฟลมิชมาช่วยทำหน้าที่นี้

ลูกน้องชาวเฟลมิชเหล่านี้ก็ไม่ได้รู้ภาษาอังกฤษมาก แถมสมัยนั้นคู่มือการสะกดก็ยังไม่มี พอเจอคำไหนที่เทียบเคียงกับคำในภาษาแม่ตัวเอง ก็เลยเลือกสะกดตามสะดวกไปแบบนั้น

ด้วยคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง g หลายคำในภาษาเฟลมิชสะกดด้วย gh ช่างเรียงพิมพ์ก็เลยสะกดคำว่า gost เป็น ghost เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้เผยแพร่ออกไป ตัวสะกดที่มี silent h จึงค่อยๆ กลายมาเป็นมาตรฐานและสิงสถิตอยู่ในคำว่า ghost จนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ยังมีคำอื่นอีกที่เผชิญชะตากรรม เช่น ghastly (น่าสะพรึง), ghoul (ปีศาจในตำนานของชาวอาหรับ), หรือ gherkin (แตงกวาดอง) อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ silent letter ได้ที่นี่: https://themomentum.co/silent-letters/

ผีศักดิ์สิทธิ์?

ใครที่เคยอ่านเคยฟังอะไรที่เกี่ยวกับคริสต์ศาสนาอาจเคยพบเห็นคำว่า the Holy Ghost มาบ้าง คำนี้ไม่ได้หมายถึงผีที่โผล่มาหลอกให้ตกใจแต่อย่างใด แต่หมายถึง พระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือ พระจิต (แบบที่ชาวคาทอลิกท่องกันว่า พระบิดา พระบุตร และพระจิต) หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกอีกอย่างว่า the Holy Spirit และเป็นพระบุคคลหนึ่งในตรีเอกานุภาพหรือพระตรีเอกภาพ (the Trinity)

ส่วนที่เรียกว่า the Holy Ghost นั้น ก็เป็นเพราะคนในสมัยภาษาอังกฤษเก่าพยายามจะแปลว่าคำที่หมายถึงพระจิตจาก Spiritus Sanctus ในภาษาละตินมาเป็นภาษาอังกฤษ แต่สมัยนั้นคำว่า spirit ยังไม่เข้ามาในภาษาอังกฤษ และคำที่ใกล้เคียงที่สุดในสมัยนั้นก็คือ gast (หรือ ghost ในปัจจุบันนั่นเอง) ซึ่งนอกจากจะหมายถึงผีแล้วยังหมายถึงลมหายใจหรือพลังของพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างหรือดลบันดาลอีกด้วย (ตรงกับ spiritus ที่แปลว่า ลมหายใจ ในภาษาละติน)

ที่น่าสนใจก็คือคำว่า the Holy Ghost เคยมียุคหนึ่งที่มักเขียนติดเป็นคำเดียวด้วย (เช่น holigost) คล้ายๆ holiday ในปัจจุบันที่เราเขียนติดกัน ไม่ได้เขียนว่า holy day

ทั้งนี้ ในปัจจุบันนิยมใช้คำว่า the Holy Spirit มากกว่า เพราะคำว่า ghost ทุกวันนี้ชวนให้นึกถึงแต่ผีสางวิญญาณเสียก่อนกันเป็นส่วนใหญ่

 

ผีในเชิงเปรียบเปรย

คำว่า ghost นอกจากจะใช้พูดถึงผีแล้ว ยังถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยได้หลายแบบในภาษาอังกฤษ

เนื่องจากปกติเรามองว่าผีเป็นวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วแต่ยังกลับมาหลอกหลอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ คำว่า ghost จึงถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเพื่อเรียกสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังมีร่องรอยหรือยังหวนมาเตือนให้เรานึกถึง เช่น Thailand is still very much haunted by the ghost of absolutism. หมายถึง ประเทศไทยยังคงมีร่องรอยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นอกจากนั้น คนยังมักมองว่าผีมีลักษณะเบาบางลางเลือนเหมือนอากาศธาตุ โผล่มาให้เห็นแวบๆ แล้วก็หายไปจนคนที่เห็นไม่มั่นใจว่าเห็นจริงหรือเปล่า จึงทำให้คำว่า ghost ถูกนำมาใช้เรียกสิ่งที่โผล่มาแบบเลือนลางให้เห็นแวบๆ เช่น I could see a ghost of a smile on my ex’s face when I told him I just got dumped. ก็คือ เห็นแฟนเก่าแอบยิ้มตอนที่บอกมันว่าเพิ่งโดนบอกเลิกมา หรือหากพูดว่า There is not even a ghost of chance. ก็คือ แม้แต่โอกาสเล็กน้อยลางเลือนก็ไม่มี

อีกมุมมองหนึ่งที่คนเรามีต่อผีก็คือ ผีคือวิญญาณที่หลุดแยกออกมาจากร่างกายแล้ว จึงไม่มีกำลังวังชาซึ่งเป็นสิ่งที่มาควบคู่กับร่างกาย ทั้งยังสูญเสียสถานะต่างๆ ที่เคยมีในโลกก่อนเสียชีวิตด้วย ดังนั้น ภาษาอังกฤษจึงมีสำนวน a ghost of your former self หมายถึง ไม่มีกำลังวังชา อำนาจ หรือความฉลาดเท่าแต่ก่อน อ่อนแอหรือด้อยกว่าเก่า เช่น After ten years of incarceration, he has become a ghost of his former self. ก็คือ หลังติดคุกสิบปี สภาพร่างกายจิตใจเขาก็ถดถอยไปมาก

 

ให้ผีเขียนให้

หากเราลองเดินดูชั้นหนังสือในร้านที่ขายหนังสือภาษาอังกฤษ เราจะเห็นหนังสืออัตชีวประวัติหรือบันทึกความทรงจำของดารามากมาย แต่ก็ใช่ว่าคนดังเหล่านี้จะเป็นคนเขียนเองทั้งหมดเพราะบางคนอาจใช้บริการคนที่รับจ้างเขียนงานแทนคนอื่น ซึ่งคนที่ทำอาชีพนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า ghostwriter นั่นเอง

อันที่จริงแล้ว ก่อนที่จะมีคำว่า ghostwriter ก็มีการใช้คำว่า ghost ในความหมายนี้แล้ว แถมยังมีความหมายกว้างกว่า คือไม่ได้จำกัดอยู่แค่การรับจ้างเขียน แต่อาจเป็นการรับจ้างออกแบบหรือทำงานศิลปะแทนคนอื่นแล้วให้คนอื่นมาสวมชื่อรับเครดิตก็ได้

นอกจากนั้น คำว่า ghost ในความหมายนี้ยังใช้เป็นกริยาได้ด้วย เช่น She has ghosted/ghostwritten memoirs for several celebrities. ก็คือ เขารับจ้างเขียนบันทึกความทรงจำให้ดารามาหลายคนแล้ว

 

 

หายตัวไปเหมือนผี

แม้ว่าการจบความสัมพันธ์ด้วยการหายหัวไปดื้อๆ น่าจะมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร (ในอดีตเรียกว่า take French leave อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำนวนที่เหยียดชาติอื่นได้ที่นี่: https://themomentum.co/english-idioms-insulting-neighbors/) แต่ดูเหมือนว่าพอย่างเข้าศตวรรษที่ 21 แล้ว การหายตัวไปแบบไร้ร่องรอย ติดต่อไม่ได้ทุกช่องทางราวกับได้ตายจากโลกนี้และกลายเป็นผีไปแล้ว จะได้รับความนิยมมาก ด้วยเหตุนี้ คำว่า ghost ที่ปกติหมายถึง ผี จึงถูกนำมาทำเป็นกริยา to ghost และคำนาม ghosting เพื่อใช้เรียกวิธียุติความสัมพันธ์แบบนี้

ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังคุยกับคนคนหนึ่งอยู่ แล้วอยู่มาหนึ่ง เขาคนนั้นก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ติดต่อก็ไม่ได้ ส่งข้อความอะไรไปก็ไม่อ่าน โทรศัพท์ไปก็ไม่รับ จนคุณคิดว่าเขาหายตัวไปจากโลกนี้เสียแล้ว เราก็อาจพูดว่า I think I’m being ghosted. หมายถึง สงสัยโดนเทแล้วว่ะ

ทั้งนี้ เทรนด์ดังกล่าวแพร่หลายมากจนได้รับการบรรจุลงพจนานุกรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในทางตรงกันข้าม หากเราเป็นฝ่ายที่โดนเทหรือโดนทิ้ง แต่ก็ยังแอบดูความเคลื่อนไหวอยู่ห่างๆ พยายามให้อีกฝ่ายเห็นตามช่องทางต่างๆ ว่าเรายังติดตามเขาอยู่ เช่น เข้าไปดูสตอรีของเขาในอินสตาแกรมเพื่อให้เห็นว่าเราเข้ามาดู หรือนานๆ ก็โผล่มากดไลก์สเตตัสในเฟซบุ๊กทีเพื่อไม่ให้เขาลืมว่าเรายังมีตัวตน แบบนี้จะเรียกว่า haunting (อารมณ์คล้ายๆ ผีที่ยังตามมาหลอกหลอนเป็นครั้งคราว)

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการหาคู่ในยุคออนไลน์ได้ที่นี่: https://themomentum.co/word-odyssey-online-dating-vocabulary/

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Crystal, David. Spell It Out: The Singular Story of English Spelling. Profile Books: London, 2012.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Hill, L. A., and J. M. Ure. English Sounds and Spellings. OUP: London, 1962.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: ,