เมื่อพูดถึงสำนวนในภาษาอังกฤษแล้ว เราจะเห็นว่าสิ่งที่ถูกหยิบมาสร้างเป็นสำนวนมีมากมายหลายหลากอย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่สัตว์ (เช่น get your ducks in a row) และบุคคลต่างๆ (เช่น a king’s ransom และ It takes a village to raise a child.) ไปจนถึงสถานที่ต่างๆ (เช่น canary in a coal mine) ตัวละครจากเทพปกรณัม (เช่น clean the Augean stables) และอาหาร (เช่น Half a loaf is better than none.)

ดังนั้น แน่นอนว่าของหวานต่างๆ เช่น เค้ก คุกกี้ พุดดิ้ง ก็มาปรากฏตัวในสำนวนภาษาอังกฤษเช่นกัน

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าในภาษาอังกฤษมีสำนวนที่เกี่ยวข้องกับขนมหวานอะไรบ้างที่เรานำมาใช้พูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันได้

Take the cake: อันที่แย่ที่สุด

ปล่อยให้นักข่าวคุยกับสแตนดี้ก็แล้ว

ขู่จะทุ่มโพเดี้ยมใส่ก็แล้ว

ปาเปลือกกล้วยก็แล้ว

แต่ไม่มีอันไหนสู้พ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่ในระยะประชิดได้จริงๆ

ขอมอบเค้กให้เป็นรางวัลเลย

สุดๆ ไปเลยลูกพี่

สำนวนนี้ว่ากันว่ามาจากการประกวดเต้นที่เรียกว่า Cakewalk ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในช่วงศตวรรษที่ 19 คู่ไหนที่เต้นได้ดีที่สุดก็จะได้รางวัลเป็นเค้กก้อนใหญ่กลับไป จึงเกิดเป็นสำนวน take the cake หมายถึง สิ่งที่ดีที่สุด ชนะเลิศ แต่ในภายหลัง สำนวนนี้ถูกนำไปใช้เชิงประชด จึงกลายมาหมายถึงสิ่งที่แย่ที่สุดด้วย จนในปัจจุบันความหมายหลังนี้กลายเป็นความหมายหลักไปแล้

แม้การประกวด Cakewalk จะสาบสูญไปแล้ว แต่คำนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่ในภาษาอังกฤษและมีความหมายว่าเรื่องง่ายดาย เช่น Winning him over is not gonna be a cakewalk. (การจะชนะใจเขาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แน่ๆ)

ทั้งนี้ ชาวอังกฤษมักพูดว่า take the biscuit มากกว่าจะพูดว่า take the cake

That’s the way the cookie crumbles: ชีวิตก็แบบนี้แหละ

รุ้ง ไผ่ ไมค์ ไม่ได้ประกันตัว

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย

ได้แต่ถอนหายใจ

ชีวิตก็แบบนี้แหละ

You can’t have your cake and eat it too: เราไม่สามารถเลือกสองสิ่งที่ขัดกันได้พร้อมกัน

โอ้ว แคเรน

เธอจะบอกว่าอยากเห็นประเทศไทยพัฒนาไปข้างหน้า

แต่เชื่อว่าประเทศไทยสมบูรณ์พร้อมห้ามวิพากษ์

เธอเข้าใจใช่ไหมว่าสองสิ่งนี้มันขัดกัน

ถ้าทุกอย่างสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องก็แปลว่าไม่ต้องพัฒนาแล้ว

แต่ถ้าเธอเชื่อว่าชาติต้องพัฒนาไปอีกก็แปลว่ายังมีสิ่งที่ไม่สมบูรณ์

สำนวนนี้หากแปลตรงตัวก็คือ เราทั้งครอบครองเค้กและกินเค้กในเวลาเดียวกันไม่ได้ นั่นก็เพราะเมื่อเรากินเค้กแล้ว เค้กก้อนนั้นก็จะหมดไป แต่หากเราต้องการให้เค้กก้อนนั้นยังคงอยู่กับเรา เราก็ไม่สามารถกินเค้กก้อนนั้นได้

Have a finger in every pie: มีส่วนเอี่ยวทุกเรื่อง

นอกจากธุรกิจฟาร์มสัตว์และอาหารสัตว์แล้ว

คุณพี่บริษัทยักษ์ใหญ่ยังมีธุรกิจร้านสะดวกซื้อ

ศูนย์ขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภค

ธุรกิจโทรคมนาคม

ไหนยังจะมีหุ้นในบริษัทผลิตวัคซีน

ล่าสุดเปิดตัวบริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ที่ไม่เก็บค่า GP อีก

คุณพระคุณเจ้า คุณพี่มีเอี่ยวทุกวงการจริงๆ

สำนวนนี้ถ้าแปลแบบตรงๆ คือ มีนิ้วจิ้มอยู่ในพายทุกอัน ซึ่งความหมายก็คือ ไปมีส่วนเกี่ยวพันหรืออิทธิพลในหลากหลายวงการนั่นเอง

The proof in the pudding: หลักฐานประจักษ์

ไม่เชื่อเหรอว่าประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยการด่า

งั้นก็ขอให้เธอแหกตาดู

สายไฟที่มัดเก็บเรียบร้อยในชั่วข้ามคืนหลังโดนด่า

ทั้งที่ห้อยระหัวคนเดินเท้ามานานแรมปี

ทางเท้าที่เรียบแปล้ขึ้นมาในบัดดลหลังโดนด่า

ทั้งที่คนเดินสะดุดขาแพลงมาไม่รู้กี่นักต่อกี่นัก

เสาไฟในซอยเปลี่ยวที่ส่องสว่างหลังโดนด่า

ทั้งที่ซอยมืดเป็นแดนลับแลมาไม่รู้กี่นาน

หลักฐานประจักษ์พอไหม

สำนวนนี้ใช้พูดถึงหลักฐานที่ช่วยยืนยันสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่ ย่นย่อมาจาก The proof is in the pudding. หมายถึง ต้องลองถึงจะรู้ ให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ เช่น สมมติว่าเราลองประกอบเฟอร์นิเจอร์เองเป็นครั้งแรก แล้วไม่รู้ว่าจะออกมาใช้การได้ไหม ก็อาจจะพูดว่า The proof is in the pudding. ก็คือให้รอดูผลงานที่ออกมา

แต่สำนวนแบบต้นฉบับเต็มยศจริงๆ แล้ว มีอายุนับย้อนไปได้หลายร้อยปีนั่นคือ The proof of the pudding is in the eating. แปลแบบตรงตัวคือ จะรู้ว่าพุดดิ้งดีหรือเปล่าก็ต้องทดสอบด้วยการกิน

ทั้งนี้ แม้ว่าเวลาเจ้าของภาษาในปัจจุบัน (โดยเฉพาะชาวอเมริกัน) ได้ยินคำว่า pudding แล้วจะนึกถึงของหวานที่ทำจากนม ไข่ และน้ำตาลก่อน แต่อันที่จริงแล้ว pudding ในต้นฉบับของสำนวนนี้ไม่ใช่ของหวานแต่อย่างใด แต่เป็นของคาว ทำจากเนื้อหรือเครื่องในสับแล้วยัดลงในไส้หรือกระเพาะสัตว์ ลักษณะคล้ายไส้กรอก (ในประเทศอังกฤษยังเรียกไส้กรอกเลือดว่า black pudding) เนื่องจากในสมัยก่อน หากไม่ลองตัดหั่นไส้กรอกออกมากินแล้ว ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าเนื้อด้านในไส้กรอกกินได้ไหม จึงเกิดเป็นสำนวน The proof of the pudding is in the eating.

Like a kid in a candy store: ตื่นตาตื่นใจกับความละลานตา

ผู้ชุมนุมดาหน้ากันเข้ามาเต็มไปหมด

เห็นแล้วเนื้อเต้นระริก

เลือกไม่ถูกเลยว่าจะฉีดน้ำใส่คนไหนดี

ตื่นตาตื่นใจกับความละลานตาเหมือนเด็กเดินเข้าร้านลูกกวาด

Like taking candy from a baby: ง่ายดาย

อยากให้ยกตัวอย่างความผุพังของสังคมไทยในปัจจุบันเหรอ

ง่ายจนไม่รู้จะง่ายยังไง

อากาศสะอาดให้หายใจก็ไม่ค่อยจะมี

ค่ารถไฟฟ้าก็แพงติดอันดับโลก

สวัสดิการก็ต้องแย่งกันลงทะเบียนเหมือนชิงโชค

ไหนยังจะมีตั๋วช้างอีก

เห็นไหมว่าง่ายจะตาย

เหมือนแย่งลูกกวาดจากเด็กทารกเลย

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: ,