เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่หวนกลับมายืดครองพื้นที่สื่ออีกครั้งก็คือ ข้อพิพาทการปิดเหมืองทองอัครา

ในปี .. 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจ . 44 ออกคำสั่ง คสช. สั่งปิดเหมืองแห่งนี้เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในพื้นที่และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ในเวลาต่อมา บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัด บริษัทสัญชาติออสเตรเลียผู้ได้รับสิทธิสัมปทาน ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวไว้ว่าผมรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม ข่าวนี้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเนื่องจากมีผู้นำเอกสารมาเปิดเผยว่า ถึงแม้พลเอก ประยุทธ์ เคยกล่าวไว้ว่าจะรับผิดชอบเอง แต่กลับมีการตั้งงบฯ เพื่อใช้ระงับข้อพิพาทรวมแล้วหลายร้อยล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการตั้งงบฯ ลักษณะเดียวกันนี้อีกกว่า 100 ล้านบาทในปีพ.. 2564 ด้วย

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะใช้คดีข้อพิพาทเหมืองทองคำอัคราเป็นแรงบันดาลใจและไปดูสำนวนในชีวิตประจำวันอันมีที่มาจากการทำเหมือง

Canary in a coal mine

คนงานเหมืองถ่านแต่ก่อนมักนำนกคีรีบูน (canary) ใส่กรงเล็กๆ ติดตัวลงไปในเหมืองด้วย ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะผูกพันกับสัตว์เลี้ยงแสนรักจนไม่อยากลาจากแม้เพียงเสี้ยววิฯ แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะว่านกคีรีบูนเป็นนกที่ค่อนข้างไวต่อแก๊สพิษหรือแก๊สที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ มีเทน คนงานเหมืองจึงใช้นกชนิดนี้เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัย หากเห็นว่านกดูป่วยๆ หรือตายขึ้นมา ก็จะได้รู้ตัวว่าตรงที่ตัวเองอยู่ไม่ปลอดภัยและรีบหนีออกมานั่นเอง

การนำนกลงไปในเหมืองเช่นนี้นี้จึงทำให้เกิดเป็นสำนวน canary in a coal mine ในภาษาอังกฤษ หมายถึง สัญญาณเตือนก่อนที่ภัยจะมาถึงตัว สัญญาณบอกเหตุ เช่น วันนี้เรากับเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าเจ้านายอารมณ์ดีหรืออารมณ์บูด ก็เลยส่งตัวแทนเข้าไปลองถามนู่นถามนี่เพื่อหยั่งเชิง แบบนี้ตัวแทนที่ถูกส่งไปก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น a canary in a coal mine. หรือหากเราต้องการพูดถึงธุรกิจบางประเภทที่จะได้รับผลกระทบก่อนคนอื่นและเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจกำลังจะตกต่ำ แบบนี้เราก็สามารถเรียกว่า a canary in a coal mine ได้เช่นกัน

Back to the salt mines

ในสมัยก่อน รัสเซียเคยใช้แรงงานนักโทษทำเหมืองเกลือในไซบีเรีย ถ้าเราลองจินตนาการดูก็น่าจะพอบอกได้ว่าน่าจะต้องเป็นงานที่ไม่สนุกเอามากๆ คือทั้งหนักเพราะต้องใช้แรงงาน และน่าเบื่อจำเจเพราะวันๆ เจอแต่หินกับเกลือ

สำนวน back to the salt mines ที่มีที่มาจากการถูกบังคับให้ทำงานเหมืองเกลือที่ว่าไป จึงหมายถึง ได้เวลากลับไปทำงานแล้ว (ออกแนว หมดเวลาสนุกแล้วสิ) ใช้พูดติดตลกให้เห็นว่าเราไม่ได้อยากกลับไปทำงาน ตัวอย่างเช่น หากเราไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อน ตอนถึงเวลาต้องแยกย้ายกลับบริษัทของตัวเอง เราก็อาจพูดว่า Back to the salt mines. นั่นเอง

Sitting on a gold mine

หากใต้บ้านที่เราอาศัยอยู่เป็นแหล่งแร่ทองคำ แต่ว่าเราไม่เคยรู้หรือรู้แล้วแต่ไม่นำมาใช้ประโยชน์ แบบนี้ก็อาจเรียกได้ว่า sitting on a gold mine นั่นก็คือ มีสิ่งที่จะทำให้รวยได้อยู่ในมือ แต่อาจไม่รู้ตัวหรือยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ ตัวอย่างเช่น ญาติเราเคยซื้อที่ดินในย่านห่างไกลความเจริญไว้หลายแปลง แต่อยู่ๆ วันหนึ่งมีข่าวว่าตรงนั้นจะมีรถไฟฟ้าตัดผ่าน ทำให้ย่านนั้นกลายเป็นทำเลทองราคาสูงที่มีแต่นายทุนมาแย่งกันซื้อ แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า She’s sitting on a gold mine. หรือหากเราบังเอิญมีหน้ากากอนามัยอยู่ที่บ้านอยู่ 10,000 กล่องตอนที่โควิด-19 เพิ่งเริ่มระบาดแล้วหน้ากากขาดแคลนจนราคาพุ่งสูง แบบนี้ก็อาจใช้สำนวนนี้ได้เช่นเดียวกัน

Strike gold

สำนวนนี้แปลตรงตัวได้ความหมายว่า ขุดเจอทอง และนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยหมายถึง บังเอิญเจอสิ่งที่ทำให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำหรือประสบความสำเร็จขึ้นมาทันทีทันใด ตัวอย่างเช่น สมมติว่าพอเข้าช่วงโควิดแล้วเราผันตัวมาทำขนมอยู่บ้าน ปรากฏว่าพยายามทำขนมเปี๊ยะขายก็ไม่รุ่ง ขนมไทยก็ไม่รอด แต่พอผันตัวมาทำชีสเค้กหน้าไหม้ (ที่ขายกันทั้งบ้านทั้งเมือง) กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนยึดเป็นธุรกิจเลี้ยงชีพได้สบายๆ แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า I struck gold with Basque burnt cheesecake. คือเปรียบชีสเค้กหน้าไหม้เป็นขุมทองที่เราพบนั่นเอง

ทั้งนี้ ยังมีสำนวนที่ใกล้เคียงกันอีกสองสำนวน สำนวนแรกก็คือ strike it rich มีที่มาคล้ายๆ กันคือขุดเจอทองจนร่ำรวย นั่นเอง ปัจจุบันใช้ในความหมายว่า ได้เงินเป็นกอบเป็นกำในเวลาอันสั้น เช่น He struck it rich by becoming a model. ก็คือ มาเป็นนายแบบแล้วได้เงินอู้ฟู่

ส่วนอีกสำนวนคือ hit the mother lode โดยปกติแล้ว คำว่า mother lode หมายถึง สายแร่ทองที่อยู่ในพื้นดิน (จึงถูกนำมาใช้เป็นสูตรโกงเพิ่มเงินในเกม The Sims ด้วย) ดังนั้นจึงนำมาใช้ในการเปรียบเปรย หมายถึง สิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งที่มาอยู่รวมกันในปริมาณมาก เมื่ออยู่ในสำนวน hit the mother lode แล้ว จึงหมายถึง เจอขุมทรัพย์บางอย่างเข้าแล้วนั่นเอง เช่น หากเราสะสมแผ่นเสียงเก่าแล้วดันไปเจอร้านแผ่นเสียงเก่าที่กำลังจะปิดกิจการแล้วนำแผ่นเสียงจำนวนมากมาขายถูกๆ ให้เราเลือกละลานตา แบบนี้ก็อาจจะใช้สำนวนนี้ได้

Salt the mine

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงตื่นทอง (gold rush) ในสหรัฐอเมริกา กลอุบายหนึ่งที่ผู้คนใช้เพื่อหลอกนายทุนให้ซื้อที่ดินหรือเหมืองของตน (ที่อาจจะไม่ได้มีทองอยู่จริง) ก็คือ การไปซื้อแร่เงินแร่ทองมาโปรยในสถานที่นั้นๆ หรือผสมในตัวอย่างแร่ เพื่อหลอกให้นายทุนเข้าใจว่ามีปริมาณแร่มีค่าอยู่เยอะและตัดสินใจซื้อที่ดินหรือเหมืองนั้นๆ ซึ่งทริกแบบนี้เรียกกันในวงการว่า salting the mine

ในภายหลัง มีการนำสำนวนนี้มาใช้กันนอกวงการในความหมายว่า แทรกหรือใส่ข้อมูลปลอมเพื่อให้น่าเชื่อถือหรือมีน้ำหนักมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเอกสารที่นักการเมืองใช้ปรักปรำอีกฝ่ายไม่ได้เป็นข้อมูลจริงทั้งหมด แต่มีการเติมแต่งข้อมูลเท็จเพื่อหวังให้อีกฝ่ายเสียเปรียบอย่างหนัก แบบนี้ก็พูดได้ว่า The politician salted the mine with false information.

Gold digger

คำนี้เป็นสแลงที่รุนแรงอยู่พอสมควร หมายถึง คนที่คบหากับอีกฝ่ายเพราะหวังเงิน โดยปกติแล้วมักใช้กับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ให้ภาพเหมือนกับอีกฝ่ายเป็นขุมทองที่คนประเภทนี้จะเข้ามาขุดหาผลประโยชน์ เช่น หากเราไม่ได้รักอีกฝ่ายจริงๆ แต่คบกับเขาเพื่อจะได้หลอกให้เขาซื้อของให้เราเรื่อยๆ แบบนี้ก็จะถือว่าเราเป็น gold digger นั่นเอง

บรรณานุกรม

https://www.smithsonianmag.com/smart-news/story-real-canary-coal-mine-180961570/

https://truewestmagazine.com/salting-gold-mine/

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , , , , , ,