ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คนกลุ่มหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือเด็กๆเพราะในพื้นที่สื่อมีแต่ข่าวต่างๆ ที่ขับเน้นให้เห็นความทารุณหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นกับเด็ก เช่น การลงโทษเด็กให้ลุกนั่ง 100 ครั้งจนเอ็นอักเสบเดินไม่ได้ไป 2 เดือน การกร้อนผมนักเรียน การทุบตีและบังคับให้เด็กอนุบาลอดน้ำในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีครูฟันสะอาดที่สุดเพราะผู้บริหารสั่งให้ไปขูดหินปูน และข่าวที่แสดงให้เห็นว่าเด็กหมดความอดทนแล้วกับค่านิยมแบบเก่าๆ ที่ยอมให้มีการกดขี่และละเมิดสิทธิเด็กในระบบการศึกษา เช่น การนัดกันผูกโบว์สีขาว การปราศรัยและขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยกลุ่มที่เรียกตนเองว่ากลุ่มนักเรียนเลว

หากจะกล่าวว่าการใช้อำนาจกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ทั้งในรูปการทำร้ายร่างกาย การใช้คำพูดดูถูกด้อยค่า ไปจนถึงการบังคับใช้กฎระเบียบที่ไม่ค่อยมีเหตุผลรองรับ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากค่านิยมและมุมมองที่สังคมไทยมีต่อเด็กก็ไม่น่าจะผิดนัก 

ค่านิยมเหล่านี้มักถูกเก็บรักษาไว้ในบทท่องต่างๆ เช่น เด็กเอ๋ยเด็กดี /สำนวน เช่น ลูกทรพี เลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย / รวมไปถึงสุภาษิต เช่น รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ แล้วในสังคมที่ก้าวไกลไปกว่าเรามากในด้านการปกป้องสิทธิของเด็กและการให้ความเคารพแก่เด็กในฐานะบุคคล ค่านิยมและแนวคิดต่อเด็กของเขาที่สะท้อนอยู่ในสุภาษิตและสำนวนจะต่างจากในสังคมเรามากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปสำรวจมุมมองที่ชาวตะวันตกมีต่อเด็กและการเลี้ยงเด็กตั้งแต่ในอดีตผ่านสุภาษิตและสำนวนภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับเด็ก

Spare the rod, and spoil the child.

สุภาษิตนี้ถ้าแปลตามตัวก็จะได้ความทำนองว่า ลูกจะเสียคนถ้าไม่ลงไม้เรียวบ้าง เทียบได้กับสุภาษิต รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ในภาษาไทย

ว่ากันว่าสำนวนนี้มาจากคำพูดของกษัตริย์โซโลมอน ในหนังสือสุภาษิต บท 13 วรรค 24 ในคัมภีร์ไบเบิ้ล ที่ว่า “He that spareth his rod hateth his son: but he that loveth him chasteneth him betimes.” ซึ่งพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับมาตรฐานในภาษาไทยแปลไว้ว่าคนที่สงวนไม้เรียวก็เกลียดบุตรชายของตน แต่คนที่รักเขาย่อมหมั่นตีสอนเขา

สุภาษิตนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อมองผ่านเลนส์ทางคริสต์ศาสนาแล้ว การตีลูกเพื่อสั่งสอนไม่ใช่แค่เป็นสิ่งที่ทำได้แล้ว แต่ยังควรทำอีกด้วย พ่อแม่บางคนจึงยังอ้างข้อความนี้ในไบเบิลเพื่อตีลูกต่อไป แต่หากพูดถึงภาพรวมแล้ว ก็ต้องบอกว่าชาวตะวันตกทั่วไปไม่ค่อยเชื่อเรื่องการฝึกวินัยหรืออบรมเด็กด้วยการลงโทษทางกายแล้วและถือว่าสุภาษิตนี้ล้าหลังมาก 

Children should be seen and not heard.

ทุกคนน่าจะเคยได้ยินเด็กส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวจนอยากกดปุ่มปิดเสียงได้เหมือนโทรทัศน์ ในสถานการณ์เช่นนี้ สำนวนหนึ่งที่เราอาจได้ยินในภาษาอังกฤษก็คือ Children should be seen and not heard. ความหมายออกแนวว่า เด็กควรมีไว้แค่เชยชม แต่ไม่ควรส่งเสียงออกมาให้ได้ยิน

ว่ากันว่าสุภาษิตนี้มีที่มาตั้งแต่ยุคกลาง ที่พีคก็คือแต่เดิมเจาะจงเฉพาะเด็กผู้หญิงอย่างเดียวด้วย (A mayde schud be seen, but not herd.) คล้ายๆ ของไทยที่สอนว่าเด็กผู้หญิงต้องเรียบร้อยไม่กระโดกกระเดก จนมาในสมัยวิคทอเรียน สุภาษิตนี้จึงจะเริ่มขยายขอบเขตไปใช้กับเด็กทุกเพศและกลายมามีรูปอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

แม้ว่าในสมัยก่อน สุภาษิตนี้จะใช้เพื่อสั่งสอนเด็กให้สงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันมักใช้บ่นปนปลงเมื่อได้ยินเสียงเสียดแก้วหูของเด็ก

It takes a village to raise a child.

สุภาษิตนี้หมายถึงว่า การที่จะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้มีพัฒนาการสมบูรณ์เติบโตขึ้นมาได้ ต้องอาศัยคนทั้งชุมชน ทำนองว่าตั้งแต่พี่ป้าน้าอาไปจนถึงคุณครูหรืออาม่าร้านขายของชำใกล้บ้าน ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการฟูมฟักหลอมสร้างเด็ก

แม้ว่าสุภาษิตนี้จะใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกตะวันตกในปัจจุบัน (โดยเฉพาะในช่วงที่พ่อแม่ต้องดูแลลูกเองคนเดียวโดยไร้ความช่วยเหลือจากคนอื่นในช่วงโคโรนาไวรัสระบาดหนัก) จนพูดย่อเหลือแค่ It takes a village. ก็เข้าใจ แต่ว่าอันที่จริงแล้วสุภาษิตนี้เป็นสุภาษิตแอฟริกันเก่าแก่ และเพิ่งเริ่มเข้ามาในภาษาอังกฤษเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 20 เท่านั้นเอง

Out of the mouths of babes

บางครั้งเด็กเล็กก็พูดอะไรที่แสนจะใส่ซื่อ แต่กลับฉลาดล้ำลึกจนผู้ใหญ่ต้องตะลึง ในกรณีเช่นนี้ สำนวนที่เรานำมาใช้ได้ก็คือ out of the mouths of babes หมายถึง เด็กไร้เดียงสามักพูดอะไรที่ฉลาดลึกซึ้ง

หากสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่า รูปของสำนวนนี้ไม่ใช่ประโยคสมบูรณ์ ไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าอะไรกันแน่ที่ออกมาจากปากของเด็กอ่อน ซึ่งหากเราอยากรู้ว่าสิ่งที่ออกมาคืออะไรกันแน่ ก็จะต้องสืบสาวไปดูถึงต้นตอของสำนวนนี้

สำนวนนี้มีที่มาสองแหล่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิล แหล่งที่มาแรก คือ หนังสือเพลงสดุดี บท 8 วรรค 2 ในคัมภีร์ไบเบิ้ล ซึ่งเขียนไว้เต็มๆ ว่า “Out of the mouth of babes and sucklings hast thou ordained strength because of thine enemies, that thou mightest still the enemy and the avenger” ซึ่งฉบับมาตรฐานของไทยแปลไว้ว่าโดยปากของเด็กอ่อนและทารก พระองค์ทรงตั้งป้อมปราการเพราะคู่อริของพระองค์เพื่อยับยั้งศัตรูและผู้แก้แค้นสรุปได้ว่า สิ่งที่ออกมาจากปากของเด็กออกและทารกที่ยังดูดนมแม่ก็คือ ความแข็งแกร่ง

อีกแหล่งคือ มัทธิว บท 21 วรรค 16 ที่กล่าวไว้ว่า “… Out of the mouth of babes and sucklings thou hast perfected praise …” หรือพระองค์ทรงทำให้คำสรรเสริญออกมาจากปากเด็กและทารกที่ยังไม่หย่านม” 

ที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าในต้นฉบับ สิ่งที่ออกจากปากเด็กคือ ความแข็งแกร่ง และ คำสรรเสริญ แต่เมื่อคนหยิบมาใช้เป็นสำนวน สิ่งที่ออกจากปากเด็กกลับเปลี่ยนกลายไปเป็นความเฉลียวฉลาด หรือ wisdom แทน แบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

The child is father of the man

สุภาษิตนี้หากพยายามแปลความหมายตรงตัวแล้ว อาจงงสักหน่อยว่าเด็กเป็นพ่อของผู้ชายคนไหน และเป็นแค่เด็กจะเป็นพ่อคนได้อย่างไร แต่อันที่จริงแล้ว สำนวนนี้มีความหมายว่า ลักษณะบุคลิกที่เราเห็นในเด็กจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเมื่อโตขึ้นมาแล้วเด็กคนนั้นจะเป็นคนอย่างไร ทำนองว่านิสัยใจคอของคนเราก่อรูปขึ้นตั้งแต่ยังเป็นเด็กนั่นเอง

ที่มาของสุภาษิตนี้คือกลอนชื่อ My Heart Leaps Up ของ วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) กวีชื่อดังชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในบทกลอนนี้ เวิร์ดสเวิร์ธเขียนไว้ว่าตนเองตื้นตันดีใจมากเมื่อเห็นสายรุ้ง ซึ่งเห็นได้บนท้องฟ้าตั้งแต่สมัยยังเด็กจนถึงตอนนี้ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เหมือนเป็นสิ่งที่คงที่ตลอดทุกช่วงเวลาในชีวิต 

คนจึงนำท่อนหนึ่งในกลอนนี้เขียนไว้ว่า “The Child is father of the Man” มาใช้สื่อถึงนิสัยใจคอในวัยเด็กที่อยู่คงที่มาจนถึงวัยที่เติบใหญ่แล้วนั่นเอง

บรรณานุกรม

https://www.bible.com/th/

https://biblehub.com/kjv/

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Crystal, David. Begat: The King James Bible & the English Language. OUP: New York, 2011.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Proverbs and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2004

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

Tags: , , , , ,