ระหว่างการชุมนุมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรือเป็ดเป่าลมธรรมดาๆ ที่เป็นของเล่นดาษดื่นตามสระว่ายน้ำได้เลเวลอัพขึ้นมาเป็นนักรบผู้กล้าหาญที่ปกป้องผู้ชุมนุมจากรถฉีดน้ำของทางการและสัญลักษณ์ที่เป็นศูนย์รวมใจของผู้ประท้วง (https://themomentum.co/big-yellow-duck/) จนถึงขนาดได้รับการอวยยศกันขำๆ ให้เป็น ‘พลเรือเอก’ กันเลยทีเดียว

เพื่อเป็นการสดุดีพลเรือเอกเป็ดที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในช่วงหลายวันที่ผ่าน ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า ในภาษาอังกฤษมีสำนวนอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเป็ด

 

Water off a duck’s back

 หากใครเคยเห็นเป็ดใกล้ๆ จะสังเกตว่าขนเป็ดมีความมันเงา และเมื่อหยดน้ำใส่ แทนที่ขนเป็ดจะดูดซับน้ำ น้ำกลับจับตัวเป็นก้อนกลมแล้วกลิ้งไหลออกไป คล้ายๆ น้ำบนใบบัว (ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็ดนำน้ำมันจากต่อมไซร้ขนใกล้ๆ ก้นมาเคลือบขนชั้นนอกไว้)

 ด้วยความที่หยดน้ำลงบนขนเป็ดเท่าไร น้ำก็ไหลกลิ้งออกไปจนหมด ไม่ซึมเข้าไปสู่ขนด้านใน จึงทำให้มีสำนวนว่า water off a duck’s back ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ไม่สะทกสะท้อน ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่รู้ฟัง ปกติแล้วใช้กับคำวิพากษ์วิจารณ์ คำด่าทอ หรือคำแนะนำตักเตือนต่างๆ เช่น I’ve been telling him to stop going to bed so late, but it’s water off a duck’s back. ก็คือ พร่ำบอกให้อย่านอนดึกนัก แต่เขาไม่เคยฟังเลย

 

Dead duck

 คำว่า dead duck ในที่นี่ไม่ได้หมายถึง เป็ดที่ตายไปแล้วแบบที่แขวนตามร้านข้าวหน้าเป็ดแต่อย่างใด แต่เป็นสำนวนหมายถึงอะไรก็ตามที่ไม่มีทางไปรอดแน่นอน ถ้าเป็นแผนการ ก็เป็นแผนการที่อย่างไรก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ทำไปก็ป่วยการ เสียเวลาเปล่าๆ เช่น I knew from the beginning that his new business was a dead duck; it would never take off. หมายถึง รู้แต่ทีแรกแล้วว่าธุรกิจใหม่เปิดมาก็ไปไม่รอด เปิดยังไงก็ไม่ขึ้น

 แต่ถ้าใช้กับคน ก็จะหมายถึง ชะตาขาด ตายแน่ เช่น If your father finds out how much PS5 really costs, you’re a dead duck. ก็คือ ถ้าพ่อเอ็งรู้ว่าจริงๆ แล้วเครื่องพีเอส 5 ราคาเท่าไหร่ เอ็งชะตาขาดแน่นอน

 ว่ากันว่าสำนวนนี้มาจากแวดวงการล่าเป็ดและเคยพูดเต็มๆ ว่า Never waste powder on a dead duck. หมายถึง อย่าเสียดินปืนกับเป็ดที่ตายแล้ว ออกแนวว่าถ้าเป็ดมันตายแล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะยิงซ้ำ สู้เก็บดินปืนไปยิงเป็ดตัวอื่นจะดีกว่า แต่ภายหลังย่อเหลือแค่ a dead duck เพื่อความสะดวกนั่นเอง

 

 Sitting duck

 นกเป็ดน้ำที่นั่งหรือลอยอยู่กับที่ย่อมตกเป็นเป้าให้นายพรานยิงได้ง่ายกว่านกเป็ดน้ำที่บนอยู่ ด้วยเหตุนี้ ในภาษาอังกฤษจึงเรียกสิ่งที่เป็นเป้านิ่งและป้องกันตัวไม่ได้ว่าเป็น sitting duck ตัวอย่างเช่น ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวจากรถฉีดน้ำของทางการหรือไม่มีที่กำบัง ก็อาจจะพูดว่า I feel like a sitting duck, waiting to be blasted with water cannon. ก็คือ รู้สึกเหมือนเป็นเป้านิ่ง รอให้โดนฉีดน้ำอัดเลย

 

Get your ducks in a row

 สำนวนนี้หากแปลตรงๆ แบบไม่มีบริบท อาจจะงงพอสมควรว่าสำนวนนี้จะสื่ออะไร เพราะปกติก็ไม่ได้มีใครสัปดนจับเป็ดมาเข้าแถวเรียงกัน แต่เมื่อทราบว่าแล้วเป็ดในที่นี้หมายถึงอะไร ความหมายของสำนวนก็จะกระจ่างขึ้นทันที

 อันที่จริงแล้ว เป็ดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสัตว์จริงๆ แต่ว่ากันว่าหมายถึง รูปเป็ดที่เป็นเป้ายิงในซุ้มซ้อมยิงปืน (คล้ายๆ กับในซุ้มยิงปืนตามงานวัดบ้านเรา) ซึ่งก่อนที่เราจะเริ่มซ้อมยิง ก็ต้องจับเป้ารูปเป็ดทั้งหมดตั้งขึ้นมาเรียงเป็นแถวให้เรียบร้อยเสียก่อน

ด้วยเหตุนี้ สำนวนนี้จึงหมายถึง เตรียมการทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนลงมือทำอะไรสักอย่าง เช่นMake sure you get all your ducks in a row before you head out to the protest site. ก็คือตระเตรียมทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนเดินทางไปที่ที่เขาชุมนุมกัน

 

Take to something like a duck to water

 เป็ดเกิดมาก็แทบว่ายน้ำได้ทันที โยนลงน้ำปุ๊บก็จะตีขาลอยตัวได้เพราะเป็นสัญชาตญาณที่มีมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น หากเราเปรียบเปรยว่า เราทำสิ่งๆ หนึ่งได้เหมือนกับที่เป็ดว่ายน้ำได้ ก็จะหมายถึงว่า เราเรียนรู้ที่จะทำสิ่งนั้นได้เร็วและทำได้ดีราวกับว่าเป็นสัญชาตญาณ ซึ่งการเปรียบเปรยแบบนี้ ภาษาอังกฤษจะใช้สำนวนว่า take to something like a duck to water เช่น My mother took to knitting like a duck to water. ก็คือ แม่ถักผ้าเป็นเร็วราวกับเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ นั่นเอง

 

Play ducks and drakes

 คำว่า ducks and drakes (คำว่า drake หมายถึง เป็ดตัวผู้) เป็นชื่อที่คนแต่ก่อนใช้เรียกการโยนก้อนหินให้กระดอนไปบนผิวน้ำให้ได้หลายทอดที่สุด แบบที่เรามักเห็นเด็กเล่นกันในหนังฝรั่ง(ปัจจุบันคนอเมริกันเรียกว่า stone skipping ส่วนคนอังกฤษเรียกว่า stone skimming) ส่วนที่การละเล่นนี้มาเกี่ยวกับเป็ดได้ก็ว่ากันว่าเป็นเพราะวงน้ำที่เกิดเมื่อหินกระทบผิวน้ำดูคล้ายวงน้ำที่เกิดขึ้นเวลาเป็ดบินขึ้นจากผิวน้ำ

 เมื่อประมาณต้นศตวรรษที่ 16 คำว่า ducks and drakes นี้ถูกเอามาสร้างเป็นสำนวน play ducks and drakes หมายถึง ทำเป็นเรื่องเล่นๆ ใช้ทิ้งใช้ขว้าง ใช้อย่างไม่รู้ค่า ถ้าใช้เงินกับก็คือใช้สุรุ่ยสุร่ายเหมือนเอาเงินไปโยนทิ้ง (จะพูดว่า make ducks and drakes ก็ได้) เช่น He’s been playing ducks and drakes with the fortune he inherited from his father. ก็คือ เอามรดกที่ได้มาจากพ่อมาใช้ทิ้งๆ ขว้าง

 

Fine weather for ducks

 แม้คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยชอบเวลาฝนตก เพราะนอกจากจะทำให้อารมณ์ขุ่นมัวแล้ว ยังทำให้เดินทางไปไหนต่อไหนก็ไม่สะดวก แต่ชาวอังกฤษเชื่อกันว่าอากาศแบบนี้เป็นที่โปรดปรานของบรรดาเป็ดทั้งหลาย (ตามสไตล์คนอังกฤษที่ชอบคุยเรื่องดินฟ้าอากาศ) ก็เลยทำให้เกิดสำนวน fine weather for ducks หมายถึง ช่วงฝนตก นั่นเอง เช่น ถ้านอกหน้าต่างฝนตกอยู่ เราก็อาจจะบรรยายขำๆ ว่า Fine weather for ducks.

 

Lame duck

 จริงๆ แล้วคำว่า duck เป็นคำที่ใช้เรียกคนได้ด้วย (สมัยนี้ไม่ค่อยนิยมแล้ว) เช่น He’s a lucky duck. ก็คือ เขานี่เป็นคนโชคดีจริงๆ แต่ว่านอกจาก lucky แล้ว ก็ยังมีอีกหลายคำที่ใช้กับ duck ในลักษณะนี้ได้ และที่เด่นที่สุดก็คือ lame duck ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แล้ว แม้ว่าสำนวนนี้จะแปลตรงตัวได้ว่า เป็ดขาเป๋ แต่ความหมายที่ใช้กันจริงๆ ก็คือ คนห่วย สู้ชาวบ้านชาวช่องไม่ได้คล้ายๆ เป็ดที่ขาเป็นแล้วเดินตามเป็ดตัวอื่นในฝูงไม่ทัน

 นอกจากนั้น สำนวนนี้ยังถูกนำไปใช้ในแวดวงการเมือง หมายถึง นักการเมืองที่กำลังจะหมดวาระและมีคนอื่นมาดำรงตำแหน่งแทนด้วย ว่ากันว่าที่เอาคำว่า lame duck มาเรียกนักการเมืองลักษณะนี้ก็เพราะเหมือน ‘เป็ดง่อย’ กำลังจะหมดอำนาจลงแล้ว ทำอะไรไม่ได้มากมายเท่าเดิมนั่นเอง

 

บรรณานุกรม

 

http://www.etymonline.com/

 

http://oed.com/

 

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

 

American Heritage Dictionary of the English Language

 

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

 

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

 

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

 

Jack, Albert. Black Sheep and Lame Ducks: The Origins of Even More Phrases We Use Every Day. A Perigee Book: New York, 2005.

 

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

 

Longman Dictionary of Contemporary English

 

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

 

Merriam-Webster Dictionary

 

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

 

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

 

Shorter Oxford English Dictionary

 

Taggart, Caroline. An Apple a Day: Old-fashioned Proverbs and Why They Still Work. Michael O’ Mara Books: London, 2009.

Tags: , , , ,