ก่อนอื่นต้องขออภัยผู้อ่านทุกท่านที่สุดท้ายแล้วบทความนี้คงไม่ได้ตอบคำถามข้างต้น และไม่ได้มีเจตนาให้เป็นบทความ click bait แต่อยากจะชวนขบคิด แลกเปลี่ยนความเห็นกันมากกว่า

ครั้งหนึ่งในชั้นเรียนวิชาตรรกศาสตร์ ผู้เขียนบทความก็เคยถูกตั้งคำถามทำนองนี้จากอาจารย์ผู้สอนเช่นกัน คำถามนั้นเป็นเรื่องของรถไฟขนสินค้าขบวนหนึ่งที่เกิดเบรคแตกและวิ่งด้วยความเร็วสูงพุ่งเข้าสู่สถานีที่มีรถไฟอีกขบวนซึ่งมีผู้โดยสารหลายร้อยคนจอดอยู่ หากคุณเป็นคนขับรถไฟขนสินค้าขบวนนั้น และมีโอกาสที่จะสับรางไปอีกชานชาลาซึ่งมีคนงานห้าคนซึ่งกำลังซ่อมรางรถไฟ คุณจะสับรางไหม?

หนังสือสะพรึง’ (Terror) ชวนเราวิเคราะห์เรื่องราวแบบเดียวกัน

สะพรึงเป็นงานแปลจากบทละครภาษาเยอรมัน ประพันธ์โดย แฟร์ดินันด์ ฟอน ซีรัค นักกฎหมายที่เกิดในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ผลงานของเขาล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับประเด็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และสะพรึงก็เป็นงานเขียนอีกชิ้นที่ชวนตั้งคำถามเชิงนิติปรัชญาได้อย่างน่าสนใจ

รูปแบบการเขียนของสะพรึงคือบทละคร มีการบรรยายฉาก กิริยาท่าทางของผู้แสดงเล็กน้อย แต่การดำเนินเรื่องหลักอยู่ที่บทสนทนา คล้ายกับการอ่านงานเขียนของเชกสเปียร์ หรือถ้าจะบอกให้ง่ายกว่านั้น งานเขียนเล่มนี้อ่านเพลินเหมือนอ่านนิยายแชตทางโทรศัพท์อย่างนั้นเลย ตัวละครไม่มาก บทสนทนาไม่ยากเกินเข้าใจ และเรายังไม่อาจคาดเดาน้ำเสียง สีหน้าและอารมณ์ของตัวละครได้ เพราะในหนังสือไม่ได้บรรยายไว้

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในศาลและจบลงที่ศาล มีตัวละครหลักคือผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ จำเลย ทนายจำเลย พยาน อัยการ และโจทก์

ข้อถกเถียงทั้งหมดในเรื่องคือ การที่เราต้องแลกชีวิตด้วยชีวิต หากสามารถช่วยเหลือคนจำนวนมากกว่าได้แม้ต้องทำลายชีวิตจำนวนน้อยกว่า การกระทำนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่?

ความสนุกของการอ่านคำให้การของแต่ละฝ่าย คือการทำความเข้าใจเหตุผลของการกระทำของแต่ละคน แม้เราจะได้เลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่เราก็อาจจะรู้สึกเอนเอียงไปตามคำพูดของแต่ละฝ่ายได้ไม่ยาก เพราะทุกคนล้วนมีเหตุผลที่ฟังขึ้นและเชื่อว่าตัวเองได้ทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วทั้งสิ้น 

เรื่องที่น่าคิดอีกประการคือ เราไม่มีทางรู้เลยว่าหากเราอยู่ในสถานะที่ต้องตัดสินใจแบบจำเลยในเรื่อง เราจะทำแบบเขาไหม เพราะการกระทำของเขาได้ถูกกำหนดไว้ด้วยกรอบของหน้าที่การงานและ ความเชื่อต่อสิ่งที่เขาได้รับการสอนว่าอาชีพของเขาต้องทำเช่นนั้น

หากเราใช้สายตาของคนนอกที่ไม่ต้องทำตามหน้าที่นั้นมองเข้าไป ก็ง่ายที่จะเห็นต่าง จำเลยในเรื่องก็เช่นกัน เมื่อเขาถูกถามว่าในฐานะของทหารอากาศ เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือไม่ เขายืนกรานในสิ่งที่เขาทำ แต่เมื่อถูกถามในฐานะของสามีและพ่อ จำเลยลังเลใจ

ผู้แปลเรื่องนี้ได้ปรารภไว้ว่า เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับความตาย คุณจะเลือกรักษาชีวิตหรือหลักการ?

หากมองในแง่กฎหมาย รัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีระบุไว้ว่า เราไม่อาจชั่งน้ำหนักชีวิตต่อชีวิต แม้จะชั่งด้วยจำนวนมากกว่าก็ตาม เพราะชีวิตหนึ่งชีวิตมีค่าเป็นอนันต์ ไม่อาจชดเชยได้ด้วยการนับเป็นจำนวน และมนุษย์ไม่ใช่วัตถุ และไม่อาจถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้

แต่หากมองให้แง่ของศีลธรรมล่ะ การรักษาชีวิตจำนวนมากกว่าเป็นสิ่งที่ควรได้รับการยอมรับหรือไม่?

การปลิดชีวิตผู้ที่กระทำผิดเพื่อรักษาชีวิตของผู้บริสุทธิ์กว่าสมเหตุสมผลหรือไม่? การฆ่าคนที่อ่อนแอกว่าเพื่อให้คนที่แข็งแรงกว่าอยู่รอดต่อไปล่ะ เป็นเรื่องที่คุณรับได้ไหม?

บทละครเรื่องสะพรึงกำลังท้าทายมโนสำนึกของคุณ

ในคำแถลงปิดคดีของอัยการ เธอได้ให้เหตุผลทั้งหมดว่าเหตุใดรัฐธรรมนูญจึงระบุไว้เช่นนั้น และศีลธรรมหรือมโนสำนึกของมนุษย์นั้นเป็นที่ที่ยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน 

ส่วนคำแถลงของทนายจำเลยก็ชวนคิดเช่นกัน เขาได้ยกตัวอย่างหลายกรณีที่เคยผ่านการตัดสินของศาลมาแล้วมาเปรียบเทียบ ทั้งยังอธิบายแนวคิดของการเลือกสิ่งที่ชั่วร้ายน้อยกว่าได้อย่างน่าขบคิด

คดีน่าสนใจที่ทั้งฝ่ายอัยการและฝ่ายทนายจำเลยยกตัวอย่างมาให้เราตั้งคำถามต่อ เช่น กรณีที่เรือถูกพายุพัดและมีผู้รอดชีวิตอยู่ไม่กี่คน เมื่อนานวันเข้าน้ำและอาหารหมด ผู้ที่อ่อนแอที่สุดหรือมีภาระผูกพันในชีวิตน้อยที่สุดถูกสังหารเพื่อนำเลือดเนื้อมาหล่อเลี้ยงผู้อื่นต่อ หรือกรณีของแฝดสยามที่หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะเสียชีวิตทั้งคู่ และหากต้องผ่าแยกร่าง ก็จะเป็นการต้องเลือกว่าคนไหนที่จะได้มีชีวิตต่อไป 

ทุกคดีที่กล่าวมา ไม่ต่างจากกรณีคนขับรถไฟข้างต้น ทั้งหมดล้วนแต่เป็นกรณีที่ตัดสินใจยากทั้งสิ้นแม้แต่สำหรับนักกฎหมายเอง และการตัดสินคดีแบบนี้อาจมีคำพิพากษาออกมาแตกต่างกันในแต่ละประเทศด้วยซ้ำ 

สำหรับในหนังสือเล่มนี้ คดีเกิดขึ้นที่เยอรมนีซึ่งใช้ระบบประมวลกฎหมาย  (civil law) หมายถึงการปกครองรัฐโดยยึดหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นใหญ่ แต่ก็ยังมีประเทศที่ใช้ระบบแบบคอมมอนลอว์ (common law) ที่ใช้คําพิพากษาที่มีมาก่อนหน้าในกรณีที่ใกล้เคียงกันมาวินิจฉัย ซึ่งเปิดให้ศาลสามารถพัฒนาหลักกฎหมายจากคำพิพากษาแต่ละกรณีได้ด้วย

หนังสือจบลงที่การเปิดเผยคำพิพากษาทั้งแบบลงโทษจำเลยและยกฟ้องโดยไม่ได้บอกว่าลูกขุนเลือกวินิจฉัยแบบใด ทิ้งช่องว่างไว้ให้ผู้อ่านคิดว่า ถ้าเป็นคุณคุณจะเลือกแบบใด 

เมื่อม่านของละครเวทีปิดสนิท ไฟดับลง คุณอาจจะเพิ่งรู้สึกตัวว่าความจริงแล้วเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตก็อาจบังคับให้คุณต้องตัดสินใจทำนองนี้เช่นกัน มันอาจไม่ร้ายแรงจนถึงต้องคร่าชีวิตใคร แต่หลายครั้งที่เราจะต้องเลือกระหว่างหลักการกับมโนสำนึก 

อยากรู้จริงว่าผู้อ่านแต่ละคนเลือกอะไรเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ

หนังสือ: สะพรึง (Terror)

เขียน: แฟร์ดินันด์ ฟอน ซีรัค

แปล: ศศิภา พฤกษฎาจันทร์

สำนักพิมพ์: Illuminations Edition

อ้างอิง

http://library.senate.go.th/document/Ext8013/8013870_0011.PDF

https://www.illuminationseditions.com/article/1/qa-ศศิภาพฤกษฎาจันทร์ผู้แปล-‘สะพรึง’-จากบทละครเรื่อง-terror

Tags: