รวมตัวกันตาย

บทความนี้เป็นบทความที่เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของนิยายเรื่อง ‘ไปตายด้วยกันไหมซึ่งเป็นนิยายแนวดราม่าสืบสวนสอบสวน แต่จะไม่ลงไปในการเฉลยว่าสุดท้ายแล้วเกิดอะไรขึ้นงานเขียนนี้มุ่งตีแผ่ความคิดของตัวละครแต่ละคนเป็นหลัก ถึงเหตุที่คน 12 คนรวมตัวกันมาฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลร้างแห่งหนึ่ง  โดยเฉพาะกลุ่มคนเหล่านั้นล้วนเป็นวัยรุ่นทั้งสิ้น ความน่าสนใจคือ วัยรุ่น วัยที่ยังไม่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตและครอบครัวมากนักมีความทุกข์อะไรที่ทำให้เขาอยากปลิดชีวิตตัวเองลง เขาเพียงแค่จบปัญหาหรืออยากบอกอะไรกับสังคม

เรื่องมันเริ่มจากการที่ซาโตชิเป็นเด็กหนุ่มแกนนำกลุ่ม เปิดเว็บไซต์ลับๆ ใต้ดินขึ้นมาเว็บไซต์หนึ่ง เพื่อรวบรวมคนที่มีเจตจำนงเดียวกัน คือการฆ่าตัวตาย รวมเขาด้วยให้ได้เป็น 12 คน เพื่อมาฆ่าตัวตายหมู่โดยใช้ยาพิษ สถานที่ที่ใช้ฆ่าตัวตายนั้นเป็นโรงพยาบาลร้างก็จริง แต่เป็นโรงพยาบาลที่เตรียมพื้นที่ไว้สำหรับการทำกิจกรรมอื่น ทำให้ไฟฟ้าในโรงพยาบาลยังใช้ได้ เตียงบางส่วนยังไม่ถูกขนไป ซึ่งเตรียมจะใช้เป็นที่นอนตายอย่างมีเกียรติของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

คนที่ผ่านการคัดเลือกต่างก็ทยอยกันมาตามเวลาที่นัดหมาย จนครบ 12 คน แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้เมื่อปรากฏว่า เตียงที่เตรียมไว้ 12  ที่ กลับมี ‘ร่างปริศนานอนอยู่ร่างหนึ่ง โดยที่ทั้ง 12 คนไม่รู้จักว่าเป็นใครมาจากไหน แต่ระหว่างที่ต่างก็เข้าสู่ห้องพิธีกรรม ก็พบร่องรอยว่ามีการเคลื่อนย้ายร่างนี้ขึ้นมาที่ห้อง โดยที่แม้แต่ตัวซาโตชิเองยังไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน ทำให้แทนที่จะได้เข้าสู่พิธีการทันที ทุกคนต่างก็ร่วมแสดงความเห็นและบอกเล่าถึงเบาะแสที่ตัวเองพบมาระหว่างทาง เหมือนเป็นการจำลองภาพจากหนังคลาสสิกที่เป็นแรงบันดาลใจของนิยายเรื่องนี้ที่ลูกขุน 12 คนผลัดกันพูด ซึ่งร่างปริศนานี่เป็นใคร ใครเป็นผู้นำมา ก็เกี่ยวข้องกับในหมู่ทั้ง 12 คนนี้เอง ในการฆ่าตัวตายหมู่ เกิดเหตุฆาตกรรมทำให้ต่างก็ต้องคิดคลี่คลายว่า ความจริงคืออะไร โดยจับเวลาให้แต่ละคนเสนอความเห็นและเบาะแสของตัวเอง 

นิยายให้น้ำหนักกับการอภิปราย ถกเถียงคดีค่อนข้างเยอะ และมีชิ้นส่วนของเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ จากคำบอกเล่าของแต่ละคนมาประกอบหลายส่วน ทำให้การอ่านเรื่องนี้ในช่วงแรกๆ ต้องอาศัยสมาธิและความตั้งใจพอสมควรเพื่อจับจุดว่า ‘ใครมีโอกาสโกหก หรือใครมีโอกาสเป็นคนร้ายได้มากที่สุดและที่น่าสนใจคือ คนร้ายอาจไม่ได้มีแค่คนเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของนิยายไม่ใช่การหาตัวคนร้าย กลับกลายเป็นการวิพากษ์สังคมถึงสิ่งที่คนเราต้องแบกรับเสียมากกว่า ความกดดันที่ต้องแบกรับ มีตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสังคมใหญ่ และสุดท้ายนิยายไม่ได้จบลงแค่ว่าหาตัวคนร้ายได้ แต่สารของมันให้ความคิดและความรู้สึกที่หลากหลาย ตามเหตุผลของคนที่ตั้งใจจะมาตาย 

เพราะ ‘มีคุณค่าจึงต้องตาย

เรามักจะนึกถึงคนที่ฆ่าตัวตายในแง่คนที่มีความทุกข์ หาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้ หรือถูกทำให้ตัวเองไร้คุณค่า แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความคิดซับซ้อน บางคนเหตุผลของความตายเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึงเลยก็ได้ โดยเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและกลัวสิ่งเหล่านั้นจะต้องหลุดมือไป ก็เลือกที่จะจบมันในเวลาที่ตัวเองกำลังถึงขีดสุดเพื่อเป็นตำนานไปเลยก็ได้ อย่างตัวละครตัวหนึ่งในนิยายเรื่องนี้คือริโกะหรือเรียวโกะ

ถ้าพูดกันตามภาษาที่ใช้ในกระแสบ้านเรา เรียวโกะคือ ไอดอล’ (แบบที่คนชอบบันเทิงญี่ปุ่นเขาไม่เรียกกลุ่ม 48 ต่างๆ ว่าเป็นดาราหรือนักร้องนั่นแหละ แต่เป็นไอดอล) ที่มีแฟนคลับมากมาย เรียวโกะปรากฏตัวในโรงพยาบาลร้างด้วยการพรางตัวปิดไม่ให้ใครจำได้ว่าเธอคือคนดัง แม้ว่าหลายต่อหลายคนอยากมี ตัวตนที่สังคมยกย่องเชิดชู แต่กลายเป็นความกดดัน เรียวโกะต้องพยายามทำหรือไม่ทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้ตรงกับสิ่งที่คนอื่นคาดหวัง  ยิ่งทำอะไรเท่าไรยิ่งถูกจับตา ถูกเรียกร้องมากกว่าเดิม จะมีอิทธิพลต่อคนอื่นได้ยิ่งต้องยิ่งพยายามอย่างไม่รู้ว่าจะหยุดได้เมื่อไร  มันต้องฝืนความรู้สึกของตัวเองในหลายๆ เรื่อง  และกลัวจุดจบของมันไม่สวยงามในวันที่ความพยายามนั้นไม่มีคุณค่าแล้ว 

ตัวอย่างของคนที่เคยมีคุณค่า แล้วทำใจกับวันที่มีคนใหม่ขึ้นมาแทนที่ไม่ได้ ก็อย่างเช่นภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Radio Star ตัวละครพักมินซู (แสดงโดยอานซุงกี ดาวค้างฟ้าของเกาหลี) เคยโด่งดังมาก่อน จนกระทั่งมีดาวดวงใหม่มาแทน ทำให้ต้องไปจัดรายการวิทยุในเมืองเล็กๆ เขาก็คือดาราที่เมื่อถึงวันเป็นดาวตก กลับไม่มีใครอยู่ข้างกายนอกจากผู้จัดการส่วนตัว เพราะเหตุผลห้ามมีคนรักเพื่อเอาใจแฟนคลับ ซึ่งมีประโยคหนึ่งชวนคิดจากภาพยนตร์เรื่องนั้นคืออดีตประธานชมรมแฟนคลับของพักมินซู ที่เป็นภรรยาของผู้จัดการส่วนตัวเขานั่นแหละ พูดว่าแฟนคลับไปกดดันให้เขามีชีวิตอย่างที่อยากเป็นไม่ได้ และสุดท้ายวันนึง แฟนคลับก็ไปชื่นชมคนใหม่ แต่ทิ้งให้พักมินซูที่ไม่มีใครไปแล้ว

หรือตัวอย่างจากภาพยนตร์คลาสสิกอีกเรื่องหนึ่งคือ  Sunset Boulevard กลอเรีย สวอนสัน แสดงบทนอร์มา เดสมอน อย่างตรึงตาในความเป็นดาราสาวที่จมไม่ลง เพราะไม่อาจรับที่ตัวเองเสื่อมความนิยมได้ จนถูกผู้ชายเข้ามาหลอก และเกิดเหตุโศกนาฏกรรมตามมา ฉากที่สะเทือนใจคือฉากคนขับรถที่รักเธอมาเสมอ จัดฉากส่งตัวนอร์มาให้ตำรวจอย่างยิ่งใหญ่ ให้เหมือนเธอกำลังถูกรุมล้อมด้วยสื่อที่ยังสนใจชื่อเสียงของเธอ

เรียวโกะก็คือตัวละครนั้น ที่แบกรับความเป็นไอดอลไว้จนไม่มีชีวิตเป็นของตัวเอง ต่อหน้าสื่อเธอมีอิทธิพลมากมาย แต่หลังฉากคือการฝืนใจและไม่มีใคร เธอเลือกจบชีวิตในวันที่มีตัวตนแล้ว เพื่อไม่ต้องพยายามอะไรอีก มิตสึเอะ เด็กสาวอีกคนที่ร่วมพิธีกรรมนี้ด้วย เป็นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับเรียวโกะอย่างรุนแรง เพราะเรียวโกะเป็นคนที่มีโอกาสในชีวิตมากกว่าคนอื่น แต่ชีวิตใครก็เป็นเรื่องที่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะเข้าใจ ว่าเขาแบกอะไรไว้บ้าง มงกุฎที่สวยหรูอาจเป็นน้ำหนักที่กดทับ บีบรัด และต้องเชิดมันไว้ตลอดเวลาไม่ให้มันร่วง จนไม่เหลือความสุข เรียวโกะก็คือตัวสะท้อนภาพด้านมืดที่ไม่มีใครทันสนใจมองของ ‘แรงดิ้นในโลกทุกวันนี้ที่ทุกคนอยากมีตัวตน ในขณะที่ภาพของมิตสึเอะ คือคนที่เอาชีวิตและความสุขไปผูกไว้กับผู้อื่น จนรู้สึกว่า ถ้าสิ่งที่ตัวเองเคยยึดเหนี่ยวรั้งหายไป ชีวิตก็จะไร้พลังและคุณค่าจนลุกขึ้นมาอีกไม่ได้  

ผู้ถูกบงการและผู้บงการ

สำหรับตัวละครทาคาฮิโระความตายของเขาคือการถูกทำให้เกิดมาเพื่อให้ตายทาคาฮิโระเป็นคนพูดติดอ่าง มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ และมักจะถูกแม่บงการอยู่เสมอโดยบอกว่าเขาป่วย ต้องกินยาตลอด ในซีรีส์จากฮอลลีวู้ดเรื่อง The Sharp Object ซึ่งแปลเป็นนิยายไทยชื่อเรื่องสนิทชิดเชือดก็มีตัวละครลักษณะนี้ คือแม่ที่ป่วยทางจิต (บทอาดอร่า แสดงโดยแพทริเซีย คลากสัน) ที่เฝ้าทำร้ายลูกตัวเองแล้วพยายามดูแลประคบประหงม เพื่อบำบัดใจตัวเองให้รู้สึกว่ายังเป็นแม่ที่ดี ตัวทาคาฮิโระเอง รู้ว่าแม่ทำประกันชีวิตไว้ให้ในวงเงินสูง และถ้าเขาตาย แม่จะได้เงินประกัน (มีนิยายญี่ปุ่นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนภาพการทำร้ายจนถึงฆ่าคนใกล้ชิดเพื่อหวังเงินประกัน คือเรื่อง The Black House หรือคฤหาสน์ซ่อนตาย เขียนโดยยุซุเกะ คิชิ ซึ่งเล่าระบบประกันชีวิตในญี่ปุ่นประเด็นหนึ่งว่า ความหละหลวมคือการฆ่าตัวตายก็ได้รับเงินประกัน ทำให้มีหลายกรณีที่ฆ่าตัวตายเพื่อหวังเงินประกันให้ครอบครัว

ทาคาฮิโระถูกแม่ตีกรอบความคิดให้เชื่อว่าคุณค่าของชีวิตของเขาคือความตายเท่านั้น ความเป็นมนุษย์ของเขาถูกลดทอนจากการถูกบงการให้ต้องทำอะไรๆ จนไม่รู้สึกว่ามีชีวิตเป็นของตัวเอง การไม่รู้คุณค่าของตัวเองก็คือการหาทางออก หรือทางไปให้ชีวิตต่อไม่ได้ ดังนั้น เหลือคุณค่าเดียวที่เขาคิดว่ายังพอมีในตัวเอง คือการทำอะไรเพื่อให้แม่ได้รับเงินประกัน ทาคาฮิโระจึงอยู่ในสภาพผู้ถูกบงการให้ต้องตายอย่างอ้อมๆ 

ทาคาฮิโระคือภาพเหมือนตัวแทนของผู้ถูกครอบครัว คนใกล้ชิด บงการอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อพ้นจากพื้นที่ของครอบครัว สังคมเองก็เป็นตัวบงการหรือตีกรอบการใช้ชีวิตของผู้อื่น โดยเลือกตัดสินดีเลวผิดถูกจากฉากหน้าที่คนๆ นั้นเป็น ยิ่งสังคมญี่ปุ่นแล้ว หลายคนคงเคยอ่านข่าวหรือบทความถึงความเครียดของคนประเทศนี้ คนไหนถูกตีกรอบว่าเป็นคนไม่ดี แค่ใช้การเมินเฉยเข้าใส่ก็กดดันแทบบ้า ยังไม่ต้องถึงขั้นการกลั่นแกล้งรังแกที่ญี่ปุ่นก็มีอัตราสูงมาก 

ตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องคือ ไม เด็กสาวที่เลือกจะมาฆ่าตัวตายก็เพราะกลัวการกดดันตีตราจากสังคมว่าเธอเลว เพราะเธอเคยเผลอจูบกับผู้ชายแปลกหน้าแล้วติดเริมมาเท่านั้น สำหรับคนอื่น เริมอาจเป็นโรคธรรมดาสามัญที่พอแสดงอาการก็รักษาไปเป็นรอบๆ แต่สำหรับไม มันคือเรื่องใหญ่เพราะเป็นโรครักษาไม่หายขาด และเป็นโรคที่ทำให้สังคมโยนเธอเข้าไปในกรอบคนไม่ดีเหตุผลของไมอาจฟังดูไร้สาระที่สุด แต่มันก็สะท้อนใจให้เราคิดว่า สังคมญี่ปุ่นมันกดดันขนาดไหนกันนะ

ขณะเดียวกัน ตัวละครอีกตัวหนึ่งคือ ‘เมโกะ’ เลือกจะใช้ความตายของเธอให้ทิ้งร่องรอยเพื่อบงการชีวิตพ่อของตัวเอง เมโกะเป็นคนมีปัญหาครอบครัวที่พ่อไล่แม่ออกจากบ้าน และเมื่อมีคนใหม่มาแทนก็ไม่เคยอยู่กับพ่อได้ยืดยาว ขณะเดียวกัน ธุรกิจของพ่อเมโกะก็ประสบปัญหาอย่างหนัก การตายของเมโกะจะทำให้พ่อได้รับเงินประกันชีวิตจำนวนมหาศาลมาต่อลมหายใจให้กิจการ และจะทำให้พ่อไม่สามารถลืมเธอ หรือทอดทิ้งเธอเหมือนที่เคยทอดทิ้งแม่หรือผู้หญิงคนก่อนๆ ได้ เพราะทุกครั้งที่จ่ายเงิน จะมีคำว่า ‘นี่คือค่าลมหายใจของลูกสาวอยู่ในสำนึกตลอด บางครั้งความตายก็คือความต้องการทิ้งความรู้สึกผิดบาปให้คนอยู่เบื้องหลังมากกว่าการตัดช่องน้อยแต่พอตัว 

สำหรับเมโกะ ความตายคือวิธีการบงการพ่อที่มองไม่เห็น และสร้างความรู้สึกผิดบาปให้พ่อที่เธอทั้งรักทั้งชัง วัยรุ่นอย่างเมโกะกับทาคาฮิโระ อาจยังเป็นวัยที่มีวิธีคิดผูกรั้งอยู่กับการยึดเหนี่ยวใครสักคนไว้พึ่งพา แม้จะเป็นคนที่ทำร้ายเราก็ตาม ไม่กล้าแสวงหาอิสรภาพไปไหนเพราะความผูกพันหรือเพราะไม่มีทางออกอื่น  หรือมันคล้ายๆ กับอาการที่เรียกว่า ‘สต๊อกโฮล์มซินโดรมคือเห็นอกเห็นใจ เข้าใจคนที่ทำร้ายเรา 

ความตายเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ความต้องการปลิดชีวิตตัวเองของตัวละครทั้ง 12 ตัวแตกต่างกัน แต่การรวมกลุ่มจะทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ให้สังคมสนใจมองมา และคนที่ฆ่าตัวตายหมู่อาจต้องการส่งสัญญาณให้สังคมแก้ไขปัญหาอะไรบางอย่าง ไม่ใช่การแก้ไขแบบล้อมคอก ที่เมื่อเกิดการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งก็หาสาเหตุกันทีหนึ่ง ได้บทสรุปกันทีหนึ่ง แล้วเรื่องก็เลือนหายไปในสังคมที่ยังกดดัน แก่งแย่งแข่งขันกันวุ่นวาย ปัญหาเดิมๆ เวียนกลับมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

ตัวละครที่ต้องการให้การตายหมู่ได้มีส่วนถ่ายทอดอุดมการณ์ของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนสังคมที่ชัดเจนที่สุดคือตัวอันริ เธอถือว่า ความตายคือสิทธิของแต่ละคน (อย่างที่ในบางประเทศเริ่มยอมรับการการุณยฆาต) อันริบอกว่าการมีชีวิตอยู่แต่เดิมคือหน้าที่ แต่ถูกบังคับให้เชื่อว่าเป็นสิทธิและมาจำกัดเงื่อนไขลิดรอนเสรีภาพในการมีชีวิตเหตุผลของอันริยังวิพากษ์ไปถึงระบบรัฐสวัสดิการในญี่ปุ่น ที่มันก็ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนไร้บ้าน คนมีลูกเมื่อไม่พร้อม และสร้างปัญหาให้สังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยถูกนำมาตีแผ่นัก 

เรามักจะเห็นภาพหนังญี่ปุ่น การท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่สวยงาม วัฒนธรรมซับซ้อนและมีสีสัน แต่ญี่ปุ่นก็มีมุมมืดแบบทุนนิยมซ่อนอยู่มาก  เมื่อปีที่ผ่านมา มีกระแสข่าวที่ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งไม่พอใจหนังเรื่องShoplifters ครอบครัวที่ลักของผู้กำกับโคเระเอะดะ ฮิโระคะสุ ซึ่งได้รางวัลปาล์มทองจากเทศกาลเมืองคานส์  เพราะมันเหมือนเป็นการตีแผ่ด้านร้ายๆ ในประเทศที่เขาไม่อยากให้ใครเห็นเพิ่มอีก (เหมือนที่ไทยเองก็พยายามพูดว่าตัวเองคือเมืองพุทธและปิดปัญหาบางอย่าง

สิ่งที่อันริเรียกร้องคือ คนที่เกิดมาแล้วชีวิตมีปัญหา เขาก็ไม่อยากเกิด ซึ่งแนวคิดของอันริสุดโต่งไปถึงขั้นที่ว่ารัฐบาลควรมีสวัสดิการให้คนที่ไม่พร้อมคุมกำเนิด และมีค่าตอบแทนในการยอมทำตามนโยบาย เพื่อไม่ให้ต้องมีเด็กเกิดมาแล้วแบกรับภาระที่หนักหนาของชีวิต ทั้งกลุ่มคนติดยาเสพติด ผู้ป่วยโรคร้าย หรือคนไร้ความรับผิดชอบที่เลี้ยงลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ควรได้ทำสัญญารับสวัสดิการนี้ (เช่นที่เราเห็นภาพแม่ไร้ความรับผิดชอบจากหนังเรื่อง Nobody Knows ของโคเระเอะดะ ฮิโระคะสุ

ตัวอันริเองเกิดมาด้วยความทรมาน และน่าจะร่างกายไม่สมบูรณ์เพราะเกิดจากแม่ที่ป่วยซิฟิลิส ก่อนอันริอยากจะฆ่าตัวตาย เธอไม่อยากเกิดมาตั้งแต่แรก คนที่เคร่งเครียดกับการฆ่าตัวตายหมู่ที่สุดจึงเป็นอันริ เพื่อตะโกนให้เสียงของเธอดังไปยังสังคมว่า ควรจะทบทวนเรื่องคำว่าสิทธิ’ ใหม่ดีไหม และเธอยังโน้มน้าวทุกคนว่า ต่างก็เกิดมาและถูกกดดัน ยัดเยียด สิ่งที่ตัวเองไม่ปรารถนา การเกิดไม่ใช่เจตจำนงเสรี แต่ความตายอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้

สุดท้าย การฆ่าตัวตายหมู่จะสำเร็จหรือไม่ ใครคือศพที่ 13 ก็เป็นสิ่งที่อยากให้ไปหาคำตอบเอง ให้เปิดมุมคิดเกี่ยวกับความทุกข์ที่มีหลากหลายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง แต่ความทุกข์ของคนเรามักจะเกิดจากกรงทั้งตั้งแต่ระดับครอบครัวหรือระดับสังคมครอบขังและบงการเราอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะหาทางออกจากกรงนั้นอย่างประนีประนอมได้อย่างไร เพราะเราต่างก็มีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและเป็นสมาชิกของสังคม สิ่งสำคัญคือการแสวงหาคุณค่าของตัวเองให้พบเป็นอันดับแรก และกล้าจะสู้เพื่อรักษาคุณค่านั้น   

Tags: , ,