ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกลายเป็นชนวนให้เกิดข่าวลือเกี่ยวกับต้นตอของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ บ้างว่าอเมริกาปล่อยอาวุธชีวภาพ บ้างว่าห้องแล็บจีนหละหลวมปล่อยเชื้อเล็ดรอด ข่าวลือเหล่านี้มีเชื้อมูลจากอดีต สหรัฐฯ เคยพัฒนาอาวุธเชื้อโรค ห้องปฏิบัติการของจีนย่อหย่อนในด้านความปลอดภัย

นับจนถึงเมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันเสาร์ (7 มี.ค.) ตามเวลาไทย เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้วใน 95 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 100,000 คน ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นกว่า 3,500 ราย ประเทศที่ระบาดหนักที่สุด คือ จีน เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ฝรั่งเศส และเยอรมนี

ถึงแม้วงการแพทย์ลงความเห็นว่า ไวรัสใหม่ชนิดนี้เกิดจากการผ่าเหล่าตามธรรมชาติ แพร่จากสัตว์มาสู่คน แต่นั่นดูจะไม่สามารถยับยั้งเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่า ที่มาของการระบาดเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ข่าวลือสำนักหนึ่งโยนให้เป็นฝีมือของอาวุธชีวภาพของอเมริกัน อีกสำนักหนึ่งโบ้ยให้เป็นความประมาทพลาดพลั้งของห้องแล็บในจีน

เหตุที่ข่าวลือจากสำนักทั้งสองมีคนเชื่อตามเป็นจำนวนไม่น้อยนั้น เป็นเพราะมีข้อเท็จจริงในอดีตเป็นเชื้อมูล

สหรัฐฯ สร้างอาวุธตัดต่อพันธุกรรม?

ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างเคยสนใจที่จะสร้างอาวุธชีวภาพ ว่ากันว่าสหรัฐฯ เคยพัฒนาสำเร็จมาแล้ว เพียงแต่ไม่เคยนำมาใช้ ในขณะที่จีนเคยสำรวจลู่ทางที่จะพัฒนา แต่ต่อมาได้ล้มเลิกไป

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ มีอาวุธเชื้อโรคในครอบครอง แต่ตัดสินใจไม่ส่งเข้าสู่สนามรบด้วยเหตุผลหลายอย่าง คือ เห็นผลช้า พวกเดียวกันเองอาจติดเชื้อ อานุภาพขึ้นอยู่กับสภาพลมฟ้าอากาศ และพื้นที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคเป็นเวลานานเกินกว่าที่ต้องการ

ถึงแม้ไม่ได้นำมาใช้ สหรัฐฯ ยังคงเก็บสะสมและเดินหน้าพัฒนาอาวุธชนิดนี้จนกระทั่งหลังสงครามท่ามกลางกระแสรณรงค์ต่อต้านในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ต่อมา สหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันให้นานาชาติล้มเลิกโครงการอาวุธเชื้อโรค ด้วยการริเริ่มเจรจาจัดทำอนุสัญญาอาวุธชีวภาพ (Biological Weapons Convention)

ข้างฝ่ายจีนนั้นเริ่มสนใจอาวุธชีวภาพในฐานะเป็นขีดความสามารถในการป้องปรามหลังสงครามโลกผ่านพ้นไป ในปี 1951 นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล มีบัญชาให้ก่อตั้งสถาบันการแพทย์ทหาร เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันประเทศโดยใช้สารชีวภาพ

อย่างไรก็ดี หลังจากพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จนมั่นใจในขีดความสามารถด้านการป้องปรามของตัวเองแล้ว ในปี 1984 จีนได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาอาวุธชีวภาพ และต่อมาเมื่อจีนหันไปทุ่มเทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ โครงการวิจัยด้านชีวภาพของจีนจึงเบนเข็มไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในทางพลเรือน เช่น การผลิตยาต้านมาลาเรีย ล่าสุดเมื่อปี 2014 สถาบันดังกล่าวได้พัฒนายา 2 ตัวสำหรับสู้กับไวรัสอีโบลา

ต่างฝ่ายต่างไม่เชื่อใจกัน 

แม้ต่างยอมรับข้อตกลงนานาชาติที่ว่า แต่ประเทศทั้งสองยังคงเคลือบแคลงใจในกันและกัน ว่า อีกฝ่ายได้ปฏิบัติตามพันธะของอนุสัญญา ที่จะไม่พัฒนา ครอบครอง และนำอาวุธชีวภาพมาใช้ จริงแท้แค่ไหน

รายงานของรัฐบาลอเมริกันหลายฉบับกล่าวหาว่า จีนยังคงครอบครองขีดความสามารถที่จะใช้อาวุธชีวภาพในเชิงรุก โดยอาศัยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้าที่จะเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา อดีตเจ้าหน้าที่กลาโหมอเมริกันคนหนึ่งบอกว่า จนถึงเมื่อทศวรรษ 1990 จีนได้ผลิตสารชีวพิษและจุลชีพก่อโรคหลายชนิด และมีวิธีนำส่งหลายแบบ ทั้งด้วยขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธทิ้งตัว

ฝ่ายจีนยังคงมองสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามด้านสงครามเชื้อโรคเช่นกัน ภายหลังการระบาดของโรคซาร์สเมื่อช่วงปี 2002-2003 ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของจีนคนหนึ่งพูดถึงฉากสถานการณ์ที่ข้าศึกปล่อยเชื้อโรคคล้ายซาร์สระหว่างเปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อกรุงปักกิ่ง อีกคนหนึ่งบอกว่า ในเมื่อสหรัฐฯ สามารถพัฒนาเชื้อแอนแทร็กซ์ที่ดื้อยาปฏิชีวนะขึ้นใหม่ได้สายพันธุ์หนึ่ง จึงมีความเป็นไปได้ว่า วอชิงตันได้แปลงเชื้อซาร์ส์และเชื้อหวัดนกเป็นอาวุธ

เมื่อปี 2007 นักวิจัยด้านการทหารของจีนผู้หนึ่งตีพิมพ์บทความกล่าวหาว่า สหรัฐฯ กำลังใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ พัฒนาสารชีวภาพหลายชนิดเพื่อใช้เป็นอาวุธ พร้อมกับกล่าวอ้างว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สุดที่ว่า สปอร์ของเชื้อแอนแทร็กซ์ที่ถูกส่งไปยังห้องทำงานของวุฒิสมาชิกอเมริกันหลายคนเมื่อปี 2001 นั้น มีต้นตอจากห้องแล็บทางทหารของสหรัฐฯ

ห้องแล็บจีนประมาทเลินเล่อ?

จนถึงขณะนี้ วงการแพทย์ค่อนข้างปักใจเชื่อว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีต้นตอจากสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว หรืองู แล้วแพร่มายังสัตว์บางชนิดที่คนกิน เช่น ตัวนิ่ม อย่างไรก็ตาม บางเสียงให้ข้อสันนิษฐานว่า เชื้อชนิดนี้อาจหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการในจีน เนื่องจากมีการละเมิดกฎเหล็กในเรื่องการฆ่าเชื้อ

ทฤษฎีหลังนี้ชี้นิ้วไปยังสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น อันเป็นที่ทำงานของ ดร.ฉือเจิ้งลี่ ผู้เสนอผลงานวิจัยที่ระบุว่า ค้างคาวเป็นแหล่มฟูมฟักของโคโรนาไวรัสชนิดที่คล้ายกับเชื้อซาร์ส อย่างไรก็ดี เธอปฏิเสธเสียงแข็งว่า สถาบันแห่งนี้ไม่ใช่ต้นตอของโควิด-19

บุคลากรอีกคนของสถาบันแห่งนี้ที่ถูกเพ่งเล็ง คือ ตัวผู้อำนวยการสถาบัน หวังเอียนอี้ โดยนักชีววิทยาชื่อดังชาวจีน เหราอี้ โพสต์ข้อความว่า หวังไม่ได้มีผลงานวิชาการโดดเด่น เหตุที่ได้ดิบได้ดีก็เพราะระบบอุปถัมภ์ อีกข้อความหนึ่งกล่าวหาว่า หวังได้ละเมิดกฎความปลอดภัย โดยขายสัตว์ในห้องแล็บให้แก่ตลาดสด

ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซาท์ไชน่า เสนอข้อสรุปว่า ไวรัสตัวนี้อาจจะหลุดออกมาจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคอู่ฮั่น ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดอาหารทะเลหูหนานแค่ 280 เมตร และยังบอกด้วยว่า นักวิจัยคนหนึ่งถูกค้างคาวที่มีเชื้อโคโรนาไวรัสกัด นักวิจัยคนนั้นได้กักบริเวณตัวเองเพราะเลือดของค้างคาวกระเซ็นมาถูกผิวหนัง

บทความนี้ได้ถูกถอดออกจากเว็บเผยแพร่ผลงานวิจัย ResearchGate ในเวลาต่อมา จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการยืนยันหรือปฏิเสธข้อสรุปของรายงานชิ้นนี้

ก่อนหน้าการระบาดครั้งนี้ ห้องแล็บในจีนเคยตกเป็นจำเลยสังคม ว่า เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อมาแล้วหลายครั้ง เมื่อปี 2004 ห้องแล็บของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคในกรุงปักกิ่งถูกระบุว่าละเมิดหลักปฏิบัติด้านความปลอดภัย ส่งผลให้มีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อซาร์ส 4 คน ในจำนวนนี้ได้เสียชีวิต 1 ราย

เมื่อปี 2019 พนักงานของสถาบันวิจัยสัตวแพทย์หลานโจว จำนวน 65 คน ติดเชื้อบรูเซลโลซิส ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มาจากสัตว์เลี้ยง และเมื่อเดือนมกราคม 2020 นักวิทยาศาสตร์จีน หลี่หนิง ถูกสั่งจำคุก 12 ปี โทษฐานขายสัตว์ทดลองให้ตลาดในท้องถิ่น

ท่ามกลางการคาดเดาเกี่ยวกับต้นตอของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ความเคลื่อนไหวของทางการจีน 2 กรณีทำให้ทฤษฎี ‘ห้องแล็บทำงานสะเพร่า’ ได้รับความสนใจมากขึ้น

กรณีแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จีนแต่งตั้งพันเอกเฉินเหว่ย ผู้เชี่ยวชาญตัวกลั่นด้านสงครามชีวภาพ เป็นหัวหน้าห้องแล็บของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ซึ่งถูกลือว่าเป็นแหล่งที่มาของเชื้อ กรณีที่สอง ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดหลักความปลอดภัยด้านชีวภาพโดยเคร่งครัด

โควิด-19 มาจากไหน รอฟังรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ เป็นดีที่สุด.

อ้างอิง:

Foreign Affairs, 5 March 2020

Al-Jazeera, 5 March 2020

Washington Post, 5 March 2020

 

ภาพ: STR / AFP

Tags: , , , ,