Seattle Against Slave ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ ทำแคมเปญออนไลน์เพื่อลดการซื้อขายประเวณีโดยไม่ยินยอม ระหว่างปี 2016-2018 ส่งผลให้การค้นคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับการขายประเวณี ในซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา อาทิ ‘teen escort’ ลดลงถึงร้อยละ 50
แคมเปญของ Seattle Against Slave ประกอบด้วยสองส่วน ในส่วนแรกพวกเขาได้ลงโฆษณาออนไลน์ปลอมเกี่ยวกับการขายประเวณี และออกแบบระบบให้คนที่กดเข้ามาพูดคุยกับแชตบอตที่จะปลอมตัวเป็นพนักงานขายประเวณี ซึ่งแชตบอตจะหายไปหลังจากบทสนทนาสั้นๆ หรืออาจส่งข้อความเตือนกลับไปหาอีกฝ่ายถึงความผิดฐานซื้อประเวณี
โรเบิร์ต บีเซอร์ อดีตผู้อำนวยการของ Seattle Against Slavery กล่าวว่า แชตบอตดังกล่าวถูกพัฒนาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน เพราะบทสนทนาในลักษณะนี้มักเป็นอะไรที่ซ้ำๆ และไม่แปลกใหม่ โดยตลอดระยะเวลาที่ดำเนินแคมเปญ แชตบอตได้พูดคุยกับคนไปแล้วถึง 15,000 คน และคุยมากถึง 19,000 บทสนทนา
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลปรากฏว่า คนที่ได้รับข้อความเตือนมีความเป็นไปได้ที่จะลดความสนใจในโฆษณาซื้อขายประเวณีถึงร้อยละ 30
ส่วนที่สอง พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกูเกิลให้ลงโฆษณาในสปอนเซอร์ลิงก์ฟรีกว่าสองล้านโฆษณา โดยจะขึ้นข้อความเตือนง่ายๆ แก่ผู้ที่ค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายประเวณี ถึงความเสี่ยงในการซื้อบริการทางเพศแบบออนไลน์ อาทิ “คุณอาจถูกจับจากการซื้อบริการทางเพศออนไลน์” หรือ “คุณอาจเป็นต้นเหตุความทุกข์ทรมานของเหยื่อค้ามนุษย์ จากการซื้อบริการทางเพศออนไลน์” ตามด้วยลิงก์การบริการให้คำปรึกษาและกลุ่มให้ความช่วยเหลืออื่นๆ
โรเบิร์ตได้นำเสนอข้อค้นพบจากแคมเปญดังกล่าวในการประชุม American Association for the Advancement of Science ที่ซีแอตเทิล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า “ในระยะเวลาสั้นๆ แคมเปญของเราเข้าถึงคนหลายแสนคนในซีแอตเทิลที่ค้นคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ซึ่งมันได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อตลาดการซื้อขายประเวณี”
โรเบิร์ตกล่าวว่า แม้ว่าไม่ใช่ผู้ค้าประเวณีทุกคนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แต่จากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยผ่านการค้ามนนุษย์ก็ระบุว่า การซื้อขายประเวณีมหาศาลอยู่บนโลกออนไลน์ ทั้งนี้ เว็บไซต์เหล่านั้นไม่ได้อยู่ในโลกใต้ดินแต่อย่างใด แต่เป็นเว็บไซต์ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ เพียงแค่ค้นหาในกูเกิลเท่านั้น
“ในบางครั้ง การซื้อประเวณีจากเหยื่อค้ามนุษย์ก็ทำได้ง่ายกว่าสั่งพิซซ่าเสียอีก” โรเบิร์ตกล่าว
ล่าสุด Seattle Against Slavery ได้ผลักดันแคมเปญนี้สู่ขั้นต่อไป โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการช่วยเหลือเหยื่อที่มีความเป็นไปได้ว่าถูกนำมาค้ามนุษย์ ผ่านระบบค้นหาอัตโนมัติที่สามารถเก็บเบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เกี่ยวกับการค้าประเวณีได้ โดยขณะนี้เก็บได้มากกว่า 21,000 หมายเลข นอกจากนี้ ยังมีผู้ตอบรับขอความช่วยเหลือกลับมายังระบบกว่า 2,000 ราย
ที่มา:
ภาพจาก Reuters
Tags: AI, กูเกิล, การค้ามนุษย์, การค้าบริการทางเพศ