เมื่อปลายปี 2018 มีข่าวฮือฮาในแวดวงสังคมออนไลน์ เมื่อ เว็บไซต์ทัมเบลอร์ (Tumblr) ประกาศตัวจะแบนภาพโป๊ ซึ่งกรณีของทัมเบลอร์นั้นพิเศษ เพราะทัมเบลอร์เป็นบริการเว็บบล็อกที่ผู้ใช้ปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ของตัวเองได้ และเป็นแหล่งรวมเนื้อหา NSFW (Not Safe For Work – ไม่เหมาะที่จะดูในที่ทำงาน) มาโดยตลอด เมื่อทัมเบลอร์ประกาศจะแบนเนื้อหาลามกจึงเกิดกระแสต่อต้านจากผู้ใช้มากมาย 

ทั้งนี้ ความพยายามแบนภาพโป๊ มีประเด็นเกี่ยวกับ ‘ปัญญาอัจฉริยะ’ หรือ AI ตรงที่เจ้าสมองกลดูจะแยกแยะภาพโป๊ไม่ค่อยได้ ถึงขั้นมีแฮชแท็กยอดฮิตในทวิตเตอร์ว่า #toosexyfortumblr  (เซ็กซี่เกินไปสำหรับTumblr)

ความจริงจังเรื่องการคัดกรองภาพโป๊ของ Tumblr

ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทัมเบลอร์เจอปัญหาใหญ่ โดนแบนจากแอปสโตร์เพราะจับได้ว่า มีภาพโป๊ของผู้เยาว์อยู่ในโซเชียลมีเดียนี้ 

ปัญหาเรื่องเนื้อหาทางเพศบนอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องใหม่ ตามสถิติแล้ว กว่า 70 เปอร์เซนต์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์และแท็บเล็ตเข้าถึงเนื้อหาลามก แต่สำหรับทัมเบลอร์ มันกลายเป็นสังคมออนไลน์ของสื่อโป๊ เพราะผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องแสดงตัว และทัมเบลอร์มีลักษณะแบบเว็บบล็อก ไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องข่าว สเตตัสของเพื่อน แบบในเฟซบุ๊กก็ได้ 

ทัมเบลอร์เคยพยายามแก้ปัญหาเรื่องสื่อโป๊ด้วยการปรับอัลกอริทึ่มให้แสดงเนื้อหาแบบอื่นที่ไม่ใช่ภาพลามก เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับเนื้อหาที่หลากหลาย ก่อนจะประกาศจะแบนสื่อโป๊ทั้งหมดเมื่อธันวาคม 2018 โดยใช้ AI คัดกรอง ซึ่งก็พบกับปัญหาว่า ระบบมักกรองภาพผิดๆ ถูกๆ ภาพที่ไม่โป๊ก็จัดว่าเป็นภาพโป๊ และจนถึงเวลานี้ ทัมเบลอร์ก็ยังคงมีภาพลามกอยู่ แม้จะไม่มากเท่าเดิมและไม่ฮาร์ดคอร์เท่าก่อนหน้านี้ แต่ก็ชวนสงสัยว่า ทัมเบลอร์จงใจปล่อยให้มีเนื้อหาลามก หรือว่าทำได้ไม่สำเร็จกันแน่

การคัดกรองเนื้อหาลามกด้วย AI

คอลัมน์จาก The Verge เล่าถึงปัญหาของการใช้  AI ในการระบุเนื้อหาลามกว่า ความยุ่งยากอยู่ตรงที่ว่า มาตรฐานในการแบ่งว่าอะไรลามกหรือไม่ลามกของมนุษย์ไม่มีความชัดเจน การคัดกรองด้วยการระบุว่า ภาพลามกคือภาพเปลือย ก็จะทำให้ภาพนู้ดและงานศิลปะถูกแบนไปด้วย กรณีนี้เคยเกิดขึ้นกับเฟซบุ๊กมาแล้ว ที่เซ็นเซอร์ภาพ Liberty Leading the People ของ Eugene Delacroix. 

นอกจากนี้ เนื้อหาลามกก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นภาพเปลือยก็ได้ การจะฝึกให้ AI เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับสื่อลามก ก็อาจจะไม่การันตีได้ว่า AI จะรู้จักเนื้อหาลามกได้ทั้งหมด เพราะเนื้อหาลามกสัมพันธ์กับรสนิยมทางเพศ ซึ่งมีแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ

“ลามกอนาจาร”คำที่นิยามไม่ได้

 ปัญหาเรื่องสื่อลามกเป็นข้อถกเถียงระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกและการเซ็นเซอร์ ซึ่งปัญหานี้มีมาตลอดตั้งแต่มีสื่อโป๊ คำว่า Pornography มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกที่พูดถึงงานเขียนเกี่ยวกับโสเภณี แต่ในทางปรัชญาแล้ว ข้อถกเถียงซับซ้อนมากขึ้น เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่เกี่ยวข้องกับแนวคิดแบบเฟมินิสต์ที่วิพากษ์วิจารณ์การให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงอีกด้วย

และเมื่อพูดถึงปัญหาเสรีภาพในการแสดงออกที่เกี่ยวกับสื่อลามก ความเห็นของผู้พิพากษาพอตเตอร์ สจ๊วร์ต ในคดีฟ้องร้องห้ามฉายภาพยนต์เรื่อง The Lover ที่ถูกกล่าวหาว่าลามก มักถูกอ้างถึงอยู่บ่อยๆ ซึ่งเขาแสดงความเห็นเอาไว้ว่า เขาให้คำนิยามสื่อลามกไม่ได้ แต่จะรู้ทันทีถ้าได้เห็นมัน  (I know it when I see it) คำกล่าวนี้ถูกใช้อ้างเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก และมีผลทำให้ภาพยนต์เรื่องนี้ไม่ถูกห้ามฉาย

ปัญหาของการนิยามสื่อลามกคือ ไม่สามารถหาคำนิยามที่ชัดเจนได้ เพราะว่านิยามมาตรฐาน มักหมายถึงสื่อที่แสดงถึงเรื่องเพศหรือเปิดเผยอวัยวะเพศ แต่นั่นทำให้หนังสือเรียนกายวิภาคหรืองานศิลปะหลายๆ ชิ้นเข้าข่ายลามกอนาจารทันที 

นิยามถัดมาซึ่งพยายามเลี่ยงปัญหาในข้อแรก คือ สื่อที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศแก่ผู้ชม แต่นิยามนี้มีปัญหา เพราะความรู้สึกของผู้ชมไม่เกี่ยวข้องกับเจตนาของสื่อ 

และนิยามอีกแบบที่พยายามแก้ปัญหานิยามก่อนหน้า ก็คือ สื่อที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศแก่ผู้ชมซึ่งอาจจะทำให้เกิดผล ‘ด้านลบ’ ข้อนี้อาจสัมพันธ์กับจุดยืนแบบเฟมินิสต์ด้วย เพราะสื่อที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศถือเป็นความรู้สึกด้านลบไปด้วย นิยามแบบนี้ทำให้สื่อแยกประเภท Erotica ออกจาก Pornography นั่นก็คือ Erotica เป็นสื่อที่ไม่ได้ลดคุณค่าของผู้หญิงลงเป็นวัตถุทางเพศ 

AI ไม่ใช่ปัญหา

ความยุ่งยากในการแบนภาพโป๊ออกจากสังคมออนไลน์ คือ การไม่มีมาตรฐานที่จะบอกว่าถูกหรือผิดได้อย่างชัดเจน และเนื้อหาที่กระตุ้นรสนิยมทางเพศก็มีหลากหลายจนไม่สามารถบอกได้ว่าแบบใดเข้าข่ายลามกบ้าง

นอกจากนี้ การที่ AI คัดกรองสื่อโป๊พลาด เช่น สกรีนสื่อโป๊ออกไปแล้วแต่ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศอยู่ในสังคมออนไลน์ ก็อาจจะเป็นความผิดพลาดของโปรแกรม เพราะส่วนสำคัญก็มาจากผู้ใช้ที่พยายามเพิ่มเนื้อหาเข้าไปในระบบ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีใครควบคุมเนื้อหาได้ เช่นเมื่อรัฐบาลอังกฤษพยายามออกกฏหมายเพื่อจะกำหนดอายุของผู้เข้าถึงสื่อลามกอนาจาร แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะการบล็อคจะทำให้เยาวชนสามารถใช้วิธีอื่นๆ เช่น ใช้ VPN เข้าถึงข้อมูลที่ปิดกั้นได้อยู่ดี 

ในเมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ควบคุมเนื้อหาได้ยาก และการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อก็ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก สิ่งที่อาจควรพิจารณามากที่สุด คือการควบคุมเนื้อหาเรื่องเพศบนอินเทอร์เน็ต เช่น การจัดประเภทหรือจำกัดแหล่งข้อมูลที่เผยแพร่เนื้อหาเรื่องเพศ มากกว่าการมุ่งไปที่การสร้างมาตรฐานทางศีลธรรม และตีตราว่าสิ่งลามกเป็นสิ่งไม่ดี หรือทำให้เนื้อหาลามกกลายเป็นสิ่งผิดกฏหมายทั้งหมด เพราะมันไม่ได้ลดปัญหาการแพร่ระบาดของสื่อลามกบนอินเทอร์เน็ตเลย 

กรณีของ Tumblr ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับเพศ เมื่อมันถูกใช้เพื่อเข้าถึงเนื้อหาลามก มันก็กระทบกับภาพลักษณ์ของแพลตฟอร์มด้วย แตกต่างกับเว็บไซต์อย่าง Pornhub ที่มีจุดยืนชัดเจนและทำประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากผู้เข้าชม แม้แต่แคมเปญรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมของ Pornhub ก็ยังดูเป็นเรื่องสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายหนังโป๊บนชายหาดที่เต็มไปด้วยขยะเพื่อรณรงค์เรื่องขยะพลาสติกในทะเล  หรือการปลูกต้นไม้หนึ่งต้นเมื่อมีการเข้าชมวิดีโอครบ 100 ครั้ง และ Pornhub รายงานว่าได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า หนึ่งหมื่นสามพันต้น 

อย่างไรก็ตาม การควบคุมเนื้อหาอนาจารบนอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่ทั้งการส่งเสริมหรือปิดกั้นสื่อลามก แต่การยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่ารังเกียจ อาจจะชวยลดความอยากรู้อยากเห็น และช่วยให้เยาวชนและพลเมืองเข้าใจว่า เรื่องเพศที่ถูกต้องและปลอดภัยคืออะไร

Tags: , ,