รุ่นพี่คนหนึ่งย้อนความหลังครั้งที่ไปขลุกอยู่ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่า เขาได้พบกับนักเขียนยุโรปคนหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ตลอดเวลาที่บ้านเกิด เข้า-ออกงาน และท่องเที่ยวเป็นว่าเล่น

เขาแค่อยากเขียนหนังสือไปวันๆ ชายยุโรปคนนั้นตอบ 

ฟังดูเอาแต่ใจที่สุด แต่เป็นไปได้เพราะรัฐบาลของประเทศยุโรปบางประเทศ ออกกฎหมายรองรับคนที่ไม่มีงานทำด้วยการมอบเงินสวัสดิการ จำนวนอาจไม่มากแต่เพียงพอให้มีกินครบสามมื้อ ยังพอให้วางใจค่อยๆ คิด ค่อยคลำทางให้ชีวิตต่อ

แต่มีบางแนวคิดที่ไปไกลกว่านั้น แนวคิดที่ว่าด้วย รัฐที่เกิดมาเพื่อรับใช้ประชาชน รัฐที่โอบอุ้มประชาชนในทุกด้าน การศึกษา คลองที่ใส ไฟที่ติด ตลอดจนค่าใช้จ่ายยังชีพเบื้องต้นทุกเดือน 

สหรัฐอเมริกา หยาง และเงินเดือนให้เปล่า

ความเชื่อว่า ประชาชนทุกคนควรมีชีวิตที่หลุดพ้นจากวงจรความยากจน สามารถทำงานที่ตัวเองถนัดได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงรายได้ เพื่อให้มนุษย์ได้แสดงศักยภาพและพลังสร้างสรรค์สูงสุดออกมา โดยมีแรงงานหุ่นยนต์ทำงานในระบบแทนที่ ทำให้มีการกลับมาพูดถึงแนวคิดที่เรียกว่า เงินเดือนให้เปล่า (universal basic income) หรือการที่รัฐจ่ายเงินให้กับประชาชนทุกเดือน โดยไม่เกี่ยงว่าจะรวยหรือจน 

แอนดรูว์ หยาง ปราศรัย ที่อนุสรณ์สถานลินคอล์น วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา 15 เม.ย.  2019 (ภาพ: REUTERS/Joshua Roberts)

อันที่จริงแนวคิดดังกล่าวได้รับการพูดถึงครั้งแรกในหนังสือ Utopia ของ โทมัส มอร์ และในเวลาต่อมาก็ถูกนักเคลื่อนไหวและผู้มีอำนาจทางการเมืองหลายคนให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์, ริชาร์ด นิกสัน หรือหนึ่งในผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ธอมัส เพนน์ 

ผู้บุกเบิกนวัตกรรมแห่งยุคสมัยปัจจุบันอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็เคยกล่าวสนับสนุนแนวคิดนี้ว่า “เวลานี้เป็นเวลาที่เราควรร่างสัญญาประชาคมฉบับใหม่สำหรับยุคสมัยของเรา เราควรศึกษาแนวคิดเงินเดือนให้เปล่า เพื่อให้ทุกคนมีเบาะรองรับสำหรับการทดลองสิ่งใหม่” หรือซีอีโอของเทสลา (Tesla) อย่าง อีลอน มัสก์ ก็ออกมาแสดงความเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวคือหนทางที่อาจจะเป็นในอนาคต เมื่อ AI เข้ามาแย่งงานของมนุษย์ทั้งหมด

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ครองความยิ่งใหญ่ในหลายด้านของโลก หนึ่งในนั้นคือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ทั้งที่ร่ำรวยเงินทองและอุดมไปด้วยทรัพยากรมากมาย อเมริกันชนเกินครึ่งกลับมีรายได้แบบชนิด ‘เดือนชนเดือน’ และแทบจะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่ฉุกเฉินได้เลย นอกจากนี้ AI อาจทำให้แรงงานจำนวนมากต้องตกงานภายในไม่เกิน 12 ปี หนึ่งในนั้น คือ ธุรกิจขนส่งด้วยรถบรรทุก ซึ่งมีแรงงานอยู่ในระบบมากกว่า 12 ล้านคน

นายแอนดรูว์ หยาง (Andrew Yang) หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จากพรรคเดโมแครต นำแนวคิดดังกล่าวมาออกแบบนโยบายที่เขาเรียกว่า ‘ปราศจากการแบ่งแยก (free divided)’ โดยรัฐจะมอบเงินจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนหรือ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ให้แก่ผู้ที่มาอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไปจนตลอดชีวิต

แน่นอนว่าทุกคนชอบของฟรี แต่คำถามสำคัญที่ทุกคนสงสัยคือ รัฐจะนำเงินจำนวนมากขนาดนั้นมาจากไหน? 

เขาเชื่อมั่นว่ามันเป็นแนวคิดที่เป็นไปได้อย่างแน่นอน โดยเขาเสนอให้ยกระดับอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถหาเงินได้เพิ่มอีกกว่า 800-900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขามองว่าภาษีมูลค่าเพิ่มจะกลายเป็นรายได้หลักของรัฐในอนาคต เพราะเมื่อถึงยุคที่ AI เข้ามาทำงานแทนมนุษย์อย่างเต็มตัว ภาษีรายได้บุคคลต่างๆ ย่อมหดหายไป  

เขามองว่าเงินเดือนให้เปล่าจะทำให้ระบบราชการมีขนาดเล็กลงและลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลงได้ เนื่องจากขั้นตอนการทำงานที่ง่ายขึ้น รวมถึงเงินเดือนให้เปล่าจะทำให้หน่วยงานและกองทุนที่ดูแลเรื่องสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนยุบตัวลง ประมาณเป็นเงินราว 5-6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

นอกจากนี้ จากผลวิจัยของ Science Magazine ที่เขาอ้างถึงในเว็บไซต์ของตัวเอง ภาวะดิ้นรนเพื่อชีวิตรอด หรือการขาดความมั่นคงทางการเงิน ส่งผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ โดยอาจส่งผลต่อไอคิวที่ลดลงได้มากถึง 13 หน่วย ขณะที่ความมั่นคงทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น มีโอกาสปฏิเสธงานที่ให้ค่าแรงไม่เป็นธรรม รวมถึงทำให้พวกเขามีความมั่นใจที่จะลงทุนเพื่อเป็นผู้ประกอบการ เพราะยังมีเบาะรองรับทุกเดือนหากผิดพลาด โดยจากผลการสำรวจของสถาบันรูสเวลท์ (Roosvelt Institue) ภาคเศรษฐกิจอาจจะเติบโตถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มอัตราการจ้างงานในระบบกว่า 4.6 ล้านงาน 

ภาวะดิ้นรนยังส่งผลเสียต่อสุขภาพและเป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคมต่างๆ ซึ่งเขามองว่า หากแก้ภาวะดิ้นรนนี้ได้ ภาครัฐจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในหลายด้าน ทั้งหลักประกันสุขภาพ งบเรือนจำ หรือเงินช่วยเหลือคนไร้บ้าน 

นอกจากนี้ เขายังเสนอให้มีการเก็บภาษีเพิ่มเติม เช่น ภาษีคาร์บอน ภาษีที่ดิน ตลอดจนภาษีหุ่นยนต์ 

โมเดลศึกษา และความท้าทาย

ไม่นานมานี้ ฟินแลนด์เพิ่งประกาศยกเลิกโครงการทดลองแจกเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ตกงานเดือนละ 560 ยูโร โดยสำนักข่าวเดอะ การ์เดียน มองว่า เกิดจากการเมืองภายในฟินแลนด์ที่กำลังมีการเลือกตั้งท้องถิ่นมากกว่าที่จะเป็นเพราะระบบไม่มีคุณภาพ และตอนที่ทดลองโครงการนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมก็ไม่ได้หยุดทำงาน พวกเขายังคงหางานทำ 

และอันที่จริงแล้ว ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีรัฐอลาสกาที่มีการปันผลให้ประชาชนทุกเดือนนับตั้งแต่ปี 1976 ผ่านกองทุนอลาสกาตลอดชีพ (The Alaska Permanent Fund) ซึ่งเป็นผลกำไรจากการค้าทรัพยากรที่มีมากมายในอลาสกาอย่างน้ำมัน 

ความสำเร็จของกองทุนอลาสกาตลอดชีพเห็นผลเมื่อผ่านมากว่าสี่สิบปี โดยในปี 2015 พวกเขากลายเป็นรัฐที่มีความเท่าเทียมทางรายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 จากที่เคยอยู่ในอันดับ 30 เมื่อปี 1981 

ยังมีการนำแนวคิดเงินเดือนให้เปล่าไปทดลองใช้กับประเทศนามิเบีย เมื่อปี 2007-2012 และพบว่า ความยากจนในครัวเรือนลดลงกว่าครึ่งภายในหนึ่งปี ภาวะขาดแคลนสารอาหารในเด็กลดลงเกินสามเท่าในหกเดือน และยังทำให้อัตราการลาออกจากโรงเรียนจาก 40 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2007 หายไปเกือบทั้งหมดในหนึ่งปี 

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวเต็มไปด้วยข้อวิจารณ์และคำท้าทายมากมายในตัวมันเอง อาทิ

‘คนบางกลุ่มจะเลิกทำงานและคอยแต่แบมือรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ’ – ไม่จริง – ประมาณทศวรรษ 1970 แคนาดาทดลองจ่ายเงินให้กับประชาชนทุกคน หลังจากนั้นพบว่า มีคนเพียงแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เลิกทำงาน โดยในหนึ่งเปอร์เซ็นต์นี้ส่วนใหญ่ลาออกจากงานเพื่อไปดูแลครอบครัว และคนส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินอุ้มชูจากรัฐเพิ่มหันมาลดเวลาทำงานจากปกติลง 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำเวลาไปเรียนรู้เพิ่มเติม หรือหางานใหม่ 

‘คนรากหญ้าจะยิ่งนำเงินไปใช้กับการกินดื่มและสุรุ่ยสุร่าย’ – ไม่จริง – ผลการวิจัยของธนาคารโลก เมื่อปี 2013 พบว่า เมื่อคนจนได้รับเงินเพิ่มขึ้น พวกเขาไม่ได้นำไปใช้กับการกินดื่มหรือสุรุ่ยสุร่าย ผิดกับกลุ่มคนรวยที่เมื่อได้รับเงินเพิ่มขึ้นจะนำเงินไปใช้กับการกินดื่มมากกว่าด้วยซ้ำ

แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังมองว่าเงินเดือนให้เปล่าเป็นแนวคิดที่ดูดีในทางทฤษฎี แต่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่าง หากประเทศสหรัฐอเมริกาต้องมอบเงินเดือนให้เปล่าให้แก่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน ปีละ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภาครัฐจำต้องใช้เงินมากถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดในปี 2017 รวมถึงการยุบกองทุนช่วยเหลืออาจเป็นการซ้ำเติมให้ผู้ที่ยากไร้ขาดแคลนยิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นได้

เหลียวมองไทยแลนด์ แดนสวรรค์

ย้อนกลับมาดูสถานการณ์สวัสดิการในเมืองไทยเล็กน้อย รัฐบาลจัดสรรงบประมาณปี 2019 สำหรับสวัสดิการสังคม 6 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2.49 แสนล้านบาทเพื่อประชาชนประมาณ 53.5 ล้านคน และ 3.48 แสนล้านบาทเพื่อครอบครัวราชการประมาณ 6 ล้านคน

ข้อความข้างต้นไม่ใช่เพื่อโจมตีครอบครัวราชการ หากแต่จงใจชี้ให้เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณไม่มีความเหมาะสม และรัฐบาลควรใส่ใจ ศึกษา และกระจายความทั่วถึงมากกว่านี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้รวบรวมรายชื่อกว่า 14,000 รายชื่อ เข้ายื่นเสนอร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ ต่อประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ซึ่งมีใจความหลักคือ 

  1. นิยามของคำว่า ‘บำนาญแห่งชาติ’ ต้องครอบคลุมทั้งคนใน-นอกระบบประกันสังคม 

  2. การจัดตั้งคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติที่ประกอบขึ้นด้วย 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายองค์กรไม่แสวงหากำไร และฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ 

  3. กำหนดให้รัฐต้องพิจารณาอัตราบำนาญแห่งชาติใหม่ทุก 3 ปี 

  4. ถ้ารัฐจ่ายเงินล่าช้าไม่ครบถ้วนต้องโดนปรับดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน

ในปัจจุบัน รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วตกวันละประมาณ 30 บาท แต่กลุ่มผู้เข้ายื่นกฎหมายเสนอให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เหมาะสมกับเส้นความยากจนของปี 2019 หรือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน 

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้แนวคิดเงินเดือนให้เปล่ายังดูเป็นอะไรที่ห่างไกลจากความเป็นจริงสุดลูกหูลูกตา แต่หากระบบบำนาญตลอดชีพเกิดขึ้นจริงก็นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้ายกระดับภาพรวมสวัสดิการของไทย และยังสำคัญอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ซึ่งในขณะนี้มีมากกว่า 13 ล้านคน และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านคน 

ผู้สูงอายุเหล่านี้รับใช้ระบบเศรษฐกิจมามากว่า 40 ปี พวกเขาไม่ใช่ภาระของสังคม และสังคมควรดูแลและรับผิดชอบความเป็นอยู่วัยเกษียณของพวกเขาร่วมกัน

อ้างอิง:

https://www.tcijthai.com/news/2019/5/article/9085

https://mgronline.com/around/detail/9610000040474

https://www.vox.com/future-perfect/2019/2/13/18220838/universal-basic-income-ubi-nber-study

https://www.cnbc.com/2019/09/12/universal-basic-income-may-get-stage-time-at-the-democrats-debate.html

https://ahead.asia/2019/02/22/universal-basic-income/

https://www.yang2020.com/what-is-freedom-dividend-faq/

https://www.komchadluek.net/news/scoop/398917

Tags: , , , ,