แม้ศาสนาจะเป็นเรื่องเก่าแก่โบราณ หากมองในแง่การถือกำเนิด แต่ก็เป็นสิ่งที่ยังคงทรงอิทธิพลในโลกมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในขณะที่อีกหลายสิ่งล้มตายไปตามกาลเวลา แต่ด้วยความก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้ศาสนาที่มีความเก่าแก่นี้ถูกตั้งคำถามมากขึ้น จากคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับศาสตร์ความรู้อื่นๆ และถึงอย่างนั้นก็ตามที เราหลายคนก็ยังคงพก ‘ศาสนา’ ติดตัวไปทุกที่ ในรูปแบบบัตรประชาชน ที่มีช่องระบุศาสนาเอาไว้
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การกระจายตัวหรือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากมาย หรือแม้แต่ความย้อนแย้ง อย่างการที่เราห่างไกลกับศาสนามากขึ้นแค่ยังคงพกศาสนาติดตัวไปทุกที่ ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาพูดคุยเรื่องศาสนากันมากขึ้น ในเชิงการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หนึ่งในคอมมูนิตี้ที่เห็นได้ชัดเจนในเมืองไทยก็คือ เพจ ‘ศาสนวิทยา’ ของ ดร.ศิลป์ชัย เชาวน์เจริญรัตน์ ที่ทำให้หลากหลายประเด็นทางศาสนา ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในสังคมปัจจุบัน จนไปสู่คำถามที่ว่าในโลกสมัยใหม่นี้ เรายังต้องมีศาสนาคอยนำทางอยู่หรือไม่
การระบุศาสนาในบัตรประชาชนควรยังมีอยู่ไหม
เรื่องแบบฟอร์มหรือว่ารูปแบบการลงศาสนาในบัตรประชาชน จริงๆ ผมตามเรื่องนี้มานานนะครับ แล้วก็เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายแบบ แต่ตอนนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นอย่างไรแล้ว เท่าที่ทราบ บางที่ก็มีให้เลือกตายตัวไปเลยว่าต้องศาสนาใดศาสนาหนึ่งใน 5 ศาสนา ที่รัฐบาลรับรองนะครับ หรือบางที่ก็เพิ่มไปได้ หรือบางที่ถ้าไม่มีศาสนาให้เขียนว่าไม่มีศาสนาหรือให้ขีดละ (-) ก็ได้ หรือบางที่ไม่เขียนก็ได้ หรือไม่มีเลยแล้วแต่ช่องที่ให้ลงคำว่าศาสนา
มาถึงประเด็นที่ว่าควรจะเป็นอย่างไร เอาที่ปรากฏโดยรวมๆ ก่อนนะครับ คือในประเทศโลกตะวันตกที่พัฒนาแล้วโดยรวมนั้น หรือแม้แต่ประเทศโลกตะวันออกที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ออสเตรเลีย หรือแม้แต่อินเดีย ก็ไม่มีช่องให้ระบศาสนา ในบัตรประชาชนแล้วนะครับ แน่นอนมันอาจจะยังมีระบุไว้ในทะเบียนบ้านนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ในบัตรประชาชนไม่มีแล้ว ผมทราบมาว่าประเทศไทยในยุคหนึ่งก็เคยมีความคิดว่าไม่ต้องใส่ แต่สุดท้ายก็กลับมาใส่จนได้
ถ้าถามว่าอะไรดีกว่า ผมก็ขอเสนอว่าให้ทำตามนานาอารยประเทศครับ ไม่มีช่องบอกศาสนาในบัตรประชาชนดีกว่า ถามว่าทำไมก็เพราะว่าบ่อยครั้งเลยที่การระบุศาสนาในบัตรประชาชน มันมักนำไปสู่การละเมิดสิทธิหรือการเลือกที่รักมักที่ชังหรือพูดในภาษาทางการก็คือเลือกปฏิบัติในทางศาสนา ซึ่งหมายความว่า มันเป็นการรู้ว่าถ้าใครนับถือศาสนาตามที่คนส่วนใหญ่นับถือกันก็จะได้รับสิทธิพิเศษ จะไม่เสียสิทธิอะไรบางอย่าง แต่พอนับถือศาสนาที่เป็นของคนกลุ่มน้อยหรือศาสนาที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบหรือแม้แต่ศาสนาแปลกๆ หรือแม้แต่ไม่มีศาสนา คนประเภทนี้มักจะถูกทางเจ้าหน้าที่รัฐหรือองค์กรของรัฐหรือแม้แต่เอกชน ประชาชนทั่วไปที่ชอบหรือไม่ชอบ หรือว่ามีอคติทางศาสนา เลือกปฏิบัติต่อคนที่นับถือศาสนาแบบที่ไม่เหมือนพวกคนส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น การที่ไม่มีศาสนาใส่ไว้ในบัตรประชาชนมันทำให้ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ สังคมมีความเสมอภาคในการปฏิบัติต่อกัน
การระบุศาสนาในบัตรประชาชน สร้างประโยชน์ให้กับรัฐอย่างไร
ต้องบอกว่าประเทศที่ยังระบุการนับถือศาสนาอยู่ในบัตรประชาชน ส่วนใหญ่เป็นประเทศมุสลิมกับประเทศที่เป็นพุทธเข้มข้น แน่นอนว่าอาจจะยังมีอย่างอื่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ แล้วก็ต้องยอมรับว่าประเทศมุสลิมมีอย่างนี้เยอะ แม้แต่ประเทศใกล้บ้านเราอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็มีลักษณะอย่างนี้อยู่บ้าง ถามว่าทำไมรัฐถึงยังใช้วิธีนี้อย่างแรกก็คือว่าบางทีมันยังมีปัญหาในเรื่องของการปฏิบัติต่อคนศาสนาต่างๆ ไม่เหมือนกันแล้วก็เลยรู้สึกว่าการใส่ไว้ดีกว่า
เช่น ในบางประเทศเขาก็ยังมีความเป็นรัฐศาสนา เขาอยากให้คนนิยมในศานาหลักของประเทศ เพราะฉะนั้น การระบุนั้นมันจะช่วยกรองหรือมันช่วยสร้างแรงกดดันให้คนไม่อยากนับถือศาสนาอื่น หรือนับถือศาสนาอื่นได้ยากขึ้น หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่กล้าเปลี่ยนศาสนา อย่างเช่น ในประเทศมุสลิม เวลาที่ในบัตรประชาชนมีการระบุศาสนา มักจะมีผลทางจิตวิทยาชัดเจนเลยคือ คนที่บัตรประชาชนระบุว่าศาสนาอะไร มักไม่ค่อยกล้าที่จะเปลี่ยนศาสนาโดยง่าย จะเปลี่ยนศาสนายากขึ้น
หรืออย่างอินโดนีเซียในบางรัฐ ก็จะมีกฎหมายว่าห้ามเผยแพร่ศาสนากับคนมุสลิม เพราะฉะนั้นไอ้บัตรประชาชนเนี่ย มันจะเป็นตัวกันเอาไว้ ถ้าคุณจะไปเผยแพร่ศาสนากับใคร พูดเรื่องศาสนาอื่นกับใครในประเทศนี้นะ คุณต้องขอดูบัตรประชาชนเขาก่อนนะ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเขาแสดงว่าเขาเป็นศาสนาอื่น แล้วคุณไปเผยแพร่อีกศาสนาให้เขา ถือว่าผิดกฎหมาย อาจจะถูกปรับหรือถึงขั้นติดคุกอย่างนี้เป็นต้น
อีกแง่หนึ่งก็คือ เพื่อรัฐจะได้มีนโยบายอะไรบางอย่างที่จะอนุญาตให้คนศาสนาไหนเป็นพิเศษที่แตกต่างกันไป มันจะได้ตรวจสอบง่าย เช่น เรื่องนี้ให้เฉพาะคนศาสนานี้ เพราะฉะนั้นบัตรประชาชนจะเป็นตัวแสดงการได้รับสิทธินั้นจากรัฐบาล หรือแม้แต่ในเรื่องของการแพทย์ การที่บัตรประชาชนระบุศาสนาก็จะได้ดำเนินการทางการแพทย์ได้ตรงกับหลักศาสนาของเขา เช่น เขาไม่สามารถรับยาหรือไม่สามารถให้เลือด หรือไม่สามารถรับเลือดจากใคร ไม่สามารถกินอาหารประเภทไหน ไม่สามารถรับยาประเภทไหนที่มีองค์ประกอบของสัตว์บางอย่างหรืออะไรอย่างนี้เป็นต้น
รวมไปถึงกฎหมายบางอย่างของบางประเทศที่จะใช้บังคับคนที่นับถือศาสนานี้ เรื่องนี้ เป็นพิเศษ เช่น ในบางประเทศ จะบอกว่าคนที่นับถือศาสนามุสลิมต้องห้ามแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้ เพราะฉะนั้นบัตรประชาชนที่ระบุศาสนา มันจะเป็นตัวบอกว่าคุณแต่งตัวแบบนี้ได้หรือไม่ได้ ไหนขอดูบัตรประชาชนซิ ศาสนาอะไร
แล้วอย่างนั้นถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือไม่
โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น พอเราไปทำบัตรประชาชนที่เขตหรือที่อำเภอ เรายังไม่ทันพูดอะไรเขาก็จะมีค่าปริยายหรือค่า default ให้ไปแล้วว่าเชื่อว่าเป็นศาสนานี้แน่นอน หรือว่าถ้าพ่อแม่เป็นศาสนานี้เขาจะใส่ให้ไปโดยทันที อย่างนี้เป็นต้น แล้วมันทำให้เราไม่มีสิทธิในการที่จะบอกความในใจของเรา แสดงความเชื่อจริงๆ ของเรา
เอาเข้าจริงแล้วเราอาจจะนับถือศาสนานั้นแค่บางแง่ หรือเผลอๆ ใจเราอยากนับถือศาสนาอื่นแต่เราก็ไม่กล้าบอก เพราะการที่บอกไปในเอกสารที่มีการระบุลงไปในบัตร มันเป็นหลักฐานแล้วมันทำให้ไปขัดใจหรือทำให้พ่อแม่ไม่พอใจ ทำให้โรงเรียนไม่พอใจ ทำให้ที่ทำงานไม่พอใจอย่างนี้เป็นต้น แต่บัตรมันเหมือนกับเรียกร้องให้เราต้องพูดออกมา เราก็ไม่กล้าที่จะพูดความในใจจริงๆ เพราะถ้าพูดจริง เดี๋ยวจะไปกระทบกระเทือนสิ่งต่างๆ
ที่จริงแล้วศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนตัวใช่ไหมครับ ความเชื่อของคนเราไม่เหมือนกันนะครับ แม้แต่ตนที่เชื่อในศาสนาเดียวกันก็ไม่ได้เชื่อเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่อย่างนั้นศาสนาก็คงไม่มีการแตกนิกายแยกย่อยมากมาย รวมไปถึงการที่มีศาสนามากมาย ศาสนาใหม่ๆ รวมถึงการไม่นับถือศาสนา ไม่มีศาสนา เพราะฉะนั้นการที่บัตรประชาชนไปเรียกร้องให้ระบุศาสนาจึงเป็นการบีบบังคับบีบคั้นใจให้คนต้องแสดงจุดยืนที่ตัวเองจริงๆ ไม่ได้เลือก ไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้เชื่ออย่างนั้นจริงๆ แต่ต้องทำเพราะไม่อยากเดือดร้อน ไม่อยากเดือดร้อนเพราะผลจากข้อความจากข้อมูลเรื่องศาสนาที่ระบุในบัตรประชาชน
อย่างง่ายๆ เลยคนจำนวนมากอยากจะบอกว่าไม่มีศาสนาลงในบัตรประชาชน แต่ไม่มีให้เขียนแสดงว่าระบบของรัฐของประเทศของเราไม่เอื้อตรงนี้ ถ้าบอกว่าศาสนานี้ๆ ที่รัฐรับรองแล้ว โอ้…ใส่ให้ได้เต็มที่ แต่พอบอกไม่มีศาสนา ไม่มีที่ให้ลง อย่างดีที่สุดก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นไม่ใส่อะไรเลยดีกว่า ไม่ใส่อะไรเลยก็เป็นเหมือนกับว่าไม่อยากให้เกิดการเอาเยี่ยงอย่าง ไม่อยากให้เกิดการนับจำนวนที่ชัดเจน ไม่อยากให้มีคนแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นคนที่ไม่มีศาสนา
ในบัตรประชาชนของคุณเป็นแบบไหน
ไม่มีทั้งแถวเลยครับ แล้วตอนนี้คนทำบัตรประชาชนรุ่นใหม่ๆ ไม่มีทั้งแถวเลย ถ้าไปบอกว่าไม่ใส่เขาจะไม่มีทั้งแถวเลย สมัยก่อนถ้าคุณบอกว่าไม่มีศาสนา มันยังมีช่องคำว่าศาสนาแล้วก็ขีด (-) และเคยมีบางรุ่นที่มีบอกว่าศาสนาแล้วเขียนว่า ‘ไม่มี’ ด้วยนะ หายากแต่เคยมี เคยมีที่พิมพ์ใส่เข้าไปได้ ซึ่งไอ้ที่พิมพ์ใส่เข้าไปได้มันมักจะเป็นรุ่นที่เขาอนุญาตให้ใส่ชื่อศาสนาแปลกๆ ได้ เช่น ศาสนาแล้วเขียนว่า หมวกฟาง ศาสนา rastafarian ศาสนาเบคอน อะไรอย่างนี้ หรือแม้แต่ศาสนาแล้วบอกเต๋า เต๋านี่จริงๆ แล้วไม่มีในลิสต์นะแต่ก็ใส่ได้ แต่นั่นก็คือเป็นบางรุ่น เป็นรุ่นก่อนหน้านี้ แต่เดี๋ยวนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว
อ้อ…เคยมีศาสนาแล้วก็เขียนว่าเจได ไม่ใช่ตัวเลือกแต่พิมพ์ใส่ลงไปได้ แต่เดี๋ยวนี้ ไม่ให้ทำแบบนั้นแล้ว เข้าใจว่าเขากลัวว่าเดี๋ยวจะมาศาสนาแปลกๆ กันใหญ่เลย เขาไม่อยากให้มันดูเสรีเกินไป ก็เลยมีแนวโน้มว่าถ้าอะไรที่ไม่ใช่ศาสนาหลักๆ ที่เขามีในออปชั่นให้เลือก ก็จะใช้วิธีว่าเว้นไปเลย ไม่มีแม้แต่ช่องคำว่า ‘ศาสนา’ ในบัตรประชาชน
ศาสนาแล้วขีด ศาสนาแล้วเว้นว่าง หรือไม่มีแถบศาสนา ต่างกันไหม
ต่างกันคือการที่ศาสนาแล้วขีดเนี่ยเป็นการที่มันสะท้อนว่าต้องการให้บอกนะ มีให้บอก แต่สำหรับเจ้าของบัตรการขีดอาจจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น 1. เป็นศาสนาที่ไม่มีในตัวเลือก หรือ 2. คือไม่นับถือ มันยังมีความรู้สึกว่ามีคำถามต่อ ขีดนั้นคือเครื่องหมายคำถาม ซึ่งมันทำให้สังคมยังต้องถามต่อแล้วก็ยังสนใจเพราะมันจะเกิดการเปรียบเทียบว่า คนอื่นเขามีเขาใส่กัน ทำไมคุณไม่ใส่มีเหตุผลอะไรหรือเปล่า มันนำไปสู่การกดดันบางอย่างหรือมันทำให้เกิดการเปรียบเทียบ แน่นอนโดยพื้นฐานแล้วมันสะท้อนถึงการที่คุณไม่เหมือนคนส่วนใหญ่และมันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในบางอย่างแน่นอน แต่ถ้าเกิดว่าไม่มีเลยอันนี้จบ ไม่เกิดคำถาม ไม่เกิดแรงกดดัน มันเกิดความเสมอภาคอย่างสมบูรณ์ แล้วนานาชาติใช้แบบไม่มีช่องศาสนา ไม่มีคำว่าศาสนาไว้เลย ย่อมดีกว่า
การที่ฟอร์มในการกรอกในแต่ละที่ เขต หรืออำเภอต่างกัน แสดงว่ากฎหมายไม่ครอบคลุมถูกบังคับใช้เหมือนกัน?
ผมยอมรับว่าผมยังไม่มั่นใจจริงๆ ว่าเรื่องนี้มันเป็นเพราะกฎหมายแน่ๆ หรือว่ามันเกี่ยวกับตัวของแพลตฟอร์มในองค์กรของเขาเองที่ยังไม่ได้ใช้แบบเดียวกัน หรือว่ามันเป็นที่ตัวความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ของแต่ละที่แต่ละเขตที่มีความเข้าใจและปฏิบัติเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน เพราะว่าได้ยินคนสะท้อนมาเยอะจากทั่วประเทศเลย บางที่บอกว่าอย่างนี้ แต่พอมาอีกที่หนึ่งเขาโชว์ให้ดูเลย ส่งรูปมาให้ดูเลยว่าเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็งงเหมือนกัน หรือว่ามันเป็นที่โปรแกรมซอฟต์แวร์รุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าหรือเปล่า บางที่ก็บอกว่าได้ บางที่ก็บอกว่าไม่ได้ ก็เลยไม่แน่ใจว่าเป็นที่กฎหมาย หรือเป็นที่ตัวรูปแบบของโปรแกรม หรือเป็นที่เจ้าหน้าที่เอง หรือเกิดจากการไม่ลงตัวของทั้งสามอย่างผสมกันอยู่
ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ใส่ศาสนาให้เอง ผู้ถูกละเมิดทำอะไรได้บ้าง
เรียกร้องให้ทำใหม่นั่นแหละครับ แต่ส่วนมากก็จะเกิดความเกรงใจกัน โดยส่วนใหญ่คนมักจะไม่อยากมีปัญหา ตัดความรำคาญก็เอาตามนั้น หรือโดยปกติในสังคมไทยคนก็ค่อนข้างจะเกรงใจ หรือแม้แต่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว กลัวว่าเดี๋ยวถ้าไปขัดแย้งแล้วจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตัวเอง แต่ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องดีถ้าเรายืนยันว่าเราต้องการให้เป็นแบบนี้นะครับ แต่ทีนี้ก็ต้องดูด้วยว่าตัวแพลตฟอร์ม หรือว่าตัวโปรแกรมของเขามันให้เลือกได้แค่ไหน
แต่ก่อนอื่นเราต้องเขียนให้ชัดในช่องที่เขาให้ระบุศาสนาตอนที่จะทำบัตรประชาชน ซึ่งผมคิดว่าเราทุกคนก็เคยมีประสบการณ์มาแล้ว ผมเองก็ด้วย เราต้องเขียนให้ชัดและแน่นอนต้องกำชับด้วย ตอนระหว่างที่ถ่ายรูป อย่ารอจนบัตรเสร็จออกมาแล้ว เพราะว่ามันก็จะเกิดแรงกดดันว่าไหนๆ ก็ทำแล้วเราก็จะมีความเกรงใจ เพราะฉะนั้นต้องบอกให้ชัดว่าช่องศาสนาขอให้ใส่ว่าไม่มีศาสนา ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้ก็ต้องถามเขาว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีทางเลือกให้อีก 2 ทางคือ 1.ขีด หรือ 2. ตัดบรรทัดนั้นไปทั้งบรรทัด โดยประสบการณ์ของผมเองเป็นแบบนั้นครับ คือเขาให้เลือกว่าจะขีดหรือว่าจะตัดทั้งบรรทัด แต่ทางเจ้าหน้าที่เสนอมาว่าเขาขอตัดทั้งบรรทัด เขาบอกว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า หรือแม้แต่สะดวกกว่าสำหรับเขา ผมก็เลยเลือกอย่างนั้น ในบัตรประชาชนของผมก็ไม่มีบรรทัดนั้น และเวลานี้คนส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ครับ
แล้วถ้าเป็นเด็กล่ะ
ในกรณีของเด็ก เพราะว่าเดี๋ยวนี้มีบัตรประชาชนสำหรับเด็กแล้วใช่ไหมครับ ก็ต้องเอาตามพ่อแม่ มันเป็นธรรมชาติของคุณพ่อคุณแม่ด้วยที่จะให้ลูกนับถือศาสนาตามที่ตนเองนับถือ แล้วในประเทศไทยก็ไม่ได้มีนโยบายที่จะให้เด็กมีสิทธิเลือกในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ก็เลยใช้สิทธิตรงนี้ด้วยความปรารถนาดีและความเคยชิน แต่ถ้าเป็นในบางประเทศอย่างในเลบานอน จะมีบอกไว้เลยว่า ห้ามพ่อแม่ระบุศาสนาให้เด็กและต้องให้เด็กเป็นคนเลือกเองเมื่อเขาอายุเท่านั้นเท่านี้ ถ้าผมจำไม่ผิดก็ 15-17 ปีประมาณนั้นครับ แต่ต้องยอมรับว่าโดยส่วนใหญ่ถ้าในประเทศไหนที่บัตรประชาชนต้องระบุศาสนาส่วนมากเจ้าหน้าที่ก็จะให้ระบุตามพ่อแม่ไปเป็นค่าปริยายโดยเสมอ
คุณคิดว่าการไร้ศาสนาเป็นอีกหนึ่งความเชื่อหรือเปล่า
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถกกันเยอะนะครับ อาจจะต้องบอกว่าเรื่องของการไม่นับถือศาสนามันมีหลายแบบมาก หลายแบบในที่นี้คือบางคนบอกว่าไม่เชื่อ ไม่มีศาสนา แต่กลับเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ ทั้งๆ ที่ก็พิสูจน์ไม่ได้เหมือนกัน บางคนบอกว่าไม่เชื่อนรก สวรรค์ แต่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด แบบนี้ก็มี เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่าไม่มีศาสนามีหลากหลายมาก มันจึงมีได้ในแบบที่ว่าแม้ว่าปากบอกว่าไม่มีศาสนาแต่จริงๆ แล้วมีความเชื่อบางอย่างในรูปแบบที่ศาสนาเชื่อ แต่มันก็มีเหมือนกันที่คนยืนหยัดจริงๆ ว่า ฉันเชื่อเฉพาะสิ่งที่พิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ เท่านั้น ไม่มีความเชื่อใดๆ ในรูปแบบที่ศาสนาเชื่อเลย เพราะฉะนั้นจึงต้องบอกว่าการไม่มีศาสนามีทั้ง 2 แบบ มีทั้งการไม่มีศาสนาแบบที่มีความเชื่อแบบศาสนาบางอย่างเพียงแต่ว่าไม่มีชื่อ ยังจัดเป็นประเภทไม่ได้ชัดเจน ไม่มีกลุ่ม แต่มีความเชื่อแบบศาสนาบางอย่างอยู่ กับอีกแบบหนึ่งคือ ไม่ขอใช้ความเชื่อเลย เอาแต่เรื่องที่มีข้อพิสูจน์แล้วล้วนๆ ที่เหลือขอไม่เชื่ออะไรทั้งสิ้น
ผมเคยทำเรื่องนี้แบ่งออกมาเป็นการไม่มีศาสนา 10 ประเภท เป็นการแบ่งแบบคร่าวๆ นะครับ แล้วใน 10 ประเภทนี้ บางอย่างก็เหมือนเป็นศาสนานะครับ เช่น ศาสนาล้อเลียน parody religion อย่างศาสนาเบคอน ศาสนาเบคอนมันไม่ใช่ศาสนาจริงนะครับ เป็นศาสนาล้อเลียน คือสร้างศาสนาขึ้นมาเพื่อล้อเลียนกับศาสนาจริง เอาหลักเหตุผลมาก่อน เพียงแต่ว่าเขาเอามาปั้นแต่งให้มันดูเป็นศาสนา ให้มันดูมีพิธีกรรม ให้เหมือนว่ามีลักษณะความเป็นศาสนาชนิดหนึ่ง แต่มันเกิดจากแรงจูงใจที่ว่าจริงๆ แล้วไม่มีศาสนา แต่ทำเพื่อเลียนแบบศาสนา
เรื่องศาสนาแก้ด้วยการแก้กฎหมายได้ไหม
เรื่องของศาสนาบางส่วนอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมดหรอกครับ จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องมีศาสนา เพียงแต่ว่าในภาคปฏิบัติ มันมีความพยายามของรัฐที่จะให้ทุกคนมีศาสนา อย่างน้อยสุดในเชิงวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนนอกจากการเคารพธงชาติแล้วก็ต้องมีการทำพิธีทางศาสนาบางอย่าง จะเป็นศาสนาอะไรก็เถอะ แต่มันเหมือนกับว่ามันเป็นนโยบายให้ต้องใช้เวลาอย่างนั้น ที่จะผลักดันให้คนรู้สึกว่าการมีศาสนาเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องดี
หรือในเพลงที่ร้องว่า ‘เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน’ ข้อแรกมาเลย ‘หนึ่ง นับถือศาสนา’ บอกโดยปริยายว่าเด็กดีต้องนับถือศาสนา ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่นับถือศาสนาก็คือเด็กไม่ดี เพราะฉะนั้นคนดีต้องมีศาสนาและคนไม่มีศาสนาก็คือคนเลว มันเป็นการพูดทางอ้อมที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมของเรา ในทุกๆ กิจกรรมของภาครัฐ ซึ่งเป็นเหมือนแม่แบบของประชาชน มันต้องมีกิจกรรมทางศาสนา สถานที่ทางราชการทุกที่ต้องมีศาลพระภูมิ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้แม้ว่าไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญแต่มันเป็นสิ่งที่เสียงดังกว่ารัฐธรรมนูญ มันอยู่ในวัฒนธรรมคือถูกใส่มาในวัฒนธรรมทำให้ทุกคนตระหนักว่าจำเป็นต้องมีศาสนาและถ้าไม่มี 1.แปลก ไม่เข้าพวก ก็จะถูกทำให้เป็นบุคคลชั้นสอง 2. หรือไม่อย่างนั้นก็ถูกจะถูกลิดรอนสิทธิ
เรื่องปัญหาของการถูกแบ่งแยกด้วยเหตุผลทางศาสนาส่วนหนึ่งจะโทษรัฐอย่างเดียวก็ไม่ได้ บางเรื่องรัฐต้องทำ เพราะว่าเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาซึ่งมันก็มีอยู่จริง เช่น ในบางศาสนาก็เข้มงวดมากและไม่ยินยอมให้ศาสนิกชนของตนเองผสมรวมวิถีปฏิบัติกับศาสนาอื่นโดยง่าย มันก็เลยทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ในบางศาสนา เพศหญิงจะต้องสวมฮิญาบอย่างเคร่งครัด ทีนี้พอมาโรงเรียน โรงเรียนก็ไม่อยากให้คนสวมฮิญาบแต่อยากให้คนสวมชุดนักเรียนโดยปกติ คนที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ หรือแม้แต่เต๋า ศาสนาอะไรแปลกๆ ก็ไม่เป็นไร แต่บางศาสนาไม่ได้ ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ อันนี้ไม่ได้ว่าเกี่ยวกับว่าศาสนาดีหรือไม่ดี แต่มันเป็นธรรมชาติของศาสนาของเขาแบบนั้น หรืออย่างเช่น นักศึกษาศาสนาซิกข์ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรเขาจะต้องใส่หมวกซิกข์แล้วก็ต้องพกเครื่องหมายบางอย่าง
ผมคิดว่าโรงเรียนเองก็จำเป็นจะต้องมีการปรับในเรื่องนี้แล้วก็หาวิธีการที่ดีที่สุด ในบางที่เวลานี้ในประเทศไทยหรือในหลายประเทศก็มีการยืดหยุ่นที่ทำให้ความหลากหลายทางศาสนาเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ในบางที่ก็เลือกที่จะใช้วิธีบังคับพอสมควร เพื่อไม่ให้เกิดการแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนามากเกินไป เช่น ในจีนหรือในฝรั่งเศสที่บอกเลยว่าใครที่เรียนโรงเรียนนี้ห้ามนำเอาสัญลักษณ์ในทางศาสนาของตนเองใส่มาโรงเรียน เพราะว่าโรงเรียนจะให้มีความเป็นกลางทางศาสนาให้มากที่สุด แต่บางที่ก็หาวิธียืดหยุ่นให้ ให้สามารถอยู่ด้วยกันได้
ถามว่าอันไหนดีกว่ากัน ผมคิดว่าต้องหาจุดกลาง ผมคิดว่าคนควรจะมีสิทธิทำบางสิ่งบางอย่างตามความเชื่อของตัวเองได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรจะมีสิทธิแบบเต็มที่ ถ้าบางเรื่องที่มันแสดงออกมากเกินไปและไปถึงจุดที่ทำให้คนอื่นที่เรียนในโรงเรียนเดียวกัน หรือในสังคมไม่สามารถดำเนินชีวิต ดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นปกติสุขได้ ก็จำเป็นต้องมีการบังคับ ไม่อย่างนั้นแล้วก็ต้องให้เขาไปเรียนในโรงเรียนทางศาสนาของตัวเองต่างหาก
การที่เราแสดงออกทางศาสนามากเกินไปถือเป็นการไปละเมิดสิทธิคนอื่นอย่างนั้นหรือ
การนับถือศาสนาต้องแยกระหว่างการนับถือในใจกับการแสดงออกมาในทางสัญลักษณ์ การแสดงออกในทางสัญลักษณ์บางอย่างไม่ละเมิด แต่บางอย่างทำมากๆ มันกลายเป็นละเมิดไปโดยใช้ความเป็นคนส่วนใหญ่ เช่น สมมติว่า คนในบางศาสนาบอกว่าเวลาจะเล่นน้ำในสระของโรงเรียน ฉันไม่สามารถลงเล่นน้ำกับเพศตรงข้ามได้ มันก็มีผลเลยใช่ไหมครับ ถ้าเกิดนักเรียนคนนี้จะลงเล่นน้ำ เพศตรงข้ามต้องออกจากสระให้หมด หรือเผลอๆ ต้องแยกสระน้ำกัน ซึ่งมันมีกระทบแน่นอน เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่ว่าโรงเรียนหรือรัฐแห่งนั้น จะทำอย่างไรกับเรื่องอย่างนี้ จะโอนอ่อนผ่อนตามทุกเรื่องตามที่ศาสนิกชนนั้นเรียกร้อง จะเอาแบบนั้นไหม หรือว่าก็ต้องมีบังคับระดับหนึ่ง คือเรายอมระดับหนึ่งแต่บางระดับไม่ได้ คุณจะต้องยอมปรับตามเรา ไม่อย่างนั้นต้องไปเข้าโรงเรียนทางศาสนาของตนเองแทน
ภายใต้พื้นที่สาธารณะเราจะยอมรับความแตกต่างทางศาสนาได้มากน้อยแค่ไหน
เรื่องนี้พูดจริงๆ แล้วมันมีแนวคิดแตกต่างกันสองแบบ คือ เป็นรัฐโลกวิสัยอย่างเข้มหรือแบบประนีประนอม รัฐโลกวิสัยอย่างเข้มเนี่ยไม่ประนีประนอม ก็คือตัวอย่างของจีนหรือฝรั่งเศส ที่ไม่ให้ใครแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาเลย แต่ถ้าเป็นรัฐโลกวิสัยแบบอเมริกา แบบยุโรปส่วนใหญ่ หรือในอังกฤษ จะประนีประนอม โชว์ได้แต่ถึงจุดหนึ่งต้องไม่ไปรุกล้ำความรู้สึกคนอื่น
ในจีนหรือฝรั่งเศส การที่ไม่ให้แสดงสัญลักษณ์ทางศาสนา เพราะหากมีสัญลักษณ์นั้นเยอะ มันจะส่งผลโดยไม่ตั้งใจ มันจะทำให้คนอื่นที่ไม่อยากนับถืออันนั้นถูกคุกคามด้วยความเป็นคนหมู่มาก แม้ไม่บังคับแต่พอคนส่วนใหญ่ทำ คนหมู่น้อยกลัวว่าจะกลายเป็นคนส่วนน้อยเลยถูกคุกคามโดยปริยาย เขาไม่ต้องการให้มีการครอบงำทางจิตวิทยาในเชิงศาสนา แต่ถ้าเป็นอย่างประเทศตะวันตกสายที่ค่อนข้างประนีประนอมเขาก็จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิส่วนบุคคล คนต้องมีโอกาสแสดงออกได้ เพราะฉะนั้นเขาก็จะยอมให้ระดับหนึ่ง
ผมคิดว่าในกรณีของเมืองไทยค่อนข้างชัดเจน ไม่มีทางเลยที่จะเป็นในแบบเข้มงวด ไทยเป็นแบบประนีประนอม แต่ก็มีบางกรณีเช่น โรงเรียนวัดหลายแห่งก็จะมีกฎเลยว่าห้ามใส่ฮิญาบเข้าโรงเรียน ซึ่งมันก็เป็นปัญหา เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตเลย แต่ในขณะที่พระสงฆ์ใส่ชุดเข้ามาเรียนได้ ไทยมาแนวประนีประนอม แต่ก็ขอให้มีที่ว่างให้คนที่ไม่มีศาสนาด้วย ให้เขามีโอกาสแสดงจุดยืนของเขาด้วย ซึ่ง ณ วันนี้มันยังไม่มีตรงนี้ มักจะให้สิทธิเฉพาะคนที่แสดงจุดยืนทางศาสนา แต่ศาสนาแปลกๆ ศาสนาของคนกลุ่มน้อย หรือไม่มีศาสนา ไม่มีที่ยืนเลย
ซึ่งต่างฝ่ายก็อ้างคำว่าสิทธิมนุษยชน คำว่าสิทธิมนุษยชนของทั้งสองฝ่ายต่างกันหรือไม่
จริงๆ แล้วต้องให้สิทธิรวมไปถึงคนไม่มีศาสนาหรือศาสนาของคนกลุ่มน้อยทุกรูปแบบ ศาสนาประเภทที่ว่าฉันนับถือคนเดียวก็ต้องมีสิทธิแสดงด้วย ซึ่งถ้าสมมติว่าเป็นการให้สิทธิเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดการยืดหยุ่นในการแสดงออกจะมีสูงมาก ลองคิดดูนะครับสมมติว่าถ้าบอกว่าให้สิทธิทุกศาสนาเท่ากัน ศาสนา Pastafarian ใส่หม้อครอบหัวตัวเองเดิน เมื่อเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติของพื้นที่ที่เรียกว่าสาธารณะของแต่ละสังคมมันจะเริ่มมีการปรับตัวไปโดยปริยาย เพราะ 1.เขาจะเริ่มเห็นคนที่แตกต่างจากเขาเยอะขึ้น 2.มันทำให้คนที่คิดแตกต่างมีที่ยืน ที่แสดงออก ซึ่งทุกวันนี้มีมันไม่มี
พอไม่มี พวกที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ก็มักจะฉวยอำนาจในการครอบงำพื้นที่สาธารณะไปโดยปริยายเสมอ เพราะฉะนั้นผมเสนอว่าอยากให้ทุกคนมีสิทธิแสดงออกครับ ไม่ถึงกับว่าไม่ให้แสดงออกแล้วให้ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด อยากให้ทุกคนมีสิทธิแสดงออก แต่การแสดงออกนั้นต้องให้เท่าเทียมกันจริงๆ คือแม้แต่ศาสนาของคนกลุ่มน้อย ศาสนาแปลกๆ หรือศาสนาของคนที่บอกว่าไม่มีศาสนาก็ต้องมีวิธี มีพื้นที่ให้แสดงจุดยืนของเขาได้ด้วย ถ้าไปถึงจุดนั้นได้บรรยากาศจะเปลี่ยนเลยครับ มันจะเกิดความเท่าเทียมอย่างนึกไม่ถึง
ถ้าเป็นแบบนั้นศาสนาจะกลายเป็น ‘เรื่องบันเทิง’ หรือเปล่า
เลี่ยงไม่ได้ครับ คือโดยปกติแล้วบันเทิงหรือไม่ มันแล้วแต่เราอยู่แล้ว แต่มันเป็นธรรมชาติ อะไรก็ตามที่มันมีความหลากหลายและวิจารณ์ได้มันจะเกิดการเปรียบเทียบและวิจารณ์ ความศักดิ์สิทธิ์แบบแตะต้องไม่ได้มันก็จะค่อยๆ คลายตัวของมันไปเอง พอแตะได้ มันก็หัวเราะได้ใช่ไหมครับ พอวิจารณ์ได้มันก็หัวเราะได้ แน่นอนว่าศาสนาโดยส่วนใหญ่ก็กลัวครับ กลัวจะถูกวิจารณ์ กลัวจะถูกหัวเราะ แต่มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ครับ เพราะว่ามันเป็นการตรวจสอบศาสนาไปโดยปริยาย ไม่อย่างนั้นแล้วศาสนาจะครอบงำจนสังคมเสียหาย
ศาสนายังจำเป็นในระบบของการอยู่ร่วมกันในสังคมหรือเปล่า และเมื่อเทียบกับสิ่งที่ศาสนาทำให้เกิดความขัดแย้งแล้ว คุณคิดว่าดีกับเสียอะไรมากกว่ากัน
ขอตอบข้อ 2 ก่อนเลย คือเมื่อเทียบกันแล้ว เราต้องยอมรับว่าโดยธรรมชาติของศาสนามีข้อดีบางอย่างแน่ ข้อดีบางอย่างที่ว่านั้นคือมันทำให้สังคมหล่อหลอมเป็นอันหนึ่งอันเดียว มีการสอนศีลธรรมแม้ว่าบางเรื่องมันจะไม่ถูกต้องอีกต่อไปแล้ว มันให้กำลังใจคน ทำให้คนมีที่พึ่งที่หวังที่เรียกว่าที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ อย่างน้อยไม่ทำความดีเพราะมันดี ก็ถือว่าทำความดีเพราะว่าหวังจะได้บุญ ได้อะไรจากโลกหน้า ได้ขึ้นสวรรค์ แม้ว่ามันจะไม่ได้ทำเพราะตั้งใจทำดีจริง ทำเพื่อหวังอะไรบางอย่าง แต่มันก็ดีกว่าไม่ทำดีเลย
แต่ข้อเสียก็มี โดยพื้นฐานศาสนาทุกศาสนามันมีเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือแม้แต่ไม่ใช่แค่พิสูจน์ไม่ได้ บางเรื่องที่มันพิสูจน์แล้วว่ามันไม่ใช่ มีความขัดแย้ง ศาสนาก็ไม่ค่อยที่จะเปลี่ยนไปตามข้อพิสูจน์ ทำให้ศาสนามีจุดบอด แต่ด้วยความที่มีอำนาจ ศาสนาก็เลยครอบงำสติปัญญาของคนเอาไว้ให้อยู่กับสิ่งที่บางเรื่องไม่มีเหตุผลแล้วก็ทำให้กลัว ให้ยึดถือบางอย่างเอาไว้ ซึ่งมันก็ขัดและขัดขวางต่อความก้าวหน้าทางสติปัญญาของมนุษยชาติ ยิ่งกว่านั้นก็คือ ศาสนามักจะเป็นตัวแบ่งแยกผู้คน แบ่งว่าเขาหรือเรา แล้วความภักดีในศาสนาเป็นสิ่งที่รุนแรง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความภักดีต่อชาติ หรือเผลอๆ ยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป
เพราะการภักดีต่อชาติหรือสิ่งอื่นมันยังจบสิ้นในโลกนี้ แต่การภักดีต่อศาสนาหมายถึงโลกหน้าในทุกชาติไป มันทำให้คนยอมตายเพื่อศาสนา แล้วเวลาที่ความขัดแย้งเกิดจากการแบ่งแยกผู้คนด้วยศาสนาแล้ว และมักจะเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีข้อยุติและประนีประนอมไม่ได้ ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์อย่างอื่นมันยุติกันง่ายนะ แต่พอขัดแย้งเรื่องศาสนาแล้วยุติไม่ได้ เพราะว่าความเชื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เหนือข้อพิสูจน์ ศาสนาจึงเป็นสิ่งที่มีข้อดีไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันข้อเสียมหาศาลเลย และสงครามในโลกนี้ที่เสียหายมากๆ ก็มักเป็นสงครามศาสนา หรือมีบางส่วนของเรื่องศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง
ทีนี้ถ้าบอกว่าคนยุคนี้ควรจะต้องดำเนินชีวิตในสังคมโดยใช้ศาสนาเป็นตัวเชื่อมไหม ผมคิดว่าในอดีตไม่ว่ากัน เรายังไม่ค่อยรู้อะไรมาก มันจึงมีการเรื่องยึดโยงด้วยเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่พอมาถึงยุคนี้ คนเราน่าจะมาถึงจุดที่หลุดพ้นจากการนำเอาศาสนามาเป็นตัวยึดโยงทางสังคมอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าคนเราสามารถเป็นคนดีได้ หรือรู้ดีรู้ชั่วได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อกำหนดทางศาสนามาเป็นตัวตั้ง ในอดีตนั้นอะไรดีต้องรอจากศาสนาอย่างเดียว ศาสนาจึงเป็นตัวบอกว่าศีลมีกี่ข้อ อะไรที่ศีลบอกก็แปลว่าอันนั้นดี อะไรที่ศีลไม่บอกหรือว่าศีลห้ามก็แปลว่าชั่ว
แต่ยุคนี้มีความรู้อื่น มีความรู้ทางปรัชญา วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา จิตวิทยา ความรู้เหล่านี้มันตั้งอยู่บนเรื่องที่ 1.หลักเหตุผล 2. หลักความพิสูจน์ได้ 3.หลักของความยุติธรรมที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เอา 3 หลักนี้มาสร้างเป็นหลักการทางกฎหมายให้คนมาอยู่ร่วมกันในสังคมได้ โดยไม่จำเป็นต้องถามว่าศาสนาสอนว่าอะไรดี
เรามักจะได้ยินมาตลอดว่าศาสนาไหนก็สอนให้คนเป็นคนดีเหมือนกัน เหมือนจะถูกแต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่ คือศาสนาสอนบางเรื่องว่าให้คนเป็นคนดี ใช่ แต่ปัญหาก็คือความดีของแต่ละศาสนาที่สอนมันสอนไม่เหมือนกัน แล้วมันกลายเป็นว่าดีของฉันมันอาจจะไม่ดีของเธอ ดีของเธอไม่เหมือนของฉัน แล้วก็กลายเป็นว่าถ้าใครไม่เหมือนเราแปลว่าไม่ดี มันกลายเป็นปัญหามาก แล้วสิ่งที่เราว่าดีหลายเรื่องในศาสนานั้น มันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ศาสนาหลายศาสนาบอกว่าการเป็นเกย์เป็นเรื่องไม่ดี และบางทีไม่ใช่แค่ไม่ดี แต่เป็นเรื่องชั่วช้าเลวทราม บาปมหันต์ถึงขั้นที่ว่าต้องลงโทษหรือหนักกว่านั้นคือประหาร ปัญหาก็คือมันพิสูจน์ไม่ได้ หรือพิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริงด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าหากคนยุคนี้หรือสังคมในยุคนี้ยังตั้งใจให้สังคมเดินไปอย่างเป็นสุขโดยเอาแต่หลักศาสนามาเป็นตัวตั้งหรือเชื่อมโยงกันแล้วละก็ มันก็จะเป็นปัญหาสร้างความแตกแยกและขัดแย้ง บั่นทอนแล้วก็เหนี่ยวรั้งสังคมไม่ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จบ สังคมต้องยึดหลักใหม่แล้วครับ หลักมนุษยธรรม หลักแห่งเหตุผล หลักแห่งการพิสูจน์ได้ หลักแห่งการเสมอภาคกัน
คุณคิดว่ายังจำเป็นที่จะต้องมีการสอนศาสนาในหลักสูตรต่างๆ ไหม ถ้าจะต้องมีควรจะเป็นไปในรูปแบบไหน
ผมเชื่อว่ายังจำเป็น เพราะอย่างน้อยที่สุดวิชาที่เกี่ยวข้องกับทางสังคมหรือสังคมวิทยา เราก็ต้องยอมรับว่าคนที่นับถือศาสนายังมีเป็นจำนวนมาก ศาสนามันเกี่ยวข้องกับคนในสองมิติเป็นหลัก ก็คือมันผูกพันกับประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์มันมีศาสนามาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องศาสนาบ้างมันทำให้รู้ประวัติศาสตร์ อย่างที่สอง คนในยุคนี้ก็ยังมีศาสนากันมาก นับถือศาสนากันมาก แล้วศาสนาก็ยังมีอิทธิพลในทางปฏิบัติต่อผู้คนจำนวนมาก แม้แต่รัฐในระดับโลกด้วย เพราะฉะนั้นโรงเรียนควรยังมีการสอนเรื่องศาสนา มันคงเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้เพราะมันทำให้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ และมันรู้สภาพสังคมทั้งท้องถิ่นและระดับโลก
แต่การสอนเรื่องศาสนาไม่ควรสอนโดยมุ่งให้ศรัทธา ไม่ควรสอนโดยมุ่งให้เชื่ออย่างงมงาย แต่สอนให้รู้ข้อมูลว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร แล้วก็คนที่ไหนเขาเชื่อกันแบบไหน และสอนให้รู้ในแง่ของความหลากหลายทางมิติทางศาสนา หรือพูดง่ายๆ ว่าสอนในเชิงศาสนวิทยา คือสอนให้รู้ทุกศาสนา ภาพรวมของศาสนาว่ามันเกิดมาอย่างไร มีความแตกต่างหลากหลายอย่างไร และอะไรพอเชื่อได้ อะไรที่ยังมีเครื่องหมายคำถาม และศาสนาไหนมีจุดแข็งอะไร จุดอ่อนอะไร ด้านสว่างอะไร หรือด้านมืดอะไร รวมไปถึงถ้าสอนศาสนาต้องสอนเรื่องนิกายที่หลากหลาย และสอนเรื่องศาสนาใหม่ๆ ศาสนาแปลกๆ และเลี่ยงไม่ได้ ต้องสอนเรื่องการไม่มีศาสนาด้วย ต้องสอนว่าคนไม่มีศาสนาก็เยอะ และทุกคนมีสิทธิในการเลือกนับถือ ไม่นับถือ หรือนับถือแบบไหนอย่างไรก็ได้
ถ้าคุณต้องเลือกที่จะนับถือศาสนา คุณจะเลือกนับถือศาสนาอะไร เพราะอะไร
multifaith ครับ และถ้าใครถามผมว่านับถือศาสนาอะไร ผมก็จะบอกว่าผมเป็น multifaith หมายความว่า เราดูหลายๆ อย่าง ที่เราคิดว่าดีและเหมาะกับเรา เราต้องยอมรับว่าคนเราไม่เหมือนกัน และคนเราในแต่ละช่วงชีวิต บางทีต้องการมิติที่ไม่เหมือนกัน บางศาสนาที่เราบอกว่างมงายบางทีมันช่วยบางคน บางศาสนาที่มีเหตุผล แต่มันก็อาจจะเหมาะกับคนบางกลุ่มไม่เหมาะกับคนบางกลุ่ม พิธีกรรมของศาสนาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมเสนอให้ทุกคน ไม่ได้บังคับนะครับ เป็น multifaith หมายถึงว่าสหศรัทธา อันไหนดีจงยึดถือ หรือแม้แต่ประยุกต์อันนั้นมาใช้ หรือมีบางอย่างของศาสนาอื่นที่ดีเหมือนกัน และเป็นสิ่งที่ดีที่ศาสนาของเราไม่มี เราก็สามารถประยุกต์มาใช้ได้ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องอยู่กับอันใดอันเดียว
Tags: ศาสนา, ศาสนวิทยา, การนับถือศาสนา, บัตรประชาชน