เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2562 เครือข่าย People Go Network อันประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ เครือข่ายด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ อ่านแถลงการณ์เข้าร่วมคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

อนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กล่าวว่า หลังจากที่ ครช. แถลงข่าวเปิดตัวเมื่อ 19 กันยายนที่ผ่านมา ภารกิจหนึ่งของ ครช. ภายในปีนี้คือพยายามขยายความร่วมมือ ด้วยความเชื่อที่ว่าพลังทางสังคมเท่านั้นที่จะพาประเทศไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ ความร่วมไม้ร่วมมือของประชาชนเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบได้ ครช. จึงต้องรวบรวมเครือข่ายภาคประชาชนที่เห็นพ้องต้องกันมาร่วมผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญไปด้วยกัน ซึ่งหากมีหลายฝ่ายเข้ามาร่วมมือกันมากขึ้นก็จะมีพลังในการขับเคลื่อนมากขึ้น ครช. หวังว่าด้วยเครือข่ายที่มีอยู่เดิมสมทบกับเครือข่ายที่เข้าร่วมใหม่ในวันนี้ จะทำให้กิจกรรมการเขียนรัฐธรรมนุญฉบับประชาชนเกิดขึ้นจริงได้ อย่างน้อยที่สุดคงไม่ไกลในอนาคตหากเราพร้อมใจกัน

ขณะที่เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ในฐานะตัวแทน People Go Network อ่านแถลงการณ์เข้าร่วม ครช. ว่า ตามที่หลายหลายภาคส่วนของสังคมกำลังให้ความสนใจกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผ่านการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มาแล้ว ทำให้สังคมเห็นปัญหาและบทเรียนจากกลไกที่ช่วยให้ผู้เข้าสู่อำนาจไม่ได้มาจากเสียงสนับสนุนของประชาชนอย่างแท้จริง เครือข่าย People Go ก็เห็นผลกระทบและปัญหาความไม่เป็นธรรมจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในประเด็นต่างๆ เช่น รัฐสวัสดิการ เกษตรกรรมทางเลือก ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ต่างพบว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีเนื้อหาที่ละเลยสิทธิของประชาชนในประเด็นที่แต่ละเครือข่ายกำลังประสบปัญหาและต่อสู้อยู่ ทั้งยังมอบอำนาจรัฐให้กับองค์กรที่สืบทอดมาจากการรัฐประหาร อนาคตภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีแนวโน้มเพียงว่า ปัญหาของประชาชนจะถูกละเลย ขณะที่กลไกต่างๆ ในสังคมถูกบิดเบือนเพื่อรักษาอำนาจให้กับคณะทหารชุดเดิม 

เครือข่าย People Go จึงต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเดินหน้ารณรงค์ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเห็นควรเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน ที่ใช้ชื่อว่า คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่ประกาศตัวต่อสาธารณะไปแล้วก่อนหน้านี้ และหลังจากนี้จะจัดกิจกรรมสร้างช่องทางการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเปิดเวทีสาธารณะร่วมกันต่อไป

เครือข่าย People Go เชื่อมั่นว่า สังคมที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีสวัสดิการที่ดี มีสิทธิเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ได้รับความคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น และประชาธิปไตยที่จะเกิดผลได้อย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงตัวหนังสือต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนร่วมกันสร้าง ซึ่งขั้นตอนพื้นฐานที่สุด ต้องเริ่มต้นโดยการสร้างรัฐธรรมนูญจากความต้องการของประชาชนเท่านั้น

นอกจากนี้เครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนเพื่อเข้าร่วม ครช. ดังนี้

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 

สมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เห็นว่า รัฐธรรมนูญต้องคงไว้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

“วันนี้พวกเรามั่นใจได้หรือยังว่า เรามีสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพ ที่จะดํารงชีวิตอยู่ในประเทศนี้ได้ อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน วันนี้เรามีสิ่งใดที่จะรับประกันว่า เราจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกกีดกัน ที่จะใช้ชีวิตในประเทศนี้อย่างมี อิสระเสรี แม้ว่าเราจะมีความแตกต่างกัน ประชาชนที่อยู่บนแผ่นดินไทยทุกคน ควรได้รับสิทธิเสรีภาพที่จะมีชีวิตในประเทศนี้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ที่ผ่านมาเรากลับพบว่า ความแตกต่างเหลื่อมล้ำถ่างกว้างมากขึ้น ความอยุติธรรมเกิดขึ้นกับผู้คนมากมายบนแผ่นดินนี้ มีคนที่ได้ใช้ทรัพยากรซึ่งเป็นของเราทุกคนได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่คนอีกจํานวนมากกลับไม่มีโอกาสแม้แต่จะทํากินบนผืนแผ่นดินของตัวเอง ทรัพยากรที่ควรจะเป็นของทุกคนกลับถูก ทําให้เป็นทรัพย์สินของรัฐที่จะจัดสรรให้กับใครก็ได้ เกิดการช่วงชิงอํานาจ รวบอํานาจ และใช้อํานาจนั้น กดขี่คนที่ด้อยกว่าตลอดมา ทรัพยากรและอํานาจมีไว้ให้คนเพียงกลุ่มเดียว 

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศกลับถูกเรียกร้องและพร่ำบอกเสมอว่า เราต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม เราต้องรู้จักช่วยเหลือประเทศด้วยการไม่เบียดเบียนทรัพยากรของประเทศจนเกินควร ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดจากช่องโหว่ของกติกาที่ถูกสร้างขึ้น แล้วแต่ว่าใครคือผู้ที่ช่วงชิงและเขียนกติกานี้ รัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุด ที่ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพที่เท่าเทียม สร้างกรอบ ให้ทุกคนมีสิทธิอันพึงได้ มีหน้าที่อันพึงกระทํา และมีศักดิ์ศรีอย่างเสมอหน้า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากฉันทามติของประชาชน และทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเขียนขึ้น แต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน กลับเขียนขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของการปิดกั้นสิทธิ เสรีภาพ เป็นรัฐธรรมนูญที่รวบ อํานาจจัดการเบ็ดเสร็จ ละทิ้งการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยสิ้นเชิง”

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีหลายถ้อยคํา หลายมาตรา ที่ตอกย้ำลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มมากขึ้น เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการขอแถลงจุดยืนว่า จะร่วมเดินหน้าเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นรัฐธรรมนูญของพลเมืองทุกคน ดังนี้

  1. สิทธิของพลเมือง ต้องได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต โดยปราศจากเงื่อนไขทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เพศสภาพ ความเชื่อทางการเมือง สุขภาพ ฐานะทางสังคม

  2. รัฐต้องมีหน้าที่ในการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า ต้องไม่มีเกณฑ์การจัดสรรที่สร้างให้เกิดการแบ่งแยก และลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

  3. สวัสดิการพื้นฐานที่จําเป็นคือหลักประกันในการดํารงชีวิตของประชาชน ประกอบด้วย หลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันด้านรายได้ หลักประกันด้านการศึกษา หลักประกันเพื่อการเติบโตของเด็ก หลักประกันเหล่านี้ล้วนเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้โดยถ้วนหน้า 

  4. รัฐต้องมีหน้าที่ดําเนินนโยบายการเงิน การคลัง และงบประมาณแผ่นดินอย่างเป็นธรรม จัดระบบการเงินการคลังเพื่อสังคม มีระบบภาษีที่มีเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ จัดสรรงบประมาณที่คํานึงถึงความเสมอภาคของทุกคน

  1. การดําเนินนโยบายใดๆ โดยเฉพาะการทําสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพัน และกระทบต่อพลเมืองไทย รัฐต้องดําเนินการชี้แจงเพื่อหาฉันทามติภายใต้ระบบรัฐสภาที่เป็นธรรม

สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพลเมืองไม่ลุกขึ้นมาจับปากกาเพื่อเขียนขึ้นใหม่ด้วยตนเอง เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเชื่อมั่นในพลังของพลเมือง ที่จะลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีและความเท่าเทียม ด้วยสิทธิและเสรีภาพในฐานะเจ้าของแผ่นดินนี้ร่วมกัน

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 

อารัติ แสงอุบล ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกตระหนักถึงความสําคัญว่า รัฐธรรมนูญต้องให้หลักประกันในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชน ในฐานะผู้สร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารของชาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ภายในชาติ ควบคู่ไปกับการสืบทอดความเป็นชุมชน เราจึงขอเสนอว่า รัฐธรรมนูญต้องให้ความคุ้มครองต่อสิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชนโดย

  1. สิทธิในหลักประกันด้านที่ดิน โดยต้องมีการกระจายที่ดินทํากินให้กับเกษตรกรได้อย่างเป็นธรรม

  2. สิทธิในการจัดการ ปกป้อง และเข้าถึงฐานทรัพยากรของชุมชน โดยชุมชนมีสิทธิจัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทาง ชีวภาพและวัฒนธรรม รวมถึงเมล็ดพันธุ์ พันธุกรรมพืชและสัตว์ ที่ชุมชนพึ่งพิงสัมพันธ์ และมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

  3. สิทธิในการเกิด อยู่อาศัย และทําเกษตรกรรม ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตร โดยรัฐต้องมีข้อบัญญัติในการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน มีมาตรการทางกฎหมายที่ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน และการสร้างอาหารปลอดภัย รวมทั้งมีแนวทางในการมีสิทธิที่จะปกป้องแนวทางเกษตรและอาหาร จากการแพร่กระจายของสารเคมีกําจัดศัตรูพืช

  4. สิทธิในด้านการผลิต และการตลาดที่เป็นธรรม รัฐธรรมนูญควรต้องปกป้อง คุ้มครองเกษตรกร ลดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมจากการเป็นผู้ผลิตอาหาร

และพัฒนาระบบการตลาดที่เป็นธรรมกับผู้ผลิตและผู้บริโภค

  1. สิทธิในการเข้าถึงสินเชื่อ และมาตรการปลดหนี้จากระบบการผลิตทางการเกษตร โดยต้องกําหนดให้มีระบบงบประมาณของรัฐ มาตรการทางภาษีหรือมาตรการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรปลดหนี้จากการผลิต และเข้าถึงสินเชื่อที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตในระบบ เกษตรกรรมยั่งยืน และสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้

เครือข่ายสลัม 4 ภาค

สุชินทร์ เอี่ยมอิน ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2560 และได้ใช้มากว่า 2 ปี ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาสร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชน ถึงความเป็นกลางภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่าผู้เขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด แต่มาจากกลุ่มคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วเป็นผู้เลือกคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากการออกแบบกติกาที่ไม่เป็นธรรม และไม่เคารพต่อเสียงประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศแล้ว เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนที่ควรจะอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐที่ต้องพึงปฏิบัติ แต่กลับมีหมวดแนวนโยบายของรัฐขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงคํา และมีช่องทางให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค เคลื่อนไหวนําเสนอต่อรัฐบาลมาโดยตลอดในเรื่องสิทธิที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ กลับไม่ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาที่ทําให้คนจํานวนมากต้องประสบกับความยากจน และห่างไกลจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย และการไร้ที่อยู่อาศัยมีรากฐานมาจากการไม่มีสิทธิในที่ดิน และสิทธิของชุมชนไม่ได้ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทําให้คนจนต้องถูกจับกุม ถูกฟ้องร้อง ดําเนินคดี 

“เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขอแสดงเจตจํานงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่มาของรัฐธรรมนูญ ยึดโยงกับประชาชน และเคารพต่อเสียงของประชาชน จึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมให้คนจนมี คุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถอยู่ในประเทศได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน”

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน

กรรณิการ์ ไชยแสงราช ตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนกล่าวว่า รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ได้ดำเนินนโยบายทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนค่อนข้างรุนแรงหลายประการ สืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาลนี้ที่ยังสานต่อนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน และขัดแย้งกับคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากลและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยลดทอนกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณค่าและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุน ด้วยการทำให้กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพมีขั้นตอนสั้นที่สุดเพื่อเอาใจนักลงทุน ลดทอนคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ต่ำลง ด้วยการออกคำสั่งและกฎหมายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง เปิดโอกาสให้โรงงานอุตสาหกรรมปนเปื้อนมลพิษหลายประเภทบุกรุกเข้าไปทำลายพื้นที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของประชาชน

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน เห็นว่า การแย่งยึดที่ดินทำกินของประชาชนในนามนโยบายทวงคืนผืนป่า แย่งยึดที่ดินทำกินของประชาชนโดยนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีก 6 ล้านไร่ในภาคอีสาน เพื่อป้อนโรงงานน้าตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเพิ่มขึ้นอีก 29 แห่ง ไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ปนเปื้อนสารพิษรุนแรงจากการทำเหมืองและโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญกับชะตากรรมเลวร้ายโดยลำพัง 

ไม่มีนโยบายชัดเจนในการลดการใช้ถ่านหินเชื้อเพลิงสกปรกในภาคการผลิตกระแสไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม แต่ยิ่งส่งเสริมให้นายทุนไทยไปทำเหมืองและซื้อขายถ่านหินสกปรก ที่ส่งผลทำลายสิ่งแวดล้อมประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างเสรี โดยไร้การควบคุม กำกับ และดูแลให้เกิดธรรมาภิบาล ปล่อยให้นายทุนสัญชาติไทยร่วมมือกับรัฐเพื่อนบ้านละเมิดอำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยกระทำย่ำยีแม่น้ำโขงจนเกิดภาวะขาดน้ำแสนสาหัสทั้งที่เป็นฤดูฝน ส่งผลเสียหายต่อวิถีชีวิตของประชาชนและระบบนิเวศอย่างรุนแรง บังคับใช้กฎหมายห้ามชุมนุมที่ละเมิดและลิดรอนสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน 

“รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สามารถเป็นกฎหมายแม่บทที่จะช่วยคาน หรือยับยั้งอำนาจของนโยบายและกฎหมายลูกที่กระทำย่ำยีประชาชนตามประเด็นที่กล่าวมาได้เลย ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 ควรถึงเวลาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อจะสร้างหลักประกันให้กับ สิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมให้ดียิ่งขึ้นไป และควรยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะ เป็นคุณค่าที่ขัดแย้งกับคาประกาศสิทธิมนุษยชนสากลและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” กรรณิการ์กล่าว

เครือข่ายนักกฎหมายและนักวิชาการ

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผู้อำนาวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นองค์กรไม่แสวงหากําไร ทํางานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 29 บัญญัติถึงสิทธิของบุคคลซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้ว่า 

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” 

อย่างไรก็ตาม สิทธินี้กลับไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง และผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวยังถูกปฏิบัติเสมือนผู้กระทําความผิดแล้ว สิทธิในกระบวนการยุติธรรมมีความสําคัญอย่างยิ่งที่จะคุ้มครองให้ประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ให้ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกคุมขังอย่างไม่ถูกต้อง แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กลับเขียนไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 และ 2550 กล่าวคือ สิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ถูกเขียนรับรองให้เป็น ‘สิทธิของประชาชน’ เป็นแต่เพียง ‘หน้าที่ของรัฐ’ ที่ต้องจัดให้ เมื่อสิทธิไม่ได้อยู่ที่ตัวของทุกคนก็ไม่สามารถยกสิทธิขึ้นยันต่อบุคคลอื่นได้ ได้ เพียงแต่รอให้รัฐจัดมาให้เท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 บัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ การบริหารงาน และเขตอํานาจศาล แต่ไม่ได้กําหนดถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เมื่อต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางศาลแต่อย่างใด แตกต่างกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  2540 ที่ได้กําหนดถึงสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมไว้อย่างชัดเจน

เมื่อสิทธิประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งสิทธิที่จะถูกพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม สิทธิที่จะมี ทนายความ และได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายถูกตัดออกไปจากรัฐธรรมนูญ ย่อมทําให้ประชาชนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน การบัญญัติสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นเรื่องจําเป็นที่จะเป็นหลักประกันสิทธิของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายองค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ขอแสดงเจตจํานงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนตามที่กล่าวมา และจะทํางานร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อรวบรวม และเสนอประเด็นอื่นที่เกี่ยวกับสิทธิของประชาชนที่เห็นว่าควรได้รับการแก้ไขและพัฒนา รวมทั้งวิธีการเข้าสู่อํานาจของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารต้องมาจากความต้องการของประชาชน เพื่อให้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศสามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรมได้อย่างแท้จริง ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

วัชรพล นาคเกษม ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม กล่าวว่า เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ร่วมแถลงจุดยืนเห็นด้วยต่อทิศทางการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน พัฒนาเป็นรัฐธรรมนูญจากประชาชนเพื่อ ประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ประกาศใช้ไปแล้วกว่า 2 ปี เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ถึงแม้ว่าจะมีการทําประชามติ แต่ก็เป็นประชามติที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ทั้งยังเขียนเพิ่มอํานาจคณะรัฐประหารไว้ คือ ประกาศและคําสั่ง คสช. มาตรา 44 อีกทั้งยังเพิ่มอํานาจให้รัฐราชการใหญ่ขึ้น มีอํานาจมากยิ่งขึ้น เพื่อเข้ามาควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและตัดสินใจแทนประชาชนในพื้นที่ นําไปสู่การสืบทอดอํานาจของ คสช. อย่างเห็นได้ชัด

เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เห็นว่า ปัญหาที่สําคัญอีกอย่างที่พ่วงมากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลทหารกําหนดกรอบและแนวทางในการพัฒนาให้หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนต้องทําตาม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมี ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมี ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการสร้างโอกาสและ ความเสมอภาคทางสังคม ด้านการพัฒนาคน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาระบบราชการ แม้จะฟังดูยิ่งใหญ่ จะนําพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้จริงหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่แผนนี้จะผูกมัดพวกเราไม่ให้หลุดจากกรอบที่กําหนดไว้ กว่า 20 ปี และเป็นสิ่งที่พวกเราคนรุ่นใหม่และประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกําหนดตั้งแต่แรก ขาดการมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง เพราะเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือบังคับใช้ยุทธศาสตร์เผด็จการ ให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

“เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงขอประกาศจุดยืนในการร่วมรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ยุทธศาตร์ คสช. ควรล้มเลิกไปนับแต่วันนี้และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้กําหนด อนาคตของตัวเอง หยุดยุทธศาสตร์ คสช. เพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นี่คือยุทธศาสตร์เรา” วัชรพลกล่าว

เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ มีข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า

  1. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพพหุวัฒนธรรม กำหนดหลักการสนับสนุนให้มีกฎหมายลูกมารับรองสิทธิผู้หญิงในด้านต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงข้ามชาติ กลุ่มที่มีอัตลักษณ์ต่างๆ เช่น อัตลักษณ์ทางภาษา ผู้หญิงพิการ เด็ก กลุ่มที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ทางการเมืองและศาลนา

  2. รัฐธรรมนูญใหม่ รัฐต้องตระหนักว่างานในบ้านเป็นงานที่มูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นงานที่ต้องได้รับค่าตอบแทนตามมูลค่างานที่ทำ รัฐต้องให้ทุกคนที่ทำงานบ้านโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเพศสภาพจะได้รับการตระหนักทางเศรษฐกิจและอื่นๆ และจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและค่าจ้างเนื่องจากการทำงานสร้างคุณูปการทางสังคมนี้ แนวคิดที่ว่าถ้ามีมูลค่าอาจจะมีผู้ชายหันมาทำบ้าง หรือมีคนทำมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลครอบครัว และความเหลื่อมล้ำทางสังคม

  3. ในรัฐธรรมนูยใหม่ต้องกำหนดลดอำนาจกระจุกตัวและกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นที่ผู้หญิงทุกระดับมาอำนาจตัดสินใจและมีส่วนร่วม

  4. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดการศึกษาทางเลือกที่ต้องมีมากขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมี และสามารถกำหนดแนวทาง ความมุ่งหมายแก่ชีวิตของตนได้อย่างอิสระ ตามกำลังความสามารถของตนเอง รัฐต้องให้การสนับสนุนทำให้ได้จริงและสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการศึกษาของเด็กในชุมชนที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษ เช่น เด็กพิการ เด็กที่มีความต้องการการดูแลพิเศษและส่งเสริมด้านต่างๆ เป็นพิเศษมากกว่าเด็กปกติทั่วไป ต้องจัดการการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความพิเศษของเขา จะต้องจัดสรรให้บุคลากรในโรงเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีงบประมาณสนับสนุน

  5. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องลดอำนาจและงบประมาณทางการทหาร

  6. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ผู้หญิงกลุ่มต่างๆ เข้าถึงได้ ผู้หญิงทุกคนต้องเข้าถึงการให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงอย่างรอบด้านโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และมีบ้านพักฉุกเฉินที่ผู้หญิงทุกคนใช้ได้ แรงงานหญิงไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบต้องได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมและเท่าเทียม สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมาย ต้องมีทางเลือกให้ผู้หญิงที่ไม่ต้องการยุติการตั้งครรภ์โดยรัฐต้องมีสวัสดิการ ให้รวมถึงผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว สร้างความเชื่อมั่นเรื่องรัฐสวัสดิการให้ผู้หญิงทุกกลุ่ม ด้วยการจัดให้มีล่ามหรือแปลเอกสารเป็นทุกภาษาของทุกกลุ่มผู้หญิง

เครือข่ายด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ จากเครือข่ายด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เราเชื่อมั่นในหนทางว่า รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน และเราไม่ยอมรับในอำนาจเผด็จการหรืออำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำงานในระบอบประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงมิติทางเพศ และความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ความไม่เสมอภาคเหล่านี้ต้องลดลง โดยวิธีการที่มาจากการรับฟังเสียงของประชาชนจริงๆ

คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ

พัชนีย์ คำหนัก ตัวแทนคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพกล่าวว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2559 ผ่านไปกว่า 3 ปีแล้ว คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ยอมรับและนับผลประชามติดังกล่าว เพราะนอกจากกระบวนการประชามติไม่มีเสรีภาพและความเป็นธรรม ฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญถูกขัดขวางและจับกุมคุมขัง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนสามารถระดมทรัพยากรของรัฐเพื่อรณรงค์ได้อย่างเต็มที่แล้ว ภายใต้บรรยากาศแห่งการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่มีรัฐประหาร และรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงการทำประชามติ จึงไม่ต่างจากการลงประชามติภายใต้ปากกระบอกปืน อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ก็ล่าช้า ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอ ความกลัวและอุปสรรคต่าง ๆ ข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้ออกเสียงประชามติน้อยลงเป็นประวัติการณ์ มิใช่เพราะบุคคลเหล่านั้น ‘นอนหลับทับสิทธิ’ แต่อย่างใด

ผลของประชามติมีผู้มาออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ 16.8 ล้านคน นับเป็นประมาณ 34% หรือเพียง 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50 ล้านคนเท่านั้น จึงเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ผ่านการรับรองจากเสียงข้างมากของคนไทย ทั้งที่เป็นกติกาสูงสุดของประเทศ

ต้นไม้พิษย่อมให้ผลไม้พิษตามมา คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ขอย้ำเช่นเดิมว่าเราไม่ยอมรับกระบวนการทำประชามตินี้ตั้งแต่ต้น รวมทั้งกระบวนการต่อเนื่องภายหลังประชามติ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้ยังได้ผ่านการแก้ไขในหลายมาตราจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นฉบับเดียวกับที่ผ่านประชามติอีกต่อไป พร้อมทั้งยังมีกระบวนการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกอีกหลายฉบับตามมา โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งสามารถร่างกฎหมายลูกได้ตามต้องการโดยไม่ต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชน

การร่างรัฐธรรมนูญ 2560 การปฏิรูปประเทศ ไปจนถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลทหารที่พร่ำบอกว่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่สันติประนีประนอมได้นั้นเป็นเรื่องโกหก เพราะฐานคิดของผู้นำผู้มีอำนาจรัฐในระบบโครงสร้างการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งระบบราชการ มองประชาชนเป็นเพียงฟันเฟืองของกลไกทางเศรษฐกิจ หุ้นส่วนที่ต้องร่วมจ่าย ผู้บริโภค หรือผู้ด้อยโอกาสที่ต้องให้การสงเคราะห์ โดยประชาชนไม่มีอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองได้เต็มที่ อีกทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญยังเน้นแนวคิดความมั่นคงของรัฐเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างเงื่อนไขทำให้ประชาชนผู้คิดต่างไม่สามารถมีอำนาจต่อรองและกำหนดอนาคตของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ยุติธรรม

ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดและมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศก็คือปัญหาที่เกิดจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ถูกแทรกแซงโดย ส.ว. 250 คน และการบริหารราชการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่ง คสช. เขียนขึ้นเองโดยไม่ฟังเสียงประชาชน

กว่า 3 ปีที่ผ่านมาคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกว่าไม่ยอมรับและนับผลประชามติดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เราได้จัดเสวนารณรงค์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญนี้ในประเด็นต่างๆ หลายครั้ง เพื่อหวังผลในอนาคตว่าจะมีกระบวนการบอกเลิกให้ประชามติ พ.ศ. 2559 เป็นโมฆะและมีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อถอนต้นไม้พิษและลบล้างมรดกบาปของ คสช. เสีย

ในโอกาสนี้คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องของเราดังนี้

  1. ขอสงวนสิทธิไม่ยอมรับนับผลประชามติ พ.ศ. 2559 และถือว่าประชามติเป็นโมฆะ หรืออย่างต่ำสุดเป็นโมฆียะซึ่งพลเมืองยังคงสิทธิที่จะบอกล้าง และถือรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเพียงฉบับชั่วคราว

  2. เรามีมติเข้าร่วมกับคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เพื่อผลักดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เหมือนครั้ง พ.ศ. 2539 และเปิดให้มีการประชามติภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว

  3. ขอเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะร่วมกันร่างขึ้นขยายสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค รับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข และความมั่นคงในการทำงาน ให้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และหน่วยงานของรัฐรวมทั้งกองทัพและตำรวจยึดโยงกับประชาชน อยู่ใต้การบังคับบัญชาของประชาชน เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ให้อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

จึงเรียนมาเพื่อเชิญชวนให้สาธารณชนร่วมกันพิจารณาและร่วมกันผลักดันต่อไป