ปี 2559 กำลังจะผ่านไป และปีใหม่กำลังจะมาถึง ซึ่งในทางการเมืองแล้วปี 2560 อาจเรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายในการครองอำนาจของ คสช. เพราะกรอบเวลาที่ประเทศไทยจะเดินไปสู่การเลือกตั้งกำลังงวดเข้ามาทุกขณะ และนำมาสู่คำถามหลากหลายที่ The Momentum กำลังพาคุณไปค้นหาคำตอบ

ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งไหม? โฉมหน้าของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร? อำนาจของ คสช. จะมีผลแค่ไหนกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น?

นี่คือทิศทางการเมืองไทยในปี 2560 ที่ ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ

การเมืองไทยในปีหน้า ก็คาดหมายได้ว่าจะไม่เปลี่ยนไปจาก 2 ปีที่ผ่านมามากนัก
เพราะจุดเปลี่ยนจริงๆ จะเริ่มต้นเมื่อมีการเลือกตั้ง
จุดสังเกตคือแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้และฉบับชั่วคราวจะสิ้นสภาพไป
แต่นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจพิเศษของคณะปฏิวัติจะยังคงอยู่ต่อไป จนถึงตอนที่มีคณะรัฐมนตรีใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

เราจะได้เลือกตั้งกันเมื่อไหร่

หนึ่งในไทม์ไลน์สำคัญของการเมืองไทยในปีหน้าคือการเดินหน้าสู่โรดแมปที่จุดหมายปลายทางคือการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่อ้อมกอดของประชาธิปไตยอีกครั้ง

ซึ่ง ผศ. ดร. ปริญญา วิเคราะห์ว่า ก่อนจะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ ต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญหลายอย่าง เริ่มต้นจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านประชามติไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของพระเจ้าอยู่หัวว่าจะทรงโปรดเกล้าฯ เมื่อไหร่

เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว จะต้องมีการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทั้ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 8 เดือนนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จากนั้นไม่เกิน 5 เดือนถึงจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

นั่นหมายความว่าหากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เดือนมกราคม 2560 การเลือกตั้งก็อาจจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในเดือนธันวาคม 2560 หรือช้าที่สุดก็จะเป็นเดือนมิถุนายน 2561

“ถามว่าการเมืองไทยในปีหน้าจะเป็นอย่างไร ก็คาดหมายได้ว่าจะไม่เปลี่ยนไปจาก 2 ปีที่ผ่านมามากนัก เพราะจุดเปลี่ยนจริงๆ จะเริ่มต้นเมื่อมีการเลือกตั้ง จุดสังเกตคือแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้และฉบับชั่วคราวจะสิ้นสภาพไป แต่นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจพิเศษของคณะปฏิวัติจะยังคงอยู่ต่อไป จนถึงตอนที่มีคณะรัฐมนตรีใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง”

เราอาจวิเคราะห์ได้ว่าประชาธิปไตยของไทยอยู่ในช่วงขาลง มันอาจจะถูกก็ได้นะ
ไม่ใช่ว่าคนเบื่อประชาธิปไตย แต่คนเบื่อนักการเมืองมากเสียจนให้ คสช. ดูแลประเทศไปก่อน

 

คสช. กับการถ่ายเทอำนาจสู่ ส.ว.

มาตรา 44 คืออำนาจสำคัญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่เปิดโอกาสให้หัวหน้า คสช. สามารถสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ซึ่งอำนาจนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะทุกครั้งที่มีการปฏิวัติก็จะมีอำนาจพิเศษลักษณะนี้ตามมาเสมอ
แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่นี่เป็นครั้งแรกที่อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. จะยังคงอยู่จนกว่าจะมี ครม.ใหม่หลังการเลือกตั้ง

คำถามสำคัญคือ อำนาจพิเศษของ คสช. นี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง และการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่
ผศ. ดร. ปริญญา ให้ความเห็นว่า คสช. ไม่น่าจะเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งได้ง่ายๆ แต่อาจจะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านการแต่งตั้ง ส.ว. ซึ่งจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการตั้งรัฐบาลต่อไป

จากคำถามพ่วงในการออกเสียงประชามติครั้งที่ผ่านมา มีประเด็นเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนว่า ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี’

“คำถามข้อนี้ถามทำไม? คำถามที่แท้จริงคือ คสช. ต้องการถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้วุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. แล้ววุฒิสภาใครเป็นคนเลือก ก็ คสช. ไง ดังนั้นเมื่อคำถามเพิ่มเติมผ่าน ส.ว. ซึ่ง คสช. เป็นคนเลือก ก็จะมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

“ไม่ว่าการออกเสียงเห็นชอบคำถามร่วม ประชาชนจะเข้าใจคำถามแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่ประชาชนเสียงข้างมากก็ได้เห็นชอบไปแล้วให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ ดังนั้นที่ประชุมในการเลือกนายกฯ จึงประกอบไปด้วย ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง บวกกับ ส.ว. อีก 250 คน”

ดังนั้นหลังการเลือกตั้ง ส.ว. 250 คน จะกลายเป็นพรรคใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ คสช. จะกุมอำนาจในการตั้งรัฐบาลด้วยตนเอง เพราะการจะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ต้องอาศัยเสียงข้างมากจากสภา และเมื่อสภาประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 750 คน เท่ากับว่าจะต้องได้เสียง 376 เสียง

“แปลว่าลำพังเพียง ส.ว. อย่างเดียวจะไม่สามารถตั้งนายกฯ ได้ เพราะยังขาดอีก 126 เสียง ซึ่งถามว่ายากไหม ก็ไม่ค่อยยาก ซึ่งถ้า คสช. ต้องการมีบทบาทหลังการเลือกตั้งก็ทำได้ผ่าน ส.ว. ที่เลือกมานั่นเอง

“แต่ประเด็นสำคัญก็คือการลงมติไม่ไว้วางใจคงเป็นอำนาจของ ส.ส. อย่างเดียว ส.ว. ไม่มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจ ก็แปลว่า ส.ส. 251 คน ก็สามารถปลดนายกฯ ได้ ดังนั้นถ้ารัฐบาลมี ส.ส. แค่ 126 เสียง แม้จะเป็นนายกฯ ได้ แต่บริหารประเทศไม่ได้ และจะล้มไปในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นถ้าจะอยู่ได้โดยไม่ถูกปลด ต้องตั้งรัฐบาลที่มี ส.ส. ถึง 250 คน และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เอาพรรคหนึ่งพรรคใดมาร่วมรัฐบาล”

เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ต้องจับมือกันร่วมรัฐบาล เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะตั้งรัฐบาลได้
โดยที่ คสช. ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานได้

 

3 สูตรตั้งรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง

ถ้ามองข้ามช็อตไปที่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนผสมของรัฐบาลใหม่ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าจับตามอง โดย ผศ. ดร. ปริญญา ให้ความเห็นว่าทางเลือกในการตั้งรัฐบาลใหม่จะมีอยู่ 3 ทางด้วยกัน

ทางเลือกที่ 1 คือ คสช. เป็นรัฐบาล และมีคนนอกที่ คสช. เลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยดึงพรรคขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้

ทางเลือกที่ 2 คือ คสช. ไม่ได้เป็นรัฐบาลเอง แต่มีสิทธิ์ชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล โดยใช้เสียง ส.ว. ทั้ง 250 เสียง กำหนดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

และทางเลือกที่ 3 คือ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ต้องจับมือกันร่วมรัฐบาล เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะตั้งรัฐบาลได้โดยที่ คสช. ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานได้

ซึ่งในความเห็นของ ผศ. ดร. ปริญญา มองว่าทางเลือกที่ 2 น่าจะเป็นแนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุด

เมื่อกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง เราไม่ควรล้มเหลวอีก

 

ประชาธิปไตยไทยกำลังอยู่ในขาลง?

ถึง คสช. จะมีที่มาจากการรัฐประหาร แต่ตลอด 2 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา คสช. กลับได้รับแรงกดดันน้อยมากเมื่อเทียบกับคณะรัฐประหารที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะผู้คนเกรงกลัวที่จะแสดงความคิดเห็นต่อต้าน คสช. หรือไม่ก็เบื่อการเมืองจนกระทั่งอยากให้ คสช. ดูแลบ้านเมืองต่อไป ซึ่ง ผศ. ดร. ปริญญา วิเคราะห์ว่า

“บางทีนักวิเคราะห์ หรือสื่อมวลชนต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจ ไปบอกว่าคนไทยโหวตรับรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองมีสิทธิน้อยลง เราอาจวิเคราะห์ได้ว่าประชาธิปไตยของไทยอยู่ในช่วงขาลง มันอาจจะถูกก็ได้นะ แต่ผมมองว่าเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งคือ เวลาพูดถึงการเลือกตั้ง คนจะนึกถึงพรรคการเมือง นักการเมือง นึกถึงการทะเลาะกันในสภา ทีนี้พอ คสช. ยึดอำนาจ จะถูกผิดก็อีกเรื่อง แต่คนก็อาจจะมองว่าบ้านเมืองก็ดูสงบดี ดังนั้นให้ดูแลบ้านเมืองต่อไปก็ดีเหมือนกัน ฉะนั้นเสียงที่ออกมาจึงเป็นเสียงเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าคนเบื่อประชาธิปไตย แต่คนเบื่อนักการเมืองมากเสียจนให้ คสช. ดูแลประเทศไปก่อน

“ที่ผ่านมาถือว่า คสช. อยู่ในอำนาจได้นานกว่าทุกคณะรัฐประหารที่ผ่านมา ถ้าไม่นับสมัยจอมพลสฤษดิ์-ถนอมที่อยู่ในอำนาจเป็น 10 ปี แล้ว คสช. ก็ไม่ได้เร่งรีบที่จะกลับสู่ประชาธิปไตย แรงกดดันถึงจะมี แต่ก็ไม่ได้มากจนกระทั่งต้องรีบคืนอำนาจให้ประชาชน ทำไมล่ะครับ เพราะว่าคนจำนวนมากพอพูดถึงประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ก็มักจะไปนึกถึงนักการเมือง นึกถึงม็อบ นึกถึงการทะเลาะกันในสภา นี่คือปัญหาของเรา ผมคิดว่าถ้าเราเจ้าของประเทศปกครองตนเองกันเป็น ทหารก็จะมายุ่งไม่ได้ เราปกครองกันเองไม่เป็น แก้ปัญหากันเองไม่เป็น และนี่คือบทเรียนของเรา เราเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้จากอดีตได้ และทำยังไงให้ประชาธิปไตยไม่ล้มเหลวอีก”

ถึงแม้ประชาธิปไตยไทยจะถูกมองว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าเราควรจะสิ้นหวัง เพราะ ผศ. ดร. ปริญญามองว่า เอาเข้าจริงคนไทยกับประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ห่างไกลกันขนาดนั้น

“ผมคิดว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยถ้ามีตัวชี้วัดสักหน่อย ก็ต้องไปดู democracy ranking หรืออันดับความเป็นประชาธิปไตยก่อนหน้าที่จะยึดอำนาจในปี 2557 ตอนนั้นเราอยู่อันดับที่ 63 ของโลก ถามว่าแย่มากไหม เอาอย่างนี้แล้วกัน ฟุตบอลทีมชาติของเราอยู่อันดับที่ 130 แต่เรายังมีความหวัง เรายังเชียร์ แต่ประชาธิปไตยไทยอันดับดีกว่าฟุตบอลทีมชาติตั้งเยอะ ทำไมถึงจะไม่มีความหวัง ผมพูดแบบนี้เพื่อจะอธิบายว่าประชาธิปไตยของไทยก่อนหน้ายึดอำนาจมันยังไม่ดี แต่ก็ไม่ได้แย่มาก

“ความหมายคือเราไม่ได้เป็นเด็กน้อยในเรื่องของประชาธิปไตย เพียงแต่เราต้องเรียนรู้อีกหน่อยว่า เราขัดแย้งกันได้ เห็นต่างกันได้ แต่ก็ต้องว่าไปตามกติกาเหมือนกับฟุตบอล ถ้าเราด่านักการเมืองว่าคอร์รัปชัน เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องปฏิวัติ แล้วเราเคยมีพฤติกรรม หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันบ้างไหม เราผิดกฎจราจรเราจ่ายค่าปรับโดยดี หรือติดสินบนเจ้าหน้าที่หรือเปล่า เราเคยใช้เส้นสายข้ามหัวคนอื่นหรือเปล่า เราเคย make ใบเสร็จไหม เราเคยเอาของส่วนร่วมมาเป็นของส่วนตัวไหม เช่น ฟุตบาทหน้าบ้าน คือพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุของการล้มเหลวของประชาธิปไตยทั้งสิ้น เราจะไปด่านักการเมืองไม่ได้ เพราะเขาก็คือผลผลิตของเราเอง

“เมื่อกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง เราไม่ควรล้มเหลวอีก”

ในขณะที่ประชาธิปไตยในโลกตะวันตกเขากำลังพูดถึงทางเลือกใหม่ๆ ที่ข้ามพ้นพรรคการเมือง
และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ของเรายังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องพรรคการเมือง
ในกฎหมายเรายังไประบุว่า ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่สังกัดพรรคก็ลงสมัครไม่ได้ แค่นี้ก็แย่แล้ว

 

เมื่อโลกหันขวา แล้วไทยจะยืนอยู่ตรงไหนในแผนที่โลก

คงต้องยอมรับว่าในปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไป ถือเป็นปีที่ระเบียบโลกกำลังถูกจัดวางใหม่ ตั้งแต่เรื่อง Brexit ไล่เรียงจนมาถึงผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี และแนวโน้มในปีหน้าการเมืองโลกก็กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอีกหลายอย่าง (อ่านรายละเอียดได้ใน ระเบียบโลกชุดใหม่ปี 2017 เมื่อโลกกำลังหันขวาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แล้วไทยควรวางบทบาทอย่างไร)

เมื่อเทรนด์การเมืองโลกต่างพากันหันขวา แล้วไทยจะยืนอยู่ตรงไหน? เรื่องนี้ ผศ. ดร. ปริญญา ให้ความเห็นว่า

“ผมคิดว่าตอนนี้ประชาธิปไตยของโลกกำลังต้องการการปรับตัวครั้งใหญ่ พูดแบบย่นย่อคือ สิ่งที่เรียกว่าพรรคการเมืองถือเป็นเครื่องมือที่กำลังจะพ้นสมัยแล้ว เพราะความคาดหวัง และวิถีชีวิตของคนในยุคนี้มันไปไกลเกินกว่าที่นักการเมืองซึ่งเป็นระบบเดิมจะตอบโจทย์ได้แล้ว เพราะพรรคการเมืองมันแข็งตัวเกินไป มันเป็นเรื่องของการลงเลือกตั้ง เป็นเรื่องของการแย่งอำนาจ ซึ่งคนจำนวนมากเขาอยากทำให้สังคมมีส่วนร่วมมากขึ้นด้วยวิธีอื่นๆ ฉะนั้นผมจะบอกว่าที่ประชาธิปไตยทั่วโลกมันหันไปทางขวา อาจจะไม่ถูกทั้งหมด เพราะตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวไปสู่ประชาธิปไตยแบบใหม่

“ในขณะที่ประชาธิปไตยในโลกตะวันตกเขากำลังพูดถึงทางเลือกใหม่ๆ ที่ข้ามพ้นพรรคการเมือง และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ของเรายังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องพรรคการเมือง ในกฎหมายเรายังไประบุว่า ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่สังกัดพรรคก็ลงสมัครไม่ได้ แค่นี้ก็แย่แล้ว เพราะเป็นการเอาผู้แทนปวงชนไปอยู่ใต้อำนาจของพรรคการเมือง ขณะที่รัฐธรรมนูญทั่วโลกไม่ได้บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรค แทนที่จะคิดหาหนทางที่มันไปได้ไกลกว่านี้

ในความเห็นของ ผศ. ดร. ปริญญา ตัวแปรสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประชาธิปไตยได้ไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นโลกออนไลน์ที่สามารถกำหนดทิศทางการเมืองไทยในอนาคตได้

“ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีนะครับที่จะมีการประท้วงล่ารายชื่อโดยใช้เวลาแค่ 2 วันแล้วจะได้มาถึง 3 แสนรายชื่อ ฉะนั้นโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียมันจึงมีบทบาทในการสร้างฉันทามติมากขึ้น ผมเห็นว่าเรื่องนี้จะทำให้ประชาธิปไตยไทยประสบความสำเร็จเร็วขึ้นในอนาคต เพราะเฟซบุ๊กได้สร้างแนวคิดให้คนยุคนี้ได้เข้าใจว่าถึงแม้คนจะมีความหลากหลาย แต่ทุกคนก็เท่ากัน นี่แหละคือพื้นฐานของประชาธิปไตย และผมเชื่อว่านั่นจะเป็นตัวเร่งที่ดี เมื่อคนยุคนี้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาจะเติบโตมาพร้อมกับเฟซบุ๊กที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลที่จำกัดเสรีภาพเขามากๆ ไม่มีทางยั่งยืนหรอกในยุคปัจจุบัน มันเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้นแหละ”

นอกจากนี้ ผศ. ดร. ยังทิ้งท้ายด้วยว่าอีกไม่เกิน 16 ปีนับจากวันนี้ ประชาธิปไตยของไทยจะประสบความสำเร็จอย่างที่เราคาดหวังกันมาโดยตลอดนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในยุคโซเชียลมีเดียจะเติบโตขึ้นและมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประชาธิปไตยของไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป

แม้ในปี 2560 จะยังไม่ถึงเวลาที่ประเทศจะขับเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตย แต่เชื่อว่าแนวโน้มจากการคาดการณ์เหล่านี้ น่าจะทำให้หลายคนมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ และมีความหวังกับการเมืองไทยมากขึ้น

 

Tags: , ,