เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลาประมาณ 17.00 น. พรรคขนาดเล็กทั้ง 5 พรรค ได้แก่ พรรคสามัญชน (เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์), พรรคกลาง (ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว), พรรคคนกลาง (ธนพร ศรียากูล) พรรคกรีน (พงศา ชูแนม) และดำเนินรายการโดย พรรคเกียน (สมบัติ บุญงามอนงค์) ร่วมกันจัดเวทีปราศรัยหัวข้อ ‘รวมพลพรรคเล็กคิดการใหญ่ ไม่เอาสืบทอดอำนาจ ประกาศทางเลือกประชาชน’ โดยเวทีปราศรัยจัดขึ้นที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว

บรรยากาศภายในงานค่อนข้างเป็นกันเอง มีการทักทายและหยอกล้อระหว่างผู้สมัครต่างพรรค ถึงแม้ว่าจะมีเข้าร่วมผู้งานไม่มากนัก แต่สื่อหลายแขนงทั้งเล็กใหญ่ต่างส่งตัวแทนมาเพื่อทำข่าวในวันนี้

สมบัติ หรือ บก.ลายจุด ดำเนินรายการและคอยสรุปประเด็น รวมทั้งสร้างเสียงหัวเราะให้กับทั้งผู้เข้าร่วมงานและผู้ปราศรัยได้เป็นระยะๆ โดยมีการปราศรัยแสดงจุดยืนและวิสัยทัศน์พรรคละ 2 รอบ รอบละ 15 นาที และมีการอ่านคำแถลงการณ์ร่วมของทั้ง 5 พรรค ซึ่งก่อนจะอ่านคำแถลงการณ์นั้น ตัวแทนของพรรคสามัญชน นางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง ได้เรียกร้องให้ผู้หญิงที่เป็นตัวแทนจากพรรคต่างๆ ขึ้นมายืนร่วมกันบนเวที เพื่อสะท้อนความเท่าเทียมทางเพศ และสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการเมืองไทยต่อไป

เมื่อสุภาพสตรีจากพรรคต่างๆ เริ่มทยอยเดินขึ้นบนเวที ชุมาพรจึงเริ่มกล่าวคำแถลงการณ์ร่วมของทั้ง 5 พรรค ประกาศจุดยืนว่า ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร ไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น และจะไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นที่ปรากฏเห็นชัดว่ารัฐบาล คสช. ขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ทำลายสิทธิมนุษยชน และหลักการประชาธิปไตย

พรรคทั้ง 5 ขอยืนยันหลักการว่า การแต่งตั้งหัวหน้ารัฐบาลต้องมาจากเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คนที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารไม่ควรมีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น

และภายหลังที่ได้รับรัฐบาลที่มาจากประชาชน พรรคทั้ง 5 ขอเรียกร้องและผลักดันให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นในทันที เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้ในปัจจุบัน ขาดความชอบธรรมทั้งที่มาและเนื้อหาของกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองได้ในอนาคต

เสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้เข้าร่วมงาน สื่อมวลชน รวมทั้งจากตัวแทนของแต่ละพรรค เพื่อมอบเป็นกำลังใจให้แก่กันแล้วกัน

ทั้งนี้นอกจากพรรคเกียนซึ่งไม่ได้ส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงแข่งขัน พรรคต่างๆ ผลัดกันขึ้นเวทีปราศรัยแสดงวิสัยทัศน์และนโยบาย ดังต่อไปนี้

พรรคกลาง

ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว หัวหน้าพรรคและผู้ก่อตั้งพรรคกลาง กล่าวว่า พรรคกลางเกิดจากความคิดที่มุ่งสร้างพื้นที่ตรงกลาง พื้นที่ที่อุดมไปด้วยความแตกต่างทางความคิด และการยอมรับซึ่งกันและกัน เขาใช้ระยะเวลา 9 เดือนในการรวบรวมสมาชิกพรรค ก่อนที่จะส่งผู้สมัครลงทั้งหมด 44 เขตทั่วประเทศ พร้อมระบุว่า พรรคของเขาไม่มีนายทุน จึงไม่มีป้ายหาเสียง แม้กระทั่งการหาเสียง เขาก็ต้องขับรถออกไปพบปะ เคาะประตูชาวบ้านด้วยตนเอง

พรรคกลางสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) โดยเขากล่าวว่าในปัจจุบัน มันเป็นแนวคิดที่เป็นไปได้จริง หากเรานำเทคโนโลยี อาทิ แอปพลิเคชันไลน์, เฟซบุ๊ก มาประยุกต์ใช้ โดยเขายืนยันว่า หากมีตัวแทนของพรรคได้เข้าไปนั่งในสภา เขาจะนำแนวคิดนี้มาทดลองใช้ โดยทุกครั้งก่อนที่ ส.ส. ผู้นั้นจะเข้าประชุมสภา ต้องรวบรวมความเห็นของสมาชิกพรรคและประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ก่อนเข้าสู่สภา เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้ ส.ส. มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายที่เขามองเห็นคือ การไม่มีนักการเมืองอาชีพในประเทศ หากแต่ประชาชนทุกคนสามารถเล่นการเมืองได้ด้วยตัวเอง

พรรคกลางยังสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรม ‘ตาวิเศษ’ ให้สังคมมีจิตสำนึกในการสอดส่องการกระทำที่ทุจริตร่วมกัน อีกทั้งให้ความเห็นว่า นโยบายของทุกพรรคควรจะมีความเป็นสาธารณะ หากเห็นว่าดี ควรหยิบยืมแลกเปลี่ยนกันใช้ได้ ทั้งนี้ พรรคประกาศตนเป็นฝ่ายตรวจสอบและถ่วงดุล จึงยืนยันว่าตนสามารถเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น และตนก็จะไม่เสนอเงื่อนไขใดๆ เช่นกัน เพราะตนขออาสาทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุล

 

พรรคกรีน

นายพงศา ชูแนม ประกาศตัวกลางเวทีอย่างแสบสันต์และฉูดฉาด เมื่อเขาออกตัวว่า ‘ไม่ยืนอยู่ฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม ไม่ยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยปลอม แต่จะยืนอยู่ข้างประชาชน’ ซึ่งเขากล่าวว่ามีความพร้อมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมั่นใจว่าตนจะสามารถทำได้ดีกว่านายกฯ ที่ผ่านมาทุกๆ คน

เขาประกาศนโยบาย 4 ข้อ ได้แก่

  1.  บัตรคนรวย – เขากล่าวว่า วาทกรรมความเหลื่อมล้ำเกิดจากแนวคิด ‘ทรัพย์สิน’ ที่ไม่ครบถ้วนคลอบคลุม เขาเสนอให้สามารถนำ ‘ต้นไม้’ ทุกชนิดขึ้นบัญชีเป็นทรัพย์สินได้ สามารถนำมาค้ำประกัน, ประกันตัว ตลอดจนใช้จ่ายด้านต่างๆ ได้
  2.  ต่อต้านการยึดพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ของ คสช. – จากการทำสัญญาของรัฐบาล คสช. ในการประชุมที่ฝรั่งเศส ทำให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อยึดพื้นที่ป่าคืน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนกว่า 18 ล้านคน ได้รับผลกระทบ ซึ่งเขากล่าวว่าไม่เห็นด้วย และทุกพื้นที่ต้องสามารถทำมาหากินและอาศัยได้
  3.  เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ – งานวิจัยการแพทย์ระบุว่าในปี 2025 คนไทยจะเป็นโรค NCD (Non-Communicable Diseases) หรือโรคที่ไม่สามารถติดต่อได้ อาทิ เบาหวาน มะเร็ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเกษตรที่ใช้สารเคมีเร่งรัดการปลูกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาเสนอว่าควรสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเหล่านี้ ซึ่งรัฐควรปกป้องและอุ้มชูเกษตรกรที่ดำเนินแนวทางนี้
  4.  สันติภาพยั่งยืน – เขาประกาศว่าจะจัดตั้ง ‘สภาประชาธรรม’ สภาประชาชนที่ร่วมควบคุมรัฐบาลผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
  5.  ปรับแนวคิด – เขาไม่เห็นด้วยกับนิยามและแนวคิดหลายๆ อย่างที่นำมาเป็นหลักในการวิเคราะห์บริบทของประเทศในปัจจุบัน อาทิ แนวคิดเศรษฐศาสตร์เรื่อง ‘อุปสงค์-อุปทาน’ โดยเขายกตัวอย่างว่า สินค้าเกษตรควรผันตามสมการราคา มากกว่าอุปสงค์-อุปทาน อาทิ ถ้าน้ำมันปาล์มขวดราคา 40 บาท ปาล์มน้ำมันสดควรราคา 5 บาท ให้ตั้งราคาเป็นสมการ 8 เท่าต่อกัน มากกว่าอิงระบบของตลาด

 

พรรคคนธรรมดา

ธนพร ศรียากูล ขึ้นปราศรัยด้วยน้ำเสียงที่ดุดันและเด็ดเดี่ยว เขากล่าวว่าในปี 2557 ขณะที่กลุ่ม กปปส. เรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เขาเดินทางไป กกต. เพื่อขอจดทะเบียนพรรคการเมืองในทันที ซึ่ง กกต. เวลานั้นก็ไม่เห็นด้วยและอยากให้เขาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งเขายืนยันกับ กกต. ในเวลานั้นเพราะเขามีความเชื่อว่าต้อง ‘เลือกตั้งก่อนปฏิรูป’ เท่านั้น

พรรคคนธรรมดาประกาศตัวคัดค้านมรดกของ คสช. ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 สมาชิก, วุฒิสภาแต่งตั้ง 250 คน ประกาศคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเขาเรียกมันว่า ‘มรดก 20 ปีที่เป็นอันตราย’ ทั้งนี้ยังมองว่า พรรคไหนที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจาก ส.ส. ถ้าหากนายกรัฐมนตรีคนนั้นได้รับเลือกจะไม่มีทางยืนอยู่ข้างประชาชน

ทั้งนี้ พรรคมีนโยบายผลักดัน ‘เสรีกัญชา’ โดยต้องเสรีอย่างแท้จริง ทุกครัวเรือนมีสิทธิ์ปลูก ค้าขาย และแปรรูป เขายืนยันว่า ผู้ใช้กัญชาทั้งประเทศอาจจะเพิ่ม แต่ไม่มาก เพราะอย่างบุหรี่ก็ยังไม่สูบกันทุกคน อีกทั้งยังแสดงความเห็นว่า เราสามารถออกแบบระบบป้องกัน การรณรงค์ ซึ่งจะเป็นระบบที่ไม่ละเมิดภูมิปัญญาและสิทธิในการทำมาหากินของผู้คนได้

หนึ่งในสมาชิกพรรคยังกล่าวอีกว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ควรจะก้าวหน้าไปไกลกว่าเดิม โดยเฉพาะการรักษาเร่งด่วน (Emergency Case) ซึ่งเขาเรียกว่า ‘4 นาที ถึงมือหมอ’ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพ มีการแชร์ฐานข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล และมีการนำส่งผู้ป่วยที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เขายังประกาศว่าคนไทยควรจะมีแพทย์ประจำตัวทุกๆ คน ในอนาคตข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหาแออัดในโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายในการการรักษาที่ไม่จำเป็น

 

พรรคสามัญชน

  ในช่วงแรกของการปราศรัย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนขึ้นมาแถลงถึงจุดยืน โดยกล่าวว่า ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ว่าในด้านใดๆ พร้อมทั้งประณามกฎหมายกว่า 500 ฉบับ ที่ออกโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งทำให้เกิดปัญหา อาทิ ชาวบ้านโดนขับไล่พื้นที่ทำกิน ความมั่นคงทางอาหารถูกทำลาย (พ.ร.บ.ข้าว) การใช้มาตรา 44 ให้อำนาจแก่คณะกรรมการบริหาร EEC และเรียกร้องให้หลักการ ‘อำนาจอธิปไตย’ เป็นของปวงชนชาวไทย ถูกนำกลับมาทบทวนและถกเถียงอีกครั้งหนึ่ง

โดยพรรคสามัญชนกล่าวว่า ‘นโยบาย คือ ความใฝ่ฝันถึงสังคมในวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า’ และเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนฉลาดเลือก และอย่าไร้เดียงสา ต้องเลือกพรรคที่ประกาศตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยอย่างชัดเจน มีแนวคิดเพียบพร้อมเรื่องปัญหาปากท้อง และสนับสนุนเรื่องเสรีภาพในทุกๆ มิติไปพร้อมกัน และอย่าลงคะแนนให้กับพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. หรือพรรคที่กำลังลังเลเหยียบเรือ 2 แคม โดยเด็ดขาด

ทั้งนี้พรรคสามัญชนเรียกร้องให้ประเทศเดินหน้าสู่ ‘รัฐสวัสดิการ’ ยุติระบบสงเคราะห์เอื้ออาทร พร้อมทั้งประกาศผลักดันในมิติต่างๆ ดังนี้

  1.  ความเท่าเทียมของสวัสดิการสุขภาพ – กองทุนทั้ง 3 ได้แก่ กองทุนสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง), กองทุนประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการ ต้องมีความเท่าเทียมกัน ต้องใช้ยาตัวเดียวกัน และมีคุณภาพการรักษาบริการในระดับเดียวกัน
  2.  รัฐสวัสดิการ – รัฐควรอุ้มชูประชาชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะ ‘คนจน’ ซึ่งรัฐนิยามจากรายได้ ประชาชนทุกคน รวย จน สูงต่ำ ควรได้รับสวัสดิการดูแลจากรัฐอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่แนวคิดสงเคราะห์คนจนเช่นในปัจจุบัน
  3.  ยกระดับแรงงาน – สามัญชนมองว่าค่าแรงขั้นต่ำเป็นแนวคิดที่ล้าหลัง และเราควรเดินหน้าสู่ ‘ค่าจ้างที่อยู่ได้’ หมายความว่า เป็นระดับรายได้ที่สามารถใช้ชีวิตได้จริง เพียงพอต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของแรงงาน โดยรัฐต้องเซ็นในสนธิสัญญา MOU รวมทั้งควรออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานเหมาช่วง ให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการ เทียบเท่ากับแรงงานประจำ ทั้งนี้พวกเขายังมองว่า แรงงานเหมาช่วงต้องหมดไปภายในอนาคต
  4.  กฎหมาย – พรรคสามัญชนประกาศว่า พวกเขาเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศคำสั่งของ คสช. และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมด ที่ออกมาในช่วงที่ คสช. เป็นผู้มีอำนาจ โดยประชาชนควรมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายทุกฉบับ ไม่ใช่เป็นผู้ได้รับผลกระทบเพียงฝ่ายเดียว

 

Tags: , , , , , , , ,