เวลาสี่ปี หากเป็นนักศึกษาปริญญาตรีก็เรียนจบมหาวิทยาลัย หากเป็นเด็กเล็กก็ได้เวลาเข้าเรียนอนุบาล หากเป็นรัฐบาล สี่ปีคือเวลาที่อยู่ในตำแหน่งจนครบเทอม แม้จะไม่สามารถทำอะไรให้ถูกใจคนทุกคนได้ แต่เวลาสี่ปี ก็ควรจะมีตัวชี้วัดอะไรให้พอตัดสินผลงานกันได้บ้าง

แต่ในเดือนพฤษภาคม 2561 เดือนครบรอบการรัฐประหารสี่ปี ถ้าดูข่าวเด่นที่เกี่ยวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะพบว่าพล็อตเรื่องยังคงซ้ำๆ นอกจากวนเวียนไม่คืบหน้าแล้วยังถอยหลังไปกว่าอดีตที่เราผ่านมา เช่น

  • ตำรวจสั่งนักข่าว จะทำข่าวการชุมนุมวันที่ 22 พ.ค. ต้องยืนทำข่าวจากฝั่งตำรวจเท่านั้น และทุกคนต้องไปขอปลอกแขนที่ออกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • สนามบอลธรรมศาสตร์ปักป้ายห้ามใช้สนาม เพราะเพิ่งลงปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะที่มวลชนนัดชุมนุมกันที่ธรรมศาสตร์ ที่หากได้เข้าไปในมหาวิทยาลัยก็จะไม่สามารถใช้สนามบอลได้
  • แกนนำพรรคเพื่อไทยไปมอบตัว หลังถูกดำเนินคดีฐานจัดงานแถลงข่าว
  • ตำรวจสั่งสลายการชุมนุมสี่ปีรัฐประหาร แกนนำผู้ชุมนุมโดนข้อหาเพิ่ม เพราะจัดชุมนุมทางการเมือง
  • ฯลฯ

นี่เป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือนนี้ แต่หากไล่ดูย้อนไป 4 ปีที่ผ่านมา ข่าวการจับกุมและปิดกั้นการแสดงออกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไม่หยุด จนตอนนี้ กลายเป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ ไปแล้วว่า คนไทยของแท้ต้องไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย

ในขวบปีแรกหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อรัฐประหาร บรรยากาศการเมืองตึงเครียดและไม่มีใครกล้าทำอะไร กระทั่งกลุ่มนักศึกษาที่ขอนแก่น ในนาม ‘นักศึกษากลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม’ หรือ ดาวดิน จำนวน 7 คน ออกมาชูสามนิ้วต้านรัฐประหาร ขณะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ที่จังหวัดขอนแก่น แน่นอนว่า กิจกรรมลักษณะขัดต่อนี้ ‘กฎหมาย’ ที่เขียนขึ้นมาใหม่ ทำให้กลุ่มนักศึกษาถูกตั้งข้อหาว่าขัดคำสั่งคสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คน

หากคิดจากหัวอกของพ่อแม่นักศึกษาเหล่านี้ ย่อมคิดว่าหากมันเสี่ยงกฎหมายก็อย่าไปยุ่งกับการเมืองเลย สู้อยู่ทนไป เอาตัวรอดให้ได้ในแต่ละวันก็พอ ขณะที่ใครหลายคนอาจสบายใจดีว่าการรัฐประหารไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต อีกทั้งในยุคคสช. การชุมนุมเกิดขึ้นได้ยาก ก็ทำให้ชีวิตสบายขึ้นเพราะไม่ต้องพะวงรถติดจากม็อบ ยังใช้ชีวิตได้เป็นปกติสุขดี

บนเชื้อเพลิงแห่งความสบายใจ คณะรัฐประหารถือโอกาสออกกฎหมายจำนวนมาก ที่เหล่านักท่องอาขยานยึดถือไปตามๆ กันว่า ขึ้นชื่อเป็นพลเมืองที่ดีก็ต้องเคารพกฎหมาย

แต่กฎหมายที่มากับรัฐประหาร หากไม่ใช่คำสั่งหรือประกาศที่คนกลุ่มเดียวออกได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 525 ฉบับ หากเป็นพระราชบัญญัติที่ผ่านสภาที่แต่งตั้งโดย คสช. ก็พบว่ากฎหมายจำนวน 292 ฉบับที่ผ่านเข้าสภาไปอย่างง่ายๆ โดยแทบไม่มีเสียงค้าน เพราะไม่มีผู้แทนที่ทำหน้าที่คอยคัดง้างตรวจสอบอย่างจริงจัง

บางคนอาจไม่เห็นความสำคัญว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา แต่ไม่ว่าจะชอบการเมืองหรือไม่ ผลกระทบจากการใช้อำนาจลักษณะนี้กำลังส่งผลแทรกซึมไปในทุกอณูของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความพยายามแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ ความพยายามติดล็อคไม่ให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้เรื่องเหล่านี้จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่ไกลตัวที่เรามองไม่เห็นผลกระทบชัด ไม่เหมือนกับนโยบายที่ฟังปุ๊บเข้าใจได้ทันทีอย่างการส่งเสริมการมีบุตรโดยการแจกโฟเลตในโครงการหญิงไทยแก้มแดง การปราบปรามผู้ค้าตามฟุตบาท หรือการชวนข้าราชการให้มาออกกำลังกายทุกวันพุธ

แต่กระนั้นก็ตาม สิ่งที่พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลรัฐประหารดำเนินการ ไม่ได้มีแต่เรื่องที่เราไม่จำเป็นต้องสนใจก็ได้อย่างการพบปะทีมผู้จัดละครบุพเพสันนิวาส หรือการนัดพบ BNK48 ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในระยะยาวถูกกำหนดฝังรากไว้ ทั้งผ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เรื่องเหล่านี้จะไปบังคับรัฐบาลในอนาคตให้ต้องทำตามแผนที่คสช.กำหนดไว้ เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นที่การใช้คำใหญ่โต แต่ให้อำนาจเผื่อไปถึงอนาคต ซึ่งหลายเรื่องที่มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง เช่นการแก้ไขหลักประกันสุขภาพ ที่จะมีผลต่อสวัสดิการด้านสุขภาพของประชาชน เรื่องเหล่านี้ คนที่ไม่เห็นด้วยต้องอาศัยความกล้าหาญที่จะยอมเสี่ยงในการตั้งคำถามและทัดทานเพื่อให้เกิดการทบทวนแก้ไข

คนที่ไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหารและนโยบายของคณะรัฐประหาร ก็เผชิญความเสี่ยงซ้ำๆ จนตอนนี้ มีคนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนไปแล้วอย่างน้อย 390 คน นี่ยังไม่นับรวมคดีการเมืองอื่นๆ อย่างเช่นข้อหาเรื่องหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และข้อหาเรื่องยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง คดีทหารเรียกแล้วไม่ยอมไปรายงานตัว ที่รวมจำนวนคดีได้อีกเกือบ 200 คดีในรอบสี่ปีที่ผ่านมา

ผลงานเด่นที่คนน่าจะจำได้

“ให้โอกาสเขาก่อน”, “รอดูว่าทหารจะปฏิรูปประเทศอย่างไร” และวาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เป็นแนวคิดกระแสหลักที่มีอำนาจเหนือข้อเสนอจากฝ่ายประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เราต่างก็เข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฏิรูป คือการคิดที่จะให้ ‘หยุด’ ทุกสิ่งเอาไว้ก่อน รอปฏิรูปให้เสร็จแล้วจึงเดินหน้าต่อ เพื่อหยุดทุกสิ่งที่ขวางการปฏิรูป

พลเมืองไทยจึงต้องเสียเวลาไปด้วยการถูกรัฐประหารเมื่อสี่ปีก่อน ประสมไปกับชีวิตคนจำนวนมากที่รู้สึกไม่ปลอดภัยจึงตัดสินใจลี้ภัยไปต่างแดน และการยึดเสรีภาพด้วยการยัดข้อหาทางการเมืองของนักเคลื่อนไหวอีกจำนวนมาก

หากถามตรงๆ คงไม่มีประชาชนที่เชื่อในการ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ จะคิดว่าทหารจะยึดประเทศนานถึงสี่ปี หรือต้องบอกว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจแล้วยึดเก้าอี้เอาไว้นานกว่าคณะรัฐประหารชุดก่อนหน้า ที่อย่างดีก็ตั้งรัฐบาลชั่วคราวแล้วเปลี่ยนถ่ายอำนาจ แม้จะเคยมีคนที่เชื่อจริงๆ ในสโลแกนที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” เวลาสี่ปีนี้น่าจะพอพิสูจน์ได้ว่า หากยังมีความหวังเป็นเป้าหมายที่ความเป็นประชาธิปไตย ก็ถือเป็นความเข้าใจที่ผิดที่คิดว่า จะขอทำลายศัตรูพืชให้ราบคาบ แล้วนั่งรอผลผลิตออกดอกผล

เผด็จการเป็นสินค้าที่ต้องรีแบรนด์?

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเพียงการพูดจาแบบท่องอาขยาน แต่เวลานี้ ไม่ว่าฝ่ายใด ต่างก็พร้อมใจกันประสานเสียงว่าไม่ยอมรับระบอบเผด็จการ (แม้ในกลุ่มคนที่ยังหวังลึกๆ ว่าเผด็จการทหารจะช่วยกู้ชาติได้) เช่นในเวทีสาธารณะ ‘The Move We Decide-ก้าวที่เลือกได้’ ที่มีตัวแทนจาก พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา นักการเมืองพรรคหลักๆ สี่พรรค ประสานเสียงชัดเจนแถมยังลุกขึ้นมาจับไม้จับมือกันว่าไม่เอาเผด็จการ หลายพรรคยังจับเรื่องต้านเผด็จการเป็นสโลแกนหลักด้วย

นั่นแปลว่าในแง่การตลาดและการเผชิญหน้ากับโลก คงไม่มีใครอยากให้ประเทศไทยได้ติดฉลากว่าอยู่ในระบอบเผด็จการ

แต่จะประสาอะไรกับอาขยานเหล่านั้น เพราะแม้แต่ในรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยเผด็จการก็ยังเขียนเอาไว้ว่าประเทศไทยใช้ระบอบประชาธิปไตย แต่ระบอบประชาธิปไตยที่ไหนที่การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญก็ยังสั่งห้ามรณรงค์ และมีคนถูกจับกุมที่คดีก็ยังคาศาลอยู่

การพูดว่าไม่เอาเผด็จการนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ตัววัดผลที่จะใช้ได้จริงนับจากนี้ไปต้องไม่ใช่แค่ลมปาก แต่ต้องช่วยกันหาวิธีว่า เราจะอยู่อย่างไรให้เราได้ยกระดับสู่กลไกประชาธิปไตย เพราะเผด็จการแบบคสช. ก็ไม่ได้อยู่กับคนไทยแค่สี่ปี แต่ส่อแววจะอยู่นานกว่านั้น อย่างน้อยๆ การเขียนยุทธศาสตร์ที่วางแนวทางเผื่อระยะยาวเอาไว้ 20 ปีแล้วบังคับห้ามเปลี่ยน นี่ก็ถือเป็นวิธีคิดแบบเผด็จการแล้ว

การเดินหน้าประเทศไทยในเวลานี้ หลายฝ่ายจึงได้แต่หวังว่าจะเฝ้ารอการเลือกตั้ง  แต่ว่า The end doesn’t justify the means การเลือกตั้งโดยลำพังไม่ใช้ตัวชี้วัดว่าการเมืองไทยจะพัฒนาขึ้น แต่เป็นเส้นทางที่อยู่ระหว่างทางสู่การเลือกตั้ง ซึ่งก็คือช่วงเวลานี้ต่างหาก ว่าแต่ละฝ่ายจะสมยอมกับอำนาจเผด็จการในระดับไหน

สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือเราอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราสบายใจกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ อย่างการไม่ต้องมีการชุมนุมจะได้สัญจรสะดวก ก็ต้องอย่าลืมว่า การกดทับห้ามชุมนุมก็ต้องแลกด้วยต้นทุนราคาแพง จากการยอมปล่อยให้คนอื่นมาเขียนอนาคตแทน

สำหรับพรรคการเมืองต่างๆ ในเวลานี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะเกมการเมืองที่วางหมากกันไว้ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำให้พรรคการเมืองต่างๆ เดินอยู่บนความเสี่ยงที่อาจถูกตัดสิทธิทางการเมือง ยุบพรรค หรือทำให้หลุดออกจากเกมได้ตลอดเวลา ซึ่งมีแนวโน้มว่า ระบบการเมืองตอนนี้จะเป็นระบบคัดเกรดให้นักการเมืองที่อยู่รอดจนไปถึงด่านสุดท้าย มีเฉพาะนักการเมือง ‘มืออาชีพ’ ที่รู้หลบหลีก คือรู้ว่าต้องวางตัวอย่างไรเพื่อให้ได้ตำแหน่ง รอดกฎหมาย มากกว่าคนที่จะคิดถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง

ตัวชี้วัดที่วัดคุณภาพพรรคการเมืองที่จะเป็นโจทย์ใหญ่นับจากนี้ จึงยากจะเกิดขึ้นตามลำพัง เพราะพรรคต่างๆ มีความตั้งใจที่จะประคองประเทศออกจากหล่ม คงทำสำเร็จไม่ได้หากพลังประชาธิปไตยในฝั่งของมวลชนก็อ่อนแรง

อ้างอิง: สถิติผู้ถูกจับกุม และสถิติกฎหมาย จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

Tags: , , , ,