เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 เวลาประมาณ 14.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงถึงการทำงานของ ศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าในขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั่วประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 

ทั้งนี้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีผลบังคับใช้ควบคู่กันไป   

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศแล้ว โดยจะมีการให้อำนาจพิเศษนายกรัฐมนตรีในการสั่งการ ควบคุม และออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงเยียวยาปัญหาด้านอื่นๆ และจะมีการยกระดับศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศอฉ.โควิด-19 ให้เป็นหน่วยงานพิเศษ เพื่อให้สามารถสั่งการได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว ลดความซ้ำซ้อนในการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยจะมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนี้ยังมีการมอบหน้าที่ให้

  1. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบเรื่องการแพร่ระบาด และควบคุมโรค
  2. ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบด้านการสั่งการหน่วยงานท้องถิ่น จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร
  3. บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาด้านการควบคุมสินค้า และเวชภัณฑ์
  4. บุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงต่างประเทศ รับผิดชอบเรื่องการต่างประเทศ รวมถึงดูแลและช่วยเหลือคนไทยที่ยังอยู่ในต่างประเทศ
  5. อัจฉรินทร์ฺ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อสังคม ดูแลการสื่อสารและควบคุมการสื่อสารในช่องทางโซเชียล มีเดียทั้งหมด 
  6. พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง การปราบปรามและอาชญากรรมในประเทศ 

โดยจะมีการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาด โดยมีการใช้แอปพลิเคชันเพื่อควบคุมการระบาด รวมถึงมีการปรับปรุงการสื่อสารจากภาครัฐให้มีความถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน โดยจะมีการแถลงการณ์วันละหนึ่งครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล ยืนยันว่าประชาชนจะได้รับข้อมูลที่โปร่งใส และถูกต้อง

นายกฯ ยังร้องขอให้สื่อมวลชนใช้ข้อมูลจากองค์กรสื่อสารเฉพาะกิจ และทางการเป็นหลัก และไม่ต้องไปหาข้อมูลจากการสัมภาษณ์​แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแหล่งข่าวอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายกฯ กล่าวว่า ภาครัฐไม่สามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้โดยลำพังและต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยภายในหนึ่งสัปดาห์นี้ จะมีการกระจายทีมงานเพื่อรับฟังปัญหาและศักยภาพของทุกกลุ่ม ทั้งภาคเอกชนและประชาสังคม และยังร้องขอให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ตระหนักว่าเราอยู่ทีมเดียวกัน และให้ช่วยใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อบรรเทาปัญหานี้ รวมถึงช่วยร้องเรียนหากพบเห็นเฟคนิวส์ในโซเชียลมีเดีย

ต่อมาเวลาประมาณ 15.35 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้รายละเอียด นิยามของคำว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงภัยสาธารณะ ตามที่กฎหมายกำหนดว่าอันใดที่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องกระทำตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้ลงนามและประกาศไปแล้ว โดยอาจจะมีการยืดระยะเวลาออกไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ 

วิษณุกล่าวว่า รัฐบาลต้องทำการประชาสัมพันธ์แก่เจ้าหน้าที่และประชาชนก่อนเพื่อให้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ได้กำหนดให้สามารถโอนอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ มาสู่นายกรัฐมนตรีได้ ให้รองนายกฯ ทุกคนเป็นผู้ช่วยในการอำนวยการสถานการณ์ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ เหตุที่ไม่ตั้งรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบเนื่องจาก ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องแต่งตั้งจากข้าราชการประจำ ที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี แต่รัฐมนตรียังคงมีอำนาจและความรับผิดชอบในเชิงนโยบายอยู่ นอกจากนี้ยังให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อสังคม ดูแลการสื่อสารและควบคุมการสื่อสารในช่องทางโซเชียล มีเดียทั้งหมด 

พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะแบ่งข้อกำหนดเป็น 3 ประเภทได้แก่ 

  1. ห้ามทำ ห้ามเข้าในบางพื้นที่ หรือปิดสถานที่บางประเภท อย่างที่ได้ประกาศไปเมื่อที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังอนุญาติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถตัดสินใจได้ตามความเหมาะสม ห้ามผู้ใดเดินทางเข้าประเทศ ยกเว้น บุคคลที่มีสัญชาติไทยที่มีใบรับรองจากแพทย์ ผู้ขนส่งสินค้า โดยมีระยะเวลาจำกัด ผู้ที่มากับยานพาหนะ อาทิ นักบิน แอร์โฮสเตส บุคคลที่ได้รับการยกเว้นจากนายกฯ หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ 
  2. ต้องทำ เตรียมความพร้อมในด้านสาธารณสุข อาทิ เตรียมบุคลากร เวชภัณฑ์ รวมถึงการติดต่อเอกชนสำหรับใช้เป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย 
  3. ควรทำ เป็นคำแนะนำต่อประชาชน ทั้งนี้ ในวันนี้ยังไม่ไปถึงระดับที่บังคับประชาชน แต่มีคำแนะนำให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ไม่เดินทางสัญจรไปไหน ทั้งนี้ บุคคล 3 กลุ่มไม่ควรออกไปไหน ได้แก่ ผู้มีอายุเกิน 70 ปี ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอายุตั้ง 5 ขวบลงมา นอกจากนี้ ยังคงอนุญาตให้มีการเดินทางสัญจรระหว่างจังหวัด แต่จะมีมาตรการตั้งจุด สกัด หรือด่าน เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ รวมถึงตรวจว่ามีการเว้นระยะห่างหรือสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการให้มีการติดแอพลิเคชันเพื่อติดตามผู้ที่สัญจรไปต่างจังหวัด 

ในเรื่องการปิดพรมแดน วิษณุไม่แน่ใจว่าควรเรียกอย่างไร แต่ขณะนี้ยังไม่มีการปิดท่าอากาศยานเพื่อรอให้เครื่องบินขนคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศกลับมา แต่ชาวต่างชาติไม่อนุญาติให้เดินทางเข้ามาได้แล้ว 

ท้ายสุด วิษณุชี้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว ยังสามารถออกจากบ้านได้ในทุกเวลา เพียงแต่ขอให้เป็นในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

Tags: , , ,