สัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าเราจะได้ยิน ‘ตัวเลข’ ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น ด้วยเหตุผลหลายอย่าง หนึ่ง โรคระบาดเป็นวงกว้าง จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณตามธรรมชาติของโรค สอง เกณฑ์ที่ใช้ในการเฝ้าระวังถูกปรับให้ตรวจจับการระบาดในชุมชนมากขึ้น แพทย์จึงส่งตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น และ สาม ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะสงสัยว่า “มึง กูติดโควิด-19 ยังวะ?”

ถ้าโรคโควิด-19 ระบาดอยู่ในชุมชน ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นเข้ารับการตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้น ย่อมพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่การที่ ‘ผู้ป่วย’ ทุกคนไปรับการตรวจหาเชื้อและรักษาที่โรงพยาบาลทุกคนจะไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะโรงพยาบาลในชุมชนนั้นจะเต็มไปด้วย ‘ผู้ที่มีอาการป่วย’ ซึ่งอาจป่วยได้ตั้งแต่หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 ปะปนกันอยู่ หากตอนแรกเป็นไข้หวัดธรรมดาไปโรงพยาบาล ก็มีโอกาสติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่กลับมาได้

ธรรมชาติของโควิด-19

หลายคนอาจเคยเห็นตารางเปรียบเทียบอาการของโควิด-19 กับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่มาบ้าง แต่จากข้อมูลในประเทศจีนพบว่าอาการของโรคนี้มีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย คืออาจไม่มีไข้ก็ได้ อาการปานกลาง คือมีอาการหอบเหนื่อยจากภาวะปอดอักเสบ จนถึงอาการหนักที่จะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โดยในผู้ป่วยจำนวน 100 คน จะมีผู้ที่มีอาการน้อยประมาณ 80 คน ไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัส

อีก 15 คนจะมีอาการปานกลาง คือต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และอีก 5 คนจะมีอาการรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิต ซึ่งในกลุ่ม 15+5 = 20 คนนี้จะพบว่าเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว เช่น ถุงลมโป่งพอง (สูบบุหรี่) ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต ตับแข็ง (ดื่มเหล้า) อ้วน ดังนั้นผู้ที่มีอาการป่วยเล็กน้อย และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสามารถสังเกตอาการที่บ้านเองก่อนได้

โดยจะต้องแยกตัว (self-isolation) เว้นระยะห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร แยกเครื่องใช้ส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย และกินยารักษาตามอาการ

ยารักษาตามอาการที่สามารถใช้ได้

ไข้: พาราเซตามอล (Paracetamol) ซึ่งเรารู้จักกันดีจากที่หมอมักจะจ่ายให้เวลาใครมีอาการไม่สบาย ไม่ว่าจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จนหลายคนเปรียบเปรยว่าเป็น “ยาสามัญประจำโรงพยาบาล” นั่นก็เพราะเป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุด ในขณะที่ยาลดไข้สูงหรือยาแก้ปวดชนิดแรง เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากอาจทำให้อาการโควิด-19 แย่ลง

โดยขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่คือ เม็ดละ 500 มก. ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง หากครบ 4 ชั่วโมงแล้วไข้ยังไม่ลงสามารถกินซ้ำได้ทันที แต่จะต้องระมัดระวังการได้รับยาซ้ำซ้อนกับยาเม็ดอื่น เนื่องจากยาแก้หวัดบางยี่ห้อมีส่วนผสมของพาราฯ รวมอยู่ด้วย เช่น ทิฟฟี่ (Tiffy) หรือ ดีคอลเจน (Decolgen) จะมีพาราฯ 500 มก. + คลอร์เฟนิรามีน (ยาแก้แพ้) 2 มก. เพราะไม่ควรได้รับยาพาราฯ เกินวันละ 4,000 มก.

ไอแห้ง: ยาแก้ไอมี 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ยาละลายเสมหะ (Mucolytic) ยาขับเสมหะ (Expectorant) และยากดอาการไอ (Cough suppressant) ซึ่งถ้ามีอาการไอแห้งๆ คือไม่มีเสมหะ สามารถใช้กลุ่มยากดอาการไอได้ เช่น เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร จะออกฤทธิ์ยับยั้งศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง นอกจากนี้ยังมีชนิดน้ำ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ (Brown’s Mixture) แต่ไม่ควรจิบบ่อยๆ เพราะจะทำให้ได้รับยาเกินขนาด

แต่ถ้ามีอาการไอมีเสมหะ ซึ่งโควิด-19 พบน้อยกว่าไอแห้งๆ ควรใช้กลุ่มยาขับเสมหะ เช่น ไกวเฟเนซิน (Guaifenesin) ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นเยื่อบุขับสารน้ำออกมาชะล้างเสมหะในทางเดินทางหายใจ ดังนั้นหากกินยากลุ่มนี้จะต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย ส่วนยาละลายเสมหะ เช่น บรอมเฮกซีน (Brombexine) หรืออะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcystein) เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากไม่มีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิภาพเพียงพอ

พูดถึงบัญชียาหลักแห่งชาติ มียาแก้ไออีกชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในบัญชีนี้ คือยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ซึ่งถึงแม้จะเป็นยาสมุนไพร แต่มีสรรพคุณบรรเทาอาการไอได้

อ่อนเพลีย: อาการอ่อนเพลียเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไข้สูง ควรกินยาลดไข้ เช็ดตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ก็สามารถกินยาพาราฯ แก้ปวด (และลดไข้ได้ในเม็ดเดียวกัน) แต่ถ้าหากเบื่ออาหาร หรือกินได้น้อย ควรชงผงเกลือแร่ (ORS: Oral rehydration salt) กับน้ำสะอาดดื่มหรือจิบบ่อยๆ แทน ซึ่งในผงเกลือแร่จะมีทั้งน้ำตาลที่เป็นแหล่งของพลังงาน และเกลือแร่ที่จำเป็นทำให้ระบบของร่างกายยังสามารถทำงานได้ตามปกติ

ข้อสังเกตจากข้อมูลของคณะทำงานร่วมองค์การอนามัยโลก อาการของโควิด-19 ที่พบได้น้อย เช่น คัดจมูก (4.8%) ดังนั้น ยาแก้แพ้ ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลซึ่งผสมในยาแก้หวัดอาจไม่จำเป็น และทำให้ง่วงนอนได้ ส่วนผู้ป่วยบางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียน (5%) หรือถ่ายเหลว (3.7%) ก็สามารถรักษาตามอาการด้วยการกินยาแก้คลื่นไส้ และชงผงเกลือแร่ดื่มเช่นเดียวกัน (อ่านเพิ่มเติม ซ่อมได้! 5 คำถามกับวิธี ‘ซ่อม’ ท้อง ‘เสีย’)

สุดท้ายถ้าพักรักษาตามอาการอยู่ที่บ้าน 2-3 วันแล้วอาการดีขึ้น เราก็อาจป่วยจากหวัดธรรมดา (โชคดีที่ไม่ไปโรงพยาบาลแล้วติดโควิด-19 กลับมา) แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ยังมีไข้สูง หรืออาการเป็นรุนแรง เช่น หายใจเร็ว หายใจหอบเหนื่อย ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที โดยอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการขึ้นรถโดยสารสาธารณะครับ

Tags: , , , , ,