หากยังพอจำกันได้ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการเปิดเผยข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ที่ได้เก็บตัวอย่างปลาทูจากท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม จำนวน 60 ตัว เพื่อมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติก พบว่าปลาทูที่จับได้มีไมโครพลาสติกในกระเพาะอาหารเฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้น ทั้งในรูปแบบของเส้นใย พลาสติกชิ้น แท่งพลาสติกสีดำ และกลิตเตอร์

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงจะตอบคำถามข้างบนว่า ก็คงต้องเป็นปลาทูอยู่แล้วที่กินพลาสติกมากกว่า เพราะปลาทูบริโภคไมโครพลาสติก หรือพลาสติกขนาดเล็กตั้งแต่ 5 มิลลิเมตร ลงไป จากการปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งแม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร ซึ่งปลาทูคงไม่สามารถบอกได้ว่ากำลังกินไมโครพลาสติกอยู่ ต่างจากคนที่มองเห็นว่าอะไรคืออาหารและอะไรคือพลาสติก และอีกอย่างหนึ่ง กระเพาะของปลามักจะเป็นส่วนที่ถูกนำออกไปก่อนจะใช้ทำอาหาร คุณจึงมั่นใจว่าไมโครพลาสติกที่อยู่ในกระเพาะของปลาจะไม่เดินทางมาถึงกระเพาะของคุณ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่แค่ปลาเท่านั้นที่กินไมโครพลาสติกเข้าไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังมีสัตว์น้ำประเภทอื่นที่รับพลาสติกเข้าร่างกายไปเช่นกัน อย่างเช่นหอยชนิดต่างๆ และไมโครพลาสติกยังแฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์จากทะเลประเภทอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในเกลือทะเลซึ่งเป็นส่วนผสมของอาหารทั่วไป ตั้งแต่สตรีทฟู้ดยันร้านหรูระดับห้าดาว

แม้แต่คนที่ไม่ชอบอาหารทะเล ไม่ติดรสเค็มก็ใช่ว่าจะพ้นจากการได้รับไมโครพลาสติกผ่านทางอาหาร เพราะในเครื่องในสัตว์เองก็มีการค้นพบไมโครพลาสติกเช่นกัน และข่าวไม่ดีสำหรับนักดื่ม โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสิ้นปีแบบนี้ ก็คือ มีการตรวจพบไมโครพลาสติกในเบียร์ด้วย

ข้อมูลเหล่านี้เป็นหลักฐานที่บอกให้รู้ว่า ในแต่ละวัน เรากินไมโครพลาสติกอยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะพลาสติกสามารถแฝงอยู่ในทุกที่ ทั้งอาหารจานโปรดที่สั่งเป็นประจำ ในน้ำที่ดื่ม และแม้แต่ในอากาศที่เราหายใจ เพราะเมื่อพลาสติกเข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหาร และเราบริโภคอาหารเหล่านั้นเข้าไป พลาสติกก็จะเข้าสู่ร่างกายของเรา

ในแต่ละปี มีพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ มากถึง 8 ล้านตัน โดยงานวิจัยของ University of Newcastle ในประเทศออสเตรเลียระบุว่า ในกระเพาะอาหารของเรามีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ประมาณ 100,000 ชิ้น  ซึ่งเมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคแล้วพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วใน 1 สัปดาห์ เรากินพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ประมาณ 2,000 ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักราว 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเทียบได้กับการกินบัตรเครดิต 1 ใบ หากนับเป็นเดือนก็จะเท่ากับว่า ร่างกายของเรารับพลาสติกเข้าไปประมาณ 21 กรัมต่อเดือน หรือถ้าคิดเป็นปีก็จะตกอยู่ที่ 250 กรัมต่อปี

ผลกระทบจากการได้รับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลให้ร่างกายมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น รวมถึงอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งในกระเพาะอาหารและส่งผลต่อระบบไหลเวียนของเลือด ที่ร้ายแรงไปกว่านั้น ไมโครพลาสติกในร่างกายอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอีกด้วย

คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วเราจะรับมือกับภัยทางอาหารที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีวิธีเก็บไมโครพลาสติกออกจากแหล่งน้ำได้

สิ่งหนึ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดและเริ่มทำได้ทันทีก็คือ ลดการสร้างขยะ โดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติกและพลาสติกทุกชนิด เพราะการลดปริมาณการใช้งานไม่ใช่แค่เรื่องของการลดการใช้ทรัพยากรเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของสุขภาพทั้งของตัวเราเองและลูกหลานในเจเนอเรชันถัดไป

รู้อย่างนี้แล้ว ถ้าย้อนกลับไปที่คำถามเดิมที่ถามไว้ตอนแรก คุณจะยังยืนยันคำตอบเดิมหรือเปลี่ยนคำตอบใหม่ว่าใครกันแน่ที่กินพลาสติกเข้าไปเยอะกว่ากัน

 

อ้างอิง: https://wwf.panda.org/Revealed-plastic-ingestion-by-people-could-be-equating-to-a-credit-card-a-week

Fact Box

Your Plastic Diet เป็นแคมเปญจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(World Wide Fund for Nature หรือ WWF) ที่มุ่งให้คนตระหนักถึงปริมาณพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัวและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเปรียบเทียบให้เห็นปริมาณของพลาสติกกับของใช้ใกล้ตัว อย่างเช่น บัตรเครดิต ปากกา ไม้แขวนเสื้อ ฯลฯ

ค่าเฉลี่ยของพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายคนอยู่ที่ประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ แต่อาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละคน

หากอยากรู้ว่า พฤติกรรมของคุณเสี่ยงต่อการกินพลาสติกโดยไม่รู้ตัวมากหรือน้อยกว่าตัวเลขนี้ สามารถหาคำตอบด้วยตัวเองได้ที่ www.yourplasticdiet.org และนอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองแล้ว คุณยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ผ่านการลงนามในแคมเปญนี้ได้เช่นกัน

Tags: , , , , , , ,