หากคุณแวะคาเฟ่แห่งหนึ่งเพื่อจะนั่งจิบชาอุ่นๆ อย่างสบายอารมณ์ แต่ดันสังเกตเห็นว่า แก้วในมือมีถุงชาพลาสติกนอนนิ่งอยู่ คุณจะทำอย่างไร
ถ้าเป็นเราคงสั่งมอคค่าร้อนตั้งแต่แรก เอ๊ย ไม่ใช่…เราอาจไม่ได้เอะใจ ถุงชาพลาสติกแล้วยังไงล่ะ
ทว่าเมื่อประมาณสามปีที่แล้ว เหตุการณ์นั้น สายตาคู่นั้นดันเป็นของ ศ.ดร. นาตาลี ทูเฟนจี (Nathalie Tufenkji) อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม มลพิษพลาสติก และการบำบัดน้ำ เธอจึงรู้สึกทันทีว่า สิ่งนี้ไม่น่าจะโอเค และส่งโจทย์ความสงสัยให้นักศึกษา ลอรา เอ็ม. เฮอมานเดซ (Laura M. Hernandez) รับไปศึกษาวิจัยต่อ
เพื่อจะหาคำตอบว่า มีอนุภาคพลาสติกหลุดออกจากถุงชาพลาสติกและปนเปื้อนสู่น้ำชาที่ชงหรือไม่ ทีมวิจัยซื้อชา 4 ตัวอย่าง (ไม่เปิดเผยยี่ห้อ) ที่บรรจุในถุงชาพลาสติกจากร้านค้าทั่วไปในมอนทรีออลมาทดสอบ โดยตัดถุง เทใบชาออก แล้วล้างทำความสะอาดจนไม่มีเศษใบชาตกค้าง
จากนั้นแช่ถุงชาเปล่าให้จมอยู่ในน้ำอุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที คือทำเหมือนชงชาจริงๆ แล้วตรวจสอบหาสิ่งแปลกปลอมที่ล่องลอยอยู่ในน้ำด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ปรากฏว่า เจออนุภาคหลากหลายขนาด เมื่อพวกเขาตรวจสอบโครงสร้างของอนุภาคเหล่านั้นอย่างละเอียด จึงยืนยันได้ว่าเป็นอนุภาคของ PET และไนลอน ซึ่งก็เป็นพลาสติกประเภทเดียวกับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตถุงชานั่นแหละ
ที่น่าตกใจกว่านั้น…ถุงชาพลาสติก 1 ใบ ปล่อยไมโครพลาสติก 11.6 พันล้านอนุภาค! และปล่อยนาโนพลาสติกซึ่งขนาดเล็กจิ๋วหลิวยิ่งกว่า อีกจำนวน 3.1 พันล้านอนุภาค!! คิดรวมเป็นปริมาณละอองพลาสติกประมาณ 16 ไมโครกรัมต่อชา 1 แก้ว
เมื่อผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Environmental Science & Technology และเผยแพร่ออนไลน์วันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา (อ่านบทคัดย่อได้ที่นี่ https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acs.est.9b02540) ประเด็นการปนเปื้อนอนุภาคไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกจากถุงชาก็กลายเป็นเรื่องฮือฮาอย่างมาก เพราะปริมาณของมันสูงกว่าการปนเปื้อนพลาสติกในอาหารทุกชนิดที่เคยมีการรายงานก่อนหน้านี้
แล้วคนดื่มชาจะทำอย่างไร ต้องถึงขั้นเลิกดื่มเลยไหม คนไม่ค่อยได้ดื่มชาอย่างเรา ขอเสนอความเห็นว่า…ไม่จำเป็นต้องเลิกดื่ม แค่ต้อง ‘เลือก’ ดื่มอย่างรอบคอบกว่าเดิม
ประเด็นสำคัญคือ ละอองพลาสติกทั้งหมดออกมาจากถุงชาพลาสติก ไม่ใช่ใบชา ถ้ายังนิยมชาสะดวกชงก็ต้องปฏิเสธพวกที่บรรจุถุงชาพลาสติกโดยเด็ดขาด สังเกตง่ายๆ มันจะมีลักษณะเหมือนผ้าตาข่ายเนื้อแวววาว ส่วนใหญ่เป็นถุงทรงปิระมิดฐานสามเหลี่ยม และมีบ้างที่อยู่ในทรงสี่เหลี่ยมพับปิดปากถุงด้านบน
คำถามถัดมา…มีชาบรรจุถุงแบบอื่นให้เราเลือกซื้อหรือไม่ มันโอเคหรือเปล่า
มีสิ ถุงชาอีกชนิดที่ผู้ผลิตนิยมใช้คือถุงสีขาวที่ดู ‘คล้าย’ กระดาษ ซึ่งคนไทยน่าจะคุ้นชินมากกว่าถุงชาพลาสติกด้วยซ้ำ
แต่ที่ต้องใช้คำว่า ‘คล้าย’ กระดาษ ก็เพราะพวกมันมักมีเส้นใยพลาสติกผสมอยู่ด้วย ในสัดส่วนไม่แน่นอน อาจจะร้อยละ 20-30 ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตของแต่ละโรงงาน ทั้งในลักษณะของการเคลือบบนเนื้อกระดาษ หรือรวมอยู่เป็นเนื้อเดียวกับเยื่อกระดาษ เพื่อช่วยประคองกระดาษให้ยังคงรูปอยู่ได้ในระหว่างแช่น้ำร้อน หรือเพื่อให้สามารถซีลปิดถุงได้ด้วยความร้อน ซึ่งเราก็ไม่มีทางรู้ด้วยว่า การชงชาบรรจุถุงกระดาษผสมพลาสติกนี้จะมีละอองพลาสติกปะปนด้วยหรือไม่ ต้องรอจนถึงวันที่ใครสักคนศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต่อไป
หลังจากเลียบๆ เคียงๆ อ่านข้างกล่องชาในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่สักพัก เรายังไม่เจอผู้ผลิตสักรายที่ระบุว่าถุงชาของเขาผลิตจากวัสดุอะไร จึงอยากเชียร์ให้คนรักการดื่มชาทั้งหลาย ใครเป็นลูกค้าประจำยี่ห้อใด ลองหาเบอร์บนบรรจุภัณฑ์โทรสอบถามผู้ผลิตโดยตรงเลยว่า ถุงชาของเขามีพลาสติกเป็นส่วนประกอบหรือไม่ และอาจถือโอกาสนี้สะท้อนความต้องการให้ผู้ผลิตเลือกใช้ถุงชากระดาษร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นมิตรกับโลกมากกว่าไปด้วยเลย
แต่หลังจากข่าวนี้แพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย เพจเคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ก็ได้ทำการทดลองนำเอาถุงชายี่ห้อต่างๆมาทดสอบการย้อมด้วยสี CI. Direct Blue 201 เพื่อดูว่า ถุงชาแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นนั้นมีองค์ประกอบของเส้นใยเซลลูโลส (หรือกระดาษ) หรือไม่ โดยพบว่า ถุงชา Lipton Tea รุ่นปกติ, ถุงชา Twinning Wild Berry Tea และถุงชา The Mariage Freres : Marco Polo Rouge ตัวถุงเป็นเซลลูโลส 100% แต่ตัวเส้นด้ายที่ใช้เย็บต่อระหว่างถุงชาและ Tag นั้นจะเป็นเส้นใยเซลลูโลสผสมเส้นใยสังเคราะห์
ส่วนถุงชา TWG Tea : Royal Darjeeling FTGFOP1 เป็นเซลลูโลส 100% ทั้งถุงและเส้นด้าย (เยี่ยม!) ในขณะที่ TWG Ice Tea Eternal Summer กลับกลายเป็นว่า ตัวถุงเป็นเส้นใยสังเคราะห์ 100% ในขณะที่ด้ายเย็บตะเข็บ และเป็นด้ายเส้นเดียวกับที่ใช้เย็บเชื่อมระหว่างถุงชากับ Tag นั้นเป็นเซลลูโลส 100% (งงไหม ทั้งๆ ที่ยี่ห้อเดียวกันกับที่ตัวถุงและเส้นด้ายเป็นเซลลูโลส 100%) และสุดท้ายยี่ห้อ JING ตัวถุงชานั้นเป็นเส้นใยสังเคราะห์ 100% ในขณะที่เส้นด้ายที่ใช้เย็บเชื่อมระหว่างถุงชาและ Tag นั้นเป็นเส้นใยเซลลูโลสผสมเส้นใยสังเคราะห์
เอาล่ะ…ใครเป็นแฟนยี่ห้อไหน หรือจะเปลี่ยนมาดื่มชายี่ห้อไหนก็พิจารณากันเอา
เอาเข้าจริง ถุงชาแบบกระดาษร้อยเปอร์เซ็นต์นี่ถือเป็นแรร์ไอเท็มในท้องตลาดเลยนะ เห็นแบรนด์ต่างประเทศเพียงไม่กี่แบรนด์ที่เลือกใช้และประกาศชัดเจนว่า ถุงชาของเขาย่อยสลายได้ทั้งหมด ต่างจากถุงชากระดาษผสมพลาสติกที่ฝังดินไป 6 เดือน 12 เดือน ขุดขึ้นมาก็ยังอยู่ในสภาพดูออกว่า เคยเป็นถุงชามาก่อน
ใครยังดื่มชาบรรจุถุงแบบนี้ควรจัดการขยะโดยตัดถุงแล้วเทใบชาใส่ถังหมักเศษอาหารหรือผสมดินปลูกต้นไม้ ส่วนถุงชานั้นผึ่งลมหรือตากแดดให้แห้งสนิท จึงค่อยตัดเป็นชิ้นเล็ก อัดลงขวด PET เพื่อทำ ‘Eco-Bricks’ รวมกับพลาสติกอื่นๆ
หากอยากอัพเลเวลเป็นการดื่มชาลดขยะหรือถึงขั้นปลอดขยะ ขอแนะนำให้เปลี่ยนมาซื้อใบชาแบบกล่องหรือห่อที่ไม่แยกบรรจุถุงชา แล้วชงชาโดย…
หนึ่ง ใช้ถุงชากระดาษร้อยเปอร์เซ็นต์ อันนี้เราเห็นขายออนไลน์ ขนาดพอดีสำหรับการชงดื่มหนึ่งแก้ว มีแบบเยื่อกระดาษไม่ฟอกขาวด้วย สีน้ำตาลตุ่นๆ ปากถุงเป็นเชือกรูดปิด สามารถตัดแบ่งชาเตรียมไว้ล่วงหน้า จังหวะไหนอยากดื่มก็หยิบมาชงน้ำร้อนได้เลย น่าจะสะดวกไม่แพ้การซื้อชาบรรจุถุง
ถุงชากระดาษแบบนี้ย่อยสลายได้ก็จริง แต่เชือกเส้นเล็กๆ นั่น ไม่แน่ใจว่ามันผสมพลาสติกด้วยหรือไม่ ฉะนั้นควรแยกร่างจัดการขยะ คือดึงเชือกออก ถ้าไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไรต่อ ก็ตากให้แห้ง จับทำ ‘Eco-Bricks’ แล้วปล่อยให้ถุงชากับใบชาย่อยสลายไปด้วยกัน
สอง ใช้ตะแกรงกรองสเตนเลส ซึ่งมีให้เลือกหลายรูปแบบและหลายขนาดตามปริมาณใบชาที่ต้องการชงในแต่ละครั้ง ล้างใช้ซ้ำได้ไม่รู้จบ
หรือสาม ใช้ถุงกรองชาแบบเดียวกับร้านชา–กาแฟโบราณ บ้านเราใช้ทางเลือกนี้ เนื่องจากคุณนายแม่ของเราชอบดื่มชานมมากๆ แต่เดี๋ยวหาร้านที่ชงเข้มข้นถูกใจยาก จึงสั่งซื้อใบชาจากภาคใต้มาต้มเองและกรองด้วยถุงกรองผ้า ต้องเป็นผ้าสำลีด้วยนะ เธอว่ามันเวิร์กสุด กรองเศษใบชาเล็กๆ ได้ดีกว่าตะแกรงกรองสเตนเลส ล้างตะกอนใบชาออกง่าย และใช้ซ้ำได้นานหลายรอบ อายุการใช้งานของมันนับว่าเกินราคาที่ควักจ่ายไปไกลโข
สรุปได้ว่า ยังมีทางเลือกพอสมควรสำหรับการดื่มชาที่ห่างไกลจากละอองพลาสติก และไม่ก่อขยะพลาสติก อยู่ที่เราจะเลือกมันหรือเปล่า…เท่านั้นล่ะจ้ะ
Tags: พลาสติก, ถุงชา, เส้นใยสังเคราะห์, เซลลูโลส