เมื่อถึงวันที่ห้างไม่แจกถุงพลาสติกหูหิ้วแล้วจะเอาอะไรใส่ขยะได้ยินคำถามเชิงโอดครวญทำนองนี้มาสักพัก ยิ่งใกล้ปีใหม่ ยิ่งเพิ่มความถี่ จึงเป็นประเด็นที่อยากเขียนถึง เผื่อใครจะได้แนวทางบางอย่างกลับไปจัดการกับวิธีทิ้งขยะของตัวเอง

 หากพิจารณาความเหมาะสมด้านการใช้งาน ถุงพลาสติกหูหิ้วก็เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เวิร์กมากสำหรับการใส่ขยะนำไปทิ้ง นอกจากความเหนียวทนทาน ไม่ซับน้ำ จึงกักเก็บสิ่งปฏิกูลที่เป็นของเหลวหรือชื้นแฉะได้ดี ไม่สร้างความเลอะเทอะระหว่างรอรถขยะมาจัดเก็บ ส่วนที่เป็นหูหิ้วยังช่วยให้เราผูกมัดปากถุงได้อย่างง่ายดายก่อนหย่อนลงถังขยะ

 แต่มันก็ไม่ใช่ทางเลือกเดียวของการทำหน้าที่ถุงใส่ขยะหรอกนะ ถุงพลาสติกหลากหลายขนาดที่มาพร้อมสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิดก็สามารถใช้แทนได้ เช่น ถุงข้าวสาร ถุงใส่กระดาษชำระ ถุงขนมปังแถว ถุงอาหารเม็ดของสัตว์เลี้ยง ฯลฯ อาจไม่สะดวกผูกปากเท่าถุงพลาสติกหูหิ้วที่คุ้นเคย ต้องพึ่งพาหนังสติ๊กบ้าง ใช้เชือกช่วยมัดบ้าง ทว่ารวมๆ ยังถือว่าพอจะเหมาะสมอยู่

 อย่างน้อยก็เป็นการใช้งานถุงพลาสติกเหล่านั้นรอบที่สอง ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ดีกว่าซื้อถุงพลาสติกใหม่เอี่ยมมาใส่ขยะ

 ถึงบรรทัดนี้อาจมีเสียงท้วงติง ขนาดของถุงพวกนั้นไม่ใหญ่พอจะรองรับขยะนี่นา ไม่เหมือนถุงพลาสติกหูหิ้ว ใครกำลังคิดแบบนี้ ขอให้ลองสำรวจขยะของตัวเองอย่างถ้วนถี่ พร้อมกับย้อนมองถึงที่มาของพวกมัน ลองคิดเล่นๆ ขยะชิ้นไหนไม่สมควรถูกทิ้งรวมลงในถุงขยะบ้าง ขยะชิ้นไหนที่พอจะคุมกำเนิดมันได้บ้าง

 ใช่แล้วเราอยากชวนคุณมาเพิ่มเติมความขยันในการลดขยะที่ต้นทางและแยกขยะให้ละเอียดขึ้นก่อนส่งต่อสู่ปลายทางอันเหมาะสม เพราะนี่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ปริมาณของขยะต้องทิ้งแต่ละวันมีจำนวนน้อยลง พลอยทำให้ถุงขยะของคุณมีขนาดเล็กลงตามไปด้วย

ทุกครั้งที่พกภาชนะส่วนตัวไปซื้ออาหารเครื่องดื่ม พกถุงผ้าไปจ่ายตลาดและช้อปปิ้ง เราสามารถลดขยะพวกกล่องพลาสติก ถุงร้อน ถุงก๊อบแก๊บ แก้วพลาสติกพร้อมฝาครอบ ฯลฯ ได้จำนวนหนึ่ง แต่อย่างที่รู้กัน สินค้าอีกจำนวนไม่น้อยก็มาพร้อมบรรจุภัณฑ์พลาสติกของตัวเอง 

เมื่อลดขยะส่วนที่เลี่ยงได้แล้ว ก็ต้องพยายามจัดการกับขยะที่หนีไม่พ้นต่อ ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีพลาสติกเป็นสัดส่วนเยอะอยู่ เราขอแบ่งพวกมันออกเป็น 3 กลุ่มตามศักยภาพของการนำไปใช้ประโยชน์ต่อ

กลุ่มแรก

ที่ไม่ควรลงไปอยู่ในถุงขยะเลยคือทุกสิ่งอย่างที่พี่ๆ ซาเล้งกับโรงแยกขยะรีไซเคิลยอมรับซื้อ ได้แก่ 

‘กระดาษ’ จะสีขาว สีน้ำตาล ลูกฟูก กล่อง ลัง หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ตราบที่ไม่เปื้อนคราบอาหาร ซึ่งจะบูดเน่าส่งกลิ่นเหม็นในภายหลัง เราสามารถแยกออกมาขายได้ทั้งหมด เฉพาะกระดาษเคลือบพลาสติก เคลือบแว็กซ์ หรือเคลือบไข เพื่อป้องกันการเปื่อยยุ่ยเมื่อสัมผัสของเหลว เช่น แก้วกระดาษเท่านั้นที่โยนทิ้งได้ เพราะไม่มีใครรับซื้อ เนื่องจากความร้อนในกระบวนการรีไซเคิลจะละลายสารเคลือบออกจากกระดาษและก่อปัญหาอุดตันเครื่องจักร

‘โลหะต่างๆ’ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง สเตนเลส ถ้าเคยทำหน้าที่บรรจุภัณฑ์อาหาร ควรล้างทำความสะอาดก่อนขาย

‘พลาสติก 3 ชนิด’ คือ ขวด PET ใส (แต่ขวด PET สีๆ นั่นยังไม่มีใครรับรีไซเคิลนะ), พลาสติกกลุ่มโพลีโพรพิลีน (Polypropylene หรือ PP) ได้แก่ ถ้วยโยเกิร์ตสีขาวสกรีนลาย, กล่องอาหารสีขาวทึบ, แก้วพลาสติกสีขาวขุ่น และพลาสติกกลุ่มโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene หรือ HPDE) ได้แก่ ขวดน้ำสีขาวขุ่น ขวดนมเปรี้ยวขาวขุ่น ขวดนม ขวดแป้งฝุ่น ขวดแชมพู

กลุ่มที่สอง

พลาสติกที่มีโครงการรับซื้อหรือขอรับบริจาคเพื่อรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์ต่อ เช่น พลาสติกกลุ่มโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene หรือ LDPE) ซึ่งเหนียว นิ่ม ยืดง่าย ได้แก่ ถุงขนมปังแถว ฟิล์มหุ้มแพ็กกล่องนมหรือขวดเครื่องดื่ม พลาสติกกันกระแทก, พลาสติกกลุ่มโพลีสไตริน (Polystyrene หรือ PS) ได้แก่ แผ่นโฟม ถาดโฟม กล่องโฟม โฟมกันกระแทก, อุปกรณ์กินดื่มพลาสติก เช่น มีด ช้อน ส้อม หลอดดูด แก้วน้ำ, ฝาขวดสารพัดสี และ กล่องเครื่องดื่ม 

 กลุ่มที่สาม

พลาสติกที่ไม่มีใครเอา เพราะใช้ซ้ำไม่ได้ ขายไม่ได้ รีไซเคิลไม่ได้ เช่น ซองฟอยด์ ถุงลามิเนต หลอดยาสีฟัน เศษพลาสติก ถุงใส่อาหาร ฟิล์มห่ออาหาร ถ้าเราออกแรงล้างทำความสะอาด ผึ่งแห้ง ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วอัดลงขวด PET ที่แห้งและสะอาดจนเต็ม พวกมันจะอัพเกรดสถานภาพเป็น ‘Eco-Bricks’ สามารถใช้ก่อสร้างบ้านดินหรืออาคารเรียนได้

 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดส่งพลาสติกกลุ่มที่สองและสามให้โครงการต่างๆ ได้ที่นี่

 หากเอาจริงเอาจังกับการแยกขยะสามกลุ่มข้างบน ปริมาณขยะแต่ละวันน่าจะลดลงเกินครึ่งแล้วนะ แต่อย่าเพิ่งหยุดเท่านี้ มันยังสามารถลดได้อีกด้วยการแยกขยะเศษอาหารออกมาหมักทำปุ๋ย

 บ้านใครพอมีสนามหญ้าหรือพื้นที่เล็กๆ ข้างบ้าน จะติดตั้งถังหมักรักษ์โลก Green Cone ลงดินบริเวณที่แดดส่องถึงตลอดวันก็ได้ จะทำปุ๋ยหมักเศษอาหารในกะละมังหรือตะกร้าตามแนวทางของ .ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร .แม่โจ้ก็ได้ สำหรับบ้านที่พื้นที่จำกัดอาจเลือกกล่องหมักปุ๋ยฝีมือการคิดค้นของคุณชูเกียรติ โกแมน หรืออุดหนุนคอนโดดินเผาปั้นปุ๋ยของกลุ่มผักDone มาใช้งานก็ได้ ทางเลือกเหล่านี้ใช้เวลาราว 1-2 เดือนจึงจะได้ผลลัพธ์เป็นปุ๋ยหมักคุณภาพดี

มนุษย์คอนโดหรือชาวหอพักเป็นกลุ่มที่จัดการขยะเศษอาหารยากที่สุดและน่าจะต้องเททิ้งใส่ถุงขยะสถานเดียว แม้จะมีทางเลือกแบบด่วนๆ นั่นคือเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารอัตโนมัติที่สามารถเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยได้ภายใน 24 ชั่วโมง ถือว่าสะดวกมาก ทว่าราคาก็พุ่งแรงไปถึงหลักหลายหมื่น ทำให้ต้องคิดหนักก่อนจะซื้อ

สำหรับบ้านเรามีสมาชิกอยู่กันสามคน เน้นแยกขยะขายซาเล้งกับทำ ‘Eco-Bricks’ แต่เนื่องจากเข้าครัวทำกับข้าวเป็นกิจวัตร จึงมีขยะเศษอาหารในขั้นตอนเตรียมวัตถุดิบก่อนปรุงแทบทุกวัน (ขยะเศษอาหารกินเหลือไม่ค่อยมี เพราะส่วนใหญ่กินกันเกลี้ยง) โดยเฉพาะเศษผักและเปลือกผลไม้จะโดนกักตัวในกะละมังเจาะรู เพื่อหมักรวมกับมูลวัว เศษใบไม้แห้ง และดินถุงที่ซื้อมาแล้วปลูกอะไรไม่ค่อยงามเพราะขาดธาตุอาหาร รดน้ำพอชื้น แล้วครอบกะละมังเจาะรูอีกใบปิดด้านบน

ผ่านไป 4-5 วันก็เปิดคลุกเคล้าบ้าง เติมน้ำเพื่อรักษาความชื้นบ้าง คล้ายๆ แนวทางของ .แม่โจ้ แต่ไม่ได้รดน้ำทุกวัน การย่อยสลายจึงค่อนข้างล่าช้ากว่าที่ควร เมื่อมันย่อยสลายกลายเป็นเนื้อเดียวกับดิน จึงเทใส่กระถางเพื่อปลูกผักสวนครัวรอบๆ บ้าน พวกกระเพรา พริก มะเขือเปราะ ฯลฯ ก็พอได้กินผลผลิตอยู่บ้าง

อ้อแต่ถ้าเป็นเปลือกสับปะรด จะต้องสับให้เล็กลงแล้วจับทำน้ำหมักชีวภาพ

ส่วนที่เหลือให้ทิ้งจริงๆ มักเป็นพวกขยะอินทรีย์ย่อยสลายยาก เช่น เปลือกทุเรียน ซังข้าวโพด เมล็ดผลไม้ เปลือกกุ้ง กระดูกไก่ กระดูกหมู ก้างปลา ฯลฯ

ดังนั้นปริมาณขยะขาประจำแต่ละวันจึงมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยไม่เกินครึ่งกิโลและมักเอาอยู่ในถุงเดียว ซึ่งอาจเป็นถุงพลาสติกทรงผอมยาวที่เคยใส่ผักวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ถุงพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ หรือถุงพลาสติกหูหิ้วที่ผ่านการใช้งานมาแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง แทบไม่เคยใช้ถุงพลาสติกใบใหม่เอี่ยมเลย

พนักงานเก็บขยะถึงกับเคยออกปากชมว่า เป็นบ้านที่ขยะน้อยและจัดการเรียบร้อยมาก เล่นเอาคุณนายแม่ยิ้มแก้มปริ ในฐานะเป็นผู้วางแผนการจัดการทิ้งขยะของบ้านนั่นเอง

ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องยากเย็นถ้าบ้านเราทำได้ เชื่อว่าอีกหลายบ้านก็ทำได้เหมือนกัน เผลอๆ อาจจะจัดการได้ดียิ่งกว่านี้เสียอีก ลองลงมือด้วยกันสักตั้งไหมล่ะ และเมื่อถึงวันขยะน้อย คุณจะตัดกังวลจากคำถามในบรรทัดแรกไปได้เลย

Tags: , ,