หลังจากแวะชมวัดคอนเซ็ปชัญและวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ คณะของเราก็ออกจากท่าเรือวัดราชาธิวาส และมุ่งหน้าสู่ท่าเรือวัดกัลยาณมิตร โดยมีจุดหมายแห่งที่สามคือ ‘วัดซางตาครู้ส’

ระหว่างทาง ผมมองเห็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ตั้งตระหง่านอยู่ทางขวามือ เมื่อกลับมาค้นข้อมูล จึงทำให้รู้ว่าแต่เดิม ชาวบ้านเรียกป้อมแห่งนี้ว่าป้อมบางกอก และมันถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ในช่วงก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (2199-2231) โดยฝีมือของช่างชาวฝรั่งเศส

ในสมัยนั้น ป้อมแห่งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าป้อมวิไชยเยนทร์ ซึ่งตั้งตามชื่อของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางชาวกรีกที่เป็นผู้กราบบังคมทูลให้สร้างป้อมแห่งนี้ รวมทั้งเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เพื่อควบคุมดูแลเรือต่างๆ ที่จะมุ่งเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา (บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออก บริเวณที่ตั้งของโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน เคยมีอีกป้อมหนึ่งตั้งอยู่คู่กัน แต่มันถูกรื้อในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา) ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ทรงสร้างพระราชวังใกล้กับป้อมแห่งนี้ พร้อมกับปรับปรุงและพระราชทานนามว่า ‘ป้อมวิไชยประสิทธิ์’

จากป้อมวิไชยประสิทธิ์ นั่งเรือชมวิวอีกไม่กี่อึดใจ เราก็มาถึงท่าเรือวัดกัลยาณมิตร

 

วัดซางตาครู้ส สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์และนีโอคลาสสิกที่สวยงามแห่งหนึ่ง ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามประวัติกล่าวไว้ว่า หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้อิสรภาพได้สำเร็จ และทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี คุณพ่อกอร์ (Corre) ซึ่งลี้ภัยไปอยู่ที่เขมรในช่วงศึกสงครามกับพม่า จึงเดินทางกลับมายังเมืองบางกอกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2312 ในวันรุ่งขึ้น คุณพ่อกอร์ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระองค์ก็ประทานเงิน 20 เหรียญ (กษาปณ์) กับเรือหนึ่งลำให้กับคุณพ่อ พร้อมกับตรัสว่าจะพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งสำหรับสร้างวัด

หลังจากคุณพ่อกอร์ได้รับพระราชทานที่ดินเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2312 คุณพ่อกอร์จึงตั้งชื่อที่ดินผืนนี้ว่า ‘ค่ายซางตาครู้ส’ เพื่อระลึกถึงวันที่ได้รับพระราชทานที่ดิน ซึ่งตรงกับวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน และคุณพ่อกอร์ก็สร้างวัดชั่วคราวขึ้นบนที่ดินผืนนี้ พร้อมกับตั้งชื่อวัดนี้ว่า ‘วัดซางตาครู้ส’

ในเวลานั้น ชาวคริสต์ที่รวมตัวอยู่กับคุณพ่อกอร์มีประมาณ 400 คน และส่วนมากมีเชื้อสายโปรตุเกส
คุณพ่อกอร์เสียชีวิตในวันที่ 25 กรกฎาคม 2316 พระสังฆราชเลอ บ็อง จึงรับหน้าที่ดูแลวัดซางตาครู้ส โดยผลัดกันระหว่างคุณพ่อการ์โนลต์ (Garnault) และคุณพ่อกูเด (Coudé) เนื่องจากขณะนั้นในสยามมีมิชชันนารีเหลืออยู่เพียง 3 องค์

โครงสร้างอาคารของวัดซางตาครู้สเป็นแบบโบราณ คือใช้ผนังอาคารทั้งสองด้านรับน้ำหนักของหลังคา และใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดาน

ประวัติของวัดซางตาครู้สและชาวคริสต์ในสมัยกรุงธนบุรีมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ผมขอหยิบยกมาเล่าต่อตามข้อมูลที่ปรากฏก็แล้วกันนะครับ

ณ เวลานั้น เดือนกันยายนของทุกปีจะมีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ซึ่งเป็นการทำกิจการนอกรีต (ซูแปร์ติซัง) พระสังฆราชจึงห้ามข้าราชการชาวคริสต์กระทำ ในเดือนมีนาคม 2316 พระสังฆราชเลอ บ็อง ได้ถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทูลขออนุญาตให้ชาวคริสต์ทำพิธีสาบานตนตามจารีตในศาสนาของตนแทนการเข้าร่วมพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แต่พระองค์ไม่ทรงตอบ

ไม่กี่เดือนต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเรียกประชุมพระภิกษุ ชาวมุสลิม และมิชชันนารีองค์หนึ่ง เพื่อถกเรื่องการห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตามที่พุทธศาสนาสอน ซึ่งพระภิกษุอภิปรายแสดงว่าการห้ามนั้นถูกต้อง แต่ชาวมุสลิมและมิชชันนารีโต้แย้ง จึงทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงไม่พอพระทัย วันที่ 13 ตุลาคม 2317 พระองค์จึงทรงประกาศกฤษฎีกาห้ามคนไทยและคนมอญนับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม

ในเดือนกันยายน 2318 มีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาอีกครั้ง นายทหารชาวคริสต์สามคนจึงเข้าไปในวัดซางตาครู้ส พวกเขาคุกเข่าลงหน้าพระแท่นต่อหน้าสัตบุรุษเป็นอันมาก และกล่าวสาบานโดยอ้างพระวรสารเป็นพยานต่อหน้าพระสังฆราช ซึ่งได้ให้หนังสือสำคัญแสดงว่าพวกเขาได้ทำพิธีสาบานแล้ว แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเห็นเป็นการลบหลู่พระบรมเดชานุภาพและเป็นการคิดร้ายต่อพระราชอำนาจ จึงทรงมีบัญชาให้จับนายทหารจำคุกในวันที่ 22 กันยายน และในวันที่ 25 กันยายน พระองค์ยังทรงสั่งให้จับพระสังฆราชเลอ บ็อง คุณพ่อกูเด และคุณพ่อการ์โนลต์เข้าคุกด้วย เจ้าพนักงานพยายามให้ท่านทั้งสามสำนึกผิดและยอมรับว่าทำผิด พวกเขาพยายามบังคับให้ท่านทั้งสามขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระเจ้าแผ่นดิน แต่ท่านทั้งสามไม่ยอมปฏิบัติตาม นอกจากนั้น พวกเขายังใส่ความท่านทั้งสามว่าทำการอาชญากรรมต่อความมั่นคงของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ พระสังฆราชเลอ บ็อง จึงเขียนจดหมายถึงคุณพ่อชไตเนอร์ (Steiner) เหรัญญิกมิสซังต่างประเทศที่เมืองมาเก๊า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2319 มีข้อความว่า “เราเขียนถึงคุณพ่อจากที่นอนอันทุกข์ลำบากของเรา เราถูกล่ามโซ่มา 7 เดือนแล้ว ยังดีที่เวลานี้เขาปล่อยมือเราเป็นอิสระเวลากลางวัน”

วันที่ 14 สิงหาคม 2319 เจ้าพนักงานนำท่านทั้งสามไปอยู่ต่อหน้าสมุหนายก ซึ่งบังคับให้ท่านทั้งสามสารภาพว่าทำผิดอีกครั้ง แต่ท่านทั้งสามก็ปฏิเสธ ในที่สุด วันที่ 2 กันยายน เจ้าพนักงานก็ปล่อยมิชชันนารีทั้งสามออกจากคุก

ในปี 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรับสั่งให้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองประมวลข้อเชื่อถืองมงายที่ทรงเขียนขึ้น (อาจเป็นพระราชกำหนด พ.ศ. 2316) ในพิธีดังกล่าวไม่มีชาวคริสต์ไปร่วมงาน พระองค์จึงกริ้วชาวคริสต์

จากเหตุการณ์ทั้งหมด ในที่สุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2322 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงมีบัญชาให้ขับพระสังฆราชและมิชชันนารีทั้งสองออกจากราชอาณาจักร เพราะมิชชันนารีขัดขวางไม่ให้ชาวคริสต์เข้าร่วมพิธีทางศาสนาของคนไทย ในวันที่ 1 ธันวาคม พระสังฆราชและมิชชันนารีทั้งสองจึงลงเรือไปยังมะละกา

ด้วยเหตุดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2322 จึงไม่มีมิชชันนารีอยู่ในสยาม ส่วนคุณพ่อการ์โนลต์และคุณพ่อกูเดก็เดินทางไปยังเมืองปอนดีเชอรีของอินเดีย ก่อนเดินทางกลับมายังเมืองถลาง (ภูเก็ต) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมิสซังสยาม ส่วนพระสังฆราชเลอ บ็อง ถึงแก่มรณภาพที่เมืองกัวของอินเดียในวันที่ 27 ตุลาคม 2323 คุณพ่อกูเดจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเรชี (Rhési) และเป็นประมุขมิสซังสยาม เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2325

วันที่ 7 เมษายน 2325 หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขึ้นครองราชย์เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงแสดงน้ำพระราชหฤทัยดีต่อชาวต่างประเทศและชาวคริสต์ ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงยกเว้นให้ทหารชาวคริสต์ไม่ต้องเข้าร่วมพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และเมื่อทรงทราบว่าพระสังฆราชกูเดซึ่งทรงรู้จักเป็นส่วนพระองค์อยู่ที่เมืองถลาง จึงทรงมีพระบัญชาให้เชิญพระสังฆราชมาบางกอก เพื่อปกครองชาวคริสต์ที่วัดซางตาครู้ส

ในระหว่างที่พระสังฆราชยังไม่ได้มาที่บางกอก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงส่งทูตไปเจรจากับเจ้าเมืองมาเก๊า เพื่อขอมิชชันนารีโปรตุเกสมาปกครองชาวคริสต์ที่วัดซางตาครู้ส วันที่ 11 มีนาคม 2327 คุณพ่อฟรังซิสโกจึงเดินทางมาที่บางกอก ซึ่งทำให้ชาวคริสต์โปรตุเกสมีความหวังว่าจะมีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสมาปกครองพวกเขา พวกเขาจึงยุยงให้ชาวคริสต์วัดซางตาครู้สปฏิญาณตนว่าจะเชื่อฟังกษัตริย์โปรตุเกส และกระพือข่าวว่ามิชชันนารีฝรั่งเศสจะไม่กลับมากรุงสยามอีกแล้ว แต่พระสังฆราชกูเดก็เดินทางมาถึงบางกอกในวันที่ 4 เมษายน 2327

ตลอดสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ในปีนั้น ชาวโปรตุเกสจึงไม่ร่วมศาสนพิธีเลย แต่ในวันอาทิตย์ปัสกา แต่ละฝ่ายขอร่วมพิธีมิสซาเฉพาะของพระสงฆ์ที่ยอมรับนับถือว่าเป็นผู้ปกครองของตนเท่านั้น

ชาวโปรตุเกสนำเรื่องทูลกับพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์จึงมีพระบัญชาให้พระสังฆราชกูเดมอบวัดซางตาครู้สแก่ชาวโปรตุเกส พระสังฆราชกูเดจึงเรียกชาวคริสต์มาประชุมพร้อมกัน และประกาศว่าท่านจะปฏิบัติตามคำสั่งของพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน คือจะสละวัดซางตาครู้ส และท่านจะสร้างโรงสวดใหม่

เมื่อเกิดการแตกแยกกันเช่นนี้ คุณพ่อฟรังซิสโกจึงเดินทางกลับมาเก๊าในปี 2328 และเพื่อเป็นการขจัดความขัดแย้ง ในปี 2329 พระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดให้กับชาวคริสต์โปรตุเกส (วัดแม่พระลูกประคำหรือวัดกาลหว่าร์ จุดหมายแห่งที่สี่ของโครงการทัศนศึกษา)

ในปี 2443 คุณพ่อกูลเยลโม คินห์ ดา ครูซ (Gulielmo Kinh Da Cruz) ได้รับการแต่งตั้งจากพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ (Mgr. Louis Vey) ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส ในปี 2449 พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ได้สร้างโรงเรียนหลังหนึ่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับวัดซางตาครู้ส คือโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์

ในปี 2456 คุณพ่อกูลเยลโมเห็นว่าอาคารวัดซางตาครู้สชำรุดทรุดโทรมมาก และทำการบูรณะได้ยาก คุณพ่อจึงสร้างวัดหลังใหม่ โดยวัดหลังใหม่ซึ่งเป็นวัดในปัจจุบัน สร้างแล้วเสร็จและเข้าถวายมิสซาในวัดใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2459

สถาปนิกผู้ออกแบบวัดหลังใหม่มีจำนวนถึง 12 คน ซึ่งเป็นสถาปนิกชุดเดียวกันกับที่ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม อาคารของวัดในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมเรอเนซองส์และนีโอคลาสสิก โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ยอดโดมแบบอิตาลี ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโดมแห่งมหาวิหารฟลอเรนซ์

 

ชุมชนกุฎีจีน

ชุมชนแห่งนี้คือที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา โดยมีคุณพ่อกอร์เป็นศูนย์รวมจิตใจตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

หลังจากชมความงดงามของวัดซางตาครู้ส คณะของเราจึงแวะชมของเก็บสะสมและอุดหนุนสินค้าของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน รวมทั้งขนมฝรั่งกุฎีจีนอันเป็นเอกลักษณ์ของคนที่นี่

ถึงแม้จะเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ทว่าในความเป็นจริง ชุมชนแห่งนี้คือที่อยู่อาศัยของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดซางตาครู้ส คือที่ตั้งของศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้าเก่าแก่ที่สร้างโดยชาวจีนซึ่งอพยพตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาก่อตั้งราชธานีที่เมืองธนบุรี และศาลเจ้าเกียนอันเกงแห่งนี้นี่เองที่เป็นที่มาของคำว่า ‘กุฎีจีน’

ขณะเดียวกัน คำว่า ‘กุฎี’ ก็มีที่มาจากคำว่า ‘กะดี’ ซึ่งหมายถึงโรงที่ประชุมทำพิธีฝ่ายศาสนาอิสลาม หรือศาสนสถานของชาวมุสลิม โดยสันนิษฐานว่าคำนี้น่าจะมีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเดินทางมาสู่ราชอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี กาลเวลาผ่านไป จาก ‘กะดี’ ก็แปรเปลี่ยนเป็น ‘กระดีย์’ และ ‘กะฎี’ กระทั่งกลายเป็น ‘กุฎี’ ในที่สุด เมื่อรูปเปลี่ยน ความหมายของคำก็แปรเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยมีความหมายถึงที่อยู่ของนักบวชหรือพระภิกษุ ซึ่งทำให้คำว่า ‘กุฎี’ ที่ปรากฏอยู่ในเมืองธนบุรี มีความหมายถึงศาสนสถานในทุกศาสนา

‘กะดี’ ที่ชาวมุสลิมนำมาเผยแพร่บนแผ่นดินอยุธยา จึงกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงธนบุรี และมัสยิดต้นสนซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ก็สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมที่อพยพมาจากอยุธยา เช่นเดียวกับศาลเจ้าเกียนอันเกงของชาวจีนและวัดของชาวพุทธที่อยู่รายรอบ

 

ที่มา
รายการ พินิจนคร ตอน ธนบุรี ตอนที่ 1 และตอนที่ 2
http://catholichaab.com

Tags: , , , , , , , ,