“ผมตั้งใจจะมาไหว้พระที่ชเวดากอง เห็นเขากำลังทำความสะอาดกัน ผมก็เลยเข้ามาช่วยเขาทำ”
หนุ่มน้อยแต่งตัวสะอาดสะอ้าน ผมหวีเรียบแปล้ บอกเล่าไปพลาง มือก็ขัดอ่างที่มีคราบเทียนไขติดอยู่ไปพลาง
วันนี้เป็นวันหยุดของเขา เป็นวันที่ตั้งใจมาไหว้พระแล้วเดินเล่นสบายๆ แต่เมื่อเปลี่ยนใจมาช่วยทำความสะอาดลานรอบเจดีย์ชเวดากอง เขาก็รู้สึกอิ่มเอมใจ
สำหรับชาวพม่า ชเวดากองเป็นทั้งศูนย์รวมแห่งศรัทธาและเป็นศูนย์รวมจิตใจ จนมีคำกล่าวว่า “สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต สิ่งที่ดีที่สุดในประเทศ จะถวายเป็นพุทธบูชาแด่ชเวดากอง”
ในแต่ละวันจะมีคนพม่าหลายสิบคนที่อาสามาทำความสะอาดบริเวณลานรอบเจดีย์ มีทั้งนัดกันมาเป็นกลุ่มใหญ่หลายสิบคน และมีทั้งที่เดินดุ่มๆ มาคนเดียว เมื่อมาถึงก็ลงมือกวาดลานวัด ขัดพื้น ล้างอ่าง ขจัดคราบเทียนไข แล้วแต่จะมีงานอะไรที่หยิบจับทำได้ก็ลงมือทำโดยไม่เกี่ยงงอน ถึงแม้ว่างานเหล่านี้จะมีพนักงานทำความสะอาดของวัดที่พร้อมจะลงมือทำอยู่แล้วก็ตาม
ใครที่ไปเจดีย์ชเวดากองตอนเช้าตรู่ ก็มักจะได้เห็นคนเดินเรียงหน้ากระดานกวาดลานรอบเจดีย์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งคนกวาดทุกคนก็คืออาสาสมัครที่ทำโดยไม่รับค่าจ้างใดๆ
แต่ละวัน ชเวดากองต้องต้อนรับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกหลายพันคน กำลังของอาสาสมัครเหล่านี้จึงช่วยแบ่งเบาภาระของวัดได้ไม่น้อย
แล้วชาวจิตอาสาพวกนี้มาขัดๆ ล้างๆ ให้ตัวเองเหน็ดเหนื่อยไปทำไมกัน…
เมื่อถามว่าทำเพราะอะไร พวกเขามักจะตอบคล้ายๆ กันว่า “ทำแล้วสบายใจ ทำแล้วได้บุญได้กุศลแรง”
อาสาสมัครที่มาช่วยทำงานต่างๆ ในวัดไม่ได้มีเฉพาะที่เจดีย์ชเวดากอง แต่ที่วัดอื่นๆ หรือที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็มีเช่นเดียวกัน เช่น วัดมหากันดายง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า นอกจากจะมีผู้มาเลี้ยงเพลพระนับพันรูปแทบทุกวันแล้ว ก็ยังมีอาสาสมัครมาช่วยเก็บกวาดขยะรอบวัด บางวันก็มีกลุ่มนักศึกษามาช่วยกันขัดห้องน้ำในวัดอีกด้วย
แต่ดูเหมือนว่าชเวดากองน่าจะเป็นสถานที่ยอดนิยมที่สุดของชาวจิตอาสา
สำหรับชาวพม่า สิ่งดีงามอันใดที่ทำให้กับวัด กับพระ เชื่อกันว่าจะได้บุญกุศลแรง และด้วยความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดและบาปบุญคุณโทษ คนพม่าจึงทุ่มเททำบุญกันอย่างสุดกำลัง เพราะเชื่อว่าการทำบุญในวันนี้ จะส่งผลให้มีชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า และอาจจะส่งต่อไปถึงชีวิตในชาติหน้าก็เป็นได้
ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน ฐานะไม่เป็นอุปสรรคในการทำบุญ คนมีรายได้น้อยก็ยังแบ่งเงินมาใส่ตู้ทำบุญ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คงจะเป็นตู้รับบริจาคเงินที่ชเวดากอง ซึ่งเต็มแน่นจนล้นตู้อยู่ทุกวัน
ทุกๆ วันที่ชเวดากองจึงเนืองแน่นไปด้วยชาวพม่า ภาพหนุ่มสาวชวนกันมาไหว้พระขอพรนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา คนเฒ่าคนแก่มานั่งสวดมนต์-นั่งสมาธิก็มีให้เห็นเป็นประจำ แม่ชีชวนกันมาสวดมนต์และสวดแผ่เมตตาก็เป็นภาพที่เห็นกันเสมอ ด้วยบรรยากาศที่กรุ่นไปด้วยกลิ่นพุทธธรรมนี่เอง การเกิดกลุ่มจิตอาสาที่ทำประโยชน์เพื่อพระศาสนาจึงดูสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน
ศรัทธาแรงกล้าของชาวพม่าต่อพุทธศาสนาและต่อชเวดากองนั้นเป็นสิ่งที่ตกทอดสืบเนื่องมานานกว่าร้อยปี การถวายสิ่งที่มีค่าเป็นพุทธบูชาแด่ชเวดากอง โดยเฉพาะทองคำ มีมาตั้งแต่สมัยพระนางชินสอบู กษัตริย์เมืองหงสาวดีที่ทรงถวายทองคำ 40 กิโลกรัม เท่ากับน้ำหนักของพระนาง เพื่อใช้หุ้มรอบองค์พระเจดีย์ตั้งแต่ฐานถึงยอด และทรงเอาพระทัยใส่ในการบูรณะเป็นอย่างยิ่ง พระราชวังของพระนางก็อยู่ใกล้ชเวดากอง เล่ากันว่าในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระนางชินสอบูโปรดฯ ให้เลื่อนพระแท่นบรรทมไปอยู่ในจุดที่สามารถทอดพระเนตรยอดเจดีย์ชเวดากองได้ แม้ลมหายใจจะแผ่วเบาลงทุกขณะ แต่ศรัทธาต่อชเวดากองของพระนางไม่ได้ลดน้อยลงเลย
ภาพ: นวลคำและอรวรรณ โอวาทสาร
Tags: ชเวดากอง, พม่า, พระนางชินสอบู, หงสาวดี, วัดมหากันดายง