วันนี้ (19 มิถุนายน 2567) ที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2568 วาระที่ 1 โดยศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณการลงทุนที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงว่า มีรายจ่ายลงทุนสูงกว่า 24% แต่แท้จริงแล้วมีเพียง 16.4% เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่เป็นงบประมาณสำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

ตอนหนึ่งระหว่างการอภิปราย ศิริกัญญาตั้งข้อสังเกตการณ์จัดงบประมาณปี 2568 ไว้ว่า เป็นการตั้งวงเงินกู้ชดเชยสูงสุดในรอบ 36 ปี โดยที่รัฐบาลกู้อยู่ที่ 4.5% ของ GDP แต่ปกติแล้วหลายประเทศที่มีภาระทางการคลังจะมีเพดานการกู้เพียง 3% เท่านั้น

“ในการวางแผนงบประมาณปีปกติ เราไม่เคยกู้ชดเชยมากขนาดนี้มาก่อน และพฤติกรรมของรัฐบาลเริ่มเสพติดการกู้เต็มเพดานเพื่อชดเชยการขาดดุล ปัญหาคือเมื่อเราใช้จ่ายเกินตัว แต่เราหาเงินไม่ทัน มันมีความเสี่ยง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น ภัยพิบัติ เราจะไม่มีพื้นที่เหลือรองรับวิกฤตเหล่านั้น แต่รัฐบาลกลับไม่ได้สนใจว่ามันจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นหรือไม่ กลับเพียงแค่ต้องการเงินจำนวนมหาศาลเพื่อโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท”

ขณะเดียวกัน ศิริกัญญายังตั้งข้อสังเกตสัดส่วนรายจ่ายลงทุนที่รัฐบาลแถลงว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีรายจ่ายลงทุนมากที่สุดในรอบ 17 ปีกว่า 9.02 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 24.2% ของวงเงินงบประมาณ แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก เพราะหากไปดูที่งบรายจ่ายลงทุนที่สูงเป็นเพราะกว่า 80% ของโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ถูกจัดเป็นรายจ่ายลงทุน แต่วัตถุประสงค์ของโครงการคือเพื่อการอุปโภคบริโภค

ดังนั้น หากตัดงบในส่วนนี้ออกไป รายจ่ายเพื่อลงทุนในงบประมาณจะเหลือเพียง 20.8% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า 

อีกทั้งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ยังมีข้อสังเกตอีกว่า รัฐบาลอาจตัดงบรายจ่ายประจำเปลี่ยนเป็นรายจ่ายลงทุน เพราะมีรายจ่ายประจำหลายส่วน ที่ได้รับงบต่ำกว่าที่ต้องใช้ โดยงบรายจ่ายประจำที่หายไปนั้นเป็นจำนวนกว่า 1.67 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่ามองไปที่รายจ่ายลงทุนจะเหลือเพียง 16.4% เท่านั้น

สำหรับรายจ่ายประจำที่ขาดไปกว่า 1.67 แสนล้านบาท รัฐบาลจะนำเงินคงคลังซึ่งเป็นเงินสะสมของรัฐบาลมาชดใช้ส่วนที่ขาด แทนการใช้งบกลางเพื่อเป็นกันชนให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตสามารถไปใช้ในงบกลางได้ ซึ่งงบที่ขาดไปเป็นงบสำหรับการชำระดอกเบี้ย 8.8 หมื่นล้านบาท, บำนาญข้าราชการ 3.8 หมื่นล้านบาท, เงินเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ 1.2 หมื่นล้านบาท, ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ 6,700 ล้านบาท, ค่าชดเชย EV3.5 1.7 หมื่นล้านบาท และกองทุนประชารัฐ 5,000 ล้านบาท

“เรื่องนี้มันเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ว่าปีนี้มันหนักขึ้น เพราะเราพยายามประดิษฐ์ตัวเลขให้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

“มันเห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่แค่งบประมาณ ไม่ใช่แค่ภาระทางการคลัง ไม่ใช่แค่ทรัพยากรที่จะถูกใช้ แต่ยังเป็นเรื่องของสมาธิของคณะรัฐมนตรีที่หายไป ถูกทุ่มให้ดิจิทัลวอลเล็ตเพียงโครงการเดียว” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , ,