“รัฐบาลมุ่งปลูกฝังค่านิยมความเป็นไทยและการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนง และส่งเสริมให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษที่ได้สรรค์สร้างเอกลักษณ์ของชาติไว้ให้ลูกหลานในวันนี้ โดยให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมแบบอนุรักษ์และส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทย เพื่อคงคุณค่าความเป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ให้ยั่งยืน”

สาร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เนื่องในประเพณีสงกรานต์และเทศกาลงานบุญปีใหม่ไทย ประจำปี 2560

กว่า 8 ปีที่ ‘เรียงความประเทศไทย’ สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมมากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ‘มิวเซียมสยาม’ ก็ทำการปิดนิทรรศการถาวรชุดดังกล่าวเพื่อเตรียมนำเสนอนิทรรศการถาวรชุดใหม่ ซึ่งจะมีเนื้อหาแหวกแนวและเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยใช้เวลาถึงหนึ่งปีครึ่งสำหรับการจัดเตรียมเนื้อหาและการก่อสร้าง

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา The Momentum มีโอกาสได้เข้าชมบางส่วนของ ‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการถาวรชุดใหม่ที่เชื่อว่าน่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้ไม่ต่างจาก ‘เรียงความประเทศไทย’ ด้วยการเล่าเรื่องผ่านสื่อสมัยใหม่ที่จะลบภาพจำของพิพิธภัณฑ์ที่มีเพียงป้ายห้ามจับ วัตถุจัดแสดง และการรับชมผ่านการดูและการอ่าน ขณะเดียวกันก็ชี้ชวนให้ผู้ชมขบคิด ผูกโยงเรื่องราว และตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นไทย’ ที่แฝงฝังอยู่ในความคิด/ความเชื่อ ประเพณี/วัฒนธรรม และวัตถุ/สิ่งของที่อยู่รายรอบตัวเรา

รองศาสตราจารย์ ดร. ศานติ ภักดีคำ จากภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ทำหน้าที่นำชมในวันนั้น ให้ข้อมูลว่าเนื้อหาของ ‘ถอดรหัสไทย’ มีความต่อเนื่องจาก ‘เรียงความประเทศไทย’ โดยนิทรรศการชุดนี้มีการปรับปรุงให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น และสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือการตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่เราเรียกว่าความเป็นไทย ความเป็นไทยเกิดขึ้นเมื่อใด ความเป็นไทยคืออะไร มีลักษณะอย่างไร และตัวเราทุกวันนี้มีความเป็นไทยแค่ไหน

“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คืออยากให้ผู้ชมนิทรรศการได้คิด ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าการไหว้คือความเป็นไทยหรือเปล่า วัด วัง โขน สิ่งเหล่านี้คือความเป็นไทยหรือเปล่า อะไรคือความเป็นไทย แม้กระทั่งอาหารการกินและทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในวิถีชีวิตของเราในทุกวันนี้ และเราให้คำจำกัดความว่าคือความเป็นไทย นิทรรศการนี้พยายามจะอธิบาย และพยายามตั้งคำถามกลับไปสู่ผู้ชม”

‘เลดี้ กาก้า สวมชฎา’ อันนำมาซึ่งเสียงติติงจากกระทรวงวัฒนธรรม คือตัวแทนของคำถามและข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นไทย ในห้อง ‘ไทยรึเปล่า!’

นิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ ประกอบด้วยห้องทั้งหมด 14 ห้อง โดยแต่ละห้องจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่ไม่น่าจะมีพิพิธภัณฑ์แห่งใดในประเทศไทยเคยทำมาก่อน

ในวันนั้น เรามีโอกาสได้เข้าชม 6 ห้อง ซึ่งก็สร้างความแปลกหูแปลกตาและชักชวนให้เราคิดตามได้ไม่น้อย

​              • ‘ไทยรึเปล่า!’ ที่รวมของคำถามและข้อถกเถียงเรื่องความเป็นไทย จุดเริ่มต้นของการสำรวจนิทรรศการ
​              • ‘ไทยแปลไทย’ เปิดลิ้นชักค้นหาความเป็นไทยผ่านสิ่งต่างๆ ที่ถูกให้คำจำกัดความว่าคือความเป็นไทย
​              • ‘ไทยตั้งแต่เกิด’ นำเสนอพัฒนาการความเป็นไทยในแต่ละยุคสมัยผ่านระบบแสง-สี-เสียงอันทันสมัย
​              • ‘ไทยดีโคตร’ ถอดรหัสที่มาที่ไปของพระปรางค์วัดอรุณฯ ศิลปะไทยที่ไม่ได้มีที่มาจากดินแดนไทย
​              • ‘ไทยชิม’ ห้องครัวมีชีวิตที่บอกเล่าที่มาที่ไปของ ‘อาหารไทย’ ผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำ
• ‘ไทยวิทยา’ ห้องเรียน 4 ยุค เบื้องหลังการสร้าง ‘ความเป็นไทย’ ผ่านระบบการศึกษา

สำหรับที่เหลืออีก 8 ห้อง ประกอบด้วย ไทยสถาบัน ไทยอลังการ ไทยแค่ไหน ไทย Inter ไทย Only ไทยเชื่อ ไทยประเพณี และไทยแชะ

สิ่งต่างๆ ที่ถูกให้คำจำกัดความว่าเป็นตัวแทนหรือเป็นการแสดงให้เห็นถึง ‘ความเป็นไทย’ ในห้อง ‘ไทยแปลไทย’

นอกจากการนำเสนอที่ชวนติดตามและการใช้เทคโนโลยีที่ลบล้างภาพจำของพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย เนื้อหาของนิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ คือสิ่งสำคัญที่เราอยากให้ทุกคนมีโอกาสได้สัมผัส เพราะนี่อาจจะเป็นครั้งแรกๆ ของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พิพิธภัณฑ์ชี้ชวนให้ผู้ชมคิดตามและตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัว หลังจากเราถูกบอก/สั่งให้เชื่อและปฏิบัติตามมายาวนานหลายสิบปี ดังที่อาจารย์ศานติบอกกับเราว่า

“นิทรรศการชุดนี้ต้องดูไปด้วยและคิดตามไปด้วย ไม่ใช่นิทรรศการที่ต้องการแค่ให้เราอ่านหรือเรียนรู้เรื่องราวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นนิทรรศการที่อยากให้เรียนรู้เรื่องราว เข้าใจเรื่องราว พร้อมกับตั้งคำถามกับตัวเองไปด้วย และเมื่อดูนิทรรศการจบก็อยากให้ทุกคนคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวซึ่งถูกให้คำจำกัดความว่าคือความเป็นไทย ท้ายที่สุดมันมีความเป็นไทยแค่ไหน”

การนำเสนอพัฒนาการของความเป็นไทยผ่านระบบ Module Hydraulic ที่ชวนให้ติดตามและง่ายต่อการทำความเข้าใจ ในห้อง ‘ไทยตั้งแต่เกิด’

ในยุคสมัยที่ ‘ความเป็นไทย’ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการค้าขาย การท่องเที่ยว และการเมือง กระทั่งถูกนำมาใช้เป็นอาวุธโจมตีผู้ที่เห็นต่าง สิ่งที่นิทรรศการชุดนี้พยายามทำจึงต้องไปไกลกว่าคำถามที่ว่า ‘มีความเป็นไทยแค่ไหน’ “เพราะมีความเป็นไทยแค่ไหนนั้นยังไม่พอ สิ่งที่เราอยากให้คนที่มาดูนิทรรศการนี้ได้เห็นก็คือท้ายที่สุดเราควรจะตอบได้ว่ามีกระบวนการอะไรที่ทำให้สิ่งของหรือเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเดิมอาจจะไม่ใช่ของไทย แต่ท้ายที่สุดมันกลายมาเป็นของไทย นี่เป็นนิทรรศการที่อยากให้ผู้ชมตระหนักว่าในอนาคต สิ่งต่างๆ มันจะไม่หยุดอยู่แค่ตรงนี้”

จากมหาพลีปุรัมสู่พระปรางค์วัดอรุณฯ เรียนรู้สายธารของสถาปัตยกรรมก่อนจะมาถึงพัฒนาการขั้นสูงสุด ในห้อง ‘ไทยดีโคตร’

ถึงแม้ในหนังสือ หลักไทย ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) จะมีคำว่า ‘เทือกเขาอัลไต’ ปรากฏอยู่เพียงแห่งเดียว และเมื่อปี 2523 ขุนวิจิตรฯ ในวัย 83 ปี ก็เคยกล่าวกับคณะทำงานนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ไว้ว่า “ผมเขียนตามของหมอดอดด์ เขาว่างั้นนะ ไม่ใช่ผมมาเม้คขึ้นเองเมื่อไหร่ ผมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผมไม่รู้หรอก ว่าจริงหรือไม่จริง” แต่ ณ ปี 2558 นายกรัฐมนตรีไทยก็ยังคงเชื่อว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต และสารจากท่าน ณ ปีปัจจุบันก็ยังคงอบอวลไปด้วย ‘ความเป็นไทย’ (ในแบบของท่าน) ตามที่ยกมาข้างต้น

‘ถอดรหัสไทย’ จึงเป็นนิทรรศการที่คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนำไทย ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

เรื่องราวเบื้องหลัง ‘อาหารไทย’​ ในรูปแบบอินโฟกราฟิกสวยงาม ในห้อง ‘ไทยชิม’​

แบบเรียนและการสร้างชาติไทยผ่านระบบการศึกษาสี่ยุคสมัย ในห้อง ‘ไทยวิทยา’​

“เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนเข้าใจผิดของประวัติศาสตร์ไทยที่เรียนเรื่องเชื้อชาติไทย/ชนชาติไทย ในโลกนี้เขาไม่มีหรอก ประวัติศาสตร์เชื้อชาติ/ชนชาติ ในโลกนี้ไม่มี สมัยก่อนอาจจะมี ยุคสงครามเย็นที่ประเทศค่ายคอมมิวนิสต์เขาเรียนเรื่องแบบนี้กัน แต่หลังจากนั้นเขาไม่เรียนกันแล้ว ทีนี้ประวัติศาสตร์ไทยมันถูกเขียนโดยเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส คนไทย โดยนักวิชาการไทย ก็ไปก๊อปปี้วิธีคิดของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส แล้วก็แต่งตำราประวัติศาสตร์ไทยอย่างที่คุณเรียนกันอยู่ทุกวันนี้”

สุจิตต์ วงษ์เทศ
คลิป คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ตอแหล!
19 กุมภาพันธ์ 2558
Tags: , , , , , ,