แม้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนจะไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมนอกรอบของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (APEC) ที่ปีนี้ประเทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพด้วยตัวเอง แต่วีดีโอที่ส่งมาเขาได้ออกปากเตือนว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องไม่หวนคืนสู่ความตึงเครียดของยุคสงครามเย็น 

“ความพยายามที่จะวาดเส้นอุดมการณ์หรือสร้างวงกลมเล็กๆ บนภูมิรัฐศาสตร์ย่อมล้มเหลว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่สามารถและไม่ควรหวนกลับไปสู่การเผชิญหน้าและการแบ่งแยกของยุคสงครามเย็น”สีจิ้นผิงกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศในภูมิภาคต้องทำงานร่วมกัน เพราะการโผล่ก้าวให้พ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และบรรลุการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนเป็นงานเร่งด่วนที่สุดสำหรับภูมิภาคนี้ ประเทศต่างๆ จะต้องอุดช่องโหว่การสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ด้วยการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน 

คำเตือนของสีจิ้นผิงชัดเจนว่าหมายถึงความพยายามของสหรัฐฯ กับพันธมิตรในภูมิภาคนี้ที่รวมกลุ่มกันเพื่องัดค้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารที่บีบบังคับมากขึ้นของจีน ไม่ว่าจะกลุ่ม Quad ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย หรือ AUKUS สนธิสัญญาความมั่นคงของสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ที่ตกลงจะแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียเพื่อต้านทานการเพิ่มกำลังทางทะเลของจีนในมหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความคุกรุ่นทางการเมืองเกี่ยวกับกรณีไต้หวันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (9 พฤศจิกายน 2021) กองทัพจีนกล่าวว่าพวกเขาได้ดำเนินการลาดตระเวนเตรียมพร้อมรบบริเวณช่องแคบไต้หวัน หลังจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนไต้หวันด้วยเครื่องบินของกองทัพ แต่ไต้หวันยืนยันว่าเป็นเพียงการเยี่ยมเยือนกันระหว่างเพื่อนเท่านั้น ขณะที่ แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ (10 พฤจิกายน 2021) ว่า สหรัฐฯ จะทำให้ไต้หวันสามารถปกป้องตนเองได้ เพื่อหลีกเลี่ยงใครก็ตามที่ “พยายามทำลายสถานะที่เป็นอยู่ด้วยกำลัง”

ทั้งนี้ ต้องจับตาดูว่าการหารือร่วมกันทางออนไลน์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ที่คาดว่าจะมีขึ้นสัปดาห์หน้า พวกเขาจะตกลงกันได้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เชื่อว่าการมีส่วนร่วมโดยตรงกับสี เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจลุกลามเกิดเป็นความขัดแย้ง และเป็นสัญญาณอันดีเมื่อการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ณ เมืองกลาสโลว์ สกอตแลนด์ จีนและสหรัฐอเมริกาประกาศจะทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีสปี 2015 

สีจิ้นผิงไม่ได้กล่าวถึงข้อตกลงกับสหรัฐฯ ครั้งนี้โดยตรง แต่กล่าวว่าพวกเราทุกคนสามารถเริ่มดำเนินงานบนฐานการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำลงได้ ซึ่งการร่วมมือกันจะพาพวกเราไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC จะมีขึ้นวันที่ 11-12 พฤศจิกายนผ่านทางระบบออนไลน์ โดยวาระสำคัญที่ผู้นำประเทศสมาชิก APEC ทั้ง 21 ประเทศจะหารือกันคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การแบ่งปันและการผลิตวัคซีน โควิด-19 การยกเลิกนโยบายกีดกันทางการค้าต่าง ๆ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของ 15 ประเทศที่กำลังจะบังคับใช้ 1 มกราคม 2022 รวมไปถึงเรื่องการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 

ทว่าความพยายามของไต้หวันในการเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก(CPTPP) อาจจะเพิ่มความตึงเครียดในการประชุมจากการคัดค้านของจีน ทั้งยังมีกรณีที่สหรัฐฯ จะขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปี 2023 แต่ยังไม่มีฉันทามติในหมู่สมาชิก APEC เรื่องข้อเสนอนี้ 

ที่มา: 

https://www.theguardian.com/world/2021/nov/10/chinas-xi-warns-against-return-to-confrontation-and-division-of-cold-war-era

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/chinas-xi-says-asia-pacific-must-not-return-cold-war-tensions-2021-11-10/

https://apnews.com/article/joe-biden-business-australia-asia-pacific-economic-cooperation-new-zealand-eed7ad1cc737b5a771845647e31496ef

https://www.reuters.com/world/china/china-opposes-us-legislators-visiting-taiwan-by-military-plane-state-media-2021-11-09/

Tags: , , , , , ,