เศรษฐกิจไทยดีหรือไม่ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา?

คำถามดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเมื่อราวสิ้นปีที่ผ่านมา ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหยิบยกดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอย่างจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products) ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อยแต่ก็ถือว่าไม่น่าเกลียด ส่วนประชาชนทั่วไปกลับแสดงความคิดเห็นผ่านประสบการณ์ส่วนตัวที่พบว่า ‘ไปที่ไหนก็เงียบ’ โดยหลายคนที่ทำอาชีพค้าขายต่างส่งเสียงเดียวกันว่าขายสินค้าไม่ได้ เกษตรกรก็ป่าวร้องว่าราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำแบบนี้ เศรษฐกิจจะดีได้อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากพิจารณาโดยผิวเผินก็ควรให้น้ำหนักกับดัชนีชี้วัดมหภาคมากกว่า เนื่องจากจีดีพีคำนวณจากการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ว่าประเทศใดก็ใช้กัน ส่วนประสบการณ์ในระดับปัจเจกเป็นเพียง ‘ข้อคิดเห็น’ ซึ่งอาจจะมีปัจเจกอีกหลายล้านคนที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีเพียงแต่ไม่ได้แสดงออกในโลกออนไลน์ก็ได้

แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับมหภาคนั้นอาจไม่ได้ทำให้ทุกคนร่ำรวยอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ต่อให้ตัวเลขจีดีพีจะเติบโตสวยหรูเท่าใด ก็ไม่น่าแปลกใจนักหากคนจำนวนมากจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะตนเองและคนใกล้ชิดมีรายได้ลดลง

คำตอบคือเป็นไปได้ครับ และรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลกก็บ่งชี้สถิติที่น่าสนใจคือ ในช่วงราว 5 ปีที่ผ่านมา แม้จีดีพีของไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2561 กลับพบว่าจำนวนคนจนในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าคนจนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านคนใน พ.ศ. 2561 เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2558

กราฟแสดงสัดส่วนคนจนในประเทศไทยระหว่าง ค.ศ. 1988 – 2018 (เส้นสีม่วงอ่อน) จีดีพีต่อหัวที่คำนวณแบบค่าคงที่ (เส้นสีน้ำเงินเข้ม) จะเห็นว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนคนจนกลับเพิ่มขึ้น ภาพจากธนาคารโลก

เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในประเทศไทย ขอชวนมาสำรวจความย้อนแย้งนี้ไปพร้อมๆ กันครับ

ความเข้าใจผิดของเศรษฐศาสตร์ไหลริน

เมื่อราว 30 ปีก่อนเป็นจุดกำเนิดของทฤษฎีที่โด่งดังชื่อว่าเศรษฐศาสตร์ไหลริน (Trickle Down Economics) ที่เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนคนรวยให้รวยยิ่งขึ้น เพราะในท้ายที่สุด ความร่ำรวยเหล่านั้นจะถูกแจกจ่ายกระจายมายังชนชั้นกลางและชนชั้นกลางในท้ายที่สุด กล่าวคือความรวยที่ไหลรินจากบนลงล่าง

ทฤษฎีดังกล่าวนำไปสู่นโยบายลดสารพัดภาษีของคนรวย ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ขั้นสูงสุด ภาษีธุรกิจ ภาษีจากกำไรการขายหลักทรัพย์ รวมถึงภาษีเงินปันผล โดยหวังว่าคนรวยเหล่านั้นจะนำเงินที่ได้เพิ่มไปจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนขยายธุรกิจ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยรวมของประเทศชาติ

นักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองฝ่ายขวาเชื่อมั่นในทฤษฎีนี้อย่างยาวนาน ในทางกลับกัน นักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองฝ่ายซ้ายต่างมองอย่างเหยียดหยาม เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวแสนจะไร้เดียงสาและยังนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำรุนแรงในระยะยาว กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่าทฤษฎีดังกล่าวนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำเพราะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นกลับไม่ได้ ‘ไหลริน’ มาสู่กระเป๋าของคนรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ

หันกลับมามองสถานการณ์ประเทศไทย เรามักใช้ตัวเลขจีดีพีต่อหัว (GDP per Capita) ซึ่งคำนวณจากตัวเลขจีดีพีหารด้วยจำนวนประชากรเพื่อฉายภาพสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ เช่นแถลงการณ์ของคณะกรรมการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุว่าจีดีพีต่อหัวต่อเดือนของคนไทยเมื่อเดือนกันยายน 2562 จะเท่ากับ 20,700.5 บาท เพิ่มขึ้นจากปลายปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 20,047.4 บาทต่อคนต่อเดือน ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นชวนให้เราสบายใจ แต่อย่าลืมว่ามันเป็นเพียงค่าเฉลี่ยซึ่งต้องตีความอย่างระมัดระวัง เพราะไม่มีใครในประเทศไทยที่ได้เงินเดือน 20,047.4 บาทเมื่อปลายปี 2561 แล้วปรับเงินเดือนขึ้นเป็น 20,700.5 บาทในปลายเดือนกันยายน 2562

การใช้ตัวเลขเศรษฐกิจระดับมหภาคมาบอกว่าคนไทยรวยขึ้นเท่านั้นเท่านี้ จึงเป็นเรื่องหยาบกระด้างและผิดอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ไม่ได้ทำให้ทุกคนร่ำรวยอย่างเท่าเทียมกัน

แผนภาพแสดงคนจนรายจังหวัด (ซ้าย) จำนวนคนจนหน่วยพันคน โดยสีเทาเข้มหมายถึงจำนวนคนจนที่มากกว่า (ขวา) สัดส่วนคนจนต่อจำนวนประชากร โดยสีน้ำตาลจะแสดงสัดส่วนคนจนที่มากกว่า ภาพจากธนาคารโลก

เกิดอะไรกับคนจนในประเทศไทย

เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ผู้เขียนขอเริ่มด้วยการนิยามคำว่า ‘คนจน’ เสียก่อน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ คนจนตามนิยามโดยธนาคารโลกที่ใช้เกณฑ์ผู้มีรายได้เฉลี่ยต่ำว่า 1.9 เหรียญสหรัฐต่อวัน หรือวันละราว 60 บาท หากใช้เกณฑ์ดังกล่าวประเทศไทยจะมีคนจนเพียง 0.04 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนเกณฑ์ของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2560 คนจนคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,686 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ขั้นต่ำที่สุดที่จะสามารถดำรงชีพในสังคมได้

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เส้นความยากจนดังกล่าวขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในทางกลับกันตัวเลขคนจนกลับขยับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สวนทางกับเศรษฐกิจที่เติบโตในภาพรวม

รายงานของธนาคารโลกพยายาม ‘แกะ’ ข้อมูลรายได้เพื่อหาปัจจัยที่ทำให้คนไทยยากจนลง โดยพบว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมาแนวโน้มครัวเรือนที่พ้นจากความยากจนเริ่มชะลอตัวลง หลายพื้นที่เริ่มมีระดับรายได้และการบริโภคลดลง กระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมาคนจนในไทยกลับเพิ่มสูงขึ้นในแทบทุกภูมิภาคยกเว้นเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งสามารถสรุปสาเหตุหลักคือความเปราะบางของครัวเรือนต่อแรงกระเทือนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

แรงกระเทือนทางเศรษฐกิจทำให้การเติบโตของค่าแรงที่แท้จริง (Real Wage Growth) หรือค่าแรงหลังหักเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่เผชิญกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนทำให้ภาคการส่งออกไม่คึกคัก ลักษณะการกระจุกตัวของภาคอุตสาหกรรมในไทยยังส่งผลให้อำนาจต่อรองของแรงงานต่ำ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มทุนกระจุกและอำนาจตลาดที่ไม่ถูกกระจาย อ่านภูมิทัศน์การแข่งขันธุรกิจไทย) ค่าแรงที่หดหายลงทำให้ครัวเรือนรายได้น้อยที่เคยลืมตาอ้าปากได้ในอดีตจากเงินส่งกลับบ้าน (remittance) ต้องกลับเข้าสู่ภาวะยากจนอีกครั้ง เพราะครั้งหนึ่งค่าแรงดังกล่าวคือปัจจัยที่ฉุดคนเหล่านั้นออกจากความยากจน

กราฟแสดงการเติบโตของค่าแรงที่แท้จริง (Real Wage Growth) ในประเทศไทย จะเห็นว่าการเติบโตเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา
ภาพจากธนาคารโลก

  แรงกระเทือนทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในช่วงไปกี่ปีที่ผ่านมาคือภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยอย่างข้าวนาปี ภัยพิบัติดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติความยากจนที่เพิ่มขึ้นในภาคกลางและกระทบต่อกลุ่มเกษตรกรซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มรายได้ต่ำอยู่แล้วเป็นทุนเดิม รายงานอีกฉบับของธนาคารโลกประมาณการว่าภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าอุทกภัยถึง 4 เท่า โดยประเทศไทยจัดอยู่กลุ่มที่มีความตึงเครียดน้ำเกณฑ์ฐานปานกลาง-สูง (Medium-high baseline water stress) โดยมีพื้นที่ประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่งถูกจัดอยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภัยแล้ง วิกฤติเศรษฐกิจและสังคมที่มักถูกมองข้าม)

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาเดียวกับที่ครัวเรือนรายได้ต่ำเผชิญกับแรงกระเทือนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ภาครัฐก็มีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเงินชดเชยความเสียหายจากภัยแล้ง โครงการเหล่านี้บรรเทาความยากจนได้บ้างแต่จำนวนคนจนในภาพรวมก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ดี

รายงานฉบับดังกล่าวให้คำแนะนำระยะสั้นว่ารัฐบาลควรสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety net) เพื่อโอบอุ้มและบรรเทาความเสี่ยงกลุ่มเปราะบางไม่ให้ตกสู่ภาวะยากจนเช่นในอดีต รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการระบุกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินนโนบายเพื่อลดการให้สวัสดิการที่ไม่ตรงกลุ่มเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ ส่วนในระยะยาว ธนาคารโลกเสนอว่าเด็กทุกคนในประเทศไทยต้องมีโอกาสในการศึกษาอย่างเท่าเทียมเพื่อรับมือกับสังคมสูงอายุที่ประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง

ปรับเป้าหมายจากปริมาณสู่คุณภาพ

หากเทียบกับประเทศในอาเซียน ประเทศไทยถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ด้านตัวชี้วัดด้านความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเข้าเรียนของเด็กปฐมวัย สัดส่วนของครัวเรือนที่มีน้ำและไฟฟ้าใช้ รวมถึงการเข้าถึงสุขาภิบาลที่สูง นอกจากนี้ ยังมีระบบสวัสดิการด้านสุขภาพที่เป็นกรณีศึกษาในระดับโลกอย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงอัตราการว่างงานที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีดัขนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ต่ำที่สุดในโลก

หากประเมินด้วยสถิติระดับมหภาคซึ่งวัดในเชิงปริมาณก็คงต้องให้ประเทศไทยผ่านฉลุย แต่สิ่งที่ชวนให้ฉงนสงสัยคือหากทุกอย่างดีเลิศดังที่ตัวเลขบอกจริง ทำไมประเทศไทยถึงเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและยังคิดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางโดยไม่สามารถเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงได้สักที

คำตอบที่เป็นไปได้คืออาจถึงเวลาที่ต้องปรับเป้าหมายเชิงปริมาณสู่เป้าหมายเชิงคุณภาพ

อัตราการเข้าเรียนของเด็กปฐมวัยไม่ได้สะท้อนว่าเวลาที่ใช้ในห้องเรียนมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด การเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปาไม่ได้สะท้อนว่าพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำและไฟฟ้าใช้ตลอดเวลาโดยไม่ขัดข้อง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเข้าถึงประชาชนจำนวนมหาศาลแต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสใช้บริการ อัตราการว่างงานที่ต่ำไม่ได้บอกเราว่าคนส่วนใหญ่มีการงานที่มั่นคง รายได้เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ความรู้ความสามารถเต็มศักยภาพ

แน่นอนว่าเรายังสามารถใช้เป้าหมายเชิงปริมาณเพื่อเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นได้ แต่อาจถึงเวลาที่ต้องปรับเป้าหมายดังกล่าวให้เข้ากับนิยามของคุณภาพชีวิตที่ดีตามยุคสมัย เช่น การเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต ธนาคาร รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเปราะบางท่ามกลางเศรษฐกิจในภาพรวมที่เติบโตเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลยังทำหน้าที่กระจายรายได้ไม่ดีนัก คงถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องปรับลำดับความสำคัญจากเดิมที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่สนใจว่าใครจะได้ประโยชน์แล้วหวังลมๆ แล้งๆ ว่าเม็ดเงินจะไหลรินจากคนรวยสู่คนจนโดยรัฐไม่ต้องเข้าไปจัดสรร สู่คำถามที่ว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มเปราะบางไม่หลุดเข้าไปสู่วงจรแห่งความยากจน และสร้างสังคมที่ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน

เอกสารประกอบการเขียน

TAKING THE PULSE OF POVERTY AND INEQUALITY IN THAILAND

รายงานการวิเคราะหสถานการณความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

การลดความยากจนและปรับปรุงความเท่าเทียมในประเทศไทย: ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

Tags: ,