‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ‘อู่ข้าว อู่น้ำ’ ประโยควรรคทองเพื่อฉายภาพความอุดมสมบูรณ์ที่หลายคนอาจคุ้นหู สังเกตไหมครับว่าทั้งสองประโยคจะมี ‘น้ำ’ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบ อย่างไรก็ดี ทรัพยากรน้ำหลายครั้งกลับถูกมองข้าม ด้วยสมมติฐานว่าน้ำมีอยู่อย่างล้นเหลือ ในสาขาเศรษฐศาสตร์เอง น้ำก็ถูกจัดอยู่ในทรัพยากรไร้ราคา (free goods) ที่สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะหมดไป

ตัวอย่างดังกล่าวล้าสมัยไปแล้ว เพราะความเสี่ยงสำคัญต่อภาคธุรกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของเราคือการขาดแคลนน้ำ ซึ่งมักเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็น แต่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ลึก และกว้างกว่าที่เราคาดคิดไว้

“ภัยแล้งก็ไม่ต่างจากโรคที่ไม่ได้รับการตรวจรักษา เพราะมองเห็นได้ยากกว่า ส่วนอุทกภัยเป็นโรคภัยที่เราเห็นได้ง่าย จึงได้รับการรักษา ทำให้มีการช่วยเหลือหลั่งไหลไปหา มีการริเริ่มซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง จึงไม่น่าแปลกที่เมืองซึ่งประสบอุทกภัยจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เราไม่ได้บอกว่าอุทกภัยไม่สร้างความเสียหาย แต่เรากำลังบอกว่าอุทกภัยนั้นพบเห็นได้ง่าย ทำให้รับมือได้ถูกจุดเพื่อบรรเทาปัญหา แต่ภัยแล้งนั้นเรายังรับมือได้ไม่ดีนัก”

ย่อหน้าข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากรายงาน “น้ำตกสำรวจ: เศรษฐศาสตร์ใหม่ของการขาดแคลนและความผันผวนของทรัพยากรน้ำ (UNCHARTED WATERS: The New Economics of Water Scarcity and Variability)” โดยมีผู้นำคณะวิจัยคือริชาร์ด ดามาเนีย (Richard Damania) นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก

การปล่อยปละถึงขั้นให้ตัวเลขปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงเหลือเลขตัวเดียวโดยแทบไม่มีการประกาศเตือน หรือมาตรการรับมือในไทย ตรงกันข้ามกับการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องเข้มข้นแม้ว่าจะมีน้ำท่วมระดับเข่าในกรุงเทพฯ สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ‘ภัยแล้ง’ และความเสี่ยงเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำถูกมองข้ามมากเพียงใด

แค่ขาดน้ำ – จะกระทบแค่ไหนกันเชียว?

หลายคนอาจไม่ทราบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจำเป็นต้องใช้น้ำมากแค่ไหน

คำตอบคือต้องใช้ครับ ต้องใช้มากเลยทีเดียว เพราะแทบทุกอุตสาหกรรมต้องขับเคลื่อนด้วยน้ำ โดยเฉพาะภาคการเกษตร รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญที่ ‘หล่อเลี้ยง’ ให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจเหล่านั้นเดินหน้าไปได้โดยไม่สะดุด แต่หากน้ำขาดแคลนเมื่อไหร่ ผลลัพธ์ก็คงอาจไม่สวยนัก

ลองจินตนาการง่ายๆ กับคนเมืองอย่างเรานี่แหละครับ จะเกิดอะไรขึ้นหากน้ำประปาไม่ไหลสัก 1 สัปดาห์

อย่าว่าแต่หนึ่งสัปดาห์เลยครับ แค่ 1 วันเราก็รู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่าน จะไปนับอะไรกับเกษตรกรที่ต้องอาศัยน้ำฟ้าและน้ำขลประทานเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ อุตสาหกรรมที่ต้องมีน้ำเพื่อเดินเครื่อง โดยเฉพาะภาคพลังงานที่น้ำเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เครื่องจักรยังทำงานจ่ายไฟฟ้ามาหล่อเลี้ยงประชาชนและธุรกิจ

น้ำเป็นหัวใจสำคัญตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าและบริการซึ่งหลายคนอาจมองข้าม ตารางข้างต้นแสดงคร่าวๆ ถึงปริมาณน้ำที่จำเป็นในแต่ละขั้นตอนของแต่ละอุตสาหกรรม ข้อมูลจาก Water Scarcity & Climate Change: Growing Risks for Businesses & Investors  แปลและเผยแพร่ครั้งแรกที่ salforest.com 

ในภาพใหญ่ ประชากรราวร้อยละ 60 ทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำตึงเครียด (water stress area) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่อุปทานน้ำไม่สามารถตอบสนองอุปสงค์น้ำอย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่น พื้นที่ที่ใช้น้ำเพื่อการเกษตรจำนวนมหาศาลโดยดึงจากน้ำบาดาลเป็นหลักในระดับที่ธรรมชาติไม่สามารถเติมเต็มได้ทัน

พื้นที่ที่เผชิญกับการใช้น้ำแบบ ‘ปริ่มๆ จะไม่พอ’ มักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากเผชิญกับความผันผวนของฝน ทำให้ผลผลิตที่ได้จากพื้นที่ที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แรงกดดันดังกล่าวก็จะคลี่คลายออกไปเป็นการขยายพื้นที่การเกษตรและการบุกรุกป่าในที่สุด  บางพื้นที่ในแอฟริกา หากทารกคนใดคลอดในภาวะขาดแคลนน้ำ อาจทิ้งร่องรอยไว้กับเขาหรือเธอไปตลอดชีวิต เพราะจะมีร่างกายขนาดเล็กกว่าทารกที่เกิดในปีที่อุดมสมบูรณ์

นอกจากนี้ ภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนานจะส่งผลให้รายได้โดยรวมลดลง การศึกษาย่อมมีความสำคัญน้อยกว่าปากท้องของสมาชิกในครอบครัว ทำให้เด็กเหล่านั้นได้รับการศึกษาน้อยลง และยากจนกว่าในท้ายที่สุด

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจตบโต๊ะแล้วบอกว่า การชลประทาน สร้างคลอง สร้างเขื่อน คือทางแก้ไขปัญหา แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นความย้อนแย้งของอุปทาน (paradox of supply) เพราะโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวสร้างภาพลวงตาว่าน้ำมีอยู่ล้นเหลือและราคาประหยัด ทำให้เกษตรกรเลือกปลูกพืชพรรณที่ต้องใช้น้ำมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กล่าวคือเพิ่มน้ำให้เท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ

ภาคธุรกิจและเมืองใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงไม่แพ้กัน โดยรายงานจากธนาคารโลกประมาณการว่าภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าอุทกภัยถึง 4 เท่า ภัยแล้งนั้นคืบคลานมาแบบเงียบๆ ก่อนจะปรากฏเป็นปัญหาไฟดับ การขาดแคลนน้ำในภาคบริการ การระบาดของโรคอหิวาต์ โดยภาคเอกชนนอกระบบ (informal sector) จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยอาจมียอดขายลดลงราวร้อยละ 35

    ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าปัญหาน้ำไม่เพียงพอจะทำให้บางภูมิภาคสูญเสียโอกาสที่จีดีพี (Gross Domestic Products: GDP) จะเติบโตถึงร้อยละ 6 ต่อปีเนื่องจากมีนโยบายบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีพอ นอกจากนี้ การขาดแคลนน้ำอาจปะทุสู่การอพยพย้ายถิ่นฐาน รวมถึงปัญหาระหว่างประเทศ ในวันที่ทรัพยากรซึ่งครั้งหนึ่งทุกคนคิดว่ามีล้นเหลือ เริ่มไม่เพียงพอ

การขาดแคลนน้ำจึงเป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อน เราจึงมองวิธีแก้แบบแยกส่วนไม่ได้ ทำให้เกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่มองน้ำ อาหาร และพลังงาน แบบเชื่อมโยงกันเป็นระบบหรือที่เรียกว่า สายสัมพันธ์น้ำ-อาหาร-พลังงาน (The Water-Food-Energy Nexus) ซึ่งความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นจนเกิดภาวะขาดแคลนอาจมีปลายทางคือราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ประเทศไทยกับภัยแล้ง

ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่ใช้น้ำอย่างเข้มข้น แม้ว่าแบบจำลองการใช้น้ำล่าสุดของ WRI หรือ World Resources Institute จะระบุว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีความตึงเครียดน้ำเกณฑ์ฐานปานกลาง-สูง (Medium-high baseline water stress) แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าพื้นที่ประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่งถูกจัดอยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก

แผนที่แสดงระดับความเสี่ยงน้ำโดยรวม จากแบบจำลอง Aqueducts โดย World Resources Institute

นั่นหมายความว่าประชากรและธุรกิจซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ ‘เปราะบาง’ ต่อการผันผวนของปริมาณน้ำ ซึ่งนับว่าน่ากังวลไม่น้อยเพราะแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น จึงทำให้ยากที่จะคาดทำนายว่ารูปแบบของฝนในอนาคตจะเป็นเช่นเดิมหรือไม่ แม้ในปัจจุบัน น้ำใต้ดินจะยังพอพยุงความผันผวนเหล่านั้นได้ แต่ก็ไม่ยั่งยืน

แบบจำลองเพื่อประมาณการใช้น้ำใช้ข้อมูล พ.ศ. 2554 เป็นฐานโดยนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณการว่าภาคส่วนที่ใช้น้ำมากที่สุดคือภาคการเกษตร ที่มีสัดส่วนการใช้น้ำสูงถึงร้อยละ 75 รองลงมาคือภาคบริการร้อยละ 5 และภาคการผลิตร้อยละ 3 โดยการเติบโตของจีดีพีนั้นสัมพันธ์กับปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง

การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำจึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่นเดียวกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำที่ต้องคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ซ้ำเติมสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เลวร้ายลงอีก

แน่นอนว่าความพยายามหาสมดุลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากต้องการเลี่ยงวิกฤติน้ำในอนาคต เรื่องแรกที่ต้องทำคือสร้างความตระหนักเพื่อเปลี่ยนภัยแล้งไม่ให้เป็น ‘วิกฤติเงียบ’ เหมือนในอดีต และทรัพยากรน้ำไม่ได้มีล้นเหลืออย่างที่เราเข้าใจกัน

 

เอกสารประกอบการเขียน

UNCHARTED WATERS: The New Economics of Water Scarcity and Variability

Cross-Sectoral Analysis of Water Usage in Thailand Using Input–Output Model

Charting a New Path for Water’s Future

WATER, SECURITY, AND CONFLICT

These Countries Are the Most at Risk from a Water Crisis

Water scarcity is one of the greatest challenges of our time

High and Dry: Climate Change, Water, and the Economy

17 Countries, Home to One-Quarter of the World’s Population, Face Extremely High Water Stress

Tags: , ,