ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาทไหนของบริษัทหรือองค์กร สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการทำงานก็คือ ‘การเข้าร่วมประชุม’ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในรูปแบบใดก็ตาม ทั้งการประชุมเพื่อหาข้อสรุปบางอย่างในการทำงาน การประชุมเพื่อวางแผน หรือการประชุมเพื่อระดมไอเดีย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อขับเคลื่อนองค์กรที่คุณสังกัดให้เดินหน้าต่อ

แต่แน่นอนว่าในทุกองค์กรย่อมมีความหลากหลายของพนักงาน บางคนอาจเป็นสไตล์ช่างเจรจา และสามารถลุกขึ้นพูดหรือเสนอไอเดียในที่ประชุมได้อย่างสบาย แต่ก็มีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่อาจรู้สึกวิตกกังวลไปจนถึงเครียด เพราะคิดว่าตนไม่สามารถพูดต่อหน้าทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีไอเดียหลายอย่างในใจก็ตาม จนกลายเป็นการ ‘งดออกเสียง’ ไปอย่างน่าเสียดาย

ทั้งที่หนึ่งเสียงของคุณอาจมีผลอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานขององค์กร

แล้วการ ‘ออกเสียง’ ในที่ประชุมมีความสำคัญอย่างไร?

อย่างที่กล่าวไปว่า การออกเสียงในที่ประชุมไม่ได้หมายถึงแค่การ ‘แบ่งปัน’ มุมมองของคุณในบางเรื่อง แต่มันยังส่งผลประโยชน์ต่อทั้งส่วนตัวคุณเองและอื่นๆ อีก เนื่องจาก…

1. ทักษะในการสื่อสารที่ดีจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ ช่วยพัฒนาความเข้าใจและการเรียนรู้ของการทำงานเป็นทีม และเป็นวิธีที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและผู้อื่น

2. จำไว้ว่าการมีส่วนร่วมในการส่งเสียงของคุณเป็นเรื่อง ‘ถูกต้อง’ และมีความสำคัญ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เช่นเดียวกับที่คุณไม่จำเป็นต้องมีไอเดียที่สมบูรณ์แบบหรือมีแผนที่สมบูรณ์ในการส่งเสียงออกมา

3. ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงเพื่อ ‘แบ่งปันความคิดเห็นและข้อมูลที่มี’ หรือส่งเสียงเพื่อ ‘ถามคำถาม’ ก็สามารถช่วยพัฒนาโปรเจกต์หรือแผนงานขององค์กรต่อไปได้ทั้งนั้น และเสียงคุณยังสามารถนำไปสู่แนวคิดใหม่ๆ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กระบวนการคิดและการมีส่วนร่วมของพนักงานคนอื่นๆ ได้อีกด้วย

แม้ว่าอาจไม่ใช่ทุกคนที่สามารถส่งเสียงได้ ‘ดัง’ หรือเป็นผู้นำในการประชุมทุกครั้ง แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่า การฝึกเพิ่มความมั่นใจและทักษะในการพูดของคุณจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในความก้าวหน้าทางอาชีพได้ และยังส่งผลต่อความรู้สึกในแง่จิตวิทยาความพึงพอใจในงานส่วนตัวของคุณ รวมทั้งช่วยเปิดโอกาสให้คนอื่น ‘ได้ยิน’ เสียงของคุณบ้าง ซึ่งมันอาจหมายถึงการที่คนอื่นๆ จะได้รับรู้มุมมอง ความคิด ความรู้ จุดแข็ง และศักยภาพของคุณ

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อโอกาสใหม่ๆ ที่อาจเข้ามาหาคุณในฐานะพนักงานขององค์กรได้

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรหลายแห่งคาดหวังให้พนักงานที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในบทบาทต่างๆ นั้น ‘สื่อสาร’ เป็น บางแห่งอาจคาดหวังให้คุณส่งเสียงออกมาเองด้วยซ้ำ โดยไม่ต้องรอให้ใครมาถาม เพราะนั่นอาจเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความพร้อมในการเป็นผู้นำของคุณ

ทำไมคุณถึงรู้สึกยากลำบากในการส่งเสียงในที่ประชุม?

ไม่ใช่แค่การพยายามส่งเสียงในที่ประชุม แต่ยังมีเรื่องของการพูดให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพด้วย จึงไม่แปลกที่หลายคนจะวิตกกังวลในการประชุมทุกครั้ง นอกจากนี้ อาจเป็นเพราะคุณยังประสบการณ์น้อย ขาดความมั่นใจ ยังใหม่กับบทบาทที่ได้รับ หรืออาจมีอีกหลายสาเหตุ เช่น

1. รู้สึกว่าพนักงานคนอื่นพูดเก่งมากกว่า หรือเป็นคนเปิดเผยมากกว่า

2. เชื่อว่าความคิดของตนเองด้อยกว่า หรือมีค่าน้อยกว่าคนอื่น เพราะคนอื่นมีประสบการณ์มากกว่า

3. ยังรู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับคนอื่นที่ต้องทำงานด้วยมากนัก

4. ต้องประชุมร่วมกับคนที่อาวุโสกว่า หรือตำแหน่งสูงกว่า

แล้วจะทำอย่างไรให้เริ่มกล้า ‘ส่งเสียง’ ออกมา?

แม้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่หากพยายามสักหน่อย ก็ยังมีวิธีที่ทำให้คุณค่อยๆ กล้าลุกขึ้นมาส่งเสียงได้ เช่น

1. เตรียมตัวล่วงหน้า – หากรู้ว่าจะมีการประชุมวันไหนหรือวาระไหน การเตรียมตัวล่วงหน้าในเนื้อหาหรือข้อมูลจะช่วยให้คุณโฟกัสได้มากขึ้นเมื่อคุณรู้สึกประหม่า เพราะการเตรียมตัวจะทำให้คุณสามารถดึงข้อมูลสำคัญที่ต้องการพูดออกมาได้ทันที

2. ลองเริ่มพูดคนแรกไปเลย – หากคุณรู้ตัวว่าต้องพูดหรือนำเสนอบางอย่างต่อทีมในที่ประชุมแน่ๆ ลองอาสาเป็นฝ่ายพูดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะวิธีนี้อาจช่วยให้คุณไม่ต้องกระวนกระวายใจในการรอ ว่าเมื่อไรจะถึงคิวของคุณ และช่วยให้คุณมีสมาธิกับการประชุมที่เหลือได้

3. ฝึกฟังให้เป็น – การฟังด้วยความตั้งใจจะทำให้คุณรับรู้สิ่งที่ที่ประชุมกำลังพูดคุยและตามทัน นั่นหมายถึงคุณจะมีสมาธิกับการประชุม ซึ่งลดความวิตกกังวลได้ รวมถึงช่วยให้คุณเข้าใจและสามารถต่อติดได้เมื่อถึงคิวคุณต้องนำเสนอบางอย่างต่อทีม

4. สังเกตและเรียนรู้จากคนอื่น – หากในที่ประชุมมีคนที่คุณรู้สึกว่าเขาสามารถจัดการการประชุมได้อย่างยอดเยี่ยมหรือเป็นผู้สื่อสารที่ดี ลองสังเกตวิธีที่คนเหล่านั้นทำในการประชุม วิธีฟัง วิธีพูด วิธีการมีส่วนร่วม หรือการตอบสนองที่เขามีต่อที่ประชุม

จำไว้ว่าการ ‘งดออกเสียง’ เพราะประสบการณ์น้อยยังมีทางพัฒนาได้ แต่หาก ‘งดออกเสียง’ ทั้งที่รู้ทุกอย่างแต่จงใจเงียบนั้นน่าเสียดายอย่างยิ่ง

Tags: , ,