หากคุณกำลังเริ่มงานในที่ทำงานใหม่ สิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้นคือการ ‘ปรับตัว’ เพื่อให้คุ้นเคยกับบรรยากาศใหม่ในที่ทำงาน ทั้งเพื่อนร่วมงาน ภาระงาน รวมไปถึงวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้เกิด ‘ความสบายใจ’ และ ‘ความไว้วางใจ’ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของคุณ
แต่แน่นอนว่า ‘การปรับตัว’ นั้นเรียกร้อง ‘เวลา’ ที่มากน้อยแล้วแต่บุคลิก นิสัย และความสามารถในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นของแต่ละคน ซึ่งล้วนมีไม่เท่ากัน
ในแง่นี้ การเริ่มต้นงานใหม่อาจก่อให้เกิดอารมณ์ที่ ‘ซับซ้อน’ ได้ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของความคาดหวังในการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานด้วย ยังไม่นับรวมถึงปัญหาอื่นๆ ในชีวิตประจำวันที่อาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานก็ได้
ความคิดเหล่านี้อาจไล่ตามความคิดของคุณอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มากขึ้นไปอาจกลายเป็น ‘ความวิตกกังวล’ และ ‘ความเครียด’ ที่ตามมา นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดอาการทางกายภาพได้ เช่น ความเหนื่อยล้า หรือความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ
แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติในการเริ่มงานใหม่ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถจัดการหรือรับมือกับความวิตกกังวลเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปว่าความวิตกในที่ทำงานคืออะไร?
จำไว้ว่า ความวิตกกังวลในที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเครียด กังวล ไม่สบายใจ หรือความตึงเครียดเกี่ยวกับงาน ซึ่งอาจรวมถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงาน ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่การต้องพูดต่อหน้าคนในที่ทำงาน
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า สาเหตุของความวิตกกังวลขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล น่าเศร้าที่บางครั้งเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานคุณอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณกำลังประสบภาวะนี้อยู่ โดยเฉพาะเมื่อคุณเพิ่งเริ่มงานใหม่ และยังไม่มีเพื่อนที่ไว้วางใจให้ระบายได้
แล้วจะทำอย่างไรเพื่อจัดการกับกับความวิตกกังวลเหล่านี้
1. หาต้นตอของความวิตกกังวลให้พบ
การเริ่มต้นด้วยการพยายามทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุดังกล่าว อาจช่วยได้ เช่น คุณกำลังกังวลเรื่องผลลัพธ์ของงานที่ทำอยู่? หรือกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานใหม่? ซึ่งวิธีที่ดีที่จะให้คุณค้นหาต้นตอพบ คือ การจดบันทึกหรือลองเริ่มพูดคุยกับเพื่อนใกล้ตัวในที่ทำงาน หรือกระทั่งการพูดคุยกับนักบำบัดก็อาจเป็นทางออกได้เช่นกัน
2. เตรียมตัวให้พร้อมในคืนก่อนมาทำงาน
หากพรุ่งนี้คือวันแรกในการเริ่มต้นงานใหม่ ความตื่นเต้น กระวนกระวาย ไปจนถึงวิตกกังวล อาจเกิดขึ้นได้ การลดสิ่งที่ว่ามาโดยการเตรียมตัวให้ในคืนก่อนเริ่มงานก็สามารถช่วยได้ โดยการโฟกัสไปในสิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้ เช่น วางแผนเตรียมชุดที่จะใส่ไปทำงานให้พร้อม เพื่อลดเวลาช่วงกิจวัตรในตอนเช้า ตรวจเช็กเส้นทางไปที่ทำงาน เตรียมกาแฟถ้วยโปรดไว้ หรือพยายามไปถึงที่ทำงานให้เร็วขึ้นเล็กน้อยในวันแรก เพื่อให้มีเวลาสร้างความคุ้นชินสักเล็กน้อยก็ยังดี
3. ลองหา ‘การสนับสนุน’ ในการทำงาน
เหมือนที่ใครเคยบอกไว้ว่า ‘ความทุกข์บรรเทาลงได้เมื่อถูกแบ่งปันให้ใครอีกคน’ เช่นเดียวกันกับความกังวล การพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือการลองหาเพื่อนที่ไว้วางใจได้ในที่ทำงาน ก็สามารถบรรเทาความเครียดต่างๆ ได้ หรือหากความวิตกกังวลนั้นมีมากจนรบกวนการทำงานของคุณ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อหากลยุทธ์การรับมือใหม่ๆ และเสนอวิธีการรักษาที่อาจช่วยลดความวิตกกังวลของคุณ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
4. อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ
หลายคนมักคิดว่า การมีคำถามหรือแสดงความไม่รู้นั้น เป็นการ ‘แสดงความอ่อนแอ’ แต่ความจริงแล้วการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานนั้น ทำให้พวกเขาได้รับรู้ว่าคุณตั้งใจทำงาน เพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ในที่ทำงานกำลังดำเนินไปอย่างไรต่างหาก นอกจากนี้ การขอความช่วยเหลือในที่ทำงานอาจทำให้คุณมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับอีกฝ่ายและกลายเป็นการสร้างสัมพันธ์ร่วมกันได้
5. อดทนและให้เวลา
การเริ่มต้นอะไรบางอย่างใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางครั้งการเริ่มต้นคือสิ่งที่ยากที่สุดด้วยซ้ำ แต่ก็เช่นเดียวกับทุกสิ่งในชีวิต การหมั่นฝึกฝนหรือทำบางอย่างซ้ำๆ ยิ่งมากเท่าไรมันก็จะยิ่งง่ายขึ้น เมื่อให้เวลามากพอ ในที่สุดคุณก็จะพบกับ ‘จังหวะ’ ที่เหมาะสมสำหรับคุณในที่ทำงานใหม่และที่ทางในฐานะพนักงานใหม่ สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความรู้สึกมั่นใจและประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น
Tags: การทำงาน, พนักงานออฟฟิศ, Work Tips, พนักงานใหม่