หลังการระบาดของโควิด-19 ชีวิตออฟฟิศเริ่มกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ปัญหาสำคัญของทุกที่ทำงานคือการคุยกันราวกับไม่ได้เจอหน้ากันนานๆ และยิ่งมีปัญหาในการทำงานแบบ ‘ไฮบริด’ ที่สลับคนเข้า ทำให้แต่ละวันต้องผลัดเปลี่ยนเพื่อนร่วมงานหน้าใหม่ไปเรื่อยๆ ในแง่หนึ่ง การเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่เหมือนเดิมทุกวัน อาจสร้างความตื่นเต้นให้กับคุณ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวันที่ไม่ได้เจอกัน อาจกลายเป็นบทสนทนาขนาดยาว กลายเป็นการต่อมุข และตบมุขต่อกันไปมา จนมีผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ ทำลายสมาธิในงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างรุนแรง

ในอดีต การจัดพื้นที่ทำงานมักจะมี ‘คอก’ หรือห้องทำงาน ทั้งเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 สถานที่ทำงานแบบมีคอกก็หายไปหมด องค์กรต้องการบรรจุพนักงานเข้าไปให้มากที่สุดโดยใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุด กลายเป็นรูปแบบที่เรียกว่า Open-plan Office ขณะเดียวกัน ยังมีความพยายามอธิบายว่าการทำลายคอกเหล่านี้ จะทำให้พนักงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในออฟฟิศที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้ ออฟฟิศสตาร์ทอัพ ออฟฟิศของบริษัทเทครุ่นใหม่จึงกลายเป็นออฟฟิศต้นแบบ ห้องประชุมไม่ต่างจากห้องนั่งเล่น มีกาแฟดริปฟรีแทนกาแฟชงทรีอินวัน มีพื้นที่ให้พักผ่อน งีบนอน กระทั่งมีพื้นที่ว่างจำนวนมากสำหรับ ‘เล่น’

แต่ทว่านานวันเข้า Open-plan Office กลายเป็นดาบสองคม เมื่อทุกคนไม่มีพื้นที่ของตัวเอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้กลายเป็นความจอแจ พื้นที่ส่วนกลางไม่ต่างจากตลาดสด ทั้งเรื่องงาน เรื่องเพลง เรื่องนินทาชาวบ้าน เรื่องตลก จนทำให้การทำงาน ซึ่งควรเป็นเรื่องหลัก กลายเป็นเรื่องรอง และเป็นไปอย่างยากลำบาก และในทางกลับกัน แทนที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ กลับกลายเป็นเพิ่มความเครียดให้กับพนักงาน เมื่องานหลักนั้นไม่เดิน และมีความเสี่ยงสูงที่จะทำงานไม่ทันเดดไลน์

อันที่จริง มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเคยทำการสำรวจเมื่อปี 2016 สิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญที่สุดในการทำงานคือ สามารถทำงานได้โดยไม่ถูกรบกวนจากมลภาวะทางเสียง ซึ่งเป็นแนวคิดตรงกันข้ามกับแนวคิดแบบ Open-plan Office

ขณะเดียวกัน การศึกษาที่ตีพิมพ์ลงใน Journal of Experimental Psychology: General เมื่อปี 2006 ก็สะท้อนชัดว่าเมื่องานหลักถูกรบกวนโดยการพูดคุยกัน เป็นต้นว่า การสนทนาแบบไม่เป็นทางการกับเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศ ได้ทำให้ ‘ความจำ’ และพื้นที่สมองในการทำงานดั้งเดิมนั้นลดลง และยากต่อการทำงานเดิมที่ค้างไว้ต่อไป แล้วจะทำอย่างไรเพื่อลดความจอแจเหล่านี้ ทำอย่างไรเพื่อให้พนักงานสามารถทำสมาธิ ตั้งสติ จดจ่อกับงานที่ต้องทำให้ได้ เรามีวิธีมานำเสนอ

 

1. จัด ‘หูฟัง’ ของคุณให้พร้อม

มีการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า หากการทำงานมีเสียงรบกวนมากเกินไป อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคุณลดลงกว่า 50% การเตรียมพื้นที่ส่วนตัวของคุณเพื่อลดเสียงรบกวนให้มากที่สุด เพื่อให้จดจ่อกับงาน หูฟังแบบ noise-cancelling อาจช่วยได้

คาเรน ดิลลอน (Karen Dillion) ผู้เขียนหนังสือ Harvard Business Review Guide to Office Politics แนะนำว่าการลงทุนกับหูฟัง noise-canceling ดีๆ สักชิ้น อาจเป็นเรื่องคุ้มค่า หากทำให้การงานของคุณดีขึ้น โดยหูฟังอาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคุณกำลังทำงานอยู่ เพื่อนร่วมงานของคุณอาจเว้นระยะห่างกับคุณชั่วคราว หรืออาจตั้งกฎบางอย่างไว้เช่น หากสวมหูฟัง 2 ข้าง แปลว่ากำลังทำงานอย่างจดจ่อ ห้ามรบกวน และการใส่หูฟัง 1 ข้าง อาจหมายถึงการพร้อมรับฟังคนอื่นๆ ในออฟฟิศ

2. ลองย้ายจุดทำงานไปรอบๆ ออฟฟิศ

การเป็น Open-plan Office มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือคุณสามารถขยับไปมาได้ทั้งออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะของเพื่อนร่วมงานที่ไม่มาทำงาน โซฟาที่ตั้งไว้ด้านหน้า ห้องประชุมที่ไม่ได้ถูกใช้งาน หรือสวนหย่อมด้านล่างออฟฟิศ แน่นอนว่าการนั่งทำงานอยู่ในจุดที่มีแต่คนสนทนากัน คุยเรื่องซีรีส์เกาหลีตอนล่าสุด จะรบกวนโสตประสาทคุณอย่างร้ายกาจ ฉะนั้นลองหยิบแล็ปท็อปของคุณแล้วลองเอาตัวเองไปอยู่ในที่ทำงานใหม่ๆ ที่ซึ่งผู้คนในแผนกอื่นอาจไม่รู้จักคุณ หรือไม่รู้จะคุยอะไรกับคุณ อาจช่วยให้สมองของคุณไหลแล่นขึ้น

3. วางแผนสำหรับการถูกรบกวน

หากไม่มีสมาธิในการทำงานจริงๆ คุณอาจต้องเตรียมเวลาสำหรับหยุดพักในการทำงานนั้นระยะหนึ่ง ทั้งนี้มีการศึกษาพบว่า การหยุดพักทำงานชั่วขณะอาจดีกว่าการดันทุรังทำงานต่อไปโดยมีเสียงรบกวนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนจะพักงานนั้นๆ อย่าลืมเขียนโน้ตทิ้งไว้ว่าคุณกำลังจะทำอะไรต่อ หรือเอาเมาส์ลากไฮไลต์ไว้ว่ากำลังอ่านอะไรถึงไหน หากสามารถลิสต์เป็น Bullet point จะสามารถช่วยให้งานเดินต่อไปได้อย่างราบรื่นเชียวล่ะ

4. ลองตัดสินใจเลือก ‘เพลง’ ที่เหมาะกับงาน

โดยปกติ การทำงานพร้อมกับฟังเพลงไปด้วยอาจเป็นเรื่องกวนใจ หรือรบกวนเรื่องที่กำลังทำอยู่ แต่มีการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การทำงานดีไซน์ งานสถาปนิก งานตกแต่ง-เคลื่อนย้ายวัตถุ การฟังเพลงโปรดของคุณไปด้วย ก่อนที่คุณจะเริ่มงานนั้นๆ อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคุณดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานประเภทที่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจความหมายของตัวหนังสือ ตัวอักษร งานที่ต้องอาศัยการอ่านและการเขียน สมองของคุณจะทำความเข้าใจเพลงที่กำลังเล่นเป็นแบ็กกราวนด์ในฐานะ ‘สิ่งรบกวน’ ซึ่งอาจทำให้คุณวอกแวก เสียสมาธิ ไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นเพลงที่คุณชอบ หรือเพลงที่คุณไม่ชอบก็ตาม ล้วนอาจทำให้งานของคุณผิดพลาดได้ง่ายขึ้น

5. ออกจากออฟฟิศชั่วคราว

น่าเสียดายที่ประเทศไทยมีห้องสมุดสาธารณะน้อยเกินไป ในประเทศพัฒนาแล้ว ห้องสมุดสาธารณะจะเป็นที่รองรับที่ดีสำหรับพนักงานออฟฟิศผู้ต้องการใช้สมาธิขั้นสุด แต่สำหรับประเทศไทย สถานที่เดียวที่ดูจะรองรับได้คือร้านกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นอเมซอนที่กาแฟแก้วละ 60 บาท++ หรือสตาร์บัคส์ที่กาแฟแก้วละ 120 บาท++ ดูจะเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ หากจะอัปเปหิตัวเองออกจากเก้าอี้ทำงานส่วนตัวไปทำยังร้านกาแฟเหล่านี้ มิหนำซ้ำยังต้องลุ้นอีกว่าคุณจะมีโต๊ะเหลือให้ทำงานอีกหรือไม่ หรือต้องไปแย่งชิงกับบรรดามนุษย์ออฟฟิศ อาจารย์สอนพิเศษ หรือแม้กระทั่งทีมสัมภาษณ์งานที่ไม่ใช้ออฟฟิศตัวเอง แต่ใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่สัมภาษณ์

กระนั้นเอง ในออฟฟิศที่มีความจอแจ การหลีกเลี่ยงออฟฟิศ ออกไปทำงานยังร้านเงียบๆ (เก็บไว้กับตัว ห้ามรีวิว ห้ามเช็กอิน และห้ามบอกใคร!) หรือกลับไปทำงานที่บ้าน ที่คอนโด อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพียงแต่อาจต้องชี้แจงกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานก่อนก็เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ เป็นวิธีเบื้องต้นที่อาจทำให้ชีวิตการทำงานของคุณเป็นไปอย่างสงบเงียบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็อาจต้องคุยกับเพื่อนร่วมงานอย่างจริงจัง และถ้าหากทุกคนดูจะยังไม่เงียบสงบ ก็จำต้องคุยกับหัวหน้างาน หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างจริงจัง เพื่อสร้าง ‘กฎ’ บางอย่าง ให้การทำงานสามารถเดินหน้าไปได้ และเพื่อให้ชีวิตการทำงานของคุณเป็นไปอย่างสงบสุขที่สุด

ที่มา

– https://theconversation.com/returning-to-the-workplace-heres-how-to-stay-focused-in-a-noisy-office-158186

– https://hbr.org/2018/10/staying-focused-in-a-noisy-open-office

https://themomentum.co/open-plan-office-is-a-nightmare/

Tags: , , ,