“เฮ้ย เย็นนี้ชาบูหม่าล่าไหม?”
“คืนนี้ไปชิลล์เป็นเพื่อนหน่อย”
“เปิดตี้สุกี้จินโดคืนนี้ค่า”
พนักงานออฟฟิศหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับประโยคทำนองนี้เป็นอย่างดี เมื่อเพื่อนรัก ‘นักชวน’ ที่อยู่ในออฟฟิศมักมาสะกิดเชิญชวนแกมบังคับให้ไปร่วมสังสรรค์หลังเลิกงาน แต่บางคนดันรู้สึกไม่ค่อยอยากไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ครั้นจะปฏิเสธก็ลำบากใจที่อาจกลายเป็นทำร้ายความรู้สึกเพื่อน พาลจะทำให้เขาเข้าใจผิดว่าเราไม่ชอบพวกเขา แต่หากต้องไปก็คงไม่เอนจอย
ความจริงก็เข้าใจเพื่อนรักนักชวนเหล่านี้ เพราะทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน ก็อยากหาอะไรอร่อยๆ กินในบรรยากาศแบบ ‘เพื่อนฝูง’ ให้มันคึกคักครึกครื้น แต่บางครั้งคำเชิญชวนนั้นก็ดันมาวันที่เรายังไม่พร้อม แต่กลับมีเวลาให้ตอบตกลงเพียงไม่นาน เพราะเพื่อนรอคำตอบอยู่
เป็นเช่นนี้แล้วจะปฏิเสธเพื่อนรักนักชวนอย่างไรดี ให้ยังเคารพและไม่ทำร้ายความรู้สึกต่อกัน?
1. ทำให้พวกเขารู้ว่าคุณ ‘ยุ่ง’ และ ‘ไม่มีเวลา’
วิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธคำเชิญชวนของเพื่อนรักนักชวนคือต้องทำให้พวกเขารับรู้ว่าคุณกำลัง ‘ยุ่ง’ และ ‘ไม่มีเวลา’ ไม่ว่าจะจากเหตุผลใดก็ตาม เช่น แฟนรออยู่ ต้องไปรับลูก เพื่อนอีกกลุ่มนัดปีนผาแล้ว อะไรก็ตามที่คุณต้องใช้เวลากับสิ่งนั้น และทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมคำเชิญชวนตั้งตี้ตอนเย็นได้
เมื่อไรก็ตามที่เพื่อนรักนักชวนเห็นว่าคุณมีกิจวัตรหรือกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำในทุกเย็น คำเชิญชวนก็จะค่อยๆ น้อยลงตาม จนท้ายที่สุด หากพวกเขาต้องการชวนคุณจริงๆ ก็จะเป็นการ ‘นัดล่วงหน้า’ ให้คุณมีเวลาวางแผนก่อนนานๆ มากกว่าจะมาชวนแบบปุปปับทันที เย็นนี้เจอกัน
2. อย่ายกเลิกนัดในวินาทีสุดท้าย
การตอบตกลงคำชวนไปแล้ว และมายกเลิกในนาทีสุดท้าย อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อการทำลายความรู้สึกของเพื่อนรักนักชวนได้ เพราะมันจะทำให้พวกเขารับรู้ได้ทันทีว่าคุณ ‘แกล้ง’ ตอบรับไปก่อน เพื่อ ‘แสร้ง’ ว่าไม่สะดวกแล้ว จนกลายเป็นความอึดอัดใจได้
นอกจากนี้ หากต้องการยกเลิกหรือปฏิเสธคำเชิญชวน ก็ควรจะทำให้ถูกต้องและถูกเวลา แม้ว่าสุดท้ายแล้วเพื่อนรักนักชวนจะเชื่อในเหตุผลของการยกเลิกของคุณ แต่การมายกเลิกการนัดหมายที่พวกเขารู้สึก ‘ตื่นเต้น’ ในนาทีสุดท้าย มีแต่จะเป็นการทำลายความรู้สึก ซึ่งพวกเขาอาจรอคอยช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง โดยที่มีคุณเป็นหนึ่งในผู้ร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน
3. แกล้งว่าไม่สนใจในสิ่งที่ถูกชวน
หากคุณยังไม่ได้สนิท หรือเพื่อนรักนักชวนยังไม่ได้รู้ ‘ข้อมูล’ เกี่ยวกับคุณในระดับที่มากเกินไป การ ‘แกล้ง’ ทำเป็นว่าคุณไม่สนใจในสิ่งที่พวกเขาชวนก็อาจทำให้คุณหลบหลีกจากคำชวนนั้นได้ แต่หากพวกเขารู้จักคุณดีเป็นอย่างยิ่ง วิธีนี้อาจทำให้ถูกจับได้ หรือมีความเสี่ยงที่พวกเขาอาจ ‘ปรับ’ กิจกรรมที่อยากชวนให้เหมาะกับความสนใจของคุณได้
แต่แน่นอนว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการปฏิเสธอย่างสุภาพไปตรงๆ ว่าคุณอาจไม่ได้สนใจสิ่งที่พวกเขาชวนมากนัก ยกเว้นว่า ‘เพื่อนรักนักชวน’ เหล่านั้นจะเป็น ‘เพื่อนรักนักตื๊อ’ ก็ตัวใครตัวมัน…
4. สุภาพและตรงไปตรงมา
หากคุณเป็นคนตรงไปตรงมา การบอกเหตุผลที่แท้จริงกับเพื่อนรักนักชวนว่าทำไมถึงไม่อยากไป โดยไม่ต้องสร้างเหตุผลขึ้นมาโกหก ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เช่น “เฮ้ย วันนี้ทำงานเหนื่อย อยากกลับบ้านไปพักแล้ว” แต่แน่นอนว่าการ ‘ตรงไปตรงมา’ ไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว แต่สามารถตรงไปตรงมาอย่าง ‘สุภาพ’ ได้ และสุดท้ายอย่าลืมขอบคุณเพื่อนเหล่านั้นด้วยที่อุตส่าห์มาชวนคุณ
5. ลองประนีประนอมหรือไว้โอกาสหน้า
ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่ชอบไปแฮงก์เอาท์หลังเลิกงาน การลองขอ ‘เปลี่ยน’ เป็นการไปกินข้าว หรือไปร้านกาแฟ ช่วงพักกลางวันแทนก็เป็นวิธีที่ดี เพราะมันช่วยแสดงให้เห็นว่าคุณยังคง ‘สนใจ’ เพื่อนเหล่านั้น เพียงแต่ปรับเป็นในช่วงตารางเวลาที่คุณสะดวกมากกว่า หรือไม่เช่นนั้น ลองวางแผนดูว่า หากเพื่อนรักนักชวนมักจะมาชวนคุณในทุกวันศุกร์ตอนเย็น 4 ครั้งต่อเดือน การลองปักหมุดให้พวกเขารับรู้ เช่น คุณจะไปกับพวกเขาในวันศุกร์สิ้นเดือน และคิดในแง่ดีว่า อาจจะทำให้คุณได้รู้จักพวกเขาในระดับที่ลึกขึ้น หรือให้เป็นการรีแลกซ์ตัวเองสักครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
อ้างอิง
– https://theordinaryman1.medium.com/how-to-tell-a-coworker-you-dont-want-to-hang-out-34422920f913
– https://learn.rumie.org/jR/bytes/4-ways-to-respond-when-you-don-t-want-to-hang-out-with-a-coworker/
Tags: พนักงานออฟฟิศ, Work Tips