ในบทตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นข้อปัญหาหรือวิกฤตที่เกิดกับความรักในกรอบคิดทางด้านสังคมวิทยาที่อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างลัทธิบริโภคนิยมกับความรักแบบโรแมนติก การให้ความสำคัญกับทางเลือกอันมากมายไม่สิ้นสุด ซึ่งปรับเปลี่ยนจิตใจและความคิดให้คำนึงถึงแต่ประโยชน์แก่ตนเอง ซึ่งก็ทำให้ความรักตกอยู่ในอาการปางตายตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนปัจจุบัน 

ทว่าในมุมมองของนักปรัชญาร่วมสมัยชาวเกาหลี-เยอรมัน ฮาน บยุง-ชอล (Han Byung-Chul) กลับเห็นว่ากรอบอธิบายแบบสังคมวิทยาได้มองข้ามปัจจัยสำคัญที่เรียกว่า ‘ความแตกต่าง’ หรือความเป็นผู้อื่น (The Other) ที่เขาคิดว่าเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ความรักหมดสิ้นลมหายใจ 

ด้วยเพราะโลกในเวลานี้พยายามขจัดความแตกต่างด้วยความเหมือนกัน เรารักผู้อื่นในความเหมือนตัวเราเอง เรามีคู่รักเพราะเรารักตัวเอง ซึ่งในมุมมองทางปรัชญา การรักตัวเองอย่างลุ่มหลง (narcissistic love) กับการรักตัวเอง (self-love) ถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ความรักตัวเองอย่างลุ่มหลงเป็นผลผลิตมาจากสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับตัวเอง (self) มากกว่าสิ่งอื่นใด มันทำลายเส้นแบ่งระหว่างตัวเรากับผู้อื่น โลกจึงเป็นส่วนขยาย หรือภาพเงาจากตัวเราเอง ความรักเช่นที่ว่าจึงไม่ต่างไปจากการหลงรักภาพสะท้อนของตัวเราเอง ซึ่งก่อนที่จะพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวต่อไปในรายละเอียด ขอนำพาผู้อ่านไปรู้จักกับฮานกันสักเล็กน้อย 

ฮาน บยุง-ชอล (Han Byung-Chul) นักปรัชญาชาวเกาหลี-เยอรมัน

ฮาน บยุง-ชอล เป็นหนึ่งในนักคิดที่ได้รับการกล่าวขานถึงกันมากที่สุดคนหนึ่งในเวลานี้ แรกเริ่มนั้น เขาร่ำเรียนมาทางด้านโลหะวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ จนต่อมาได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาต่อที่เยอรมัน หากเขากลับทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือการเปลี่ยนสายไปเรียนปรัชญา ศาสนา และวรรณคดีเยอรมันที่มหาวิทยาลัยฟรายบวร์ก จนสำเร็จปริญญานิพนธ์ว่าด้วยปรัชญาของมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger)

ภายหลังจากจบการศึกษาและได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งในสาขาปรัชญา ศิลปะ สื่อสมัยใหม่ ฯลฯ ฮานก็เริ่มตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ข้อเขียนในภาษาเยอรมันของเขาได้รับการยกย่องว่าดีและมีโครงสร้างอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานที่ทำให้เขาเริ่มถูกอ้างอิงและจดจำได้ในโลกวิชาการคือ หนังสือที่ชื่อ Müdigkeitsgesellschaft (2010) หรือฉบับแปลอังกฤษที่ชื่อ The Burnout Society (2015) ที่กล่าวถึงสังคมปัจจุบันที่ผู้คนทั้งหลายเหมือนถูกสาปให้ตกอยู่สภาวะของโพรเมธิอุส (Promethius) ที่ถูกพันธนาการไว้ให้นกอินทรีจิกกินเครื่องในที่จะฟื้นคืนกลับใหม่เพื่อถูกจิกกินในทุกวันเช่นนี้เรื่อยไป ฮานเรียกความเจ็บปวดที่โพรเมธิอุสไม่รู้สึกนี้ว่า ‘สภาพสิ้นไร้แรงกำลัง’ มนุษย์ในเวลานี้จึงนับได้ว่ากำลังขูดรีดตัวเองจนสิ้นสภาพ หรือ burn out ไปก่อนเวลา 

ข้อเขียนของฮานชิ้นดังกล่าวสามารถใช้อธิบายโลกปัจจุบันที่ถูกบุคคลผู้ประสบความสำเร็จ (ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยหรือเป็นข้อยกเว้นด้วยปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ) ครอบงำ เราแต่ละคนเกิดมาและถูกทำให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มุ่งหาความสำเร็จ (achievement-subject) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแทบไม่มีใครจะไปถึง ถ้าเรากวาดตามองไปบนแผงหนังสือก็จะพบว่างานที่ขายดีที่สุด ณ เวลานี้ก็เป็นหนังสือมุ่งสู่ความสำเร็จ ธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ก็คือธุรกิจว่าด้วยหนทางไปสู่ความสำเร็จ หรือ Life-coach หรือคงไม่มีหนังสือขายดีเล่มใดในเวลานี้ที่เป็นคู่มือไปสู่ความล้มเหลว หรือพังพินาศของชีวิต

สังคมมุ่งสู่ความสำเร็จ (achievement society) นี้เองได้เป็นจุดเริ่มต้น หรือหลักคิดสำคัญที่ทำให้ฮานได้นำไปอภิปรายและสร้างข้อถกเถียงในเรื่องความรัก หรือ ‘eros’ ซึ่งเขา—และแน่นอนว่านักปรัชญาตั้งแต่กรีกโบราณเป็นต้นมาต่างเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญสามารถกำหนดชี้เป็นชี้ตายอนาคตของมนุษยชาติ และนี่ก็เป็นประเด็นที่เราจะได้พูดถึงต่อไป

ความรักกับนักปรัชญา

ในบทสนทนา Symposium ของเพลโต (Plato) ความรัก หรือ eros ถูกนำมาถกอภิปรายกันอย่างยาวนาน [1] โดยผู้ที่แสดงทัศนะก็มีตั้งแต่นายแพทย์ กวีมือรางวัล นักเขียนบทละครขำขันไปจนถึงนักคิดผู้เรืองนามอย่างโสเครติสเอง บทสนทนานี้ได้แสดงให้เห็นความหมายและความสำคัญของความรักในหลายด้านด้วยกัน เช่น ความรักเป็นที่มาของคุณูปการอันยิ่งใหญ่ ความรักทำให้จิตใจของคนขลาดกลายเป็นคนกล้าหาญ ความรักคือการทำให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นอมตะเป็นอมตะ ผ่านการสืบทอดเผ่าพันธุ์ ฯลฯ 

แม้บทสนทนาและวิวาทะเรื่องความรักดังกล่าวจะไม่มีข้อสรุปชี้ชัดฟันธง แต่ก็เป็นชุดทฤษฎีที่ใครหลายคนทั้งในและนอกวงปรัชญายังใช้ศึกษาอ้างอิงมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิเคราะห์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) ใน Seminar VIII : Le transfert หรือนักปรัชญาร่วมสัญชาติ อแล็ง บาดียู (Alain Badiou) ผู้ชี้เตือนให้เห็นภัยคุกคามความรักไว้ใน The Meaning of Sarkozy (2007)  และ In Praise of Love (2009) ซึ่งผลงานทั้งสองเล่มของบาดียูดูจะส่งทอดอิทธิพลความคิดต่อ Agony and Eros หรือ Agonie des Eros (2012) ของฮานอยู่ไม่น้อย 

อแล็ง บาดียู (Alain Badiou) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนสำคัญจากศตวรรษที่ 20 ที่ยังคงมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ฮานเรียกสภาวการณ์ในปัจจุบันที่เราเผชิญอยู่ว่า ‘อเวจีแห่งความเหมือน’ (inferno of the same) อันเป็นโลกที่เราทั้งหลายพยายามเปรียบและเทียบทุกอย่างเข้าด้วยกันกับสิ่งที่มีอยู่ และสิ่งใดที่เราเปรียบไม่ได้ เราก็จะทำเหมือนไม่มีอยู่ หรือพยายามตัดออกไปจากภาษาแห่งความเหมือน (language of the same) ซึ่งความเหมือนที่ชัดเจนที่สุดที่มนุษย์ในปัจจุบันพึงก็มีคือ ‘ความเหมือนตัวเราเอง’ สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกกลมกลืนไม่มีความแตกต่าง 

หากความรัก หรือ eros ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักความต่าง และแยกแยะผู้อื่นออกจากตัวเรา เหมือนดังเช่นที่โสเครติสถูกเรียก ‘อนาลัย’ หรือ atopos บุคคลที่เรารักก็อยู่ในสถานะเดียวกันคือ ‘เป็นผู้ที่ไม่อยู่ ณ ที่ใดเลย’ อย่างการที่เราไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงรักคนคนหนึ่ง (ทั้งที่คนอื่นๆ มองว่าเขาเป็นคนที่แย่และไม่เหมาะสมคู่ควร ฯลฯ) ไม่ว่าจะด้วยคำพูด หรือการให้เหตุผลได้อย่างถ่องแท้ก็ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าความรักได้ดึงเราออกจากโลกที่เราอยู่ไปสู่โลกใบอื่นที่ไม่มีใครมองเห็น นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนที่มีรัก ความรักทำให้เรารักคนที่แตกต่างจากเรา คนที่ไม่เหมือนคนที่เราจะบอกตัวเองให้ชอบหรือรัก

เพียงแต่ในสังคมที่หล่อหลอมให้เรารักตัวเองก่อนผู้อื่น สังคมที่ผลักให้ทุกคนทุ่มเทกับการสนองตอบความต้องการจากแรงขับภายใน หรือ Libido อยู่ตลอดเวลานั้นทำให้เส้นแบ่งระหว่างตัวเราและโลกของคนอื่นเลือนหายไป การรักตัวเอง หรือ self-love จะกำหนดขอบเขตระหว่างตัวเรากับคนอื่นในขณะที่การรักตัวเองอย่างลุ่มหลงจะทำให้ขอบเขตทั้งหมดพร่าเลือนไป โลกที่เราอยู่จึงถูกปกคลุมด้วยภาพเงาที่ทอดออกจากตัวเราเอง สิ่งใดก็ตามจะมีความหมายก็เมื่อผู้ตกหลุมรักตัวเองมองเห็นภาพสะท้อนของเขา/เธอในสิ่งเหล่านั้น

ความรักกับวันโลกาวินาศ

เช่นเดียวกับโลกที่ถูกขับดันด้วยความสำเร็จ ฮานมองว่าการดำรงอยู่ในโลกที่ภาพเงาของตัวเราทาบทับไปบนทุกสิ่งส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยที่เรียกว่า ‘ความหดหู่ซึมเศร้า’ หรือ depression ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ตัวตนของเราถูกอ้างอิงกับทุกสรรพสิ่งอย่างไม่มีวันจบสิ้น 

เขาเห็นว่า eros เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความหดหู่ซึมเศร้า อันเป็นภาพแทนของความเป็นไปไม่ได้ที่จะรัก eros ดึงเอาทุกสิ่งที่อยู่ในตัวเราเองเพื่อส่งทอดไปสู่สิ่งอื่น และทำให้การตระหนักถึงคนอื่นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ eros จึงเป็นเหตุผลแห่งความกล้าและพลัง ไม่ใช่เพื่อผลสำเร็จสำหรับตัวเราเอง แต่เป็นของขวัญที่เรามอบให้ผู้อื่น

หากอธิบายตามกรอบคิดของเพลโต eros คือหลักนำวิญญาณ (soul) ที่ประกอบขึ้นจาก 3 องค์ประกอบสำคัญคือ epithumia (ความพึงใจ) thumos (ความกล้าหาญ) และ logos (ความรู้-เหตุผล) eros จึงไม่ใช่และไม่เคยเป็น epithumia เพียงแต่เป็นสิ่งที่กำหนดและควบคุมทั้ง epithumia และแม้แต่ thumos 

ขณะที่ในโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะในโลกที่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่พยายามขจัดความเป็นการเมืองออกจากเราแต่ละคนนั้น eros ถูกกดทับด้วยเซ็กส์ (sex) และภาพโป๊ (pornography) epithumia ได้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญ (แม้เซ็กส์ในความหมายโดยกว้างจะหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น แต่หากใช้กรอบคิดอธิบายแบบลาก็อง ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าเพศสัมพันธ์ เพราะเซ็กส์คือการอ้างอิงกับตัวเราเอง เราสำเร็จความใคร่กับตัวเราที่อยู่ในอีกคน) 

การปลดปล่อย eros ในแง่หนึ่งจึงเป็นการปลดปล่อยทางการเมือง เหมือนดังที่บาดียูกล่าวไว้ว่า ความรักคือเหตุการณ์สำคัญเป็น ‘ฉากที่สองเราปรากฏ’ (Two-Scence) นี่เป็นเหตุให้กามนิยม (eroticism) ในกรอบคิดของฌอร์จส์ บาตาย (Georges Bataille) หรืออ็องเดร เบรอตง (André Breton) เป็นมากกว่าความกำหนัด เพราะ eros เป็นทั้งพลังขับเคลื่อนและเชื้อไฟสำหรับความเปลี่ยนแปลง หรือพูดในอีกทางแล้วก็คือ การกำเนิดความรักคือการปฏิวัติ 

หมายเหตุ:

บทสนทนา Symposium ของเพลโต (Plato) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านของกวีเอกนามว่า อกาธอน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นนานนับสิบปีแต่ยังติดค้างอยู่ในความสนใจจนทำให้เกิดการสนทนาผ่านปากคำของผู้ที่ฟังมาอีกทอดหนึ่ง (อย่างไรก็ตาม บทสนทนาระหว่างไดโอติมากับโสเครติสนั้นก็เป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่โสเครติสยังเป็นเด็กหนุ่ม)

อ้างอิง:

  • Byung-Chul Han, Agony of Eros, (Massachusetts: MIT Press, 2017)
  • Byung-Chul Han, The Burnout Society, (California, Stanford University Press, 2015)
  • เพลโต, ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก, อัคนี มูลเมฆ แปล (กรุงเทพฯ: 1001 ราตรี, 2256)
Tags: