ในภาษาอังกฤษ รูปลักษณ์ของคำที่เราเห็นอาจไม่ได้สัมพันธ์กับที่มาที่แท้จริงของคำนั้นเสมอไป อย่างคำว่า rosemary แม้จะมีคำว่า rose อยู่ในรูปสะกด แต่แท้จริงแล้ว ไม่เกี่ยวกับดอกกุหลาบแต่อย่างใด หรือเมื่อเห็นคำว่า blackmail เราก็อาจนึกโยงไปว่าต้องเกี่ยวกับจดหมายแน่ๆ เพราะมี mail อยู่ในรูปสะกด ทั้งที่ความจริงแล้ว ต้นกำเนิดของคำไม่ใช่เป็นเรื่องจดหมายไปรษณีย์แม้แต่น้อย

ในทางกลับกัน ที่มาของคำบางคำกลับแฝงอยู่ในตัวคำอย่างแยบยลจนเรามองข้ามไป เช่น one ใน alone หรือ port ใน opportunity 

หลังจากที่เคยนำเสนอคำที่หน้าตาชวนให้เราเข้าใจที่มาของคำผิดมาแล้ว สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาทุกคนไปเจอกับอีก 6 คำ และเดาว่าคำที่เราเห็นมีคำอื่นแฝงตัวอยู่ข้างในหรือไม่

 

Adultery

มี ‘ผู้ใหญ่’ ใน ‘เรื่องชู้สาว’ ไหม?

คำตอบ

ไม่มี แม้ว่าโดยส่วนใหญ่เรื่องชู้สาวจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่คำว่า adultery ไม่ได้มาจาก adult แต่อย่างใด หากสืบสาวกลับไปแล้วจะพบว่า adultery มาจากกริยา adulterare ในภาษาละติน หมายถึง ทำให้มีมลทินแปดเปื้อน ผสมเกลือกกลั้วกับสิ่งอื่น หรือคบชู้ ซึ่งกริยานี้มาจากส่วนเติมหน้า ad- ที่แปลว่า ไปยัง ใกล้ รวมกับ alter ที่แปลว่า ผู้อื่น สิ่งอื่น (ทำนองว่าเมื่อนำของสองสิ่งมาเจอกัน ก็จะเกิดการผสมปนเปื้อน สูญเสียความบริสุทธิ์)

ทั้งนี้ กริยา adulterare ยังเป็นที่มาของคำว่า adulterate ที่แปลว่า ปนเปื้อน ในภาษาอังกฤษที่เราใช้กันในปัจจุบันด้วย เช่น The milk was adulterated with melamine. ก็คือ นมปนเปื้อนเมลามีน

ส่วนคำว่า adult นั้น มาจากคำว่า adultus ในภาษาละติน ซึ่งมาจากกริยา adolescere ในภาษาละตินอีกทอด หมายถึง เติบโต สุกงอม (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า adolescent ที่แปลว่า วัยรุ่น ในภาษาอังกฤษ)

ส่วนคำว่า adolescere ที่พูดถึงไปนี้ หากเจาะลึกลงไปอีกจะพบว่ามาจากส่วนเติมหน้า ad- รวมกับกริยา alere หมายถึง ให้สารอาหาร ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า alimentary ที่แปลว่า เกี่ยวกับสารอาหาร ในภาษาอังกฤษด้วย

 

Potassium

มี ‘หม้อ’ ใน ‘โพแทสเซียม’ ไหม?

คำตอบ

มี คำว่า potassium ที่ใช้เรียกสารที่มีเลขอะตอม 19 นั้น มาจาก potash ที่คนไทยเรียกว่า โพแทช (จริงๆ ในภาษาอังกฤษ สระในพยางค์แรกออกเป็นเสียงเดียวกับคำว่า pot เลย) อันเป็นแร่ที่มีโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบ

เนื่องจากในสมัยก่อน สารนี้ได้จากการนำเถ้าจากพืชหรือไม้ไปแช่น้ำในหม้อ ก่อนที่จะนำไปทำให้บริสุทธิ์ จึงเรียกสารชนิดนี้ว่า pot-ash หรือบางทีก็เขียนติดกันเป็น potash ต่อมาเมื่อนักเคมีชาวอังกฤษนามว่า ฮัมฟรีย์ เดวีย์ (Humphry Davy) พบว่าโพแทชมีธาตุโลหะชนิดใหม่เป็นองค์ประกอบและสามารถสกัดธาตุโลหะนี้ออกมาได้ จึงตั้งชื่อธาตุนี้ว่า potassium

ส่วนที่เราใช้ตัว K เป็นสัญลักษณ์ทางเคมีของโพแทสเซียม ก็เพราะหลังจากที่เดวีย์ค้นพบโพแทสเซียมแล้ว มีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นเสนอให้ใช้ชื่อ kalium ซึ่งเป็นคำภาษาละตินที่ใช้เรียกเถ้าจากพืชหรือไม้ (คำนี้มาจากคำว่า alkali ที่หมายถึง ด่าง ซึ่งมาจาก al-qalyah ในภาษาอาหรับอีกทอด) และต่อมาในภายหลัง สหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (International Union of Pure and Applied Chemistry) ได้กำหนดให้ใช้ตัว K เป็นสัญลักษณ์ของธาตุโลหะนี้

 

มี ‘ห้อง’ ใน ‘เห็ด’ ไหม?

คำตอบ

ไม่มี แม้ว่านักวิชาการจะไม่ทราบแน่ชัด 100 เปอร์เซ็นต์ ว่า mushroom มีที่มาจากไหน แต่ก็พบสืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า mussirio ในภาษาละตินสมัยศตวรรษที่ 6 ซึ่งไม่เกี่ยวกับ room ที่แปลว่า ห้อง แต่อย่างใด

ทั้งนี้ mushroom ในสหรัฐอเมริกายังเรียกย่อๆ ว่า shroom ได้ด้วย ซึ่งใช้เรียกได้ทั้งเห็ดปกติทั่วไป และเห็ดเมาที่หลายคนนิยมกินเพื่อให้เกิดอาการหลอน

ส่วนคำว่า room นั้น พบในภาษาอังกฤษตั้งแต่สมัยภาษาอังกฤษเก่า ใช้หมายถึง ห้อง พื้นที่ ระยะทาง และไม่เกี่ยวกับเห็ดแต่อย่างใด

 

Dandelion

มี ‘สิงโต’ ในต้น ‘แดนดิไลออน’ ไหม?

คำตอบ

มี หากใครเคยเห็นพืชชนิดนี้ ก็จะสังเกตว่า นอกจากจะมีดอกเป็นพุ่มสีขาวที่หลุดปลิวไปตามลมได้แล้ว ใบของพืชชนิดนี้ยังมีเส้นขอบเป็นหยักเหมือนฟันสิงโต ด้วยเหตุนี้ ชาวฝรั่งเศสในสมัยก่อนจึงเรียกพืชนี้ว่า dent de lion หมายถึง ฟันสิงโต (dent นี้แปลว่า ฟัน แบบที่เจอใน dentist ที่แปลว่า ทันตแพทย์) ต่อมาในภายหลัง เมื่อภาษาอังกฤษยืมคำนี้เข้ามา จึงถูกเรียกรวบเสียง เหลือแค่ dandelion แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

 

Relationship

มี ‘เรือ’ ใน ‘ความสัมพันธ์’ ไหม?

ไม่มี เพราะ ship สองตัวนี้เป็นคนละคำกัน ship ใน relationship นั้น เป็นส่วนเติมท้ายที่ใช้สร้างคำนาม โดยปกติใช้เปลี่ยนคำนามที่เป็นรูปธรรมให้เป็นนามธรรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น friend เฉยๆ แปลว่า เพื่อน แต่เมื่อเติม -ship เป็น friendship ก็จะหมายถึง มิตรภาพ หรือ dictator ที่หมายถึง ผู้นำเผด็จการ เมื่อเปลี่ยนเป็น dictatorship ก็จะหมายถึง ระบอบเผด็จการ

ส่วน ship ที่แปลว่า เรือ นั้น เป็นคำในตระกูลเจอร์แมนิก หมายถึง เรือ ไม่ได้นำไปเติมท้ายคำอื่นเพื่อสร้างคำนามที่เป็นนามธรรมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในยุคที่วัฒนธรรมแฟนฟิกและแฟนด้อมรุ่งเรือง ก็มีบรรดาแฟนๆ หลายคนที่ชอบนำดาราที่ตนรู้สึกว่าควรลงเอยกันมาจับเป็นคู่ในจินตนาการหรือคู่จิ้น อันที่จริงแล้ว กระแสนี้มาแรงมากจนกระทั่งต้องมีการสร้างคำใหม่ขึ้นมาใช้ นั่นก็คือ คำว่า shipping (การจิ้น) ซึ่งเกิดจากการนำคำว่า relationship มาหั่นเหลือ ship แต่เพราะคำนี้สะกดและออกเสียงเหมือน ship ที่แปลว่า เรือ แฟนคลับชาวไทยจึงหัวใสนำคำว่า เรือ มาใช้สร้างคำสแลงเรียกความสัมพันธ์คู่จิ้นแบบต่างๆ ด้วย เช่น เรือแล่น เรือล่ม เรือผี

 

History

มี ‘ผู้ชาย’ ใน ‘ประวัติศาสตร์’ ไหม?

ไม่มี คำว่า history ที่เราใช้กันอยู่นี้มาจากคำว่า historia ในภาษากรีก หมายถึง ความรู้จากการตั้งคำถาม เรื่องเล่าหรือบันทึก ประวัติศาสตร์ ดังนั้น จึงไม่ได้เกี่ยวดองกับ his ที่เป็นคำแสดงความเป็นเจ้าของที่ใช้มาตั้งแต่ภาษาอังกฤษเก่าแต่อย่างใด

แต่ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า historia ในภาษากรีกนี้ ยังถูกภาษาฝรั่งเศสยืมผ่านภาษาละตินไปเป็นคำว่า estoire ซึ่งภาษาอังกฤษยืมเข้ามาอีกทอดเป็นคำว่า story ที่แปลว่า เรื่องราว นั่นเอง จึงเรียกได้ว่า history และ story เป็นแฝดคนละฝากัน (ความสัมพันธ์ระหว่างสองความหมายนี้ยังเห็นได้ในภาษาสเปนในปัจจุบัน เพราะคำว่า historia หมายถึงได้ทั้งประวัติศาสตร์และเรื่องราว)

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่าคำว่า history จะไม่เกี่ยวข้องกับ his แต่อย่างใด แต่ก็ดูแล้วคล้าย his story ประกอบกับหลายคนรู้สึกว่าประวัติศาสตร์โลกมีแต่เรื่องของผู้ชายและเล่าผ่านแต่มุมมองของผู้ชายเท่านั้น จึงมีการสร้างคำว่า herstory ขึ้นมาใช้เพื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ที่เล่าผ่านมุมมองของผู้หญิงและมุ่งเน้นไปที่ผู้หญิงเป็นสำคัญด้วย

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

 

Tags: ,