สภาพพพพพพ!

นาทีนี้ ในผืนปฐพีไทยคงไม่มีพระสงฆ์รูปไหนโด่งดังไปกว่า ‘พระมหาสมปอง’ และ ‘พระมหาไพรวัลย์’ แห่งวัดสร้อยทองอีกแล้ว เพราะทั้งสอง พส. (ที่หมายถึงพระสงฆ์ ไม่ใช่พี่สาวหรือเพื่อนสาว) เทศน์แบบเป็นกันเองชนิดที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ อีกทั้งยังใช้อารมณ์ขันและคำศัพท์เก๋ๆ ที่ถูกใจวัยรุ่น จนทำให้ขณะนี้มีผู้ติดตามหลักล้านและดึงดูดผู้คนนับแสนให้เข้ามาฟังเทศน์ผ่านไลฟ์ได้ นับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการพุทธศาสนาในเมืองไทยอย่างแท้จริง

ไหนๆ กระแสผู้มีสมณศักดิ์กำลังมาแรง สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูศัพท์ที่เกี่ยวข้องนักบวชในภาษาอังกฤษบ้าง (นอกเหนือจากตำแหน่งบิชอปและพระสันตะปาปาที่เขียนถึงไปแล้ว) ว่ามีชื่อตำแหน่งอะไรบ้างที่น่าสนใจและแต่ละชื่อมีที่มาจากไหน

Priest นักบวช

เริ่มต้นด้วยคำกลางๆ (ที่สายคอเกม RPG น่าจะคุ้นเคยกันดี) นั่นคือคำว่า priest  ซึ่งเป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกผู้นำทางศาสนาที่มีสิทธิ์ประกอบพิธีต่างๆ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นนักบวชนั่นเอง

คำนี้อยู่ในภาษาอังกฤษมาอย่างน้อย 1,000 ปีแล้ว ว่ากันมาจากคำว่า presbyter ในภาษาละติน หมายถึง ผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ผู้เฒ่า ซึ่งภาษาละตินยืมมาจากคำว่า presbyteros ในภาษากรีกอีกทอด

ทั้งนี้ ในภาษาอังกฤษยังมีคำอื่นๆ ที่เป็นญาติกับ priest ด้วย นั่นคือ Presbyterianism ที่เป็นชื่อนิกายหนึ่งในสายโปรเตสแตนต์  presbyter ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งนักบวช และ presbyopia ซึ่งเป็นศัพท์ทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวตามวัย (มาจาก presby- แปลว่า แก่ และ ops ที่แปลว่า ดวงตา)

Pastor ศิษยาภิบาล ผู้อภิบาล

คำว่า pastor นี้น่าสนใจ เพราะต่างนิกายใช้ต่างความหมายกัน หากเป็นฝ่ายโปรเตสแตนต์จะใช้หมายถึง ฆราวาสที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสมาชิกในคริสตจักรแต่ละแห่ง ไม่ได้เป็นนักบวชและสามารถแต่งงานได้ มีชื่อไทยว่าศิษยาบาล แต่ในนิกายอื่นเช่นโรมันคาทอลิกจะใช้คำนี้เป็นชื่อเรียกนักบวชตำแหน่งหนึ่งที่มีศักดิ์สูงกว่า deacon

คำนี้มาจาก pastor ในภาษาละติน หมายถึง คนเลี้ยงแกะ หรือ ผู้ให้อาหาร มาจากคำว่า pascere ในที่เป็นกริยา หมายถึง ให้อาหาร แทะเล็มหญ้าเป็นอาหาร ส่วนที่คนเลี้ยงแกะมาเกี่ยวข้องกับบทบาททางศาสนาได้ก็เพราะในคริสต์ศาสนามักเปรียบคริสต์ศาสนิกชนเป็นแกะ ดังนั้นศิษยาบาลก็คือผู้ที่ดูแลและนำทางชาวคริสต์นั่นเอง (อันที่จริงแล้ว พระเยซูก็ถูกเปรียบเป็นผู้เลี้ยงแกะในคัมภีร์ไบเบิลด้วย)

คำว่า pastor นี้มีความเกี่ยวดองกับศัพท์อีกหลายคำในภาษาอังกฤษ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือคำว่า pastoral ที่หมายถึง เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปศุสัตว์หรือชีวิตในชนบท (เช่น a pastoral way of life ก็คือวิถีชีวิตคนในชนบท) และคำว่า pasture ที่แปลว่า ทุ่งหญ้าที่ไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ ให้วัวควายได้เดินเล่นแทะเล็ม 

แต่ทั้งนี้ก็ยังมีคำอื่นอีกที่เราอาจคาดไม่ถึงว่าเกี่ยวข้องกับ pastor ด้วย นั่นก็คือคำว่า repast ที่แปลว่า อาหาร มื้ออาหาร (มาจากกริยา repascere ในภาษาละติน หมายถึง กินด้วยความถี่สม่ำเสมอ กินเป็นมื้อตามเวลา ประกอบขึ้นจาก re- ที่หมายถึง อีกครั้ง ซ้ำ รวมกับ pascere ที่แปลว่า แทะเล็ม กิน) และคำว่า pasteurize ซึ่งมาจากนามสกุลของ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ซึ่งหมายถึง pastor ในภาษาฝรั่งเศสนั่นเอง (อ่านเรื่องปาสเตอร์และวัคซีนเพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/rabies-word-odyssey/)

Minister ศาสนาจารย์ 

แม้คำนี้โดยปกติเราจะเจอในความหมาย รัฐมนตรี ในบริบทการเมือง แต่หากเป็นทางคริสต์ศาสนา คำนี้จะใช้เรียกคนที่ถือศีลบรรพชาและมีสิทธิ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น งานแต่งงานหรืองานศพ ในนิกายโปรเตสแตนต์เรียกเป็นภาษาไทยว่า ศาสนาจารย์ ส่วนในนิกายคาทอลิกเรียกว่า ศาสนบริกร

ชื่อตำแหน่งนี้ภาษาอังกฤษรับมาจากคำว่า minister ในภาษาละติน หมายถึง คนรับใช้ เพราะผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ก็คือผู้รับใช้ศาสนจักร (อยากให้บรรดารัฐมนตรีตระหนักบ้างจังเลยว่าชื่อตำแหน่งในภาษาอังกฤษของตนเอง หมายถึง คนรับใช้) มาจากคำว่า minus ในภาษาละตินที่แปลว่า น้อยกว่า (เป็นที่มาของคำว่า minus ที่แปลว่า ลบ ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน) ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของคำว่า minor ที่แปลว่า น้อยกว่า ด้อยกว่า หรือเล็กกว่า (เป็นที่มาของคำว่า minor ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน) 

คำว่า minister นี้มีคำที่เกี่ยวดองอยู่ในภาษาอังกฤษอีกไม่น้อยทีเดียว ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการรับใช้หรืออะไรที่มีขนาดเล็ก เช่น administer (จัดการ บริหาร) minute (นาที: อ่านเพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/time-word-origins/) minuscule (ขนาดเล็ก) 

อีกคำที่เกี่ยวดองกับ minister แบบที่เราอาจคาดไม่ถึงคือคำว่า menu (รายการอาหาร) ซึ่งมีที่มาจากคำว่า menu de repas ในภาษาฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 19 หมายถึง รายการอาหารย่อยๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นมื้ออาหาร (repas ในที่นี้ก็คือ repast ในภาษาอังกฤษที่เป็นญาติกับ pastor นั่นเอง)

หรือแม้แต่ซุป minestrone (มินิสโตรนี: อ่านเพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/word-odyssey-european-menu/) ก็เกี่ยวข้องกับ minister เพราะมาจากคำกริยา minestrare ซึ่งเป็นญาติๆ กัน หมายถึง เสิร์ฟ บริการอาหาร นั่นเอง

Cardinal พระคาร์ดินัล

คำนี้เป็นชื่อตำแหน่งนักบวชที่มีศักดิ์รองจากพระสันตะปาปาในนิกายโรมันคาทอลิก (กลุ่มเดียวกับที่เราเห็นในกรุงวาติกันเวลาที่มีการเลือกตั้งพระสันตะปาปา) ชื่อนี้มาจากคำว่า cardinalis ในภาษาละติน แปลว่า หลัก สำคัญ หรือเกี่ยวกับบานพับ สืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า cardo ในภาษาละติน หมายถึง บานพับ จุดหมุน ส่วนที่บานพับหรือจุดหมุนมาเกี่ยวโยงกับความสำคัญได้นั้น ว่ากันว่ามาจากการเปรียบเปรยว่าบานพับหรือจุดหมุนคือจุดสำคัญที่ทำให้สิ่งอื่นเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนที่ได้ (อย่างบานประตูก็ต้องอาศัยบานพับยึดไว้เพื่อรับน้ำหนักและทำให้หมุนได้เป็นต้น)

เนื่องจากในคริสตจักรมีการนำคำว่า cardinalis ที่เป็นคุณศัพท์ไปใช้ขยายตำแหน่งนักบวชต่างๆ เพื่อใช้เรียกนักบวชสำคัญที่มียศเป็นรองพระสันตปาปา เช่น episcopus cardinalis (คือ cardinal bishop) presbyter cardinalis (คือ cardinal priest) และ diaconus cardinalis (คือ cardinal deacon) จึงทำให้มีการใช้คำว่า cardinalis แบบคำนามเรียกนักบวชกลุ่มนี้ และกลายมาเป็นคำว่า cardinal ที่เป็นคำนาม หมายถึง พระคาร์ดินัล นั่นเอง

แต่ทั้งนี้เราจะพบคำว่า cardinal ใช้เป็นคุณศัพท์เสียมากกว่าในภาษาอังกฤษ เช่น cardinal sins คือ บาปหนัก หรือ cardinal number คือ เลขจำนวนนับ (ต่างจาก ordinal number ที่เป็นเลขอันดับ) 

 

Vicar ผู้แทน

คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกนักบวชที่ดำรงตำแหน่งคล้ายศิษยาบาลในนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) คือเป็นผู้ดูแลสมาชิกในแต่ละเขต ส่วนในนิกายอื่นๆ ชื่อนี้อาจไปปรากฏในตำแหน่งต่างๆ โดยเฉพาะตำแหน่งที่แต่งตั้งให้เป็นตัวแทน เช่น vicar apostolic (บิชอปที่เป็นตัวแทนจากพระสันตะปาปา) หรืออย่างพระสันตะปาปาเองก็มีชื่อตำแหน่งอีกอย่างว่า Vicar of Christ (Vicarius Christi ในภาษาละติน) หมายถึง ผู้แทนของพระเยซูคริสต์

ที่คำว่า vicar มักปรากฏในชื่อตำแหน่งที่เป็นตัวแทนก็เพราะคำนี้มาจาก vicarius ในภาษาละติน หมายถึง ผู้แทน ตัวแทน ซึ่งมาจาก vicis ที่แปลว่า เปลี่ยนแปลง สลับสับเปลี่ยน ตำแหน่ง อีกทอดหนึ่ง

คำว่า vicar นี้มีเครือญาติกว้างขวางอยู่พอสมควรในภาษาอังกฤษ คำที่เห็นได้ชัดมากว่าต้องเป็นญาติแน่ๆ ก็คือคำว่า vicarious ที่เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เป็นตัวแทนหรือผ่านผู้อื่น เช่น หากเราอยากออกไปกินหมูกระทะมาก แต่เรายังไม่กล้าออกจากบ้านเพราะสถานการณ์ไม่สู้ดี เราก็อาจบอกเพื่อนว่า Please send me pics so I can enjoy it vicariously through you. ก็คือส่งรูปมาให้ดูด้วยนะ จะได้สัมผัสความอร่อยแบบมือสอง

ส่วนญาติคำอื่นๆ ก็เช่น vice ที่หมายถึง รอง ตัวแทน แบบที่เราเห็นในชื่อตำแหน่งต่างๆ อย่าง vice-president (รองประธาน) หรือ viceroy (อุปราช) รวมถึง vice ใน vice versa ที่แปลว่า ในทางกลับกัน (vice ในที่นี้แปลว่า ที่ ตำแหน่ง และ versa คือสลับกัน) เช่น I’ve learned a lot from him, and vice versa. ก็คือ เราได้เรียนรู้อะไรมากมายจากเขา ส่วนเขาก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะจากเราเช่นกัน

อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับ vicar เพราะสืบสาวกลับไปได้ถึง vicis เหมือนกันก็คือ vicissitudes เป็นคำศัพท์หรูที่หมายถึง ความเปลี่ยนแปลง ความแปรผัน ความขึ้นๆ ลงๆ เช่น the vicissitudes of life ก็คือ ขาขึ้นขาลงของชีวิต

 

อ้างอิง:

http://www.etymonline.com/

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnett, Martha. Dog Days and Dandelions: A Lively Guide to the Animal Meanings Behind Everyday Words. St. Martin’s Press: New York, 2003.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Crystal, David. Begat: The King James Bible & the English Language. OUP: New York, 2011.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Glazier, Stephen. Random House Word Menu. Random House: New York, 1992.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jenkins, Simon. A Short History of England. Profile Books: London, 2018.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Tags: ,