หากจะพูดถึงเหตุการณ์สำคัญสักเหตุการณ์หนึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คงจะหนีไม่พ้นการเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี ของพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ประมุขแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก เพื่อฉลองครบรอบ 350 ปีการสถาปนามิสซาสยามและครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับพระสันตะปาปาและคริสต์ศาสนาที่มีที่มาที่ไปน่าสนใจกัน

Pope – พระสันตะปาปา

คำนี้มาจากคำว่า papa ในภาษาละติน ซึ่งมาจากคำว่า pappas ในภาษากรีกอีกทอด มีความหมายว่า พ่อ (ซึ่งเป็นคำที่ชาวคริสต์ใช้เรียกนักบวชกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เช่นที่ปัจจุบันเรียกนักบวชว่า Father หรือ คุณพ่อ) คำนี้แต่เดิมเป็นคำที่ใช้เรียกพระบิชอปใดๆ (หรือที่ราชบัณฑิตบัญญัติไว้ว่า มุขนายก) แต่ในภายหลังมีการใช้แคบลง คือใช้เรียกแต่พระบิชอปแห่งคริสตจักรกรุงโรมหรือพระสันตะปาปาเท่านั้น และเป็นเช่นนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่า papa จะเปลี่ยนหน้าตาไปมากจนกลายเป็น pope ไปแล้ว แต่ร่องรอยต้นเค้าของคำนี้ยังเห็นได้ในรูปคำนาม papacy (ตำแหน่งหรือสมณสมัยของพระสันตะปาปา) และคำคุณศัพท์ papal (เกี่ยวข้องกับพระสันตะปาปา)

เนื่องจากพระสันตะปาปาเป็นพระประมุขของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ก็ย่อมต้องเป็นชาวคาทอลิกอยู่แล้ว คงไม่ได้นับถือศาสนาพุทธหรือฮินดู ดังนั้นจึงทำให้เกิดคำพูดยียวนที่ใช้ตอบคำถามแบบที่คนถามก็ควรจะรู้อยู่แล้วว่าคำตอบคือ ใช่ นั่นก็คือ Is the Pope Catholic? แปลตรงตัวได้ว่า แล้วพระสันตะปาปาเป็นชาวคาทอลิกหรือเปล่าล่ะ หรือจะแปลเป็นภาษาปากหน่อยก็คือ มันก็แหงอยู่แล้วป้ะวะ ไม่เห็นต้องถามเลย ตัวอย่างเช่น สมมติเรากับเพื่อนกำลังสั่งพิซซ่าอยู่ และเพื่อนถามเราว่า Do you want extra cheese on your pizza? ทั้งๆ ที่รู้ไส้รู้พุงเราอยู่ว่าเราชอบชีสขนาดไหน แบบนี้แทนที่เราจะตอบไปแค่ว่า Yes, of course! เราก็อาจจะแบบกวนส้นเท้ากลับไปว่า Is the Pope Catholic? ก็คือ ของแบบนี้มันต้องถามด้วยเหรอวะ

นอกจากจะไปโผล่ในสำนวนยียวนแล้ว พระสันตะปาปายังไปโผล่ในคำที่ใช้เรียกส่วนประกอบในร่างกายสัตว์ปีกด้วย นั่นก็คือคำว่า pope’s nose หมายถึง ตูดไก่ (เรียกว่า parson’s nose ก็ได้ หมายถึง จมูกของนักบวช) ส่วนที่มาว่ากันว่าในยุคกลางมีช่างไม้อยู่คนหนึ่งได้รับว่าจ้างให้แกะสลักไม้ตกแต่งในโบสถ์เซนต์แมรี่ในเมืองแนนทวิช ประเทศอังกฤษ แต่นักบวชที่ว่าจ้างดันผัดผ่อนไม่จ่ายค่าแรงเสียที บ้างก็ว่าเบี้ยวค่าจ้างเลย ช่างไม้ก็เลยโมโห แก้เผ็ดด้วยการสลักหน้านักบวชลงตรงตูดไก่ตรงใต้เก้าอี้อิง โดยจงใจทำให้ส่วนจมูกนักบวชเชิดขึ้นเหมือนตูดไก่ด้วย ทำให้มีคนเรียกตูดไก่ว่า parson’s nose จนท้ายที่สุดทำอีท่าไหนไม่รู้ พระสันตะปาปาก็โดนหางเลขไปด้วย ทำให้เกิดเป็นคำว่า pope’s nose นั่นเอง

Bishop – บิชอป หรือ มุขนายก

พระสันตะปาปาถือเป็นพระบิชอปหรือมุขนายกแห่งคริสตจักรกรุงโรม (Bishop of Rome) โดยตำแหน่ง ดังนั้น หากไม่พูดถึงคำนี้เลยก็คงกระไรอยู่

คำว่า bishop นี้มีมาตั้งแต่สมัยภาษาอังกฤษเก่า สมัยนั้นเขียนว่า bisceop แต่หากสืบสาวที่มาที่ไปจริงๆ แล้ว ก็พบว่าคำนี้ยืมมาจากภาษากรีก episkopos ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า epi- หมายถึง เหนือ จากเบื้องบน และ skopos แปลว่า ผู้เฝ้าดู (รากเดียวกับคำทั้งหลายที่มี scope อยู่ในคำ เช่น microscope กล้องจุลทรรศน์ telescope กล้องโทรทัศน์ kaleidoscope กล้องสลับลาย) จึงได้ความหมายรวมว่า ผู้ที่มองจากเบื้องบน ผู้ควบคุม หรือ ผู้ปกครอง นั่นเอง (วิธีประกอบคำที่แปลว่า ผู้ที่มองจากด้านบน และใช้เรียกผู้ปกครองแบบนี้ ขนานกับคำว่า supervisor ที่มาจากภาษาละตินและ overseer ที่เป็นภาษาอังกฤษ)

เดิมทีคำว่า episkopos ใช้เรียกตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้บังคับบัญชาทั้งหลายแหล่ แต่เมื่อคริสต์ศาสนาเริ่มมีบทบาทมากขึ้น คำนี้จึงนำมาใช้ในแวดวงนักบวชด้วย ก่อนที่จะหมดความนิยมในวงการอื่นๆ จนเหลือเฉพาะความหมายพระบิชอปอย่างในปัจจุบัน

ส่วนที่ episkopos มาเป็น bishop ได้ก็เพราะคำต้นฉบับเป็นคำที่ออกเสียงยากและมีมากพยางค์ จึงค่อยๆ ถูกกร่อนลงเรื่อยๆ จาก episkopos มาเหลือ biscopus และเหลือ bishop ในที่สุด (คำนี้น่าจะออกเสียงไม่สะดวกจริง เพราะโดนภาษาอื่นๆ ที่ยืมไปนำไปกร่อนสั้นลงด้วย เช่น ในภาษาสเปนเหลือแค่ obispo เป็นต้น) ส่วนร่างเดิมนั้นจะเห็นก็เฉพาะในคำว่า episcopal ที่เป็นรูปคุณศัพท์ของคำว่า bishop และคำว่า Episcopalian ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกคริสต์ศาสนิกชนนิกายอิปิสโคปัล

ส่วนเขตในปกครองของพระบิชอปเรียกว่า bishopric (คำบัญญัติในภาษาไทยคือ เขตมุขนายก) มาจากคำว่า bishop รวมกับส่วนเติมหลัง -ric ซึ่งมีความหมายว่า อาณาจักรหรือดินแดน (รากเดียวกับคำว่า Reich ในภาษาเยอรมันที่มีความหมายเดียวกัน) ส่วนเติมหลังนี้ครั้งหนึ่งเคยใช้แพร่หลายและปรากฏในภาษาอังกฤษโบราณหลายคำ เช่น heavenric อาณาจักรสรวงสวรรค์ และ kingric ราชอาณาจักร แต่ปัจจุบันหลงเหลือเฉพาะในคำนี้เท่านั้น

นอกจากนั้น ยังมีตำแหน่ง archbishop หรือ อัครมุขนายก ซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่ามุขนายกทั่วไป มาจากการนำส่วนเติมหน้า arch- ที่แปลว่า สูงสุด มาแปะหน้าคำว่า bishop นั่นเอง ส่วนเติมหน้านี้ยังเจอในคำว่า archangel (อัครทูตสวรรค์) archenemy (ศัตรูตัวยง) archnemesis (คู่ปรับตัวยง) อีกด้วย แต่กลับอ่านไม่เหมือนกันในแต่ละคำ ในคำว่า archangel อ่านว่า อาร์คเอนเจิล แต่ในคำที่เหลืออ่านว่า อาร์ช (เช่น อาร์ชบิชอป)

Pontiff – สังฆราช หรือ พระสันตะปาปา

นอกจากจะเป็นมุขนายกแห่งคริสตจักรกรุงโรมแล้ว พระสันตะปาปายังมีตำแหน่งเป็น the Supreme Pontiff (แปลจากภาษาละติน pontifex maximus) หมายถึง พระปอนติฟสูงสุด ด้วย คำนี้มักแปลในภาษาไทยไว้ว่า สังฆราช ไม่ก็เรียกว่า พระสันตะปาปา เลย

คำว่า pontiff นี้ มาจากคำว่า pontifex ในภาษาละติน ประกอบขึ้นจาก pons ที่แปลว่า สะพาน (เช่นในคำว่า transpontine ซึ่งเป็นคำโบราณหมายถึง ข้ามฟากสะพาน แต่เดิมในประเทศอังกฤษใช้หมายถึง ส่วนที่อยู่ทางใต้ของแม่น้ำเทมส์ ซึ่งคือส่วนที่ต้องข้ามสะพานไป) รวมกับส่วนเติมท้าย -fex ที่มาจากกริยา facere ที่แปลว่า ทำ (เป็นญาติกับส่วนลงท้าย -ify ที่พบได้ในกริยาทั้งหลาย เช่น detoxify และ diversify) จึงรวมได้ความหมายว่า ผู้สร้างสะพาน ในที่นี้เชื่อกันว่าเป็นความเปรียบ คือเปรียบเทียบสังฆราชเป็นผู้สร้างสะพานทางจิตวิญญาณเชื่อมให้มนุษย์เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้นั่นเอง

คำว่า pontifex นี้ยังมีญาติที่เป็นกริยาด้วย คือคำว่า pontificate แต่เดิมหมายถึง ทำหน้าที่หรือดำรงตำแหน่งเป็นสังฆราช แต่ด้วยนักบวชเหล่านี้มักเป็นผู้ให้คำเทศนาสั่งสอนศาสนิกชนด้วย หลายคนจึงอาจหมั่นไส้เบาๆ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เคร่งศาสนามาก ดังนั้น คำว่า pontificate จึงถูกนำมาใช้ในความหมายว่า เทศนา สั่งสอน ยกตนว่ารู้ดีกว่าคนอื่นและความคิดของตนเองถูกต้องที่สุด ตัวอย่างเช่น หากผู้บริหารขององค์กรเราไม่เคยลงมาเห็นปัญหาหน้างาน แต่พูดพร่ำว่าต้องแก้ปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้ราวกับตัวเองรู้ดีที่สุด แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า The executives should experience the problem themselves before pontificating on what we have to do. ก็คือ ผู้บริหารควรลงมาเจอหน้างานเองแล้วค่อยมาเทศนาว่าเราต้องทำอะไร

Apostle – อัครทูต

เนื่องจากชาวคาทอลิกถือกันว่าพระสันตะปาปาเป็นผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตร (Saint Peter) ซึ่งเป็นหนึ่งในอัครทูต (apostle) 12 คนของพระเยซู ดังนั้นจึงมีการนำรูปคุณศัพท์ apostolic มาใช้เรียกสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระสันตะปาปาด้วย แม้พระสันตะปาปาจะไม่ใช่อัครทูตก็ตาม เช่น การมาเยือนในครั้งนี้ก็เรียกว่า apostolic visit หรือที่ประทับของพระสันตะปาปาก็เรียกว่า the Apostolic Palace

คำว่า apostle นี้มาจากคำภาษากรีก apostolos ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า apo- แปลว่า ออกไป (เช่นในคำว่า apology และ apostrophe) รวมกับกริยา stellein ที่มีความหมายว่า เตรียมพร้อม หรือ ส่งออกไป ได้ความหมายรวมว่า ผู้ที่ส่งออกไป ซึ่งก็คือ ผู้ส่งสาส์น หรือ ทูต นั่นเอง (คล้ายๆ คำว่า angel ซึ่งมาจากคำว่า angelos ในภาษากรีกที่แปลว่า ผู้ส่งสาส์น หรือ ผู้ประกาศสาส์น)

คำว่า apostle นี้ยังมีญาติอยู่อีกคำหนึ่งในภาษาอังกฤษและเกี่ยวข้องกับการส่งเช่นเดียวกัน นั่นก็คือคำว่า epistle ที่แปลว่า จดหมาย มาจากกริยา stellein ในภาษากรีกที่แปลว่า ส่ง เหมือนกัน แต่ไปรวมกับส่วนเติมหน้า epi- ที่แปลว่า ไปยัง ในที่นี้ แทน ได้ความหมายว่า สิ่งที่ส่งไปยังที่อื่น นั่นก็คือข้อความหรือจดหมายนั่นเอง คำนี้ยังเป็นที่มาของคำว่า epistolary ที่เป็นคำที่ใช้เรียกนิยายที่เล่าผ่านจดหมายหรือบันทึกของตัวละคร เช่น The Color Purple ของ Alice Walker และ The Perks of Being a Wallflower ของ Stephen Chbosky เป็นต้น

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of English down the Ages: Words & Phrases Born out of Historical Events Great & Small. Kyle Cathie: London, 2005.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Fact Box

นอกจากศัพท์ด้านบนแล้ว คำว่า cathedral และ bible ก็มีที่มาน่าสนใจไม่น้อย สามารถอ่านได้ที่นี่ ประเพณีและการก่อกบฏ – ศัพท์ที่เป็นแฝดผู้พลัดพราก และ ศัพท์กระดาษจากต้นไม้

Tags: , ,