เนื่องจากเดือนมิถุนายนเป็น Pride Month หรือเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง​ความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นแทบทั่วทุกหนแห่ง (อย่างน้อยก็ในโลกออนไลน์) ก็คือ สีรุ้ง ซึ่งเป็นสีที่เป็นสัญลักษณ์ของคนกลุ่มนี้

สีรุ้งนี้ว่ากันว่ามีที่มาจากธงสีรุ้ง (rainbow flag) ซึ่งศิลปินชื่อ กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ประดิษฐ์ขึ้นในปีค.ศ. 1978 เพื่อใช้ในขบวนฉลองอิสรภาพของชาวเกย์ในเมืองซานฟรานซิสโก (แม้จะขึ้นชื่อว่าธงสีรุ้ง แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าธงนี้มีแถบสีเพียงหกแถบเท่านั้น)

ในสัปดาห์นี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month คอลัมน์ Word Odyssey จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำว่า rainbow ในภาษาอังกฤษ ทั้งต้นกำเนิดของคำนี้และสำนวนที่เกี่ยวกับสายรุ้ง รวมถึงพาออกทะเลไปดูว่าสายรุ้งเกี่ยวอะไรกับม่านตา น้ำท่วมโลก และไหทองคำ

Rainbow มาจากไหน

คำว่า rainbow นี่แค่เห็นปุ๊บก็ดูออกปั๊บว่าจากการนำคำว่า rain ที่หมายถึง ฝน และ bow ที่หมายถึง ส่วนโค้ง (ซึ่งนำมาใช้เรียกคันธนูและเป็นญาติกับ bow ที่แปลว่า โค้งคำนับ ด้วย) มาประกอบกัน เพราะสายรุ้งก็คือแถบแสงสีที่มีลักษณะโค้งที่มักปรากฏบนท้องฟ้าหลังฝนตก 

เนื่องจากรุ้งกินน้ำเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จึงไม่แปลกเลยที่คำว่า rainbow นี้จะใช้กันมาตั้งแต่สมัยภาษาอังกฤษเก่าและมีอายุเกิน 1,000 ปีแล้ว 

ทั้งนี้ คนแต่ก่อนบางครั้งก็เรียกรุ้งว่า bow เฉยๆ หากบริบทชัดเจนพอว่าหมายถึง สายรุ้ง ส่วนชื่ออื่นๆ ที่เคยมีคนใช้และหมดความนิยมไปในที่สุดก็อย่างเช่น heaven-bow และ rainy bow

สายรุ้งและม่านตา

อีกคำที่เคยใช้เรียกสายรุ้งในภาษาอังกฤษก็คือ iris ซึ่งมาจากชื่อเทพีไอริส (Iris) ซึ่งเป็นเทพีแห่งสายรุ้งและทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาส์นให้แก่เทพโอลิมปัสในเทพปกรณัมกรีก (ในภาษาสเปน สายรุ้งเรียกว่า arcoíris ซึ่งเป็นการนำชื่อเทพี Iris มาผสมกับคำว่า arco ที่หมายถึง ส่วนโค้ง)

แม้ว่าปัจจุบันเราจะไม่ได้ใช้คำว่า iris เรียกสายรุ้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเทพีองค์นี้จะหายวับไปจากภาษาอังกฤษ เพราะคำว่า iris นี้ยังปรากฏอยู่ในคำว่า iridescent ซึ่งแปลว่า มีสีเหลือบ คล้ายๆ กับที่เราเห็นบนผิวฟองสบู่หรือผิวด้านในเปลือกหอย

นอกจากนั้นแล้ว iris ก็ยังเป็นคำที่ใช้เรียก ม่านตา เนื่องจากดวงตาของคนเรา (โดยเฉพาะชาวยุโรป) มีหลากหลายสี เช่น ฟ้า เขียว และสีนี้ก็มาจากส่วนม่านตา ในช่วงศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มนำคำว่า iris มาใช้เรียกส่วนนี้ของดวงตา

ทั้งนี้ iris ยังเป็นชื่อดอกไม้อีกด้วย ที่ได้ชื่อเช่นนี้ว่ากันว่าเป็นเพราะมีหลากหลายสายพันธุ์และสีสันนั่นเอง แม้ว่าในปัจจุบันพอพูดถึงดอกไอริสแล้วก็จะนึกถึงไอริสสีม่วงเป็นหลัก

สายรุ้งแห่งพันธสัญญา

อีกคำหนึ่งที่เริ่มนำมาใช้เรียกสายรุ้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ก็คือ a bow of promise ส่วนที่สายรุ้งมาโยงกับคำสัญญาได้ก็เพราะในบทปฐมกาลของคัมภีร์ไบเบิ้ลเขียนไว้ว่า พระเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกกระหน่ำ 40 วัน 40 คืน จนน้ำท่วมโลกเพื่อขจัดมนุษย์โลกที่ประพฤติตนเสื่อมทราม มีเพียงแต่ครอบครัวของโนอาห์ (Noah) เท่านั้นที่พระเจ้าได้สั่งให้ต่อเรือเพื่อให้รอดพ้นจากน้ำท่วมในครั้งนี้ เมื่อน้ำลดและโนอาห์ได้ก้าวเหยียบแผ่นดินแห้งอีกครั้ง พระเจ้าก็สัญญาว่าจะไม่ส่งน้ำลงมาท่วมโลกอีกและบันดาลให้เกิดรุ้งบนท้องฟ้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพันธสัญญานี้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันแทบจะไม่พบคำนี้ ถ้าพบก็จะเป็นในบริบททางศาสนาเสียส่วนใหญ่

คุณรอย จี บิฟ

ในขณะที่คนไทยท่องสีของรุ้งกินน้ำแบบทื่อๆ ว่า ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง แต่ชาวอเมริกันใช้วิธีคิดสูตรท่องจำขึ้นมาใช้ (เรียกว่า mnemonic device คล้ายๆ กับสูตรอักษรกลาง ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง ในภาษาไทย) โดยนำตัวอักษรแรกของสีในสายรุ้งมาเรียงเป็นชื่อคน Roy. G. Biv ย่อมาจาก Red, Orange, Yellow, Green, Blue, Indigo และ Violet (กลับด้านกันกับของไทย)

ส่วนในอังกฤษ คนมักจะจำเป็นประโยคว่า Richard Of York Gave Battle In Vain ซึ่งอ้างอิงเหตุการณ์ที่กษัตริย์ริชาร์ดที่ 3 รบแพ้และเสียชีวิตกลางสนามรบในช่วงปลายศตวรรษที่ 15

ไหทองคำที่ปลายรุ้ง?

ในภาษาอังกฤษมีสำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสายรุ้ง นั่นก็คือ a pot of gold at the end of the rainbow ใช้หมายถึง เงิน รางวัล หรือความสำเร็จที่จุดหมายปลายทาง ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่แทบไม่มีทางไขว่คว้ามาได้ในความเป็นจริง เช่น Those who go into showbiz thinking they’ll find a pot of gold at the end of the rainbow and become set for life at a young age will be disappointed very quickly. ก็คือ ใครก็ตามที่เข้าวงการบันเทิงเพราะคิดว่าจะประสบความสำเร็จและมีเงินใช้ตลอดชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะต้องผิดหวังในชั่วพริบตา

สำนวนนี้มีที่มาจากตำนานของชาวไอริชที่เล่าว่าตัวเลเปรอคอน (leprechaun) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติรูปร่างคล้ายคนแคระ (ปัจจุบันมักวาดภาพเป็นคนแคระ มีผมและเคราสีแดง ใส่ชุดและหมวกสีเขียว) ได้ซ่อนไหที่บรรจุเหรียญทองไว้ที่ปลายรุ้ง เนื่องจากว่าคนเราไม่มีทางหางจุดสิ้นสุดของปลายรุ้งเจอ สำนวนนี้จึงมักใช้ในกรณีที่สิ่งที่ตามหาอยู่นั้นไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องฝันเฟื่อง หรือแทบไม่มีทางไขว่คว้ามาได้

อีกสำนวนหนึ่งที่มาจากความเชื่อนี้เช่นกันก็คือ chasing rainbows หมายถึง พยายามไขว่คว้าสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงหรือเป้าหมายที่ไม่น่าจะทำให้เป็นจริงได้ เรียกอย่างไทยๆ ว่า ฝันลมๆ แล้งๆ เช่น We’re not just chasing rainbows; we will one day create a true democracy in Thailand. ก็คือ เราไม่ได้แค่ฝันเฟื่อง วันหนึ่งเราจะทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริงให้สำเร็จ

แสงแดด สายรุ้ง และยูนิคอร์น

เนื่องจากรุ้งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ อีกทั้งเมื่อโผล่มาให้เห็นทีก็อยู่เพียงแว่บเดียว เวลาที่เราได้เห็นสักทีหนึ่งจึงอาจรู้สึกมีความสุขหรือตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ รุ้งจึงไปปรากฏในสำนวนที่เกี่ยวข้องกับภาวะมีความสุขไร้กังวล ยังมีความใสซื่อไร้เดียงสาเหมือนเด็กๆ เช่น sunshine and rainbows และ rainbows and unicorns แต่อาจจะตลกร้ายอยู่หน่อยตรงที่ปกติแล้วทั้งสองสำนวนนี้จะชอบปรากฏในประโยคปฏิเสธ เช่น Life isn’t all sunshine and rainbows. ก็คือ ชีวิตไม่ใช่ทุ่งลาเวนเดอร์นะจ๊ะ ไม่ได้มีแต่ความสุขสดใส หรือ My childhood was all rainbows and unicorns until my parents lost their jobs. ก็คือ ตอนเด็กๆ ชีวิตก็สวยงามมีความสุขดีจนกระทั่งพ่อแม่ตกงาน 

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

Hard, Robin. The Routledge Handbook of Greek Mythology. Routledge: New York, 2004

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

March, Jenny. Dictionary of Classical Mythology. Oxbow Book: PA, 2014.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Merriam-Webster Dictionary

Morford, Mark, et al. Classical Mythology. 11ed. OUP: New York, 2019

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

Tags: , , ,