สีสันของเดือนมิถุนายนในทุกๆ ปี เราจะได้เห็นธงสีรุ้งพลิ้วไสวไปตามแรงลม พร้อมเสียงกระหึ่มของดนตรีและเสียงเชียร์อันกึกก้องของผู้คนอันหลากหลาย ขบวน LGBT จะอุ่นหนาฝาคั่งและลดลามภายใต้ท้องฟ้าสีคราม

แต่การเริ่มต้นของ LGBT Pride นั้นมาจากเหตุการณ์อันน่าเศร้า ในช่วงที่เพศทางเลือกยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้โดยทั่วไป การแสดงออกในพื้นที่สาธารณะในเพศสภาพของตนเองจึงเป็นอะไรที่อาจนำอันตรายมาสู่ตัวได้ แล้วในเช้ามืดวันที่ 28 มิถุนายน 1969 การจลาจลสโตนวอลล์ก็ก่อตัว เมื่อตำรวจมาตรวจบาร์ตามปกติ ซึ่งบ่อยครั้งมีการข่มเหงเพศทางเลือก แต่ในครั้งนี้พวกเขาไม่ยอมอีกต่อไป พวกเขาเริ่มปกป้องตัวเอง รวมถึงคนอื่นๆ จากนั้นการจลาจลจึงปะทุขึ้นจนขยายวงกว้าง แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะไม่บานปลายมากนัก แต่นี่นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชาว LGBT ยืดหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพทางเพศ ต่อมาในปี 1970 ชาว LGBT จึงมีการเดินขบวนเพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง รวมถึงเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์ด้วย แล้วเดือนมิถุนายนของทุกๆ ปีจึงกลายเป็น Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBT

ดังนั้น ในเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศนี้ เรามาเฉลิมฉลองด้วยการชมภาพยนตร์จากหลากสัญชาติที่จับประเด็นนี้มานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ทั้งการอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง และเหตุการณ์สมมติที่สร้างขึ้น อย่างไรก็ขอให้มีความสุขกับการชมภาพยนตร์ และมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์อย่างที่เราหวังจะได้ความรักเช่นนั้นกลับคืนมา

A Single Man (2009)

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน ผลงานการเขียนของคริสโตเฟอร์ อิสเฮอร์วูด และยังเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของทอม ฟอร์ด ดีไซเนอร์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก ซ้ำยังส่งผลให้โคลิน เฟิร์ธ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ด้วย

ในนวนิยาย ตัวละครหลักอย่างจอร์จจะเป็นที่รู้จักกันในชื่อแรกของเขาเท่านั้น ส่วนในบทภาพยนตร์เขามีชื่อเต็มว่า จอร์จ คาร์ไลล์ ฟอลคอนเนอร์ โดยคาร์ไลล์เป็นชื่อกลางของทอม ฟอร์ด และฟอลคอนเนอร์ เป็นนามสกุลของคนรักคนแรกของเขา

เหตุการณ์เริ่มต้นและจบลงในเวลาเพียงหนึ่งวัน วันนั้นเป็นเวลา 1 เดือนหลังจากวิกฤตขีปนาวุธในคิวบา วันที่ 30 พฤศจิกายน 1962 ณ ลอสแองเจลิส จอร์จ ฟอลคอนเนอร์ ศาสตราจารย์สอนภาษาอังกฤษวัยกลางคนกำลังตกอยู่ในฝันร้าย เขาฝันถึงอุบัติเหตุรถยนต์ และชายที่หมดลมหายใจนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นจิม คนรักของเขาที่เสียชีวิตไปเมื่อ 8 เดือนก่อนหน้านี้ จอร์จก้มลงจูบคนรักที่ตายไปแล้วและลืมตาตื่น

จอร์จยังคงติดอยู่กับความเศร้าที่สูญเสียจิมไป เขาเจ็บปวดและหดหู่เกินกว่าจะผ่านชีวิตไปได้ในแต่ละวัน วันนั้นเอง เขาจึงตัดสินใจที่จะหลับไปตลอดกาล ความทรมานต่างๆ จะยุติลง ความร้าวรานจะไม่สามารถมาทำอะไรเขาได้อีกต่อไป ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จอร์จพยายามที่จะบรรเทาความบอบช้ำ และโชคดีที่เขามีเพื่อนสาวคนสนิทคอยเป็นที่พึ่งทางใจ แต่ในตอนนี้เขาเหนื่อยเกินกว่าจะต่อสู้กับทุกสิ่งแล้ว เมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าเขาอาจจะได้พบจิมในที่ใดที่หนึ่ง ในที่ๆ พวกเขาจะอยู่ด้วยกันจนนิรันดร์

Tomboy (2011)

าพยนตร์ฝรั่งเศสที่สร้างความฮือฮาให้กับเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีในปีที่เข้าฉาย ตัวบทถูกเขียนขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2010 และเริ่มถ่ายทำในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน โดยใช้เวลาถ่ายทำเพียง 20 วันเท่านั้น

ผู้กำกับต้องคัดเลือกเด็กหญิงที่ตรงตามลักษณ์ที่ต้องการจากเด็กกว่า 1,000 คน จนไปพบกับโซอี้ เฮิร์น เธอมีบุคลิกคล้ายเด็กผู้ชายอย่างเป็นธรรมชาติ และมีเค้าหน้าที่ขึ้นกล้องตามที่ผู้กำกับต้องการ

ลอร่า เด็กหญิงอายุ 10 ขวบที่ครอบครัวของเธอเพิ่งย้ายมาอยู่ปารีส นั่นทำให้เธอไม่ค่อยคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมแห่งใหม่นี้เท่าไรนัก แต่ถึงอย่างนั้นลอร่าก็พยายามปรับตัวและมองหาเพื่อนที่จะเข้ากับเธอได้ คนแรกที่เธอพบได้แก่ลิซ่า เด็กหญิงในละแวกบ้านที่เข้าใจว่าลอร่าเป็นเด็กผู้ชาย เพราะเธอตัดผมสั้น มิหนำซ้ำลอร่าเองก็ไม่ปฎิเสธ รวมถึงยังบอกว่าตัวเองชื่อมิคาเอลด้วย ลิซ่าพาลอร่าไปพบกับเพื่อนคนอื่นๆ และแนะนำว่า ‘เขา’ เป็นเด็กที่เพิ่งย้ายมาใหม่ ลอร่าสวมบทว่าตัวเองเป็นเด็กผู้ชายอย่างกลมกลืน ไมว่าจะเป็นการเล่นฟุตบอล หรือเมื่อไปว่ายน้ำก็ใส่กางเกงว่ายน้ำแบบผู้ชาย ที่มากไปกว่านั้นลอร่ายังพยายามปั้นดินน้ำมันเล็กๆ ใส่ไว้ในกางเกงอีกด้วย

ครอบครัวของลอร่าไม่ได้ติดใจที่ลูกสาวตัดผมสั้น หรือการแสดงออกที่ไม่ได้ดูเป็นเด็กหญิงมากนัก เพราะพวกเขาก็ให้อิสระเธอประมาณหนึ่ง แต่ก็ไม่เคยรู้เลยว่าลอร่าโกหกคนอื่นๆ ว่าเธอชื่อมิคาเอล จนเธอมีเรื่องชกต่อยกับเด็กผู้ชาย ผู้ปกครองของเด็กคนนั้นมาต่อว่าลอร่าถึงที่บ้าน และนั่นเองเป็นจุดที่ทำให้แม่ของลอร่ารู้ว่าลูกสาวก่อเรื่องอะไรไว้บ้าง สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือความสัมพันธ์ของลอร่ากับเด็กคนอื่นๆ ว่าพวกเขาจะมองเธออย่างไร เขาจะเห็นว่าเธอแปลกแยกหรือยอมรับ ในฐานะลอร่าหรือมิคาเอล

Tomboy พูดถึงช่วงวัยของการค้นหาตัวเอง การตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศสภาพ และการต้องการเป็นที่ยอมรับ สิ่งที่ลอร่าเป็นไม่ใช่สิ่งผิด เพียงแต่การปิดบังตนเองนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก และมันก็ยังเป็นการทำร้ายคนอื่นที่ไม่รู้ด้วย คำโกหกอาจเป็นทั้งการสร้างบาดแผลให้กับตัวเองและผู้อื่น ถ้าเลือกได้ก็จงพูดความจริงต่อกันน่าจะดีกว่า

The Normal Heart (2014)

ภาพยนตร์โทรทัศน์จากช่อง HBO เล่าเรื่องราวในยุค 80 ที่เชื้อ HIV กำลังระบาดหนักในนิวยอร์ก โดยเรื่องราวบอกเล่าผ่านสายตาของนักเขียน/นักกิจกรรม ที่แสดงโดยมาร์ค รัฟฟาโล โดยในเรื่องนี้มาร์คต้องสวมบทเป็นคู่รักกับแมท โบเมอร์ นักแสดงหนุ่มที่ลดน้ำหนักลงไปถึงสี่สิบปอนด์เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการป่วย ผลที่ตามมาคือแมทอ่อนแอลงเป็นอย่างมากในช่วงนั้น เขาไม่สามารถลุกออกจากเตียงได้โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ เมื่อถ่ายทำเสร็จแมทจึงต้องกลับมาฟื้นฟูร่างกาย เพื่อให้ตัวเองกลับมาแข็งแรงดังเดิม

เรื่องราวเริ่มต้นในฤดูร้อนในปี 1981 เน็ด วีค เดินทางไปยังเกาะแห่งหนึ่งเพื่อฉลองวันเกิดให้กับเพื่อน แต่ในขณะที่งานเลี้ยงกำลังรื่นเริง เพื่อนของเขาก็เริ่มมีอาการเวียนหัวและไอออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่เน็ดเองก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร หลังกลับมาถึงนิวยอร์ก เน็ดไปสำนักงานของ ดร.เอ็มมา แพทย์หญิงที่พบกับผู้ป่วยจำนวนมาก และรับรู้ถึงอันตรายที่กำลังก่อตัวขึ้น เธอตั้งข้อสังเกตว่าโรคเหล่านี้กำลังระบาดในหมู่ของชายรักชาย และขอให้เน็ดตระหนักถึงความสำคัญของมัน

เน็ดเป็นคนโผงผาง พูดจาตรงไปตรงมา และเมื่อเขารู้ว่าตัวเองสามารถทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง เขาจึงเรียกร้องมาอย่างสุดตัว เพราะสังคมกำลังเพิกเฉยต่อโรคและต่อคนอย่างพวกเขา คนในสังคมบางส่วนมองว่าพวกเขาคือพาหะนำโรค คือเชื้อร้ายของสังคม คือกลุ่มที่ไม่ควรให้ค่า พวกเขาจำเป็นต้องต่อสู้ทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ แต่สำหรับบางคนความตายก็หายใจรดต้นคออยู่จนไร้ซึ่งความหวัง … แต่ความตายก็อาจเป็นความเท่าเทียมเพียงสิ่งเดียวที่พวกเขามี ความตายที่ทำให้ไม่ว่าใครหน้าไหนก็มีค่าเท่ากัน

ในตอนนั้น HIV ยังเป็นโรคที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร จะบรรเทาความเจ็บป่วยได้แบบไหน และโรคนี้มันมีที่มาอย่างไร เรารู้แค่ว่าถ้าเป็นแล้วก็เท่ากับการรอความตายเท่านั้น มันยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อคนที่มีอำนาจทำเพียงมองดูความตายตรงหน้า โดยไม่เข้ามาช่วยเหลือหรือรับมือใดๆ ความสูญเสียนั้นมันมากกว่าแค่ชีวิตหนึ่งชีวิต แต่มันหมายถึงทุกๆ ชีวิตที่เกี่ยวข้องกัน

Saint Laurent (2014)

ภาพยนตร์ชีวประวัติผลงานการกำกับของ เบอร์ตรอง โบเนลโล ที่เล่าเรื่องของดีไซเนอร์ชื่อดัง อีฟ แซงต์ โลรองต์ ผู้เป็นต้นกำเนิดแบรนด์ที่เราคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี

อีฟ แซงต์ โลรองต์ มีชื่อเต็มๆ ว่าอีฟส์ อ็องเร โดนาต์ ดาฟ มาติเออร์ เเซงต์ โลรองต์ เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างดี แต่วัยเด็กของเขาไม่ได้งดงามเท่าไร เพราะเขามักถูกกลั่นแกล้งและล้อเลียนเสมอๆ ว่าเป็นเพศที่สาม

ภาพยนตร์หยิบเอาประวัติในช่วงที่อีฟ แซงต์ โลรองต์ อยู่ในจุดสูงสุดมาถ่ายทอด พรสวรรค์ของเขาถูกค้นพบตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยรุ่น เขาเริ่มทำงานให้กับห้องเสื้อดิออร์เมื่ออายุ 20 ปี และในที่สุดเขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการแฟชั่น อีฟ แซงต์ โลรองต์ สร้างแบรนด์ของตัวเองในวัย 25 ปี เขาปรารถนาจะทำสิ่งที่เขารัก ซึ่งแน่นอนว่ามันมาพร้อมความกดดันอันมหาศาลที่เขาจะต้องฝ่าฟันมันไป มันมีทั้งช่วงที่เขารุ่งโรจน์ในหน้าที่การงาน พบเจอกับความเครียดที่ต้องแบกรับ การแตกหักจากความสัมพันธ์ และความอ่อนไหวในจิตใจที่ไม่มั่นคง อีฟ แซงต์ โลรองต์ มีมุมที่แข็งแกร่งและมีมุมที่อ่อนแอ บางครั้งเขาไขว้เขวให้กับอบายมุข บางครั้งเขาเสียสละเพื่อคนอื่น บางครั้งเขาต้องยืดหยัดเพื่อตัวเอง ความสำเร็จไม่สามารถสร้างได้เพียงข้ามคืน แต่เมื่อลงมือสร้างแล้ว สักวันมันก็ต้องสำเร็จ อีฟ แซงต์ โลรองต์ จึงถูกจดจำในฐานะราชาแห่งวงการแฟชั่น

อีฟ แซงต์ โลรองต์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่น และยังเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่จ้างนางแบบผิวสีมาเดินแฟชั่นโชว์ในงานของตัวเอง เสื้อผ้าของเขาจุดประกายให้กับผู้หญิง และชีวิตของเขาก็ยังจุดประกายให้กับหลายๆ คนด้วย

Tangerine (2015)

Tangerine ชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้มีที่มาจากชื่อที่ใช้เรียกสีท้องฟ้ายามพระอาทิตย์ตกดินของลอสแองเจลิส มันเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วย iPhone 5S สามเครื่องตลอดทั้งเรื่อง และออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ซินดี สาวประเภทสองที่เพิ่งพ้นโทษจำคุกมาหมาดๆ เธอกลับออกมาสู่อิสรภาพอีกครั้งในวันคริสต์มาสอีฟพอดี ซินดีมุ่งหน้าไปพบเพื่อนสาวที่ทำงานขายบริการทางเพศนาม อเล็กซานดรา มันควรจะเป็นวันที่ดีที่ทุกคนจะมีความสุขไปกับเทศกาลเฉลิมฉลอง ถ้าอเล็กซานดราไม่เผลอหลุดปากบอกกับซินดีเรื่องชู้รักของแฟนเธอ แถมยังเป็นผู้หญิงอีกต่างหาก!

เรื่องราวต่อจากนั้นของจึงเป็นการตามล่าไดอาน่า แม่สาวชู้รัก พวกเธอบุกไปยังรังโสเภณีเพื่อควานหาตัวไดอาน่า ลากเธอออกมาตะลอนไปทั่วเมืองเพื่อสั่งสอน แต่ไดอาน่าก็งัดฝีปากโต้กลับอย่างเจ็บแสบพอกัน เพราะซินดีดูไม่ฉลาดเอาเสียเลยที่เชื่อว่าเชสเตอร์มีเธอแค่คนเดียว

นอกจากภาพยนตร์จะโดดเด่นในแง่การถ่ายทำแล้ว เนื้อหาของเรื่องก็ออกมาจัดจ้านไม่แพ้กัน ประเด็นเกี่ยวกับเซ็กส์ โสเภณี และยาเสพติด ไม่ได้ออกมาในรูปแบบของความรุนแรง เพียงแต่มันเป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่แล้วในสังคม เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข บางก็เข้าไปมีส่วนร่วม แต่บางก็ไม่ เพราะทุกคนต่างกระเสือกกระสนเพื่อจะมีชีวิตรอด อะไรที่ทำได้พวกเขาก็ทำ แม้จะเคยมีความฝันสวยงามแค่ไหน ถ้าชีวิตไม่เอื้ออำนวยเราก็ต้องปล่อยมันไป