หนึ่งในประเด็นร้อนขณะนี้ก็คือกระแส ‘พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน’ (หรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า พระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. …) ซึ่งผุดขึ้นมาจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

ประเด็นที่สร้างความกังวลไปจนถึงเดือดดาลให้แก่หลายๆ คนคือ ข้อความในเอกสารนำเสนอที่ระบุว่าผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่ได้มีแต่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึง ‘บุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน’ ซึ่งหลายคนมองว่าจะช่วยให้บรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านนโยบายวัคซีนและการบริหารโควิดรอดพ้นจากความผิดในหลายกรณี จนทำให้มีคนออกมาตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก.นี้คือ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมดีๆ นี่เอง

ในสัปดาห์นี้ คอลัมน์ Word Odyssey จะพาไปดูศัพท์ที่เกี่ยวการนิรโทษกรรมในภาษาอังกฤษ พร้อมเจาะลึกที่มาที่ไปและเชื่อมโยงไปสู่คำศัพท์ที่เป็นเครือวงศาคณาญาติของศัพท์เหล่านี้

 

Amnesty นิรโทษกรรม

คำหลักในภาษาอังกฤษที่ใช้พูดถึงการนิรโทษกรรมคือ amnesty ซึ่งสืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า amnestia ในภาษากรีก มีความหมายดั้งเดิมว่า การหลงลืม การลืมเลือน ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า a- ที่แปลว่า ไม่ แบบที่เจอในคำว่า amoral (ไม่ใส่ใจศีลธรรม) achromatic (ไม่มีสี) atheist (ผู้ที่ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง) รวมเข้ากับคำว่า mnestos แปลว่า จำได้ (มีวิธีการสร้างคำคล้ายๆ กับ amnesia ที่แปลว่า ภาวะเสียความทรงจำ ซึ่งมาจาก a- ที่แปลว่า ไม่ รวมกับ mnesi ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของกริยาในภาษากรีกที่แปลว่า จำได้ และเป็นญาติกับ mnestos นั่นเอง)

เนื่องจากการนิรโทษกรรมในนัยหนึ่งก็คือการล้างความผิดจากสิ่งที่กระทำไปแล้ว เหมือนให้ลืมๆ ไปเสียว่าเคยทำผิด ความหมายว่านิรโทษกรรมจึงถูกพ่วงเข้าไปกับคำนี้ด้วย แต่กว่าคำนี้จะเดินทางผ่านภาษาละตินและฝรั่งเศสมาสู่ภาษาอังกฤษ ความหมายที่แปลว่า การลืมเลือน ก็ได้กลายไปเป็นความหมายรอง ทำให้คำนี้ถูกใช้ในความหมายว่านิรโทษกรรมเป็นความหมายหลักในภาษาอังกฤษมาจนถึงปัจจุบัน (ที่มาของคำนี้ก็ชวนให้คิดเหมือนกันว่าหากมีการบริหารวัคซีนและโควิดผิดพลาด เราควรแค่ ‘ลืมๆ’ ไปเสียหรือเปล่า)

ทั้งนี้ คำว่า mnestos ในภาษากรีกที่พูดถึงไปด้านบนนี้ยังมีญาติที่น่าสนใจอีกหลายคำ เช่น mnemonics ซึ่งหมายถึง สูตรช่วยจำ เช่น ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง ในภาษาไทย หรือ Roy.G.Biv ในภาษาอังกฤษ และคำว่า anamnesis ซึ่งหมายถึง ประวัติผู้ป่วย (มาจาก ana- แปลว่า ย้อนกลับ หรือ อีกครั้ง รวมกับกริยาที่เป็นญาติกับคำว่า mnestos แปลว่า จำได้ เกิดเป็นความหมายรวมว่า การระลึก การจดจำได้อีกครั้ง) 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงชื่อเทพี Mnemosyne ในเทพปกรณัมกรีก ผู้เป็นเทพีที่เป็นบุคลาธิษฐานของความทรงจำและเป็นแม่ของเทพีแห่งศิลปวิทยาการทั้ง 9 องค์ที่เรารู้จักกันในนาม Muses ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า museum และ music ในภาษาอังกฤษด้วย

Impunity สภาพปลอดโทษ

อีกคำหนึ่งที่ใช้พูดถึงการไม่ต้องรับโทษก็คือคำว่า impunity เช่น The culture of impunity in Thailand has allowed corruption to thrive. หมายถึง วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทยทำให้คอร์รัปชันเจริญงอกงาม

คำนี้ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า im- ที่แปลว่า ไม่ แบบที่พบในคำว่า impossible (เป็นไปไม่ได้) หรือ immaculate (ไร้รอยด่างพร้อย) รวมกับ punis ในภาษาละติน ซึ่งมาจากกริยา punire แปลว่า ลงโทษ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า punish ในภาษาอังกฤษในปัจจุบัน รวมได้ความหมายว่า ไม่ต้องถูกลงโทษ ปลอดโทษ

ทั้งนี้ กริยา punire ในภาษาละตินนี้สาวกลับไปได้ถึงคำว่า poena ที่แปลว่า โทษ การลงโทษ ซึ่งภาษาละตินยืมมาจากคำว่า poine ในภาษากรีกโบราณอีกทอด ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการลงโทษแล้ว ยังใช้ในความหมายว่า เงินชดเชยที่ฆาตกรจ่ายให้กับครอบครัวของเหยื่อที่ตนฆ่า หรือการไถ่ ทั้งยังเป็นชื่อที่ใช้เรียกวิญญาณที่เป็นบุคลาธิษฐานของการลงทัณฑ์อีกด้วย

คำว่า poena ในภาษาละตินนี้เป็นที่มาของคำจำนวนไม่น้อยในภาษาอังกฤษ ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ subpoena ที่หมายถึง หมายศาล ส่วนที่ดูออกได้จากหน่วยก็เช่น penal (เกี่ยวข้องกับการลงโทษ) penalty (โทษ) และ penalize (ทำโทษ) ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับการลงโทษทั้งนั้น แต่คำที่เราอาจจะดูไม่ออกเลยว่ามาจาก poena และเป็นญาติกับ impunity ก็คือคำว่า pain ซึ่งภาษาอังกฤษได้รับผ่านมาทางภาษาฝรั่งเศส ซึ่งนอกจากจะแปลว่าความเจ็บปวดได้แล้ว ในสมัยแรกใช้หมายถึง การลงโทษ การปรับเงิน หรือการลงทัณฑ์ในนรกได้ด้วย แต่ในเวลาต่อมา ความหมายเหล่านี้ก็ค่อยๆ พบได้น้อยลง จนความหมายที่แปลว่า ความเจ็บปวด กลายมาเป็นความหมายหลักนั่นเอง

Scot-free ปราศจากการลงโทษ

คำนี้ก็เป็นอีกคำที่ใช้หมายถึงไม่ต้องรับโทษ เช่น If the Emergency Decree is passed, many people in power who are responsible for the clusterfuck we’re in right now can go scot-free. คือ หาก พ.ร.ก. นี้ผ่าน ผู้มีอำนาจที่เป็นสาเหตุของความฉิบหายวายป่วงทุกวันนี้จำนวนมากจะไม่ต้องรับโทษ

แม้ว่าคำนี้อาจชวนให้หลายคนคิดถึงประเทศสกอตแลนด์ แต่อันที่จริงแล้ว scot ในที่นี้เป็นคำที่ใช้เรียกเงินภาษีชนิดหนึ่งในอดีต ดังนั้น แรกเริ่มเดิมที คำว่า scot-free จึงหมายถึง ไม่ต้องจ่ายภาษี เนื่องจากการจ่ายภาษีอาจเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับใครหลายๆ คน (โดยเฉพาะผู้ที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล) จนทำให้รู้สึกเหมือนเป็นการลงโทษ ในเวลาต่อมา สำนวน scot-free จึงถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยว่า หมายถึง รอดพ้นจากการลงโทษ ซึ่งกลายมาเป็นความหมายหลักในปัจจุบัน

Pardon อภัยโทษ

ในกรณีที่เป็นการลดโทษหรือปล่อยตัวโดยอาศัยอำนาจของประมุข แต่ไม่ได้ลบล้างความผิดในอดีต คำที่เราจะใช้คือคำว่า pardon หรืออภัยโทษ นั่นเอง ในประเทศที่มีกษัตริย์ก็จะเรียกว่า royal pardon ส่วนในประเทศที่ประมุขคือประธานาธิบดีก็จะเรียกว่า presidential pardon

คำนี้มาจากกริยา perdonare ในภาษาละติน หมายถึง ยกโทษให้ ประกอบจากส่วนเติมหน้า per- ที่แปลว่า ถ้วนทั่ว โดยสมบูรณ์ แบบที่เจอใน perfect (สมบูรณ์แบบ) หรือ perspective (มุมมอง) รวมกับกริยา donare ที่แปลว่า ให้ ซึ่งเป็นที่มาของคำในภาษาอังกฤษอย่าง donate (บริจาค) และ condone (มองข้ามความผิด)

อันที่จริงแล้ว คำว่า perdonare นี้เรียกได้ว่าเป็นคู่แฝดกับคำว่า forgive ในภาษาอังกฤษด้วย เพราะคำนี้ก็ประกอบจากคำที่แปลว่า ถ้วนทั่ว (for-) รวมกับคำที่แปลว่าให้ (give) เช่นกัน

ที่น่าสนใจก็คือ ในตอนเริ่มแรก คำนี้เป็นคำที่ใช้ในทางศาสนา หมายถึง การล้างบาป ใบไถ่บาป หรือการให้อภัยจากพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นจึงเริ่มปรากฏความหมายที่เกี่ยวกับการอภัยโทษในทางกฎหมายแบบที่เราใช้กันทุกวันนี้

นอกจากนั้น คำว่า pardon ยังถูกนำมาใช้หมายถึงการให้อภัยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน แบบที่เราพูดกันว่า I beg your pardon. ด้วย ซึ่งพอมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ปรากฏว่าเริ่มมีการพูดย่นย่อเหลือเพียง Pardon. แบบที่ทุกวันนี้เราพูดกันด้วย

Get away with murder รอดพ้นความผิด

สำนวนนี้จะใช้ในความหมายตามตัวหนังสือก็ได้ คือ รอดพ้นจากความผิดหลังไปฆ่าคนมาแล้วจริงๆ แต่ส่วนใหญ่เรามักเจอสำนวนนี้ใช้ในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง ไม่ต้องรับผลพวง (ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษหรือการถูกวิพากษ์วิจารณ์) จากการทำสิ่งไม่ดีลงไป ตัวอย่างเช่น Because a lot of people are still under the illusion that he is a good person, he always gets away with murder. เพราะหลายคนยังเชื่อผิดๆ ว่าเขาเป็นคนดี เขาทำผิดอะไรก็เลยรอดตัวไปเสียทุกที

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Grimal, Pierre. Dictionary of Classical Mythology. Penguin Books: London, 1991. 

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991

Tags: , , , ,