จากตอนที่แล้ว ที่ผู้เขียนทบทวนกติกาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อเสนอว่า “ในเมื่อระบบเลือกตั้งไม่อาจสะท้อนเจตจำนงที่ชัดเจนของประชาชน กติกาก่อให้เกิดรัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่ ส.ว. แต่งตั้งมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่ไม่มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอน ส.ส. และ ส.ว. ที่เห็นว่าทำงานแย่” จึงไม่น่าแปลกใจที่ “คนในรัฐบาลนี้บ่อยครั้งจะพูดจาทำนองว่า ขอให้ประชาชน “ช่วยตัวเอง” หรือ “ช่วยรัฐบาล” เวลาที่เกิดปัญหา” 

ปีชวด พ.ศ. 2563 ผ่านไปยังไม่ถึงเดือน แฮชแท็ก #รัฐบาลเฮงซวย ทะยานขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ ภัยแล้ง ฝุ่นพิษ PM2.5 จนถึงการระบาดไวรัสโคโรนา ซึ่งล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถกำจัดด้วยการเรียกร้องให้ประชาชน ‘ช่วยตัวเอง’ ได้

การรับมือกับปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยองคาพยพของรัฐ นโยบายที่ชัดเจน และรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่กลับกลายเป็นว่า แม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รัฐบาลนี้ยังทำไม่ได้ นายกรัฐมนตรีดูจะโทษประชาชน โทษสื่อ โทษนักการเมือง (คนอื่น) และตัดพ้อต่อว่า ส่วนรัฐมนตรีหลายคนที่ออกสื่อก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกี่มากน้อย

แต่ไม่ว่าอย่างไร เสถียรภาพของรัฐบาลก็ไม่สั่นคลอน ขนาดเห็นชัดว่า ส.ส. พรรครัฐบาลบางคนทำผิดกฎหมายอย่างการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน รุกที่ป่าสงวน รัฐมนตรีบางคนเคยติดคุกออสเตรเลียฐานเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ไม่ทำให้รัฐบาลสั่นคลอนแต่อย่างใด ยังไม่ต้องพูดถึงจริยธรรมพื้นฐานของนักการเมือง 

การไม่แยแสต่อการกระทำที่ผิดกฎหมายและพฤติกรรมไร้ยางอายนานัปการของรัฐมนตรีและ ส.ส. หลายคน ส่งผลให้ “มาตรฐานจริยธรรม” ของนักการเมืองที่เราเรียกร้องกันมานานกลายเป็นเรื่องตลกขบขันและบังคับใช้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ยอมรับว่ากติกาในรัฐธรรมนูญ 2560 แย่จนส่งผลให้รัฐบาลไร้แรงจูงใจใดๆ ที่จะรับผิดชอบต่อประชาชน หลายคนยังมองว่าปัญหาอยู่ที่ ‘คน’ และ ‘โชคร้าย’ เป็นหลัก รวมถึงมองว่าโชคร้ายที่รัฐบาลนี้ไม่มีคนเก่งหรือมีคนเก่งน้อย โชคร้ายที่เจอปัญหาใหญ่ๆ รุมเร้าหลายเรื่องจนตั้งตัวไม่ติด บางคนเชื่อต่อไปว่า ต่อให้คนอื่นมานำรัฐบาล ผลลัพธ์ก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก

ผู้เขียนอยากยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ควรแปลกใจที่ได้รัฐบาลที่ด้อยประสิทธิภาพและไม่แยแสต่อประชาชน เพราะกติกาแย่ๆ ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ไม่ใช่แย่โดยไม่ตั้งใจ แต่แย่ตั้งแต่เจตนาหลักของผู้ร่าง นั่นคือ เขียนขึ้นเพื่อต้องการสืบทอดและรักษาอำนาจให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รอดพ้นจากการ “เช็คบิล” โดยขั้วการเมืองที่ถูกยึดอำนาจ (และโดยประชาชนที่โกรธแค้นคณะรัฐประหาร) 

ปัญหาก็คือ เจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะช่วย คสช. สืบทอดอำนาจ ช่วยให้รอดพ้นจากบทลงโทษใดๆ ก็ตามที่เป็นผลมาจากการยึดและครองอำนาจยาวนานกว่าห้าปีนั้น เท่ากับเป็นการตอกตรึง “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงต่อไปในสังคมไทย

 เจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะช่วย คสช. สืบทอดอำนาจ ช่วยให้รอดพ้นจากบทลงโทษใดๆ ก็ตามที่เป็นผลมาจากการยึดและครองอำนาจยาวนานกว่าห้าปีนั้น เท่ากับเป็นการตอกตรึง “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงต่อไปในสังคมไทย 

วัฒนธรรมนี้ส่งผลให้รัฐบาลทำตัวแย่เท่าไรก็ได้ เพราะตนไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ จากการกระทำ

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (culture of impunity) โดยธรรมชาตินั้นอยู่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมรับผิด (culture of accountability) ฉะนั้น การยอมให้ คสช. นิรโทษกรรมตัวเอง ยอมให้คำสั่งและประกาศแทบทั้งหมดของ คสช. และกฎหมายที่ออกภายใต้ระบอบ คสช. มีผลบังคับใช้ต่อไป (โดยไม่สนใจว่าผลกระทบคืออะไร) อีกทั้งยังเขียนกติกาเลือกตั้งอย่างบิดเบี้ยว ก่อเกิดรัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่ที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่อาจทำงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ให้ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน มีสิทธิมีเสียงมากกว่าประชาชน และสามารถทำตัวเป็น “องครักษ์พิทักษ์รัฐบาล” แทนที่จะตรวจสอบอย่างที่ควรทำ – กติกาทั้งหมดนี้เท่ากับทำให้ คสช. และรัฐบาลปัจจุบัน (ซึ่งก็คือพวกเดียวกันกับผู้ครองอำนาจสมัย คสช.) ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น

ในเมื่อทำอะไรผิดก็ไม่ต้องรับผิด แล้วจะมีแรงจูงใจอันใดเล่าให้ทำงานอย่างระมัดระวังรอบคอบ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง?

ถ้าออกแบบรัฐธรรมนูญด้วยเป้าหมาย “เอื้อให้ คสช. สืบทอดอำนาจ” แล้ว ก็จำเป็นจะต้องลดทอนหรือตัดทิ้งกลไกรับผิดต่างๆ และช่องทางที่จะยึดโยงต่อประชาชน ฉะนั้น ตราบใดที่ยึดเป้าหมายนี้เป็นตัวตั้ง ก็ไม่มีทางเลยที่เราจะได้รัฐบาลที่รับผิดชอบต่อประชาชน

ด้วยเหตุนี้ การได้รัฐบาลที่ประชาชนพร้อมใจกันติดแท็กด่าว่า #รัฐบาลเฮงซวย จึงเป็นผลลัพธ์ที่ควรจะคาดหมายได้จากรัฐธรรมนูญที่ตอกตรึง “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” ต่อไปสังคมไทย

นักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองหลายคนศึกษาระบอบเผด็จการ และความพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการเป็นประชาธิปไตย (democratization) ในหลายประเทศว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเงื่อนไขอะไรที่จำเป็น ชนชั้นนำ (ซึ่งครองอำนาจยามเป็นเผด็จการ) มีแรงจูงใจอะไรบ้างที่จะกระจายอำนาจให้กับกลุ่มอื่น งานศึกษาหลายชิ้นพูดถึง “หลักประกันความปลอดภัย” ของผู้นำเผด็จการว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อการก้าวลงจากอำนาจ 

พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้นำเผด็จการต้องการหลักประกันอะไรสักอย่างว่า อดีตจะไม่ถูกรื้อฟื้น ตัวเองจะไม่ถูกเช็กบิล เมื่อขั้วอำนาจเปลี่ยน ก่อนที่จะยอมลงจากอำนาจ

ถ้าหากผู้นำเผด็จการและกลุ่มชนชั้นนำที่สนับสนุนพวกเขาไม่เชื่อว่ามีหลักประกันนี้อยู่ และตราบใดที่ยังผนึกกำลังกัน ครองอำนาจทางทหารอย่างเหนียวแน่น พวกเขาก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะยอมเปลี่ยนระบอบเป็นประชาธิปไตย หรือไม่ก็จะไปออกแบบระบอบ ‘ประชาธิปไตยจำแลง’ หรือ ‘เผด็จการอำพราง’ แบบที่เรากำลังเจอกับรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อมาหลอกประชาชนว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วนะ!

นักรัฐศาสตร์บางคน อาทิ แซมมวล ฮันติงตัน เสนอมานานแล้วว่า การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการเป็นประชาธิปไตยนั้น ถ้าจะให้หยั่งรากอย่างยั่งยืน สถาบันประชาธิปไตยใหม่ๆ ไม่ควรจะไปไล่ล่าฟ้องร้องอดีตผู้ครองอำนาจในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน แลกกับการให้อดีตผู้นำเผด็จการยอมถอย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น ตัวอย่างในโลกสมัยใหม่ก็อย่างเช่น ในเยเมน ผู้นำเผด็จการ ซาเลห์ ยอมลงจากตำแหน่งและถ่ายโอนอำนาจไปให้กับผู้นำฝ่ายค้านที่สนับสนุนประชาธิปไตย แลกกับคำมั่นสัญญาว่าเขาจะไม่ถูกฟ้องร้อง

 แซมมวล ฮันติงตัน เสนอมานานแล้วว่า การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการเป็นประชาธิปไตยนั้น ถ้าจะให้หยั่งรากอย่างยั่งยืน สถาบันประชาธิปไตยใหม่ๆ ไม่ควรจะไปไล่ล่าฟ้องร้องอดีตผู้ครองอำนาจในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน แลกกับการให้อดีตผู้นำเผด็จการยอมถอย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น

ในบางกรณี ผู้นำเผด็จการไม่เชื่อว่าเขาจะได้รับหลักประกัน ทั้งเสี่ยงที่จะถูกลงโทษโดยฝ่ายตรงข้ามหลังจากที่ก้าวลงจากอำนาจ ความเสี่ยงข้อนี้อาจกีดกันไม่ให้การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติเกิดขึ้นได้ ทำให้การลุกฮือขึ้นปฏิวัติของประชาชนที่มีราคาแพง ในแง่ของการเสียเลือดเนื้อ เป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการกลายเป็นประชาธิปไตย ดังตัวอย่างในประเทศซีเรียและลิเบีย

ความเสี่ยงของการถูก ‘เช็คบิล’ ซึ่งทำให้ผู้นำเผด็จการไม่ยอมลงจากอำนาจ แปลว่าสถาบันต่างๆ อย่าง พรรคการเมืองหรือกองทัพ สามารถมาเจรจาต่อรองกันในประเด็นเงื่อนไขการลงจากอำนาจของเผด็จการ เพื่อทำให้หลักประกันนั้นดูน่าเชื่อถือขึ้นมา ปูทางไปสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

ฮันติงตันเองเคยเสนอว่า หลังจากที่พ้นช่วงเปลี่ยนผ่านไปแล้ว พรรคของผู้นำเผด็จการก็จะยอมเสียสละการผูกขาดอำนาจ แต่ยังสงวนโอกาสที่จะร่วมแข่งขันที่จะได้อำนาจมาอีกครั้ง ผ่านกลไกในระบอบประชาธิปไตย (เช่น การเลือกตั้ง) การศึกษาระบอบเผด็จการทั่วโลกของนักรัฐศาสตร์บางคนพบว่า ผู้นำเผด็จการจะระมัดระวัง ไม่ดูดค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent จากอำนาจผูกขาด) มากเกินควร ถ้าหากคาดหวังว่าพวกเขาน่าจะถูก (ประชาชนที่โกรธแค้น) ลงโทษหลังจากที่ลงจากอำนาจ ผู้นำที่กลัวความเสี่ยงนี้จะพยายามสร้างและรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสูง เพื่อให้ประชาชนพอใจและยอมรับ

ทั้งหมดนี้แปลว่า ถ้าหากผู้นำเผด็จการมั่นใจว่าจะสามารถสืบทอดอำนาจของตัวเองเอาไว้ได้ ไม่จำเป็นจะต้องสละอำนาจ เพราะกระบวนการเปลี่ยนผ่านแท้จริงเป็นเพียง ‘ประชาธิปไตยจำแลง’ และมั่นใจว่า ต่อให้ลงแข่งในสนามจำแลงนี้ ก็จะมีโอกาสชนะสูงด้วยกติกาที่เอียงกะเท่เร่ (อาทิ ส.ว. 250 เสียง) – ผู้นำเผด็จการก็จะไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะใช้อำนาจอย่างรอบคอบรัดกุม หรือสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ มิพักต้องพูดถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

ยิ่งวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเติบใหญ่ วัฒนธรรมรับผิดยิ่งถดถอย #รัฐบาลเฮงซวย ยิ่งเป็นสิ่งที่เราควรคาดหมายได้

ไม่ใช่เรื่องของระดับศีลธรรมส่วนตัว หรือโชคชะตาแต่อย่างใด

Tags: ,